คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



บทเพลงแห่งชีวิตของ "สุเทพ วงศ์กำแหง" (ตอนจบ)
สัมภาษณ์โดย... ประภัสสร เสวิกุล

ท่าทางเขาดูซื่อซื่อ นี่คือผู้ชายอกหัก
แอบไปรู้ว่าถูกผู้หญิงตัดรัก
ก็เลยสงสารเสียหนัก อยากฟูมฟักอุ้มชูใจ
ท่าทีเขามีเสน่ห์ หน้าตาเก๋ชวนฝันใฝ่
ยิ่งตอนยิ้มไม่ว่าจะยิ้มกับใคร
ลอบชมแล้วถอนใจใหญ่เผลอใจเป็นสุขจริง

(*) อยากเป็นเพื่อนปลอบยามเหงา หากตัวเขาไม่เกลียดหญิง
ใช่จะหวังให้เขามาเป็นคู่อิง
เพราะว่าใจจริงสงสารเขาเป็นยิ่งนัก
แต่พอเขาคลอเคียงคู่ กับใครฉันไม่รู้จัก
แปลกไฉนจึงเกิดหมั่นไส้ยิ่งนัก
แอบไปร้องไห้เสียหนัก รักเขาหรืออย่างไร

"ฤทธิ์กามเทพ"
คำร้อง-ทำนอง....เนรัญชรา
ขับร้อง....สวลี ผกาพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ



หนังก็เล่น ละครโทรทัศน์ก็เคยแสดง หนังสือก็เขียน และเขียนดีด้วยและก็ยังเรียนวาดเขียนจากเพาะช่างมาอีกด้วย เรียกว่าเกือบจะเป็นทุกแขนงของศิลปิน แต่พี่เทพชอบและเลือกเอาการร้องเพลงเป็นชีวิตและงานของพี่


สุเทพ คือมันรวดเร็ว และง่าย ไม่ต้องใช้เวลามากมาย ถ้าเผื่อเราจะเขียนรูปมันต้องเตรียมอะไรต่างๆ มากมาย คือมันเสียเวลา ร้องเพลง เราก็ใช้เสียงของเราเลยไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น

เริ่มต้นการร้องเพลงยังไงครับ จากเวทีประกวดร้องเพลงหรือเปล่า


สุเทพ ไม่มีครับ สมัยช่วงที่พี่เรียนจบเพาะช่าง ก็ไปทำงาน ช่วงนี้ก็ไปรู้จักคุณบุญสร้างก่อน คุณบุญสร้างเป็นคนชอบเขียนหนังสือมาก ชอบแต่งละคร เขาอยากเป็นนักประพันธ์ เขาก็เขียนเป็นละครขึ้นมา เป็นเรื่องสั้นๆ สมัยก่อนสถานีวิทยุมีอยู่ไม่กี่แห่ง มี 1 ปณ. มีกรมประชาสัมพันธ์ เขาก็ไปขอเวลาที่ 1 ปณ. มา แล้วก็ไปเขียนละครขึ้นมา แล้วก็บอกว่า เทพต้องร้องเพลง อั๊วรู้จักนักแต่งเพลงคนหนึ่งก็ไปขอเพลงเขามาร้อง ชื่อน้าไสล (ไกรเลิศ) เพลงของน้าไสลกำลังฮิตในตอนนั้น ก็คือ เพลง "เดียวดาย" "ในฝัน" ที่คุณชรินทร์ร้อง และเพลง "กินรีเล่นน้ำ" เป็นเพลงฮิตของท่านทั้งหมด คุณบุญสร้างเขาก็พาผมไปรู้จักกับน้าไสล แล้วน้าไสลก็บอกว่าเทพ เขียนโน้ตให้หน่อย ผมก็บอกว่า ผมเขียนได้แต่รูป โน้ตไม่เคยเขียนเลย แต่ก็บอกว่าโอเคจะเขียนให้ ก็ไปเขียนที่บ้านแกก็ไปรู้จักคุณชรินทร์ที่บ้านแก ตอนนั้นบ้านแกอยู่ที่จุฬา ซอย 11 ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นสยามสแควร์ไปแล้วก็กลายเป็นความผูกพันที่เราจะต้องร้องเพลงด้วย จะต้องขอเพลงน้าไสลมาร้องด้วย การผูกพันที่เราจะต้องเขียนโน้ตให้ด้วย ก็เลยกลายเป็นเด็กถือกระเป๋าตามหลังน้าไสลไป เขามีงานที่ไหนก็ไปร้องบ้าง ก็เลยกลายเป็นนักร้องไปในตอนนั้น งานวาดเขียนก็เลยไม่ได้ทำ

เพลงที่คุณไสล ไกรเลิศ เขียนให้ร้องเพลงแรกเป็นเพลงอะไรครับ


สุเทพ เป็นเพลงโฆษณาประกันชีวิต สมัยนั้นการประกันชีวิตเพิ่งเริ่มมี อย่างเพลงที่ขึ้นต้นว่า เราเกิดมาไร้คู่ ก็เป็นเพลงโฆษณาประกันชีวิตโดยไม่ให้ใครรู้ น้าไสลก็แต่งเพลงนี้ออกมา

คุณชรินทร์ร้องเพลงก่อนพี่ หรือว่าพร้อมกัน


สุเทพ คุณชรินทร์ร้องก่อน พี่เรียนอยู่เพาะช่างปี พ.ศ. 2490 คุณชรินทร์นี่ ปี พ.ศ. 2493 เพลงเขาฮิตแล้ว และเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงมาก เขาร้องเพลงละครที่พี่สุวัฒน์ วรดิลก เป็นคนเขียน และเพลงนี้ก็บรรจุอยู่ในนั้น คือ เพลง "เดียวดาย" คุณสุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ เป็นคนร้องคนแรก แต่ว่าคุณชรินทร์เขาเป็นลูกศิษย์น้าไสล น้าไสลก็พาไปฝากกับพี่สุวัฒน์ (วรดิลก) ก็มาร้องสลับฉาก จึงเริ่มมีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยนั้น ผมไปก็อยู่ที่หลังเป็นรุ่นน้องเขาอีกที

นักร้องรุ่นนั้นมีใครบ้างครับ


สุเทพ มีคุณชาญ เย็นแข มีคุณปรีชา บุญยเกียรติ คุณบุญช่วย (กมลวาทิน) ลูกศิษย์ของครูล้วน ควันธรรม เป็นนักร้องรุ่นพี่ สมัยนั้นก็มีนักร้องไม่กี่คน

สมัยก่อนจะเป็นการร้องบนเวที


สุเทพ เวทีเป็นส่วนใหญ่การจะไปร้องอัดแผ่นเสียงตอนนั้นค่อนข้างยากมากและเครื่องอัดเสียงบ้านเราก็ยังไม่ค่อยมี จะมีก็บริษัทกมลสุโกศลก็จะไปจ้างเขาเป็นหน้าๆ ไปจ้างช่างอัดมาอยู่กับเราสัก 3 เดือน แล้วเขาก็กลับไปอยู่ประเทศเขา แล้วก็จ้างมาใหม่ อย่างนี้ สมัยก่อนบ้านเราจะต้องส่งต้นฉบับไปประเทศเขาทำแผ่นมาขายบ้านเรา มันซับซ้อนยุ่งยากกว่าสมัยนี้มาก

กว่าจะมาเป็นนักร้องบันทึกแผ่นเสียงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะครับ


สุเทพ สมัยก่อนต้องร้องพร้อมดนตรีด้วย ซึ่งยากมาก

แผ่นแรกที่พี่อัดแผ่นเสียงคือเพลงอะไรครับ


สุเทพ เป็นเพลงของพี่แจ๋ว (สง่า อารัมภีร) 2 เพลง เป็นเพลงของพี่สมาน (กาญจนะผลิน) 2 เพลง พี่แจ๋วให้ร้อง "รำพึงรำพัน" เพลงหนึ่ง อีกเพลงจำชื่อไม่ได้ ส่วนของพี่สมานให้มา 2 เพลง คือ "นาฏกรรมชีวิต" กับอะไรก็จำไม่ได้

ทั้ง 4 เพลงนี่อัดในแผ่นเดียวกัน


สุเทพ ไม่ครับ สมัยก่อนเป็นซิงเกิล ตอนนั้นยังเป็นแผ่นครั่ง ตกแตก แผ่นใหญ่ หน้าหนึ่งก็เพลงเดียว เพลงไหนยาวเกิน 3 นาทีอัดไม่ได้ เพราะต้องต่อหน้าที่ 2

ไม่ทราบว่าพี่เรียนร้องเพลงที่ไหนมาก่อนหรือเปล่าครับ


สุเทพ ครูไสล (ไกลเลิศ) เป็นคนสอน บอกว่า การร้องต้องชัดเจน ควบกล้ำต้องชัดเจน ใช้ลมหายใจยาวๆ อย่าหายใจสั้น

พี่เริ่มอัดแผ่นเสียงประมาณ พ.ศ. เท่าไหร่นะครับ


สุเทพ พ.ศ. 2495 ครับ พอดีพี่อู๊ด (สุวัฒน์ วรดิลก) ก็ได้รับฉันทานุมัติให้ไปเมืองจีน เป็นศิลปินไทยคณะแรกที่ได้ไปเมืองจีน

พอดีเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตอนที่ไปคงจะสถานการณ์อย่างหนึ่ง แต่ตอนกลับมาสถานการณ์เปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตามถือว่าเป็นคณะศิลปินไทยยุคบุกเบิกที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน


สุเทพ ครับ ที่เราไปไม่คิดว่าจะไปเจอประธานเหมา ไปเจอกับ นายกฯ จู เอิน ไหล นายพลจูเต้

ตอนนั้นพี่เดินทางไปกี่คนครับ คณะที่ไปจีน


สุเทพ 48 คนครับ แวะฮ่องกงคืนหนึ่งแล้วเช้าเดินทางด้วยรถไฟจากเกาลูน

ศิลปินที่ไปคราวนั้นมีใครบ้างครับ


สุเทพ ก็มีพี่สุพรรณ บูรณะพิมพ์ คุณชาญ เย็นแข พี่เพ็ญแข กัลย์จาฤก ป้าทอง (สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต) ส่วนดนตรีก็มีของคุณประสิทธิ์ พยอมยงค์ พี่หมาน (สมาน กาญจนะผลิน) แล้วลุงบุญยง-บุญยัง เกตุคง ท่านจู เอิน ไหล บอกว่าเสียงตีระนาดของอาจารย์บุญยัง-บุญยง เหมือนไข่มุก หล่นบนจานหยก เราอยู่ในจีน 3 เดือน

ทั่วประเทศไหมครับ


สุเทพ 10 เมืองใหญ่ ก็มี ปักกิ่ง เซินหยาง อันชาง หยางชุน ฮาบิน เทียนซิน นานกิง เซี่ยงไฮ้ หางโจว กวางตุ้ง

ตอนกลับได้ทราบว่าลำบากมาก


สุเทพ ครับลำบาก

ตอนที่กลับมาแล้วเพลงของพี่ถูกห้ามออกอากาศหรือเปล่าครับ


สุเทพ ไม่มีครับ ไม่มี จากนั้นไปเรียนวิชาช่างเขียนที่ญี่ปุ่น

พี่ร้องเพลงมาประมาณ 50 ปีแล้ว ทำไมถึงบอกว่าอีก 2 ปีจะเลิกร้องเพลง


สุเทพ คิดว่าอย่างน้อย หน้าตาท่าทางเราคงจะแก่ ถ้าจะร้องก็คือเป็นการกุศล

พูดถึงปัญหาคาใจของศิลปินเกือบทุกแขนงก็คือ ค่าตอบแทนพี่คิดว่าที่ผ่านมาเป็นยังไงครับ


สุเทพ ที่ผ่านมาแย่มากๆ นะ สมัยก่อนที่ร้องเพลงแรกได้ 30 บาท แล้วขึ้นมาเป็น 50 แล้วขึ้นมาเป็น 100 บาท

พี่เทพอยู่ในวงการมานานและทำงานหลายอย่างให้กับวงการเป็นต้นว่า ตั้งคณะสุเทพคอรัส และสุเทพโชว์ ถือว่าเป็นการรวมตัวของนักร้องในรุ่นนั้น แล้วก็สร้างนักร้องใหม่ๆ ขึ้นมาหลายคน มีคนตั้งขอสังเกตว่า นักร้องในกลุ่มของพี่เทพ ต้องมีคำว่าเทพอยู่ด้วย อย่างคุณธานินทร์ อินทรเทพ คุณชรัมภ์ เทพชัย คุณพรเทพ เทพรัตน์ คุณเศวตชัย วิฑูรย์เทพ ฯลฯ


สุเทพ ความจริงแล้ว เดิมทีเราตั้งให้คุณธานินทร์คนเดียว แต่ว่าช่วงหลังๆ มา คุณมนูญ เทพประธาน ก็ขอใช้ และตอนหลังเด็กรุ่นน้องมาขอใช้ เลยกลายเป็นทุกคนมาอยู่ต้องใส่เทพลงไป

พี่อยู่ในวงการทั้งหมดมา 50 ปีแล้ว พี่รู้สึกยังไงกับวงการ เหนื่อยไหม เบื่อ หรือยังมีความสนุกสนานอยู่


สุเทพ ความจริงแล้ววงการเพลงเป็นวงการที่ดี คือเราได้สามารถได้อ่านความคิดความอ่านของคนอื่น เหมือนเราอ่านหนังสือ เราได้อ่านว่าคุณชาลี อินทรวิจิตรแต่งเป็นอย่างนี้ คุณสุรพล โทณะวณิก แต่งเป็นอย่างนี้ มาคุณ "เนรัญชรา" แต่งเป็นแบบนี้ มาครูสุนทรียา ณ เวียงกาญจน์แต่งเป็นอย่างนี้ ครูไพบูลย์ บุตรขัน แต่งเป็นอย่างนี้ เราได้อ่านจิตใจคนว่าคนที่แต่งเพลงแต่ละคน เขาก็มีไอเดียของเขาไม่เหมือนกัน คอนเซ็ปต์เดียวกันอาจจะไม่เหมือนกันเลย เราเริ่มเรียนรู้และมีความสุขที่ได้ฟัง ที่ได้ร้องเพลงของเขา

พี่เคยแต่งเพลงมั้ยครับ


สุเทพ เคยครับ คล้ายๆ กับเพลงเพียงคำเดียว แต่ช่วงนั้นก่อนที่จะไปญี่ปุ่น

นักร้องสมัยก่อนที่มีครูเพลงมีห้องอัดแล้วสมัยนี้ที่เป็นค่ายขึ้นมา มีความแตกต่างกันอย่างเห็นชัดมั้ยครับ


สุเทพ คือสมัยก่อนเขาจะไม่มีการผูกขาดนักร้องว่าจะไปร้องที่ไหนไม่ได้ ไม่เหมือนกับสมัยนี้ที่มีการผูกขาดว่าถ้าอยู่ค่ายเขาแล้วจะไปร้องที่อื่นไม่ได้ซึ่งสมัยก่อนไม่มี แต่ความเป็นอยู่ของเราสมัยก่อนอาจจะเป็นอยู่อย่างลำบากหน่อย แต่ก็เป็นความสุขเป็นอิสระ อย่างสมัยนี้อาจมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่เขาสั่งว่าคุณอย่าไปไหนนะ คุณก็ต้องอยู่ ซึ่งก็มีความสุขกันคนละอย่าง สมัยนี้อาจจะมีเงินเยอะ แต่คุณก็ถูกเขากำกับไว้ด้วย อย่างเราแม้จะไม่มีเงินเท่าไรแต่ก็อยู่ด้วยความสบายใจ

เรียกว่ายุคห้างแผ่นเสียงและยุคค่ายเทปจะชัดเจนกว่านะครับ


สุเทพ ถูกต้องครับ

ทุกวันนี้ มีคนบอกว่ายุคห้างแผ่นเสียงมันจบไปแล้วหมดยุคไปแล้ว หรือนักแต่งเพลง นักร้องหมดยุคไปแล้ว เป็นยุคของค่ายเทป


สุเทพ พี่คิดว่าอย่างไรก็ตามมันอาจจะมีการพัฒนาทางด้านเครื่องดนตรีและเครื่องอัดเสียงต่างๆ ทำให้มันพัฒนาการไปเร็วเหลือเกิน แต่อย่างไรก็ตามความจริงแล้วเพลงต่างๆ ที่เราฟัง อย่างเพลงคลาสสิก เราฟังเพราะว่ามันดีมันงดงาม พี่เชื่อว่าเพลงต่างๆ ที่มันดีมันจะต้องอยู่ และเพลงรุ่นใหม่ที่ไม่มีเนื้อหาสาระก็คงไม่อยู่ในใจของประชาชน พี่คิดว่าอย่างนั้นนะครับ

การที่มีเด็กรุ่นใหม่นำเพลงของรุ่นครูหรือรุ่นพี่มาร้องด้วยทำนองใหม่ๆ พี่คิดว่ายังไงครับ


สุเทพ ถ้าเขาร้องถูกก็ไม่เป็นไรนะ ถ้าร้องถูกทำนองถูกเนื้อนะ แล้วถ้าร้องใหม่ไม่ถูกทำนองมันน่าเกลียดจังเลย เพราะว่าคนแต่งเองก็ต้องเสียใจ

ผมคิดว่าผู้ฟังคงตัดสินเองว่าสิ่งไหนที่จะถูกรับไว้หรือว่าจะเปลี่ยนแปลงต่อไป เท่าที่พี่อยู่ในวงการเพลงมีความรู้สึกประทับใจอะไรที่สุดในวงการนี้


สุเทพ แผ่นเสียงทองคำที่ได้รับพระราชทานจากในหลวง 2 ครั้ง แล้วก็ความจริงพี่ได้ 4 แผ่น นี่คือความรู้สึกสุดยอดของชีวิตการเป็นนักร้อง ยิ่งมาได้ศิลปินแห่งชาติแล้วด้วยทำให้มีความรู้สึกว่าสิ่งที่เราบุกบั่นมาไม่เสียทีที่เกิดและก็มีความสุขตรงนี้ด้วย ว่าเราได้รับการยอมรับจากประชาชน

แผ่นเสียงทองคำของพี่ 4 แผ่นมีเพลงอะไรบ้างครับ


สุเทพ มี "ในโลกแห่งความฝัน" "ใจพี่" "ม่านประเพณี" แล้วเพลงสุดท้ายคือเพลง "ตัวไกลใจยัง" ของมงคล ผดุงวงศ์

นี่คือรางวัลของชีวิตและการยอมรับยกย่องและเป็นเกียรติอันสูงสุดสำหรับชีวิตของการเป็นศิลปิน


สุเทพ สิ่งนี้มีค่าทางใจมากกว่าเงินทอง

ผมอยากให้พี่ได้คุยในช่วงสุดท้ายก่อนจะจากกัน


สุเทพ ผมเรียนสารภาพต่อหน้าคุณประภัสสร เสวิกุล ว่า ชีวิตของผมเริ่มต้นมาจากไม่มีอะไรเลย จนกระทั่งมีชื่อเสียงขึ้นมาจนทุกวันนี้ ก็เหมือนกับว่าประชาชนได้ชุบเลี้ยงมา เพราะฉะนั้นการที่ผมจะดิ้นรนไปทำอย่างอื่น ก็คิดแต่เพียงว่าจะทำในสิ่งที่ดีงาม ไม่ทำในสิ่งที่เสียหาย ไม่ว่าการจะเป็นนักร้อง นักการเมือง หรือนักเขียน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เราคิดว่า เราเป็นผู้รับใช้ประชาชนอยู่ เราต้องทำตัวให้สมกับที่เขาไว้วางใจเรา เราต้องใช้หนี้ตรงนี้ให้จบก่อนที่ชีวิตเราจะสิ้นไป

ครับ ขอบคุณสำหรับข้อคิดที่ดีๆ และสิ่งดีงามที่พี่ได้ให้แก่สังคมมาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นด้านเสียงเพลง ด้านของการแสดงและการช่วยเหลือสังคม


บทสัมภาษณ์ข้างบนนี้เป็นบทสุดท้ายต่อจากเสาร์ที่แล้ว โดย คุณประภัสสร เสวิกุล บรรณาธิการของหนังสือ "วิทยุสราญรมย์" ฉบับพิเศษ เมษายน-มิถุนายน 2545 และได้นำไปออกอากาศในรายการ "วงวรรณกรรม" ดำเนินรายการโดย คุณประภัสสรฯ เช่นกัน ทางสถานีวิทยุสราญรมย์ วันพุธที่ 15 และ 22 พฤษภาคม 2545

เสาร์ที่แล้วลงข่าวคลาดเคลื่อนเรื่องจำนวนเงินที่สมาคมนักร้องฯ ร่วมกับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย มอบเงินให้ คุณอ้วน อรชร เป็นจำนวนเงิน 240,000 บาท ที่ถูกต้องคือ 200,000 บาท เลยจะขออนุญาตนำข่าวจาก น.ส.พ. ไทยโพสต์ (05-14-12) มาลง เพื่อคุณผู้อ่าน จะได้ทราบถึงความผูกพันที่คุณอ้วนมีต่อวงการเพลงลูกกรุงทั้งๆ ที่มีเลือดหนังสือพิมพ์อย่างเต็มตัว


หลังจากที่ญาติพี่น้องนายทวีสิน สถิตย์รัตนชีวิน หรือ อ้วน อรชร ผู้ล่วงลับ และคณะกรรมการจัดงานเฉพาะกิจของหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ได้ร่วมกันบริหารจัดการเงินทำบุญงานศพ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของอ้วน อรชร โดยเตรียมมอบให้สมาคมนักร้องแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน 200,000 บาท

ร.ต.สุเทพ วงศ์กำแหง ศิลปินแห่งชาติ และนายกสมาคมนักร้องแห่งประเทศไทยฯ กล่าวว่า ขอขอบคุณญาติพี่น้องอ้วน อรชร และชาวคณะหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ที่มีความตั้งใจมอบเงินให้ทางสมาคมนักร้องฯ ซึ่งถือเป็นปณิธานการทำงานวิชาชีพหนังสือพิมพ์ของคุณอ้วน ที่ต้องการช่วยเหลือวงการเพลงไทยอยู่แล้ว เพราะคุณอ้วนเป็นที่ปรึกษาให้ทางสมาคมนักร้องฯ พร้อมกับช่วยสนับสนุนและเปิดพื้นที่ข่าวบันเทิงให้ศิลปินเพลงลูกกรุงอย่างเต็มที่

"วงการเพลงลูกกรุงกลับมาฟื้นคืนได้ก็เพราะอ้วน อรชร ซึ่งเป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ในช่วงที่เขาพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล พวกเราจัดมินิคอนเสิร์ตน้ำใจล้วนๆ ให้อ้วน อรชร เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2555 และนำรายได้มอบไปให้ 2 แสนบาท เพื่อใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาล แต่วันนี้คุณอ้วนแสดงความมีน้ำใจมอบเงิน 2 แสนตอบแทนคืนให้ศิลปินลูกกรุง เปรียบเสมือนการให้ซึ่งกันและกัน สะท้อนถึงความจริงใจของคุณอ้วนอย่างแท้จริง" ร.ต.สุเทพกล่าว

นักร้องเสียงขยี้แพรบนฟองเบียร์ กล่าวอีกว่า จะสนองตอบความปรารถนาดีของคุณอ้วน อรชร ที่ต้องการช่วยเหลือนักร้องเพลงลูกกรุง โดยจะนำเงินที่ได้รับครั้งนี้ไปเก็บรวบรวมกับเงินสะสมที่มีอยู่แล้ว เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับวงการนักร้อง และขอให้กุศลผลบุญในครั้งนี้ส่งดวงวิญญาณอ้วน อรชร ไปสู่สรวงสวรรค์.


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
พฤษภาคม 19 '12