คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา ประสูติ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๒

พระราชธิดาใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา เป็นพระราชธิดาใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่ เจ้าจอมมารดาอ่อน (สกุลเดิม: บุนนาค) สตรีเมืองเพชรบุรีผู้เป็นธิดาของ เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) และเป็นหนึ่งใน เจ้าจอมก๊กออ

หลังประสูติกาล ได้มีพระราชพิธีสมโภชเดือนพระเจ้าลูกเธอในวันที่ ๒๓–๒๔ มีนาคมปีเดียวกันนั้น โดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานนามแก่พระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ว่า "พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา" พระองค์และพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดาคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ ทรงสนิทสนมคุ้นเคยเสด็จไปมาหาสู่กับ เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ที่มักเสด็จมาเยี่ยมพระองค์และพระเชษฐภคินีเป็นประจำ แต่เดิมพระองค์, พระเชษฐภคินีและพระมารดาประทับอยู่ใน พระบรมมหาราชวัง ภายหลังได้ทรงย้ายไปประทับที่ วังสวนสุนันทา และทรงย้ายไปประทับที่ วังสวนปาริจฉัตก์ และทรงพำนักอยู่ที่นั่นตลอดพระชนม์ชีพ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พระชันษา ๗๓ ปี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานน้ำหลวงสรงพระศพ ณ พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และพระราชทานเพลิงพระศพในวันที่ ๑๗ มีนาคมในปีเดียวกันนั้น ณ พระเมรุวัดเทพศิรินทราวาส

ปีพ.ศ.๒๕๐๗ เมื่อ ท่านเจ้าจอมมารดาอ่อน ซึ่งขณะนั้นมีอายุถึง ๙๗ ปีได้เข้าเฝ้า รัชกาลที่ ๙ และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อทูลเกล้าฯถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นจำนวนถึงหนึ่งล้านบาท เงินจำนวนมากนี้ถูกบรรจุในกระเป๋าเดินทางจนแน่น เมื่อเปิดออกแล้วจึงแทบจะปิดกระเป๋าไม่ลงทีเดียว

“เงินหนึ่งล้านบาทที่นำขึ้นถวายโดยเสด็จพระราชกุศลนี้ได้จัดบรรจุลงในกระเป๋าเดินทางขนาดกลาง ก่อนจะนำไปถวายจึงต้องช่วยกันอัดให้แน่น และช่วยกันหลายคนกว่าจะปิดกระเป๋าลงสนิท เมื่อทูลเกล้าฯถวายเงินแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเปิดกระเป๋าออกทอดพระเนตร และเมื่อบรรจุคืนลงตามเดิม กว่าจะทรงปิดด้วยพระองค์เองก็คงจะทรงพระลำบากเพราะทรงปิดไม่สำเร็จ ถึงกับมีพระราชดำรัสว่า ปิดหีบไม่ลง

(ข้อความมาจากบางส่วนของคำไว้อาลัยในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านเจ้าจอมมารดาอ่อน เขียนโดย นายแพทย์ปภาพ โขวิฑูรกิจ แพทย์ประจำตัวของ ท่านเจ้าจอมมารดา)

ท่านเจ้าจอมมารดาอ่อน นั้นนับเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มากผู้หนึ่ง ด้วยเหตุที่ท่านเองมีชาติกำเนิดสูง โดยเกิดมาใน ราชินิกุลบุนนาค เป็นธิดาของเจ้าพระยาและท่านผู้หญิง ต่อมาก็ได้รับราชการฝ่ายในเป็น เจ้าจอมมารดา พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๕ มีประสูติกาลพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงถึง ๒ พระองค์ อีกทั้งยังเป็นผู้มีบุญ คือมีอายุขัยยืนยาวเป็นพิเศษ เมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ.๒๕๑๒ นั้นมีอายุยืนยาวถึง ๑๐๒ ปี ซึ่งในเวลานั้นพระราชธิดาทั้งสองพระองค์ต่างก็สิ้นพระชนม์ไปก่อนแล้ว ทั้งน้องสาวร่วมอุทรของท่านอีก ๔ คนที่ล้วนมีนามขึ้นต้นด้วย “อ” และได้รับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอมทั้งสี่คนจนเป็นที่รู้จักทั่วไปในนามของ เจ้าจอมก๊กออ นั้น ต่างก็ล่วงลับดับขันธ์ไปก่อน ท่านเจ้าจอมมารดาอ่อน ผู้เป็นพี่ทั้งสิ้น บรรดาทรัพย์สินบรรดามี ทั้งส่วนของพระราชธิดาทั้งสองพระองค์ และส่วนของน้องสาวทั้งสี่ท่าน ต่างก็รวมกันอยู่ในการปกครองของ ท่านเจ้าจอมมารดาอ่อน ผู้มีอายุยั่งยืนที่สุดทั้งสิ้น ท่านจึงได้มีทรัพย์สินจำนวนมาก ซึ่งท่านได้ใช้ทรัพย์สินเหล่านี้ไม่น้อยไปในการกุศลต่างๆตลอดช่วงอายุของท่านนั่นเอง

นอกจากเงินจำนวนหนึ่งล้านบาทที่ท่านได้ถวายไปแล้วนั้น ท่านยังได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินกว่าหนึ่งร้อยไร่ที่ตำบลเขาบันไดอิฐ จังหวัดเพชรบุรี อันเป็นชาติภูมิของท่านแด่ รัชกาลที่ ๙ ซึ่งต่อมาก็ได้พระราชทานให้ วิทยาลัยสารพัดช่างเพชรบุรี ใช้ก่อสร้างอาคารเรียน และที่พักของวิทยาลัยเป็นจำนวน ๔๐ กว่าไร่ นับเป็นการกุศลรายการใหญ่ที่ ท่านเจ้าจอมมารดาอ่อน ได้บำเพ็ญมา นอกเหนือไปจากรายการย่อยๆอีกมากที่ท่านได้บำเพ็ญมาตลอดชีวิตอันยาวนานของท่าน

เกียรติยศสูงสุดที่ท่านได้รับในชีวิตอันยืนยาวของท่านก็คือ การได้รับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าฝ่ายใน ในปีพ.ศ.๒๕๐๘ ขณะมีอายุได้ ๙๘ ปี โดยทั่วไปนั้นตามฐานะของพระสนมเอกไม่ว่าจะเป็นเจ้าจอมมารดาคือมีพระราชโอรสธิดา หรือเจ้าจอมซึ่งไม่มีพระราชโอรสธิดาก็ตาม หากทรงชุบเลี้ยงไว้ในตำแหน่งพระสนมเอกแล้ว ก็จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษฝ่ายใน หรือทุติยจุลจอมเกล้าฝ่ายในเป็นเกียรติยศ ซึ่ง ท่านเจ้าจอมมารดาอ่อน ก็ได้รับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษฝ่ายใน มาตั้งแต่ใน รัชกาลที่ ๕ แล้ว เมื่อมาได้รับพระราชทาน ปฐมจุลจอมเกล้าฝ่ายใน ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงที่สุดในตระกูลนี้ในวัยเกือบหนึ่งศตวรรษในรัชกาลปัจจุบันนั้น (ในช่วงนั้น) ย่อมเป็นเกียรติยศอันยังความปลื้มปิติอย่างสูงสุดแก่ท่านในบั้นปลาย แสดงถึงการที่ท่านได้รับราชการมาอย่างเต็มความสามารถตลอดเวลาอันยาวนาน

ท่านเจ้าจอมมารดาอ่อน ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบด้วยโรคชราในปีพ.ศ.๒๕๑๒ สิริอายุ ๑๐๒ ปีนับเป็น เจ้าจอมมารดาที่มีอายุยืนที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ได้รับพระราชทานโกศไม้สิบสองประกอบศพเป็นเกียรติยศ ภายหลังการพระราชทานเพลิงศพแล้วได้นำอัฐิมาบรรจุไว้ที่สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ร่วมกับพระราชธิดาทั้งสองพระองค์และเหล่าน้องสาวของท่าน เป็นการพำนักชั่วนิรันดร์

เมื่อครั้งยังวิ่งเล่นอยู่ใน บ้านท่าเกษม บนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา พอทราบว่าบิดาจะเข้า วังสวนปาริจฉัตก์ ซึ่งเป็นที่ประทับของ เสด็จพระองค์อดิศัยฯ ทรงพำนักอยู่กับพระมารดา เจ้าจอมมารดาอ่อน (สกุลเดิม บุนนาค) ผู้เป็นธิดาของ เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) ทุกครั้งจะตื่นเต้นมากเตรียมตัวติดตามบิดาเข้าเฝ้า เสด็จฯ พวกเราเรียกสั้นๆ ว่า “เสด็จฯ” เพราะมีเจ้านายอยู่เพียงพระองค์เดียวที่บิดาพาลูกๆ เข้าเฝ้า ท่านเรียก เจ้าจอมมารดาอ่อน ว่า “คุณน้า” (ถ้าจำไม่ผิด) เริ่มใช้ราชาศัพท์จากการที่ต้องเข้าเฝ้า เสด็จฯ พระองค์ท่านทรงมีรอยแย้มพระสรวลอยู่บนพระพักตร์ตลอดเวลาที่ทรงรับสั่ง ทรงพระเมตตากับพวกเรามาก ปกติแล้วเด็กๆ มันจะกลัวไม่กล้าเข้าเฝ้าเจ้านาย แต่ ส.ท่าเกษม ชอบติดตามบิดาอยู่เสมอ ชอบกลิ่นแป้งร่ำน้ำอบไทย มีคุณข้าหลวงคอยดูแลเลี้ยงน้ำเลี้ยงขนม ชอบกลิ่นหอมอ่อนๆของดอกไม้จากสวน ภายในวังร่มรื่นมีต้นไม้ปกคลุมทั่วบริเวณ

นึกถึงชีวิตของตัวเองที่วิ่งเล่น ยิงนก ตกปลา ว่ายน้ำ (เกาะยางในของรถยนตร์) ข้ามไปฝั่งโรงเหล้าสุราบางยี่ขัน เป็นเด็กกะโปโลแต่เมื่อถึงเวลาเข้าวังจะหมอบกราบ สำรวมกริยามารยาททุกย่างก้าว ดังที่คำโบราณกล่าวไว้ว่า “เรียบร้อยเป็นผ้าพับไว้” ตลอดจนการพูดจากับคุณข้าหลวงทั้งหลาย เพราะพูดกันตามความเป็นจริง เมื่อไปถึงวังขึ้นตำหนักกราบ เสด็จฯ และ เจ้าจอมฯ เฝ้าอยู่สักครู่จะคลานออกมาข้างนอกอยู่กับคุณข้าหลวง ตามประเพณีไทยเด็กๆ จะไม่อยู่ในวงสนทนากับผู้ใหญ่ยิ่งเป็นเจ้านายด้วย อย่างมากก็คงจะตอบเวลาพระองค์ทรงรับสั่งถามชื่อ หรือคำถามสั้นๆ ด้วยน้ำพระเสียงช้าเนิบๆ จากนั้นจะออกมานอกตำหนัก จนถึงเวลาบิดาเฝ้าเสร็จพวกเราจะเข้าไปกราบลาอีกครั้ง

วันที่ฝังลึกอยู่ในความทรงจำคือวันประสูติครบรอบของ เสด็จพระองค์อดิศัยฯ ในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ส.ท่าเกษม อยู่ในวัยรุ่นต้นๆ คืนนั้นเป็นงานใหญ่ทีเดียว มีการแสดงถวายหน้าพระที่นั่ง สอยต้นกัลปพฤกษ์ มีซุ้มออกร้านอาหาร-ขนมหวานนาๆชนิดล้วนแล้วแต่ฝีมือชาววัง งานจัดที่สนามหญ้าหลังตำหนัก

เมื่อใกล้จะถึงเวลา เจ้าจอมมารดาอ่อน เสด็จพระองค์อดิศัยฯ และเจ้านายพระองค์อื่นนั่งประทับรอรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล ร.๙ และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บิดาและพวกเราลูกๆ นั่งอยู่บนพื้นห้องรับแขก เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิดกราบแทบพระบาท เสด็จพระราชดำเนินเป็นส่วนพระองค์จริงๆ วังสวนจิตรลดา ไม่ไกลจาก วังสวนปาริจฉัตก์ ไม่มีขบวนรถตำรวจนำเสด็จฯ ตามที่เคยเห็น ค่ำนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เจ้าจอมฯ เสด็จพระองค์อดิศัยฯ พร้อมทั้งเจ้านายพระองค์อื่นๆ ประทับอยู่บนระเบียงกลางแจ้ง (TERRACE) ด้านหลังของตำหนัก ส.ท่าเกษม นั่งเฝ้าอยู่บนขั้นบันไดกับ คุณหญิงผะอบทิพย์ ศาตะมาน ซึ่งเกิดปีเดียวกัน เราเที่ยวและรำละครด้วยกัน (ต่อมาเธอได้รับพระราชทานเป็นนางสนองพระโอษฐ์ใน สมเด็จฯ เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๕) ครั้งหนึ่ง สมเด็จฯ ทรงหันพระพักตร์มาทางที่เราทั้ง ๒ นั่งเฝ้าอยู่และรับสั่งถามว่า “นั่น ผะอบทิพย์ ใช่ไหมจ๊ะ” พี่ๆ ของ คุณหญิงป้อม เป็นพระสหายของ สมเด็จฯ ที่ ร.ร.เซนต์ฟรังฯ และทำงานถวายเบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิดกันทุกคน

นับว่าเป็นประสบการณ์ชีวิตที่มีคุณค่าหาที่สุดมิได้ ข้าพระพุทธเจ้าขอเป็นข้ารองพระบาททุกชาติไป...


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐