คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



บุคคลเป็นข่าวใน “บันทึกรักจากใจ” โดย.... พิสุทธิอาภรณ์

เห็นภาพและข่าวออนไลน์จาก น.ส.พ.ในประเทศไทย วันเปิดสนามกรังค์ปรีซ์ กอล์ฟคลับ ระดับเวิลด์คลาสที่สวยงามแห่งหนึ่งของประเทศไทย ที่มี ดร.ปราจิน เอี่ยมลำเนา ผู้ทุ่มทั้งกำลังกายกำลังใจ และกำลังทรัพย์อย่างสุดๆ จนประสบผลสำเร็จ หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง (ในขั้นแรก) ดร.ปราจินให้สัมภาษณ์ว่า สามปีที่ผ่านมาได้ใช้เวลาเรียนรู้ในการสร้างสนามกอล์ฟ และพิสูจน์ได้ว่า “ไม่มีอะไรเกินการเรียนรู้” เนื่องจาก ดร.ปราจินเป็นนักธุรกิจระดับแนวหน้าของประเทศไทย มีธุรกิจในเครือข่ายของบริษัทกรังค์ปรีซ์ฯ ที่ดังระเบิดเถิดเทิงคือ MOTORS SHOW ซึ่งจัดปีละครั้ง นิตยสารกรังปรีซ์ ฯลฯ ทั้งยังเป็นศิลปินเต็มตัวจากสถาบันเพาะช่าง มีตำแหน่งเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าเพาะช่างติดต่อกันมาหลายปี เพราะความสามารถและความพร้อม เมื่อความเป็นนักธุรกิจ นักกีฬา (แข่งรถ) ศิลปิน มารวมอยู่ในตัวคนๆ เดียว ความละเอียดอ่อน ความมองการณ์ไกล มนุษย์สัมพันธ์ การท้าทาย ใจถึง และคุณสมบัติอื่นๆ อีกหลายต่อหลายประการ ทำให้ผลงานชิ้นล่าสุดของ ดร.ปราจินออกมาอย่างเพียบพร้อม สมบูรณ์แบบ เพราะการใส่ใจทุกรายละเอียดในการสร้างสนามกอล์ฟมาตรฐาน ๑๘ หลุม เพื่อให้ติดอยู่ในระดับ ๑-๑๐ ของสนามกอล์ฟที่ดีที่สุดในประเทศไทย เป็นกึ่ง LINK COURSE และ LAKE COURSE จึงเป็นสนามกอล์ฟที่ท้าทายกับนักกอล์ฟ

ดร.ปราจินออกแบบงานวิศกรรม DETAILS DESIGN แม้แต่หญ้าและทรายที่ใช้ในหลุมทราย (บังเกอร์) ก็เลือกอย่างพิถีพิถัน พิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ทัศนียภาพเป็นอีกจุดหนึ่งที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นคนรักความสวยงามของธรรมชาติ ดอกไม้ ต้นไม้ เวลามาเที่ยวที่แอล.เอ. ยังเก็บเมล็ดดอกไม้กลับไปปลูกที่โบนันซ่าที่มีบ้านอยู่ ๕-๖ หลัง

พ็อกเก็ตบุ๊ค “บันทึกรักจากใจ” รวบรวมผลงานของ กุหลาบแดง และ ส.ท่าเกษม ดำเนินการผลิตโดย GPI บริษัทกรังค์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นเนล จำกัด แจ้งเกิดระหว่าง ดร.ปราจินคุมงานอยู่ที่ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี เป็นแหล่งทำเหมืองไพลิน (พลอยสีน้ำเงิน) ในอดีต หลังจากทำเหมืองก็ปล่อยให้พื้นที่เป็นหลุมเป็นบ่อ ดร.ปราจินจึงเข้าไปพัฒนา ระยะทาง ๑๘๐ กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาขับรถประมาณ ๒ ชั่วโมง และเมื่อโครงการมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ซึ่งเชื่อมต่อถึงท่าเทียบเรือทวายในประเทศพม่าเสร็จ ระยะทางจะสั้นเข้าขับรถเพียงชั่วโมงเศษๆ เท่านั้น นักกอล์ฟทางเมืองนี้น่าจะไปสัมผัสความอลังการดู แถมมีอาคารขนาดใหญ่จัดแสดงรถยนตร์โบราณที่ ดร.ปราจินได้สะสมไว้เป็นระยะเวลาอันยาวนาน ถ้าพบกับเจ้าของ เศรษฐีใจดี เรียนท่านว่า ส.ท่าเกษม แนะนำมาจะได้ลดเปอร์เซ็นต์ ตอนที่เขียนอยู่นี้ยังไม่ได้คุยกับพี่ตุ่น หรือ ดร.ปราจินแต่คงไม่มีปัญหาอะไร เพราะท่านเป็นคนติดดิน สุภาพและใจดี ที่ ส.ท่าเกษม ชอบใจไม่เคยลืม...พี่ตุ่นพูดว่า ถ้าเป็นเศรษฐีแล้วขี้เหนียว อย่าเป็นดีกว่า !

รูปต่างๆ ของพี่ๆ ที่นำมาลงนี้ เป็นศิษย์เก่าเพาะช่างทุกท่าน และมีเมตตาต่อ ส.ท่าเกษม เขียนคำนิยมประดับไว้อยู่ใน POCKET BOOK “บันทึกรักจากใจ” ดร.ถวัลย์เขียนกลอนได้ไพเราะนัก ทราบแต่ว่าท่านมีชื่อเสียงในการสบัดพู่กันเพียง ๖ วินาทีบนผืนผ้าใบและจำหน่ายภาพด้วยราคาสูง เป็นตัวเลขถึง ๗ ตัว (ล้านขึ้นไป)

มันช่างเป็นเรื่องที่บังเอิญอย่างเหลือเกิน ในบทสุดท้ายของ “บันทึกรักจากใจ” หน้า ๑๘๑ ชื่อ “มิถุนายนเดือนแห่งความรักของ...ส.ท่าเกษม” เขียนถึง “เรือนมัจฉาสุวรรณ” บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในบ้าน “ท่าเกษม” ที่คนเขียนเกิดและเติบโตมา มีรูปเรือนมัจฉาฯ ประกอบ เพิ่งทราบว่าหลังจากบิดาขายให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย ทางธนาคารฯ ขอให้ ดร.ถวัลย์เขียนรูปขนาดใหญ่ ซึ่งไม่สะดวกต่อการขนย้ายเพราะท่านมีบ้านอยู่ที่ จ.เชียงราย ทางธนาคารฯ จึงเชิญให้มาอยู่ที่เรือน “มัจฉาฯ” ใช้เป็นสตูดิโอชั่วคราว เคยพบพูดคุยกับ ดร.ถวัลย์ทุกครั้งที่ท่านมาแอล.เอ. และเป็นแขก (นับถือเป็นญาติผู้ใหญ่) พักที่บ้าน ดร.กมล น้องชายคนโปรด สัมภาษณ์เป็นส่วนตัว ๒-๓ ครั้ง แต่ไม่เคยพูดถึงเรือน “มัจฉาฯ” ท่านคุยเล่าให้ฟังถึงแต่บ้านนรสิงห์ ปัจจุบันคือทำเนียบรัฐบาล ว่าเข้าไปซ่อมแซมภาพต่างๆ กับอาจารย์ของท่านสมัยเป็นนิสิตอยู่ที่ ม.ศิลปากร

ถ้าพบกันเดือนเมษายนปีหน้า เรื่องแรกที่จะเรียนถามท่านคงจะเป็นการเขียนภาพที่เรือนมัจฉาสุวรรณ ได้ข่าวว่าปัจจุบันภาพนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์ ธนาคารแห่งประเทศไทยที่วังบางขุนพรหม ทราบจาก ดร.กมลว่าท่านจะเดินทางมาพร้อมกับนักศึกษาจากประเทศไทยเหมือนที่ทำมาทุกปี แต่ปีที่แล้วท่านไม่ได้ร่วมเดินทางมาทำหน้าที่ มัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์

ในเรื่องเดียวกันหน้า ๑๘๘ ได้เขียนถึงภาพนางเงือกสีน้ำมันขนาดใหญ่ จากพื้นจรดเพดานที่ห้องกลางในเรือน “มัจฉาฯ” อยากทราบว่าปัจจุบันตกเป็นสมบัติของใคร? สืบไปสืบมาข้ามทวีป เคยได้คำตอบว่าหลังจากบิดาของพวกเราถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ ๒๑ เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๐ ในระยะจัดการกองมรดก พี่ๆ น้องๆ ได้มอบให้คุณบุญชู โรจนเสถียร อ.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหลายสมัย อ.รองนายกรัฐมนตรีสมัยคุณชวน หลีกภัย และ ประธานองคมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในระหว่างนั้นคุณบุญชูดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ได้รับการยกย่องให้เป็น “ซาร์เศรษฐกิจ” ท่านมีบ้านพักริมทะเลอยู่ที่หัวหิน ซึ่งก็เหมาะสมที่สุด ส.ท่าเกษมไม่นึกเสียดายเลย ! ถึงแม้ท่านจะเสียชีวิตไปนานแล้วก็ยังอยู่ในความครอบครองของครอบครัวท่านต่อไป (คิดเอาเอง)

คุณบุญชูเป็นผู้ใหญ่ที่เมตตากับ ส.ท่าเกษม และพี่ๆ น้องๆ คุณชิน โสภณพนิช ได้มอบหมายให้ดูแลบิดาส.ท่าเกษม และเมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรม คุณบุญชูเลยดูแลพวกเราด้วย มอบทุนของธนาคารให้ ส.ท่าเกษม จนสำเร็จการศึกษาต่อจากผู้ปกครองคุณประพีร์ โชติกะพุกกะณะ ส่วนพี่สาวคุณศิริโสภา และน้องๆ ผู้หญิงจาก ร.ร.บพิตรพิมุข (ในขณะนั้น) ปัจจุบันเป็นมหาวิทยาลัย เข้าทำงานที่ธนาคารกรุงเทพทุกคน บิดาของ ส.ท่าเกษม มีจิตใจเมตตา ใจดี ช่วยเหลือผู้คนไว้มากมาย ถึงท่านจะจากพวกเราไปแต่บารมีท่านยังคงคุ้มครองพวกเราอยู่ ดูได้จากหลานๆ ที่เมืองไทยปกติควรใช้นามสกุลของผู้เป็นพ่อ แต่กลับใช้นามสกุลของคุณแม่กันเห็นว่าสมัครงานได้ง่าย

ส่วน ดร.กมล ซึ่งเป็นชาวแอล.เอ. ได้รับพระราชทาน ปริญญาบัตรศิลปดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เป็นใบที่ ๘ เพิ่งกลับมาแอล.เอ. ให้พวกเราได้ชื่นชมแสดงความยินดี ไปเมืองไทยเที่ยวนี้จากครอบครัวและศรีภรรยาที่น่ารักถึง ๒ เดือนเต็ม เพื่อไปทำหน้าที่รับใช้ประเทศชาติในด้านศิลปะวัฒนธรรม ทีสำคัญที่สุดคือ สร้างอนาคตให้ชาติ ! ด้วยการเลือกเฟ้นเยาวชนที่มีความสามารถแต่ไม่มีทุนมาศึกษาดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เที่ยวนี้ ดร.กมล สัญจร ๔ ภาค

เมื่อวันที่ ๒๖ ต.ค. ขณะที่ ดร.ปราจินรุ่นพี่จากเพาะช่างทำพิธีเปิดสนามกอล์ฟใหม่ล่าสุด ดร.กมล เข้าเยี่ยมคารวะ เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสิงคโปร์ มารุต จิตรปฏิมา (มีน้องชายทำงานอยู่กับสำนักงานทนายความที่แอล.เอ.) และ อุปทูต นิพนธ์ เพ็ชรพรประภาส มี ผ.อ.สำนักงานวัฒนธรรมร่วมสมัย เขมชาติ เทพไชย ร่วมด้วย ในโอกาสที่เดินทางดูงานมหกรรมศิลปะนานาชาติที่สิงคโปร์ (SINGAPORE)

ก่อนจบขอฝากคำขวัญที่ ดร.ปราจินกล่าวถึง สนามกรังค์ปรีซ์ กอล์ฟคลับ ไว้ดังนี้ “THIS IS MY DREAM…MY FAMILY…MY FRIENDS” (ข้อมูลต่างๆ จาก น.ส.พ.บ้านเมือง) อยากจะเรียนคุณผู้อ่านทุกๆ ท่านด้วยความภาคภูมิใจว่า เมื่อปี ๒๕๕๕ ขณะที่ ดร.ปราจินคุมงานอยู่ที่กาญจนบุรี ท่านได้สั่งให้ม้าเร็วนำเรื่องทั้งหมดของ “บันทึกรักจากใจ” ไปให้ท่านอ่าน เพราะ ส.ท่าเกษม รบกวนให้ท่านเขียนคำนิยมในฐานะเป็นผู้อนุมัติพิมพ์ให้ ท่านอ่านเมื่อมีเวลาและเขียนเสร็จในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ขึ้นต้นด้วย “บันทึกรักจากคนที่อยู่ไกล” ...ความรักนั้นยิ่งใหญ่ ทุกคนมีประสบการณ์ในความรักแตกต่างกันไป ความรักไม่เลือกชนชั้น และสายพันธุ์....


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๖