คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม





~ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉลองวันสถาปนาครบ ๑๐๐ ปี ~
๒๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐

ค่ำวันนี้ขณะที่ผมนั่งชมการแสดงอยู่ที่หน้าพระที่นั่ง เนื่องในโอกาสงานฉลองวันสถาปนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบ ๑๐๐ ปี อยู่ที่สนามหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ การแสดงและการขับร้องบนเวทีกำลังกล่าวถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ โดยใช้เพลง "ในหลวงของเรา" เดินเรื่อง เมื่อเนื้อเพลงถึงตอนที่ว่า

"...หยดน้ำ หยาดเหงื่อพระองค์หยดลงที่ไหน ทุกข์ร้อนจะพลันสลาย ทุกข์ภัยจะไม่อาจแผ้วพาน..."

ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าวมาตั้งแต่เย็น ผมรู้สึกว่ามีหยดน้ำตกลงมาต้องผิวกาย ครั้นแหงนมองขึ้นไปบนฟ้าก็เห็นหยาดน้ำฝนเม็ดไม่ใหญ่ไม่เล็ก ตกกระจายห่างๆลงมาทั่วบริเวณ หยาดฝนโดนแสงไฟสีขาวที่ส่องประกอบการแสดงอยู่ ทำให้ภาพที่เห็นคล้ายกับมีหยดเงินขนาดเล็กงดงามกำลังหล่นร่วงลงมาจากท้องฟ้า แรกทีเดียวผมนึกว่าเป็นเทคนิคประกอบการแสดง วูบแรกนึกว่าอะไรจะลงทุนกันถึงขนาดนี้ แต่ชั่วอึดใจเดียวผมก็บอกกับตัวเองว่า ฝนกำลังตกจริงๆ แล้วฝนก็ตกต่อไปเรื่อยๆ เป็นการตกแบบโปรยปราย ที่ไม่ทำให้ตกใจหรือเปียกปอน อย่างไรก็ดีเจ้าพนักงานภูษามาลาก็เข้าถวายอยู่งานพระกลด (กางร่มกันฝนถวายงาน สมเด็จพระเทพฯ) และอีกไม่กี่นาทีต่อมาการแสดงก็จบสิ้นลง

คราวนี้เป็นคิวที่ผู้ร่วมงานประเภทที่เป็นกรรมการต้องขึ้นไปรออยู่บนเวทีเพื่อจะได้ร่วมกันร้อง เพลงสรรเสริญพระบารมี และ เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ เมื่อทุกคนพร้อมแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ก็เสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนเวที ทรงร้องนำเพลงทั้งสองข้างต้น เม็ดฝนช่วงนี้ตกน้อยลง แต่ก็ยังมองเห็นได้เมื่อแสงไฟสาดส่อง ครั้นเมื่อทุกคนร่วมร้องเพลงสำคัญ ๒ เพลงแล้ว ลำดับต่อไปคือการพระราชทานพระราชดำรัส ทันทีที่เริ่มพระราชทานพระราชดำรัส ฝนก็ขาดเม็ด ผมซึ่งนั่งอยู่บนพื้นของเวที กวาดสายตาไปบนท้องฟ้าจนทั่วก็ไม่เห็นเม็ดฝนที่สวยงามคล้ายเม็ดเงินตกลงมาอีกแล้ว เป็นอันว่าฝนหยุดสนิทเมื่อเริ่มพระราชดำรัส และหยุดไปจนตลอดงาน

ผมดีใจที่ได้ไปร่วมงานในครั้งวันนี้ และได้พบเห็นเหตุการณ์ที่อยากจะเล่าให้คนรู้จักได้ฟังและอีกหลายปีข้างหน้า เมื่อใครมาถามถึงงานในค่ำวันนี้ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เรื่องแรกที่ผมจะเล่าให้ฟังคือ เรื่องฝนตก ตกอย่างน่ามหัศจรรย์และหยุดตกอย่างน่ามหัศจรรย์เช่นกัน สำหรับคนอย่างผมแล้ว ไม่มีคำพูดอื่นนอกจากจะบอกว่า "เดชะพระบารมี" ศจ.ธงทอง จันทรางศุ (ผู้เขียน)

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสามารถทำคะแนนสอบเอนทรานซ์เป็นอันดับ ๔ ของประเทศ ซึ่งถือเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรกที่ทรงเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในประเทศ จนกระทั่ง ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาได้รับ พระราชทานปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง ด้วยคะแนนเฉลี่ย ๓.๙๘

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ พระราชธิดาใน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ ทรงสำเร็จการศึกษาศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ ๑ (เหรียญทอง) ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเกรดเฉลี่ย ๓.๙๓ และทรงได้รับรางวัลนิสิตดีเด่นประจำปีการศึกษา ๒๕๕๑ ด้วยมีผลการการเรียนอันน่าพึงใจ

เนื่องในวาระโอกาสพิเศษที่จุฬาฯ ครบ ๑๐๐ ปี จึงขออนุญาตนำบทความบางตอนและภาพต่างๆ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เวบไซต์ มาลงเผยแพร่เพื่อให้บุคคลนอกรั้วจามจุรีได้ทราบประวัติความเป็นมา อันเนื่องมาจากพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ขององค์พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์ถึง ๓ พระองค์ เริ่มจาก รัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ และ รัชกาลที่ ๙ ในช่วงระยะเวลา ๑๐๐ ปี ที่ผ่านมา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ถือกำเนิดจาก โรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้น ณ ตึกยาวข้างประตูพิมานชัยศรีในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๒ (นับวันขื้นปีใหม่แบบไทยคือ พ.ศ. ๒๔๔๑)

ทรงจัดตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน ขึ้น เพื่อจัดการศึกษาแก่กุลบุตรให้มีความรู้ความสามารถพร้อมที่จะเข้ารับราชการ ต่อมาวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๕ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนมหาดเล็ก สนองพระบรมราโชบายในด้านความเสมอภาคและโอกาสทางการศึกษาให้แก่ทวยราษฎร์ของพระองค์อย่างทั่วถึงทัดเทียมกัน

ในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชดำริที่จะขยายการโรงเรียนของพระบรมราชชนกนาถให้กว้างขวางถึงระดับอุดมศึกษา ให้เป็นสง่าแก่พระนครต่อไป จึงทรงสถาปนา โรงเรียนมหาดเล็ก ขึ้นเป็น โรงเรียนชั้นอุดมศึกษา พระราชทานนามว่า “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ใช้วังของ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ที่ตำบลวังใหม่และพระราชทาน “เงินหางม้า” หรือเงินเหลือจากที่ราษฎรเรี่ยไรเพื่อสร้าง พระบรมรูปทรงม้าสมเด็จพระปิยมหาราช ประมาณเก้าแสนกว่าบาท เป็นทุนปลูกสร้างมหาวิทยาลัยในภายภาคหน้า

เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาพระฤกษ์ เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๘ ต่อมาใน วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ จึงมีประกาศพระบรมราชโองการประดิษฐาน โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็น มหาวิทยาลัย ปรากฏความในประกาศประดิษฐาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนหนึ่งว่า “เพื่อเป็นอนุสสาวรีย์สมพระเกียรติแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงแรกมีการจัดการศึกษาเป็น ๕ คณะ ได้แก่ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และมีการปรับปรุงระดับมาตรฐานการศึกษามาตลอดรอบด้าน ปัจจุบัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประกอบไปด้วย ๑๙ คณะวิชา ๑ สำนักวิชา ครอบคลุมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ และมีหน่วยงานประเภท วิทยาลัย ๓ แห่ง บัณฑิตวิทยาลัย ๑ แห่ง สถาบัน ๑๔ แห่ง และสถาบันสมทบอีก ๒ สถาบัน จำนวนหลักสูตรรวมทั้งสิ้น ๕๐๖ หลักสูตร ประกอบด้วย ระดับปริญญาตรี ๑๑๓ หลักสูตร ระดับบัณฑิตศึกษา ๓๙๓ หลักสูตร ในจำนวนนี้เป็นหลักสูตรนานาชาติและหลักสูตรภาษาอังกฤษ ๘๗ หลักสูตร

พระเกี้ยว พระเกี้ยวเป็น ศิราภรณ์ประดับพระเกศา หรือพระเศียรของพระราชโอรส และพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ คำว่า เกี้ยว ถ้าเป็นคำนามแปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือเครื่องสวมจุก ถ้าเป็นคำกริยาแปลว่าผูกรัดหรือพัน พระเกี้ยวเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจทั้งนี้สืบเนื่อง จากชื่อของมหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ใน สมเด็จพระปิยมหาราช ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้ จุฬาลงกรณ์ แปลว่า เครื่องประดับศีรษะหรือจุลมงกุฎ จุลมงกุฎมี ความหมายสำคัญยิ่งคือเกี่ยวโยงถึงพระนามาภิไธยเดิมของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ จึงมีความหมายว่า จุลมงกุฎ หรือ พระราชโอรสของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ยิ่งกว่านั้น ยังมีความเกี่ยวพันถึงพระปรมาภิไธยใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีหมายความว่า “พระจอมเกล้าน้อย” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กำหนดให้ พระเกี้ยว เป็นพิจิตรเรขา (สัญลักษณ์) ประจำรัชกาลของพระองค์ เมื่อตั้ง โรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน หรือ โรงเรียนมหาดเล็ก จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ พระเกี้ยว เป็นเครื่องหมายหน้าหมวกของนักเรียนมหาดเล็ก ต่อมาเมื่อ โรงเรียนมหาดเล็ก กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระเกี้ยวเป็น เครื่องหมายของโรงเรียนก็ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต ตามที่กราบบังคมทูลขอพระราชทาน เมื่อโรงเรียนมหาดเล็กได้วิวัฒน์ขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารก็ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนข้อความใต้พระเกี้ยวตามชื่อซึ่งได้รับพระราชทานใหม่ตลอดมา พระเกี้ยวองค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตึกจักรพงษ์ เป็นพระเกี้ยว ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ ๙ เพื่อสร้างจำลองจากพระเกี้ยวจริงที่ประดิษฐานอยู่ในพระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวัง มหาวิทยาลัยสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ได้ทรงเจิม และทรงพระสุหร่ายที่องค์พระเกี้ยว แล้วพระราชทานแก่มหาวิทยาลัยต่อหน้าประชาคมจุฬาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา ๒๕๓๑ ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้ ส.ท่าเกษม ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐