คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



เครื่องราชอิสริยาภรณ์...ฐานันดรที่ ๔
แหล่งศึกษาร่มเย็นเด่นริมสายชล
เราทุกคนรักดุจหัวใจ
ปลูกยูงทองไว้เคียงโดมมุ่งประโลมโน้มใจรัก
ธรรมจักรนบบูชาเทิดไว้
เหลืองแดงแสงธรรมศาสตร์วิไล
ปกแผ่ไปในทุกทาง
สัญลักษณ์ดีเด่นเห็นกระจ่าง
อย่าจืดจางรักร่วมทางกันไป
ทรงธรรมปานดังตราชูเด่น
ทรงเป็นดวงธรรมนำทางให้
พิทักษ์รักษาเชิดชูไว้
อบอุ่นใจไปทุกกาล
พระธรรมสถิตร่วมจิตสมาน
ปฏิญาณรักสามัคคี
รักยูงทองงามเด่นเหนือนที
ส่งศักดิ์ศรีไว้ให้ยิ่งยืนนาน

บทเพลงพระราชนิพนธ์ธรรมศาสตร์ (ยูงทอง)

ยูงทอง เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ ๓๖ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงประพันธ์ทำนองและพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๖

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองใน พ.ศ. ๒๔๗๗ เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยได้ใช้เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนอง ซึ่งขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนนาคพันธุ์) ประพันธ์ เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย จน พ.ศ. ๒๕๐๔ นักศึกษากลุ่มหนึ่งเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขณะเสด็จมาทรงดนตรี ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร ภายในพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๔

พระองค์รับสั่งว่า จะทรงพระราชนิพนธ์เพลงประจำมหาวิทยาลัยพระราชทานให้แก่นักศึกษาธรรมศาสตร์ จนวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๖ พระองค์เสด็จมาทรงดนตรี ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทรงบรรเลงทำนองเพลงที่จะพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย เนื้อร้องนั้นนายจำนงราชกิจ (จรัล บุณยรัตพันธุ์) ประพันธ์ขึ้นตามที่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ร่าง

ชื่อ "ยูงทอง" มาจากหางนกยูงฝรั่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปลูกไว้ห้าต้นที่หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และต่อมาเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อนึ่ง เพลงนี้อาจเรียกอย่างอื่นได้อีก เช่น "เพลงพระราชนิพนธ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" และ "ธรรมศาสตร์"


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้คำว่า “บรรณาธิการ” แทนคำว่า “เอดิเตอร์” เพราะหนังสือพิมพ์ไทยเราใช้เรียกทับศัพท์มาระยะหนึ่ง ได้ทรงแสดงความคิดเห็นส่งไปตาม น.ส.พ. ไทยฉบับต่างๆ เยี่ยงคนไทยคนหนึ่ง หาใช่ว่าทรงเปลี่ยนเอาตามพระราชอำนาจที่มีอยู่ไม่ ทรงใช้นามปากกาว่า “อ.พ.” ข้อความส่วนหนึ่งมีว่า “......ส่วนใจข้าพเจ้าอยากจะใคร่ใช้ว่า “บรรณาธิการ” คือ “บรรณ” จากคำสันสกฤต “ปร์ณัม์” แต่เขียนแผลงตามระเบียบของหนังสือไทย ประกอบกับคำ “อธิการ” ซึ่งในภาษาสันสกฤตและมคธเหมือนกัน แปลว่า “ผู้กระทำ” แปลรวมคำ “บรรณาธิการ” ว่า “ผู้กระทำการหนังสือพิมพ์” ดูก็กินความได้หมดจดดีอยู่ แต่ถ้าหากจะมีข้อท้วงได้ก็เพียงว่าคล้ายคำ “บรรณาการ” อยู่หน่อย ซึ่งแท้จริงก็ไม่สำคัญนัก เพราะคงไม่ใช้ปนกันได้เลย ทั้งนี้แล้วแต่ท่านจะเห็นสมควรเถิด....อ.พ.

บรรณาธิการ (คำสนธิ: บรรณ (หนังสือ) + อธิการ (เจ้าการ); อังกฤษ: Editor) เป็นบุคคลซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบ ในการจัดทำ รวบรวม ตรวจแก้ คัดเลือก หรือควบคุม เนื้อหาและภาพทั้งหมด ที่จะตีพิมพ์เป็นหนังสือ หรือเป็นสิ่งพิมพ์ที่มีกำหนดว่าจะออกเรื่อยไปตามลำดับ โดยใช้ชื่อเดิม เช่น หนังสือพิมพ์ และนิตยสารต่างๆ และนิยมใช้เป็นคำย่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “บ.ก.” ส่วนคำที่ใช้เรียกกระบวนการลักษณะดังกล่าว คือ บรรณาธิกร (อังกฤษ: Editing)

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายของ บรรณาธิการ ไว้ว่า ผู้จัดเลือกเฟ้น รวบรวม ปรับปรุง และรับผิดชอบเรื่องลงพิมพ์ และในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช ๒๕๕๐ ระบุว่า บรรณาธิการ หมายความถึง บุคคลผู้รับผิดชอบ ในการจัดทำ และควบคุมเนื้อหา ข้อความ หรือภาพ ที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุ หรือเอกสาร ที่แทรกในหนังสือพิมพ์ โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย เมื่อหนังสือพิมพ์ มีความหมายรวมไปถึง นิตยสาร วารสาร สิ่งพิมพ์ ที่เรียกชื่ออย่างอื่น ในทำนองเดียวกัน[

เรื่อง “ฐานันดรที่ ๔ ” หลาย ๆ ท่านเคยได้ยินและอาจอยากรู้ว่า “ฐานันดร ที่ว่านี้มีความเป็นมาอย่างไร”

ครูศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์ (อดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ ระดับนักการทูตผู้รอบรู้ เป็นนักเขียนชั้นครู เจ้าของนามปากกา เสนีย์ เสาวพงศ์) ท่านอธิบายว่า

“ผมใคร่ขอเสริมในเรื่องนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุโรป ผมจำได้ว่าในทศวรรษที่ ๘๐ ต้น ๆ (๒๔๘๐ – ๒๔๘๙) พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร(ต่อมาดำรงพระอิสริยยศ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ได้ทรงแสดงปาฐกถาหรือการอภิปรายที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อเรื่องอะไรผมจำไม่ได้แล้ว แต่จำได้แน่ว่า พระองค์ท่านได้นำคำว่า ฐานันดรที่ ๔ มาแสดงไว้เป็นครั้งแรกว่า

หนังสือพิมพ์นั้น ได้รับการยกย่องว่าเป็นฐานันดรที่ ๔ พระองค์ทรงให้ศัพท์บัญญัติภาษาไทยไว้ด้วย จากคำภาษาอังกฤษว่า Forthestate

แต่สมัยกลางของยุโรป หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอังกฤษ ระเบียบของสังคมประกอบด้วย

บุคคลกลุ่มใหญ่ หรือที่มีอำนาจในการปกครองแว่นแคว้นเรียกว่า Estate ฐานันดรอยู่ ๓ ประเภทคือ ๑. เจ้านายและขุนนาง (Nobility) ๒.นักบวชหรือผู้นำทางศาสนา และ ๓. สามัญชน (Commons)

ฐานันดรที่ ๑ ทำหน้าที่ป้องกันดินแดนจากการรุกรานของต่างชาติ และรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน

ฐานันดรที่ ๒ เป็นผู้นำทางจิตใจและความเชื่อ

ฐานันดรที่ ๓ เป็นผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตพื้นฐานเพื่อสนับสนุนฐานันดรที่ ๑ และที่ ๒

ต่อมา เอ็ดมันต์ เบิร์ก ( Edmund Burke ๑๗๒๙ – ๑๗๙๗ ) นักการเมืองและนักทฤษฎีการเมืองชาวอังกฤษ ได้สร้างหลักฐานขึ้นใหม่จากพื้นฐานทางจารีตประเพณีเดิมของอังกฤษมี ๔ ฐานันดรได้แก่

ฐานันดรที่ ๑ กษัตริย์ ( The Monachy)

ฐานันดรที่ ๒ ศาสนา (The Church of Englang)

ฐานันดรที่ ๓ รัฐสภา (The Parliament)

ฐานันดรที่ ๔ หนังสือพิมพ์ (The Press)

นั่นเป็นหลักทฤษฎีที่วางไว้ตามสภาพของความเป็นจริงที่ปรากฎอยู่บนเวลาอันหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะทั้งที่เป็นสากลและลักษณะประจำชาติ ในสมัยกลางยุโรปมีระบบกษัตริย์ แต่ภายในมีการเปลี่ยนแปลงราชวงศ์ไม่หยุดหย่อน

ไม่เพียงเท่านั้น ผมต้องการให้สังคมรับทราบว่า “นักหนังสือพิมพ์” ในอดีต หรือที่เรียกกันว่า “นักสื่อสารมวลชน” ในยุคปัจจุบันนั้น ได้รับการยอมรับมากน้อยเพียงใด

ท่านควรจะให้เกียรติและยอมรับหรือไม่... คงอยู่ที่พฤติกรรมของผู้ที่ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนในขณะนี้ด้วยว่า

แต่ละคนเหมาะสมกับเกียรติที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ฐานันดรที่ ๔” ที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคม และประเทศชาติ เป็นลำดับถัดจาก สถาบันกษัตริย์ สถาบันศาสนา และ สถาบันรัฐสภา ลงมาตามที่ เอ็ดมันต์ เบิร์ก ลำดับไว้ให้หรือไม่

ส.ท่าเกษมได้อัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยูงทอง” มาลงเปิดคอลัมน์ในสัปดาห์นี้ เนื่องในวาระโอกาสอันเป็นมงคลที่คุณไพสันติ์ พรหมน้อย เจ้าของและบรรณาธิการ น.ส.พ. ดิ เอเชี่ยน แปซิฟิก ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ โดยเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชฯ แก่บุคคลสัญชาติไทยที่มีถิ่นพำนักในต่างประเทศจำนวน ๑๙ ราย

นอกจากคุณไพสันติ์จะได้รับโล่เกียรติคุณจาก รศ.นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัย ในฐานะศิษย์เก่าดีเด่นประจำปี ๒๕๕๕ เนื่องในโอกาสฉลอง ๗๘ ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังเป็น อ.จ.พิเศษ สอนที่ คณะวารสารศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งเป็นสายตรงทีเดียว เพราะสำเร็จการศึกษาจาก ร.ร.วารสารศาสตร์ ต่อมาเป็นคณะวารสารศาสตร์ เมื่อจบแล้วก็ได้ใช้วิชาความรู้ที่เรียนมาประกอบอาชีพในด้านงาน น.ส.พ. จนปี พ.ศ. ๒๕๒๔ น.ส.พ. มติชน ซึ่งมี น.พ.ประเสริฐ ปราสาททองโอสถ มหาเศรษฐีไทยเป็นเจ้าของ ส่งตัวมาทำ น.ส.พ. มติชน ที่แอล.เอ. เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงมากและการสื่อสารไม่สะดวกเหมือนสมัยนี้ จึงถูกเรียกตัวกลับ แต่แฟนสาว คุณต้อย พิมพรรณ ยังเรียนไม่จบจึงตัดสินใจอยู่ต่อ ว่ายวนอยู่ในวงการน้ำหมึกเป็นเวลานาน จนในที่สุดจึงเปิด น.ส.พ. ของตัวเอง มีคุณต้อยภรรยาคู่ชีวิตอยู่เคียงข้างฟันฝ่าอุปสรรคมาด้วยกัน และ THE ASIAN PACIFIC NEWS ก็ได้แจ้งเกิดในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ( 2001)จนถึงปัจจุบัน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์เดิมเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเรียกว่า “เครื่องราชอิสริยยศ” ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเป็น เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ปรากฎใช้เป็นครั้งแรกใน พ.ร.บ. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ พ.ศ. ๒๔๓๒ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ คำว่า “เครื่องราชอิสริยาภรณ์” และ “เครื่องอิสริยาภรณ์” นั้นมีความหมายต่างกันคือ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หมายความถึง สิ่งของประดับเกียรติยศของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ และทรงไว้ด้วยพระราชอำนาจ ที่จะบัญญัติหรือสร้างขึ้น เพื่อพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้กระทำความดี ความชอบ เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ

เครื่องอิสริยาภรณ์ หมายความถึง สิ่งของหรือของประดับเกียรติยศของประเทศที่มีประมุขของประเทศ ที่ไม่ใช่พระมหากษัตริย์ได้สร้างขึ้น เพื่อมอบให้เป็นบำเหน็จความชอบแก่ผู้กระทำความดี ความชอบ เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลองค์ปัจจุบันทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณากรณ์ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ เพื่อพระราชทานแก่ผู้กระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศ ศาสนา และประชาชน แบ่งออกเป็น ๗ ชั้น พระราชทานแก่บุรุษและสตรีตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร

เมื่อวันที่ ๑๔ พ.ศ. ๒๕๕๗ สถานกงสุลใหญ่นครลอสแอนเจลิสได้จัดพิธีมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๖ ให้แก่บุคคลสัญชาติไทยที่มีถิ่นพำนักในอาณาเขตของสถานกงสุลใหญ่ ณ นคร ลอสแอนเจลิส จำนวน ๓ ราย นางกิ่งกาญจน์ สมิตามร (เหรียญทองดิเรกคุณาภรณ์) นายไพสันติ์ พรหมน้อย และ พ.ญ.สุวรรณี วิทยพูม ได้รับพระราชทาน เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์

ส.ท่าเกษม ได้นำ คำประกาศเกียรติคุณ มาลงเพื่อคุณผู้อ่านจะได้เห็นผลงานและหน้าที่การงาน รวมทั้งการร่วมมือสนับสนุนกิจกรรมของชาวไทยในสหรัฐดังจะเห็นได้จากการที่มีตำแหน่งต่างๆ ในสมาคมและชมรมมาโดยตลอด


คำประกาศเกียรติคุณ นายไพสันติ์ พรหมน้อย

สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอประกาศให้ท่านทั้งหลายได้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญเงินดิเรกคุณาภรณ์ให้แก่นายไพสันติ์ พรหมน้อย ด้วยได้กระทำความดีความชอบอันเป็นประโยชน์ในการช่วยพัฒนาสื่อมวลชนในนครลอสแอนเจลิสและการพัฒนาความเข้มแข็งให้กับชุมชนไทย สรุปได้ ดังนี้

1.การช่วยพัฒนาสื่อมวลชนในนครลอสแอนเจลิส โดยทำงานด้านสื่อสารมวลชนในนครลอสแอนเจลิสมาโดยตลอด เป็นผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์และนิตยสารในพื้นที่หลายฉบับ และเป็นคอลัมนิสต์ให้หนังสือพิมพ์หลายฉบับ ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ร่วมกับคณะผู้สื่อข่าวก่อตั้งสมาคมสื่อมวลชนไทยในสหรัฐฯ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 – 2538 เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสื่อมวลชนไทยในสหรัฐฯ

2.มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาความเข้มแข็งให้กับชุมชนไทย นับจากอดีต – ปัจจุบัน มีส่วนส่งเสริมและสนับสนุน แก่องค์กร คณะบุคล และโครงการต่าง ๆ ทั้งในฐานะประธาน นายกสมาคม ที่ปรึกษา กรรมการ ฯลฯ รวมทั้งให้ความร่วมมือส่วนราชการและวิสาหกิจไทยในนครลอสแอนเจลิส อาทิ ในปี พ.ศ. 2542 เป็นอาสาสมัครร่วมรณรงค์เลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของสถานกงสุลใหญ่ฯ และในปี พ.ศ. 2552 เข้าร่วมโครงการของสถานกงสุลใหญ่ฯ นำผู้แทนชุมชนไทยในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเป็นเครือข่ายในการปกป้องและส่งเสริมภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ประเทศไทย

ข้อความทั้งหมดที่เขียนถึง เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ฐานันดรที่ ๔ บรรณาธิการ รวมอยู่ในตัวคนเดียวกัน จากศิษย์เก่าวัดสุทธิวราราม กลายเป็นศิษย์เก่าดีเด่นประจำปี ๒๕๕๕ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ น.ส.พ. ฐานันดรที่ ๔ ที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประจำปี ๒๕๕๖ เจ้าของโชคลาภ ๒ ปีซ้อนที่กล่าวถึงนี้คือ “ไพสันติ์ พรหมน้อย” ผู้ที่เข้าร่วมโครงการของสถานกงสุลใหญ่ฯ นำผู้แทนชุมชนไทยในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเป็นเครือข่ายในการปกป้องและส่งเสริมภาพลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ประเทศไทย ดังที่จารึกไว้ใน "คำประกาศเกียรติคุณ" !


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗

หมายเหตุ ขณะที่ส่งต้นฉบับเห็นข่าว วันที่ ๒๒ พ.ค.๒๕๕๗ เวลา ๑๗.๐๐ น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะ ผอ.รส. พร้อมตัวแทนทุกเหล่าทัพ ได้แถลงข่าวผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ประกาศยึดอำนาจการบริหารประเทศ ตั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยประกาศยึดอำนาจตั้งแต่เวลา ๑๖. ๓๐ น.วันที่ ๒๒ พ.ค.เป็นต้นไป

ภาพต่างๆ ในงานจากฝีมือช่างภาพมืออาชีพ ดอน เจริญสุดใจ (เพาะช่าง) ข้อมูลจาก น.ส.พ. ดิเอเชี่ยน แปซิฟิค วิกิพีเดีย เจนอักษราพิจารณ์ และ ภาณุมาศ ทักษณา จาก OKNATION ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้