คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม





ขอน้อมเกล้าฯ ถวายอาลัยส่งดวงวิญญาณพระองค์เสด็จฯ สู่สวรรคาลัย และขอน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้
เมื่อลมฝนบนฟ้ามาลิ่ว ต้นไม้พลิ้วลู่กิ่งใบ
เหมือนจะเอนรากคลอนถอนไป แต่เหล่าไม้ยิ่งกลับงาม
พระพรหมท่านบันดาลให้ฝนหลั่ง เพื่อประทังชีวิตมิทราม
น้ำทิพย์สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวงาม ทั่วเขตคามชุ่มธารา
สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวทุ่ง แดดทอรุ้งอร่ามตา
รุ้งเลื่อมลายพร่างพรายนภา ยามเมื่อฝนมาแต่ไกล
พระพรหมช่วยอำนวยให้ชื่นฉ่ำ เพื่อจะนำดับความร้อนใจ
น้ำฝนหลั่งลงมาจากฟ้าแดนไกล พืชพรรณไม้ชื่นยืนยง

“ สายฝน ” หรือ “ FALLING RAIN ” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓ ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ขณะทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นงานทดลองของพระองค์ในจังหวะวอลท์ซ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ นิพนธ์คำร้องภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงแต่งร่วมกับท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา เพลงพระราชนิพนธ์สายฝนนี้บรรเลงครั้งแรกที่เวทีลีลาศสวนอัมพร เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ในงานรื่นเริงของ สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย บรรเลงโดยวงสุนทราภรณ์ ขับร้องโดย เพ็ญศรี พุ่มชูศรี ในเวลาต่อมาเพลงนี้นำมาขับร้องใหม่โดย รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส , นภา หวังในธรรม, สวลี ผกาพันธ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งถึงความลับของเพลงนี้ไว้เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ว่า

"...เมื่อแต่งเป็นเวลา ๖ เดือน ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้เขียนจดหมายถึง บอกว่ามีความปลาบปลื้มอย่างหนึ่ง เพราะไปเชียงใหม่ เดินไปตามถนนได้ยินเสียงคนผิวปากเพลงสายฝน ก็เดินตามเสียงไปเข้าไปในตรอกซอยแห่งหนึ่ง ก็เห็นคนกำลังซักผ้าแล้วก็มีความร่าเริงใจ ผิวปากเพลงสายฝนและก็ซักผ้าไปด้วย ก็นับว่าสายฝนนี้มีประสิทธิภาพสูงซักผ้าได้สะอาด...ที่จริงความลับของเพลงมีอย่างหนึ่ง คือเขียนไป ๔ ช่วง แล้วก็ช่วงที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เสร็จแล้วเอาช่วงที่ ๓ มาแลกช่วงที่ ๒ กลับไป ทำให้เพลงมีลีลาต่างกันไป...เป็น ๑ ๓ ๒ ๔..."

มีบทเพลงพระราชนิพนธ์รวมทั้งสิ้น 48 บทเพลง เพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรก คือ เพลง “แสงเทียน” เป็นแนวดนตรีบลูส์ หากแต่โปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลง “ ยามเย็น” และ “สายฝน” ออกมาก่อน เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะทรงแก้ไขเพลง “แสงเทียน” ให้ดีขึ้นอีก เพลงพระราชนิพนธ์เพลงสุดท้ายคือ “เมนูไข่” พระราชนิพนธ์ทำนองจากโคลงสี่สุภาพ ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนิพนธ์ไว้ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นของขวัญพระราชสมภพ ๗๒ พรรษา ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

เมื่อคืนวันพุธที่ ๑๒ เป็นวันเขียนหนังสือส่ง น.ส.พ.ไทยแอล.เอ. กำลังเตรียมเรื่องราวและรูปประกอบคอลัมน์ที่จะเขียนลงสำหรับวันเสาร์ที่ ๑๕ ที่ผ่านมา คืนนั้นได้รับข้อความพร้อมทั้งแถลงการณ์สำนักพระราชวัง เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มาประทับ ณ โรงพยาบาลศิริราช ฉบับที่ ๓๘ กล่าวถึงพระอาการประชวรโดยรวมยังไม่คงที่ ต้องควบคุมด้วยพระโอสถ คณะแพทย์ฯ ได้เฝ้าติดตามพระอาการและถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด แถลงการณ์ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม ตามที่อ่านดูพระอวัยวะหลายแห่งผิดปกติ โดยเฉพาะการถวายเครื่องช่วยหายพระทัย (VENTILATOR) และถวายการรักษาด้วยวิธีทดแทนไต (CRRT)

คืนนั้นทำงานอย่างไม่มีสมาธิ ทุกครั้งที่นึกถึงพระอาการประชวร เขียนไป...หยุดไป รู้สึกจิตใจหดหู่อย่างไรไม่ทราบ หมดกะจิตกะใจจะทำงานต่อ ในที่สุดเลยแจ้งไปทางเวบมาสเตอร์ว่า เสาร์นี้ของด ! ปกติชอบฟังเพลงจากสถานีวิทยุศึกษา สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ใช้เป็นเพื่อนระหว่างเขียนหนังสือ คืนนั้นอยู่จนถึงย่ำรุ่งตามปกติ พอถึงตี ๕ เช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ซึ่งตรงกับเวลา ๑ ทุ่มตรง วันเดียวกันนั้นทางประเทศไทย ทันใดก็ได้ยินเสียง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๙ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติออกแถลงการณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต เวลา ๑๕ นาฬิกา ๕๒ นาที ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ ๘๙ ทรงครองราชสมบัติได้ ๗๐ ปี

พระนามภูมิพลอดุลเดช นั้น พระบรมราชชนนี ได้รับพระราชทานทางโทรเลขจาก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ โดยทรงกำกับตัวสะกดเป็นอักษรโรมันว่า "Bhumibala Aduladeja" ทำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเข้าพระทัยว่าได้รับพระราชทานนามพระโอรสว่า "ภูมิบาล" ในระยะแรกพระนามของพระองค์สะกดเป็นภาษาไทยว่า "ภูมิพลอดุลเดช" ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระองค์เองทรงเขียนว่า "ภูมิพลอดุลยเดช" โดยทรงเขียนทั้งสองแบบสลับกันไป จนมาทรงนิยมใช้แบบหลังซึ่งมีตัว "ย" สะกดตราบปัจจุบัน

พระนามของพระองค์มีความหมายว่า

ภูมิพล – ภูมิ หมายความว่า “แผ่นดิน” และ พล หมายความว่า “พลัง” รวมกันแล้วหมายถึง “พลังแห่งแผ่นดิน”

อดุลยเดช – อดุลย หมายความว่า “ไม่อาจเทียบได้” และ เดช หมายความว่า

“อำนาจ”

พระองค์ท่านทรงอุทิศพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ส่วนหนึ่ง เพื่อโครงการพระราชดำริที่มีจำนวนมากกว่า ๔,๐๐๐ โครงการมูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อพัฒนาภายในประเทศในด้าน กสิกรรม เกตรกรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย การส่งเสริมอาชีพ สาธารณูปโภค การศึกษา ฯลฯ ด้วยทรงมีพระปรีชาสามารถรอบพระองค์ ส่วนทางด้านพระวรกาย พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินไปในถิ่นทุรกันดาร ทรงเยี่ยมเยียนดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขพสกนิกรของพระองค์ท่านทั่วประเทศไทย

ก่อนกล่าวคำอำลาสำหรับเสาร์นี้ ส.ท่าเกษม ขอฝากเรื่องราวที่เกี่ยวโยงกับ “ฝน” มาฝากคุณๆผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์นี้มา เพื่อพวกเราจะได้สำนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านในยาม “ น้ำฝนหลั่งลงมาจากฟ้าแดนไกล...”

โครงการฝนหลวง เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อสร้างฝนเทียมสำหรับบรรเทาปัญหาความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำในการเกษตร เมื่อคราวที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรและเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานโครงการพระราชดำริ "ฝนหลวง"(Artificial rain) ให้กับ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปดำเนินการ ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นโครงการค้นคว้าทดลองปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงขึ้น ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ด้วยความสำเร็จของโครงการจึงได้ตราพระราชกฤษฎีการก่อตั้ง สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงต่อไป


เรื่อง "ขอนํ้าฝนในถังสักแก้ว"

เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๐๑ ขณะที่ในหลวงทรงเสด็จพระราชดำเนิน ทอดพระเนตรโบราณสถานในเมืองศรีสัชนาลัยอยู่นั้น

ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสกับคุณย่าทวด "เล็ก เปล่งเสียง"อายุ ๙๐ ปี เป็นชาวบ้าน ต.สารจิต อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ซึ่งคุณย่าทวดเล็กได้นำน้ำฝนลอยดอกมะลิ มาตั้งไว้หลายถังเผื่อหาก ข้าราชบริพารที่ติดตามขบวนเสด็จมาจะกระหายนํ้าจะได้ดืมนํ้ากัน

แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่า พระองค์ทรงตรัสกับคุณย่าทวดเล็กว่า "ย่าจ๋า..ฉันขอดื่มน้ำในถังสักแก้วได้ไหม"

คุณย่าทวดเล็กก็ทูลตอบว่า "ฉันไม่กล้าให้ในหลวงกินหรอกเพราะมันเป็นน้ำฝนธรรมดาๆ"

ในหลวงก็ทรงแย้มพระสรวล และก็ทรงตรัสกับคุณย่าทวดเล็กว่า "ปกติฉันก็กินน้ำธรรมดาอย่างนี้นี่แหละย่า"

จากนั้นพระองค์ทรงตักนํ้าฝนในถังเสวย และพระองค์ยังตรัสว่า "นํ้าฝนเย็นชื่นใจจัง และยังหอมกลิ่นดอกมะลิอีกด้วย"


หมายเหตุ ข้อมูลและภาพจาก RPR MARCHING BAND, วิกิพีเดีย, หนังสือ เย็นศิระเพราะพระบริบาล กับ “ลัดดาซุบซิบ”


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๒๒ ตุลาคม ๒๕๕๙