คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



อ.ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์
ผู้ยิ่งใหญ่ในโลก...แห่งความรัก(ตอนจบ)
ไม่เป็นไรลืมเสียเถิดอย่าคิดถึง ใฝ่รำพึงถึงเขาเลยเฉยดีกว่า
สิ่งผิดแล้วให้ล่วงแล้วแคล้วคลาดคลา ปล่อยเวลาตั้งหน้าใหม่ไม่พะวัง
ไม่เป็นไรลืมเสียเถิดคงเกิดผล ดลใจให้ไม่คะนึงถึงความหลัง
พลาดไปแล้วทนรับกรรมแต่ลำพัง อย่าได้หวังมาทำง้อพ้อวาจา
ลืม ลืมเสียลืมให้สิ้น หมดมลทินสิ้นความหวังทั้งปัญหา
เรื่องรักรัก เรื่องร้ายร้ายไม่นำพา ท่องคาถาปลอบใจตัวไม่มัววอน
ไม่เป็นไรลืมเสียเถิดครูเคยสอน ก่อนยังเยาว์เล่าเรียนอยู่รู้ใช่ไหม ?
ภาษิตเก่าเฝ้าจดจำคำอภัย จำกันไว้ไม่เป็นไรลืมเสียเถิด




"ไม่เป็นไร" (ลืมเสียเถิด) ทำนอง ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์
คำร้อง ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์
เรียบเรียง กิติ
ดนตรี คีตะวัฒน์



เกียรติประวัติจากผลงานของวงดนตรี คีตะวัฒน์
1. รับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำชนะเลิศด้านวงดนตรีและเรียบเรียงเสียงประสานประเภท ข. จากเพลง "รักเอย" ในงานแผ่นเสียงทองคำครั้งที่ 1 วันที่ 30 พฤษภาคม 2507
2. รับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำรองชนะเลิศด้านวงดนตรีและเรียบเรียงเสียงประสานประเภท ข. จากเพลง "สวรรค์อำพราง" ในงานแผ่นเสียงทองคำครั้งที่ 2 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2509
3. รับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำชนะเลิศด้านวงดนตรีและเรียบเรียงเสียงประสานประเภท ก. จากเพลง "จ้าวไม่มีศาล" และรางวัลชนะเลิศด้านวงดนตรีและเรียบเรียงเสียงประสาน ประเภท ข. จากเพลง "เรารักกันไม่ได้" ในงานแผ่นเสียงทองคำครั้งที่ 3 วันที่ 20 พฤศจิกายน 2514
4. รับพระราชทานรางวัล "ดาราทอง" จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2510....

คนดีที่โลกต้องการ โดย... พลาย ราชพันธ์

นานกว่า 20 ปีแล้วที่เราพบกันครั้งแรก ชายหนุ่มใส่แว่นสายตา ใบหน้าสะอาดท้วมขาว อารมณ์แจ่มใสเป็นนิจ

ชรินทร์ นันทนาคร แนะนำให้เรารู้จักกับเขาเป็นศิษย์เก่าเอซีรุ่นหลังผม สายเลือดแดงขาวทำให้เราสนิทสนมกันอย่างรวดเร็ว

และในฐานะผมเป็นคนหนังสือพิมพ์ และเขาเป็นนักดนตรีระดับชาติ เราจึงได้ร่วมงานกุศลกันหลายครั้ง ทั้งงานของนกน้อยหนังสือพิมพ์ มาดีกราส์ ธรรมศาสตร์ และอื่นๆ อีกมาก

คงไม่เป็นการเกินเลยไป ถ้าจะกล่าวว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนให้กำเนิดสถานที่ตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน

เราร่วมสนุกสนานกันในการดื่มกินและทำงาน (กุศล) มานานปี ก็มาถึงจุดจีรังของชีวิต

คือมีสุขก็ต้องมีทุกข์

ผมทราบข่าวร้ายว่าเขาแยกทางเดินกับสุดที่รัก คงเหลือแต่ลูกน้อยสามชีวิตเป็นเพื่อนใจ

คืนหนึ่งเมื่อเราพบกันอีกครั้ง เขาพูดกับผมด้วยน้ำเสียงเศร้าซึม

"ถ้าผมไม่มีลูก ผมคงเป็นฆาตกร"

แต่ผมรู้ว่าเขาเพียงแต่พูด เขาจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร ตราบใดที่เขายังมีความรัก และดนตรีล้นปรี่อยู่ในหัวใจ


เสียงเพลงแผ่วเบา...."อยู่กับลูก" โดย ป.วัชราภรณ์

...........ผมนั่งฟังเสียงเพลงหลายต่อหลายเพลง ระหว่างทางจากสีลมถึงเพลินจิตด้วยเพลงของ "คีตะวัฒน์" ที่อัดแถบเสียงไว้ ชื่นใจที่ได้ฟังเสียงเพลง "อยู่กับลูก" คุณไพบูลย์ผู้แต่งคำร้อง คุณแมนรัตน์ แต่งทำนอง ช่างอ้อยสร้อยอะไรเช่นนั้น....

"ทุกวันนี้ฉันมีแต่สุข อยู่กับลูกไร้เรื่องทุกข์เพราะลูกขวัญ

อบอุ่นอยู่คู่กับลูกทุกวัน เพราะลูกนั้นอยู่พร้อมหน้าพาชื่นใจ"

ตอนหนึ่งซึ่งประทับใจในเพลง "อยู่กับลูก" แทนที่จะแต่ง "อยู่กับเมีย"

ผมฟังเพลงนี้แล้ว ตื้นตันใจในฐานะที่คนมีลูกด้วยกัน


ความรู้ในยุคใหม่, ยุคสันติภาพ เสียงเพลงและดนตรี ช่วยวินิจฉัยโรคของ "จิตแพทย์" ได้เป็นอย่างดีเช่นนักเขียนสตรีนามโรจน์นางหนึ่ง ซึ่งไปเรียนวิชาดนตรีบำบัด (MUSIC THERAPY) จากมหาวิทยาลัยการดนตรีและศิลปะ กรุงเวียนนา ออสเตรีย

นามปากกา "โสภาค สุวรรณ" นักเขียนที่นักอ่านรู้จักดี

เธอเริ่มรินำวิธีใช้ดนตรีรักษาผู้ป่วยทางจิตและปัญญาอ่อนเป็นแห่งแรกในกองสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้ผลน่าพอใจ วิธีเขียนนิยายทำนองที่ใช้วิชาดนตรีบำบัดคนป่วยทำให้ผู้อ่านกล่าวขวัญถึงแนวเขียนใหม่ ดังที่เธอประสบในชีวิตจริง นับว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมยุคใหม่มากทีเดียว

เมื่อย้อนมาคำนึงถึงชีวิตจริงส่วนหนึ่งของ "ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์" ซึ่งลูกขาดแม่ ผัวขาดเมีย แต่ชีวิตครอบครัวก็มีสุข เพราะเขา.... "อยู่กับลูก"..........


ขณะหนึ่ง...ของนักแต่งเพลง...ไทยสากล โดย...สง่า อารัมภีร
ในหนังสือชาวกรุง ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2510

ไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ นี่ก็มาดีเหมือนกัน เรียนอัสสัมชัญคอมเมิสจนจบ ขณะเรียนก็เป็นแฟนคณะสุนทราภรณ์ด้วย สุนทราภรณ์ไปแสดงเวทีไหนพ่อคนนี้จะต้องตามไปดู เป็นแฟน "สาลี่" คนกลองอยู่อย่างเดียว ชอบหนักเข้ากลองก็เข้าสมอง จึงขอตังค์แม่ไปซื้อกลองมาชุดหนึ่ง ซ้ำตำรากลองมาหัดเอง หนักเข้าก็สะสมฝีมือกลองจากแผ่นเสียงของนักกลองเอกแห่งโลก เรียนเช่นนี้อยู่หลายปี บางครั้งมึนหัวเขาก็มักจะแสดงฟลอโชว์ด้วยการเต้นระบำเดี่ยว แก้วฟ้าละก็ชอบนักชอบหนา รู้ว่าตุ๋ยจะไปโชว์ที่ไหนเป็นต้องตามไปชม พอดีเพื่อนฝูงชวนตั้งวงคีตะเสวี เลยเลิกฟลอโชว์หันมาตีกลองอย่างเป็นล่ำเป็นสันตั้งแต่บัดนั้น ตีมาตั้งแต่ปี 94-95 บัดนี้ยังไม่เลิกตี บอกว่าเมื่อไหร่ตามวัดเลิกตีกลองเพลเมื่อนั้นแหละเขาถึงจะเลิกตีกลองที่รักตาม

ขณะแต่งเพลงของเขาก็คือขณะตีกลองนั่นเอง ตีกลองไปเสียงเพลงก็แว่วเข้าสมองความคิดก็ผลิตเพลงออกมา จึงคว้าปากกาเขียนเนื้อและโน๊ต แต่เท้าก็ยังย่ำกลองอยู่ เขาเขียนเพลงบนกลองเล็ก เพลง รักให้โง่ เพราะไพเราะอื่นๆ ตลอดจนเพลง จับปูดำขยำปูนา และเพลงโฆษณาสินค้าสำเร็จขึ้นขณะตีกลองทั้งนั้น พอเขียนเพลงจบเขาก็ขยับแว่นแล้วหันไปยิ้ม ซึ่งก็มีผู้เต้นรำยิ้มรับแยะ นึกว่าพ่อคนนี้ยิ้มให้ แต่ความจริงเปล่า เขายิ้มที่ได้แต่งเพลงจบต่างหาก เพลงโฆษณายิ้มมากหน่อยเพราะได้อัฐใหญ่ เพลงไพเราะทำแผ่นเสียงยิ้มน้อยเพราะอัฐจิ๋วเหลือเกิน ดังนั้นขณะใดก็ตาม อาจจะตีหนึ่งหรือสองยาม ตามงานบอลล์ งานราตรีสโมสร พ่อคนนี้ก้มๆ เงยๆ อยู่กับกลองเล็ก แล้วเขาหันไปยิ้ม ท่านไม่ต้องยิ้มรับเขาก็ได้ เขายิ้มกับโลกดนตรีของเขาน่ะครับ


กาลเวลา... "รพีพร"

"ผมรู้จักไพบูลย์ ลีสุวัฒน์ เมื่อ พ.ศ. 2493 ซึ่งไพบูลย์ หรือ "ตุ๋ย" ยังหนุ่มรุ่นกำดัด สิงสู่อยู่ในโรงแรม "กู๊ดลั๊ค" ในตรอกเยื้องกับสมาคมพ่อค้าไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นโรงแรมของเขาเอง

ชีวิตของ "ตุ๋ย" ในตอนนั้นไม่ได้มีสมบัติพัสถานอะไร นอกจากตู้ 2 ตู้ กับกลอง 1 ชุด "ตู้เพลง" กับ "ตู้ปลา" "ตู้เพลง" เต็มไปด้วยแผ่นเสียงเพลงฝรั่ง และเพลงไทยเต็มตู้จนล้นออกมานอกตู้ "ตู้ปลา" ก็มีปลาเงินปลาทอง ปลาเทวดา ปลาสวยๆ หลากพันธุ์ ซึ่งไม่มีทางจะล้นออกมานอกตู้ได้เหมือนแผ่นเสียง กลองอีก 1 ชุด สำหรับฝึกและออกโชว์ในงานแสดง ซึ่งส่วนใหญ่ทางวิทยุ

สมบัติ 3 อย่างที่ตุ๋ยมีอยู่ หากใครไปถามว่า รักอย่างไหนมากกว่ากันตุ๋ยหัวเราะไม่ตอบ

กระทั่งตุ๋ย แต่งงาน (ภรรยาคนแรก) ตู้เพลงกับกลองก็ยังมีความหมายอยู่ แต่ตู้ปลาลดความสำคัญลงบ้าง เมื่อเพื่อนฝูงถามว่า ระหว่างภรรยา, ตู้เพลง กับกลองตุ๋ยรักอย่างไหนมากที่สุด ตุ๋ยได้แต่ยิ้มๆ และตอบไม่ได้ (ต่างกับ "ไม่ตอบ")

กาลเวลาโอบอุ้มและสนองตอบมนุษย์ผู้มีความจริงใจต่ออุดมการณ์ของเขาและจริงจังต่ออาชีพของเขา ดังนั้นตุ๋ยจึงไต่เต้าจาก "มือกลอง" ของวงดนตรีเล็กๆ ขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าวงดนตรีใหญ่ ซึ่งมีชื่อโด่งดังในเวลาต่อมา และยืนยงอยู่ในโลกเพลงและดนตรีอย่างมั่นคงและยาวนาน......."


พี่ตุ๋ยแต่งคำร้องไว้หลายเพลง มี อ.แมนรัตน์ แต่งทำนอง บรรเลงโดยวงดนตรี คีตะวัฒน์ เช่น อยู่กับลูก (ความหมายดีมาก พี่ตุ๋ยเขียนจากชีวิตจริง...จากส่วนลึกของหัวใจ) ขอยืมรัก ลูกชาวนา (พ.ท.บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก แต่งเพลงนี้ให้วงดนตรี "คีตะเสวี" บรรเลงและอัดแผ่นเสียง มีสุเทพ วงศ์กำแหง ร้องเป็นคนแรก) นอกจากนี้ก็มีเพลงต่างๆ บรรเลงโดย "วงคีตะวัฒน์" เช่น สายทิพย์ ดอกสักร่วง รักลวง คะนึง วิหคในกรงทอง กลิ่นดอกรัก อยากเรียกเธอว่าขวัญใจ (ทำนองสากล คำร้อง ไพบูลย์ฯ)

ที่ ส.ท่าเกษม นำเพลง ไม่เป็นไร มาเปิดคอลัมน์เพราะพี่ตุ๋ยแต่งทั้งคำร้องและทำนอง ความหมายเศร้าๆ เหมือนชีวิตจริงของตัวท่าน

เมื่อวันที่ 18 เดือนตุลาคม ค.ศ. 2003 ศูนย์พัฒนาสุขภาพชุมชนและคณะกรรมการจากชุมชนไทยได้จัดคอนเสิร์ต "ฝากความรักไว้ที่แอล.เอ." พี่ตุ๋ยได้ติดต่อเชิญเพื่อนรักทั้ง 4 ศิลปินแห่งชาติ นำโดย อ.แมนรัตน์ มีสุเทพ-สวลี และครูชาลี อินทรวิจิตร รายได้ทั้งหมดเพื่อกิจกรรมของชมรมผู้สูงอายุฮอลลีวูด ศิลปินแห่งชาติทั้ง 4 ท่านมาแสดงที่แอล.เอ. ด้วยความเต็มใจ เป็นการกุศล เพื่อเพื่อนรักคือพี่ตุ๋ย ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ทำงานที่ศูนย์

ขอถือโอกาสขอบคุณ 1 ในคณะกรรมการที่เสนอชื่อ ส.ท่าเกษม ให้เข้ามาร่วมกิจกรรมด้วย จนเวลาผ่านมาเกือบ 9 ปี ยังไม่แน่ใจว่าเป็นบุคคลนั้นหรือเปล่า ? นับเป็นเกียรติอย่างยิ่ง เป็นอะไรที่เก็บไว้เป็นความภาคภูมิใจอยู่ในความทรงจำ เพราะดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น เราเด็กเหลือเกินเข้าไม่ถึง แต่เมื่อได้ร่วมทำงานพี่ๆ ก็ไม่ได้เห็นเราเป็นเด็กเล็กๆ แต่กรุณารับฟังความคิดเห็น เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว ชีวิตนี้ทั้งชีวิตเกี่ยวข้องกับเสียงเพลง เสียงดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวัน ถึงได้ขาดการส่งต้นฉบับอยู่บ่อยๆ มัวแต่ตามดูคอนเสิร์ตของนักร้องคนโปรดตั้งแต่สมัยยังเป็นนักเรียนอยู่ที่ ร.ร.ฝรั่งแถวๆ สีลม

พี่ตุ๋ย เป็นพี่ชายที่น่ารักมาก ใจดี พูดน้อย พูดค่อย แต่มีรอยยิ้มอยู่บนใบหน้าเสมอ ส.ท่าเกษม ชอบฟังพี่ๆ คุยกันจะมีการแซวล้อเล่นเหมือนหนุ่มๆ จำได้ว่า พี่ตุ๋ยถูกล้อว่า แกล้งทำเป็นเดินไม่ค่อยได้จะได้มีสาวๆ มาคอยช่วยประคองบ้าง ให้ควงแขนเวลาเดินบ้าง !

ได้มีโอกาสคุยกับท่านถึงวง โอ.วี. (OLD VAJIRAVUTH) ศิษย์เก่าวชิราวุธฯ เลยได้ทราบว่าเราชอบเพลง "IN THE MOOD" ของ GLENN MILLER เหมือนกัน และพี่ตุ๋ยก็รู้จักนักดนตรีในวง "O.V." ส.ท่าเกษมรู้จักนักดนตรีเช่นกันเพราะพี่ๆ เป็นศิษย์เก่าวชิราวุธฯ และได้ทราบว่าเราดูโทรทัศน์ช่อง PBS เหมือนกัน พี่ตุ๋ยเป็นสมาชิกมีรายการเพลงดีๆ เพลงเก่าๆ ที่หาดูไม่ได้ แถมไม่มีโฆษณาอีก PUBLIC BROADCASTING SERVICE ตั้งอยู่ที่ ถนน SUNSET นี่เอง

พี่ตุ๋ยชอบ HARRY CONNICK JR. เพราะร้องเพลงตีกลอง เล่นเปียโนเก่ง พอดีเป็นนักร้องที่ติดตามผลงานมาตลอดเลยุคยกันได้ถูกคอ ท่านเป็นคนง่ายๆ สุภาพให้เกียรติผู้อื่น แต่ก็มีความหยิ่งในศักดิ์ศรีในเวลาเดียวกัน

หนังสือพิมพ์ไทยท้องถิ่นที่แอล.เอ. เชิญให้ท่านเปิดคอลัมน์ ซึ่งท่านก็ตั้งชื่อคอลัมน์ว่า "เขียนก่อนตาย" เขียนอยู่ดีๆ เกิดมีการเปลี่ยนแปลงในกองบรรณาธิการ ใครคนหนึ่งจำชื่อไม่ได้แล้วเพราะท่านเล่าให้ฟังไว้นาน มาขอให้เปลี่ยนชื่อเพราะฟังดูไม่สู้จะเป็นมงคลซะเลย ท่านไม่ยอมเปลี่ยน เลยหยุดเขียนไปพักหนึ่ง แต่ตอนหลังก็กลับมาเขียนใหม่โดยใช้ชื่อคอลัมน์เหมือนเดิม เขียนก่อนตาย !

อยากจะเรียนคุณผู้อ่านว่า สำหรับ "พี่ตุ๋ย" แล้วท่านเป็น "อัศวินม้าขาว" ของ ส.ท่าเกษม การไม่มีสมัครพรรคพวกนั้นอันตรายในสังคมแอล.เอ. หลายคนว่าตัวคนเขียนนี้เป็น "เป้านิ่ง" เลยถูกรังแกอยู่บ่อยๆ คนที่ว่าข้าแน่ เงียบหายไปหมดคงจะเป็นเพราะผลประโยชน์ หรือประเภทลูบหน้าปะจมูก พวกใครพวกมันหลับหูหลับตาเข้าข้างกัน ทั้งๆ ที่หลายคนมีความรู้เรื่องเพลงอย่างดี มีการส่งอีเมลไปตาม น.ส.พ. ฉบับต่างๆ เกิดการพลิกล็อค... น.ส.พ. 2 ฉบับที่คิดว่าต้องลงแน่ๆ กลับไม่ลงข้อความที่ถูกรุมใส่ร้ายเปลี่ยนข้อความ ส่วนฉบับอื่นๆ ที่คิดว่าคงไม่ลงกลับลง ! พี่ตุ๋ยทราบเรื่องนี้ ท่านเขียนในคอลัมน์อธิบายที่ไปที่มาของเพลงนั้นอย่างกระจ่าง ท่านไม่เกรงกลัวใครและไม่กลัวเรื่องเสียผลประโยชน์ ความจริงก็คือความจริง ! จากวันนั้น ส.ท่าเกษม เลยนึกถึงบุญคุณของท่านอยู่เสมอ ส่งคาร์ดอวยพรปีใหม่ วันเกิด ท่านมีเบอร์มือถือที่ให้ไว้ จะโทรฯ เยี่ยมเยียน ยังขำที่ว่าท่านติดตลกเวลาไป ร.พ. ท่านจะใช้คำว่า แวะไปเยี่ยมเพื่อน หลังๆ นี้ได้ขาดการติดต่อไปโดยปริยายเพราะปัญหาเรื่องหู และตัว ส.ท่าเกษม ก็อยู่ไม่เป็นที่

ตอนนี้ "จ่าโป๋" คู่หูสารถีกิตติมศักดิ์ของพี่ตุ๋ยที่ชอบขับรถรับพี่ตุ๋ยไปงานคอนเสิร์ต พบเพื่อนรักในวงการเพลง คงจะเหงาและคิดถึงพี่ตุ๋ยทีเดียว ฝากขอบคุณจ่าโป๋ผู้ใหญ่ที่น่ารักของเมืองแอล.เอ. มาด้วย


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
4 ส.ค. 2555