คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม







"๑๑ ปี...ที่รอคอยของ "จงรัก จันทร์คณา"
โปรดอย่าถาม...ว่าฉันเป็นใครเมื่อในอดีต
และโปรดอย่าถาม..ว่าอดีตฉันเคยรักใคร
รู้ไว้อย่างเดียว..เดี๋ยวนี้รักเธอและรักต¬ลอดไป
รักมากเพียงไหน..กำหนดวัดได้เท่าดวงใจฉัน
อย่าเพียรถาม..ว่าฉันจะรัก เธอนานเท่าใด
ฉันตอบไม่ได้..ว่าฉันจะรักชั่วกาลนิรันดร์
เพราะชีวิตฉันคงไม่ยืนยาว ไปถึงปานนั้น
รู้แต่เพียงฉัน..หมดสิ้นรักเธอ เมื่อฉันหมดลม
อย่าเพียรถาม..ว่าฉันจะรัก เธอนานเท่าใด
ฉันตอบไม่ได้..ว่าฉันจะรักชั่วกาลนิรันดร์
เพราะชีวิตฉันคงไม่ยืนยาว ไปถึงปานนั้น
รู้แต่เพียงฉัน..หมดสิ้นรักเธอ เมื่อฉันหมดลม..

เพลง "จงรัก" ขับร้อง... สุเทพ วงศ์กำแหง, ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล
คำร้อง/ทำนอง จงรัก จันทร์คณา

๑ ในเพลงไทยสากลหรือเพลงลูกกรุง ที่คนไทยนิยมร้องกันมากที่สุดคือเพลง "จงรัก" ผลงานการประพันธ์ทั้งคำร้องและทำนองของครูจงรัก จันทร์คณา ลูกไม้หล่นใต้ต้นของบรมครูพรานบูรพ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย จะร้องกับวงดนตรีหรือร้องกับคาราโอเกะ เพลงนี้มีประวัติที่ค่อนข้างจะแปลกไปกว่าเพลงอื่นๆ เพราะต้องใช้เวลานานถึง ๑๑ ปี กว่าที่คนไทยจะได้รู้จักกับเพลงนี้

ในบรรดาเพลงไทยสากล ๓-๔ พันเพลง ที่ครูจงรัก จันทร์คณา ได้แต่งไว้ ก็เห็นจะเป็นเพลง "จงรัก" นี่แหละที่ครูจงรักประทับใจที่สุด ถึงกับนำมาเขียนเบื้องหลังเป็นเพลงแรก แม้ว่าเพลงแรกที่ทำให้ครูจงรักแจ้งเกิดในฐานะนักแต่งเพลง คือเพลง "เหมือนคนละฟากฟ้า" ที่แต่งให้สุเทพ วงศ์กำแหง แต่สุเทพกลับนำไปให้ศิษย์เอกอย่างธานินทร์ อินทรเทพ ขับร้องจนมีชื่อเสียงโด่งดัง

ครูจงรัก จันทร์คณา แต่งเพลง "จงรัก" หลังจากที่เป็นนักแต่งเพลงที่คนรู้จักทั่วประเทศแล้ว โดยผู้ที่บันทึกเสียงคนแรกคือ สุเทพ วงศ์กำแหง แต่เพลงนี้กลับไม่มีโอกาสได้เปิดให้ชาวบ้านได้ฟังทางวิทยุ เพราะนายห้างแผ่นเสียงหลงไปเชียร์เพลงอื่น ซึ่งคิดว่าดีกว่าเพราะกว่า จนทั้งคนแต่งคือครูจงรักและคนร้องคือสุเทพลืมเพลงนี้ไปแล้ว เพราะเวลาผ่านไปนานถึง ๑๑ ปี คนที่ทำให้เพลงนี้กลับมาดังคือ ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล เพราะเธอไปร้องเพลงโชว์ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีแฟนเพลงขอเพลง "จงรัก" ซึ่งเป็นเพลงดังของจังหวัดเชียงใหม่ ทีแรกทิพย์วัลย์ก็ไม่รู้ว่าเพลง "จงรัก" ใครแต่งใครร้อง เพราะไม่เคยได้ฟังมาก่อน แต่เมื่อหัดร้องแล้วก็รู้สึกชอบ จึงไปถามสุเทพซึ่งก็ลืมเพลงนี้ไปแล้ว เมื่อทราบว่าคนแต่งคือครูจงรัก จันทร์คณา นักร้องสาวสวยทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล จึงขอครูจงรักนำเพลงนี้ไปบันทึกเสียง เพลง "จงรัก" จึงได้แจ้งเกิดตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้

ส่วนที่มาที่ไปของเพลง "จงรัก" ครูจงรัก จันทร์คณา ได้เล่าว่า

"ตอนนั้น ครูแจ๋ว (สง่า อารัมภีร) นั่งซื้อเพลงอยู่ บริษัท กมลสุโกศล ผมเป็นเพียงนักแต่งเพลงเล็กๆ อาศัยบารมีของพ่อพรานจึงทำให้ได้รู้จักใครๆ ในวงการเพลงบ้าง

"ครูแจ๋วครับ ชื่อของผมที่ครูพิมพ์ลงในแผ่นเสียง มันผิดครับ ผมสังเกตมาหลายแผ่นแล้ว" ครูแจ๋วเงยหน้ามองผม หน้าบึ้งไม่ยิ้ม

"ผิดยังไง จงรักแต่ง ครูก็ใส่ชื่อจงรักแต่งทุกครั้ง"!!

"แต่มันเขียนผิดนี่ครับ" ผมเสียงละห้อย!! ครูแจ๋วย้อนว่า "เขียนยังไงผิด เขียนยังไงถูก"

"คือว่า ชื่อของผม มันไม่มี ษ.ฤาษี การันต์ อย่างที่ครูใส่" ผมอธิบาย

"แล้วใส่ ไม่ใส่ มันอ่านว่า จงรัก หรือเปล่าล่ะ" ครูแย้ง

"คือว่า จงรัก ใส่ ษ.ฤาษี การันต์ มันแปลว่า แขกยาม ส่วน จงรัก ไม่มีอะไรพ่วงท้าย แปลว่า จงใจรัก ตั้งใจรัก ครับผม" ผมร่ายรายละเอียด

"งั้นเอ็งไปแต่งเพลงมาซี ไอ้ความหมายของ จงรัก อะไรนั่นน่ะ" ครูแจ๋วปัดเรื่อง

ครูจงรัก จันทร์คณา คาดคะเนผิด คิดว่าการเอาชื่อมาแต่งเพลงจะง่าย แต่กว่าจะเขียนเนื้อให้กระชับ และกินความหมายได้ลึกซึ้งขนาดนี้ ครูจงรักต้องใช้เวลาไม่น้อย แม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็นเสือปืนไว สามารถไปเขียนเนื้อเพลงหน้าห้องอัดเสียงได้ แต่เพลงนี้ก็ทำเอาครูจงรักถึงกับเกร็ง เพราะเอาชื่อตัวเองมาแต่งเพลง และต้องแต่งให้สุดความสามารถ

ที่แต่งเพลงของครูจงรักมักจะเป็นร้านเหล้า คิดไปก๊งไปเดี๋ยวก็ได้บทเพลงดีๆ ไปขาย เพื่อเอาเงินมาซื้อเหล้ากินอีก ขณะที่สมองยังคิดไม่ออกว่าจะเขียนอะไรออกมา หูของครูจงรักก็ได้ยินเสียงของหนุ่มสาวนั่งคุยกันอยู่หลังโต๊ะ จะหันไปมองก็กลัวเสียมารยาทจึงได้แต่เงี่ยหูฟัง โดยฝ่ายชายบอกว่ารักผู้หญิงตั้งแต่นาทีแรกที่พบ จะเป็นใครมาจากไหนก็ไม่แคร์ ฝ่ายหญิงถามว่าอดีตของเธอเป็นอย่างไรก็ไม่แคร์หรือ ผู้ชายบอกว่าอดีตผ่านไปแล้วเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ให้มาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ในวันนี้ ผู้หญิงถามว่าจะรักไปนานแค่ไหน ผู้ชายบอกว่ารักจนกว่าชีวิตจะหาไม่

ครูจงรักรีบเช็กบิลจ่ายค่าเหล้า แล้วกลับบ้านไปนั่งเขียนเนื้อเพลง "จงรัก" ใช้เวลาแค่ ๒๐ นาทีเท่านั้นเพลงนี้ก็เสร็จเรียบร้อย

แต่เพลงนี้ต้องใช้เวลาตั้งท้องนานถึง ๑๑ ปี โดยมีสุเทพ วงศ์กำแหง ผู้ขับร้องคนแรกทำหน้าที่อุ้มท้อง ส่วนผู้ให้กำเนิดคือ ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล ที่ไปได้ฟังเพลงนี้ที่เชียงใหม่ แล้วนำมาบันทึกเสียงจนกลายเป็นเพลงอมตะ

ผลสรุปคือครูสง่าบอกให้แต่งเพลง "จงรัก" เพื่อบอกความหมายของชื่อนี้ให้ชาวบ้านรับรู้ เพลง "จงรัก" จึงเป็นเพลงแรก ที่คนแต่งนำชื่อตัวเองมาแต่งเป็นเพลง!

( หนุ่มกางเกงแพร อาทิตย์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ )

ทิพวัลย์ ปิ่นภิบาล เกิดวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ เป็นคนจังหวัดจันทบุรี หลังจากรับปริญญาตรีคณะศิลปศาสตร์ จาก ม.รามคำแหง ในปี ๒๕๑๘ บัณฑิตสาวลูกพ่อขุน หญิง-ทิพย์วัลย์ ก็เบิกทางคว้ารางวัลรองชนะเลิศ การประกวดนักร้องสมัครเล่นชิงแชมป์ประเทศไทย เวทีที่ทางช่อง ๓ จัดขึ้นเพื่อค้นหานักร้องไทยไปแข่งขันระดับเอเชีย โดยมี เกวลิน บุญศิริธรรม เป็นผู้ชนะเลิศ

ก่อนที่นันทิดา แก้วบัวสาย และมณีนุช เสมรสุต จะรับรางวัลเดียวกันไล่เรียงกันมา

อานิสงส์แห่งรางวัล ทำให้ทิพย์วัลย์ได้รับโอกาสจากทางช่อง ๓ ให้ทำงานเป็นสตาฟฟ์ฝ่ายจัดรายการ มีนักร้องรุ่นพี่อย่าง มีศักดิ์ นาครัตน์ และสุดา ชื่นบาน คอยเป็นกุนซือ เคี่ยวเข็ญเรื่องร้องเพลง ก่อนที่จะเดินทางไปประกวดร้องเพลงชิงแชมป์เอเชียที่เกาะฮ่องกง ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล จึงถือเป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของอดีตมือกลองวงชื่นชุมนุมศิลปิน

แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จจากการเป็นตัวแทนประเทศไทยบนเวทีระดับเอเชีย แต่เรื่องงานผลิตโทรทัศน์ ทิพย์วัลย์ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์งานบันเทิง ทั้งด้านหน้าและหลังเวที ความรู้ ประสบการณ์ที่ได้ร่วมบุกเบิกงานทีวีกับทางช่อง ๓ ก็พอจะสร้างปีกอันแข็งแกร่งให้ทิพย์วัลย์หันมาเอาดีด้านธุรกิจบันเทิง เปิดบริษัทผลิตรายการโทรทัศน์

โดยมียักษ์ใหญ่กันตนาร่วมถือหุ้น ก่อนที่จะขายหุ้นทั้งหมดให้กับทิพย์วัลย์ เพราะต้องการเคลียร์บริษัทกันตนาเพื่อเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์

๔ ปีเต็มกับงานประจำช่อง ๓ ช่วงหัวค่ำต้องวิ่งรอกร้องเพลง ทำให้เธอเกรงใจผู้ใหญ่ ผนวกกับความมีใจรักร้องเพลงเป็นทุนเดิม ทิพย์วัลย์จำต้องหันหลังให้กับงานทีวีมาเดินสายร้องเพลง คืนหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๔-๕ ที่ และเป็นการตัดสินใจที่ถูก เพราะปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เพลง "สุดเหงา" ของเธอ ก็ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำ และเพลง "ดอกไม้ช่อนี้" ต่อมาเพลง "ไฟ" แต่งโดยชัยรัตน์ วงศ์เกียรติขจร มอบให้ ก็ได้รับรางวัลกรังด์ปรีซ์ของสยามกลการ

ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ กรมประชาสัมพันธ์ได้แต่งตั้งให้ทิพย์วัลย์เป็นตัวแทนประเทศไทย ในฐานะนักร้องรางวัลกรังด์ปรีย์เฟรนไฟร์ ไปร่วมร้องเพลงงานมหกรรมเพลงอาเซียน ครั้งที่ ๑ ที่มาเลเซีย ครั้งที่ ๓ บนเกาะสิงคโปร์ และปี พ.ศ.๒๕๒๗ เพลง "ในโลกบันเทิง" ผลงานของอาจารย์วิมล จงวิไล ก็ทำให้ทิพย์วัลย์ได้รับรางวัลพิณทอง อันเนื่องจากวาระครบรอบ ๓๖ ปี ธนาคารกสิกรไทย

ทิพย์วัลย์ถือเป็นนักร้องคาบเกี่ยวรอยต่อ ระหว่างยุคเพลงไทยลูกกรุงกับเพลงไทยสากล ทำให้ชื่อและบทเพลงดังอย่าง "จงรัก", "ไฟ" หรือแม้แต่เพลง "คิดถึง" (จันทร์กระจ่างฟ้า) เพลงเก่าที่เธอนำมาขับขาน ยังเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงรุ่นใหม่ๆ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะครั้งหนึ่งเธอเคยทำรายการวิทยุ จัดเพลงไทยสากลสลับกับผลิตสารคดีสั้น ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๔

หลังจากที่ทิพย์วัลย์ได้ร่วมเล่นละครเพลงประกอบแสง สี เสียงในบทนางนกเอี้ยง เรื่องพระเจ้าตาก ที่จัดขึ้น ณ บ้านเกิดจันทบุรี ทำให้เธอสนใจศิลปะการแสดงที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมไทย และอยากสืบสานพร้อมถ่ายทอดเป็นศาสตร์วิทยา จึงได้ร่วมมือกับอาจารย์นิมิตร พิพิธกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแสดง จัดตั้งสถาบันสอนศิลปะการแสดงชื่อ มันตา แต่ถึงกระนั้น ทิพย์วัลย์ก็ยังไม่ทิ้งอาชีพร้องเพลง ทั้งยังเป็นวิทยากรและสอนร้องเพลงให้กับกองดุริยางค์ทหารเรือ และกลุ่มแม่บ้านมหาดไทย ทุกวันนี้บริษัท แฟร์ ออเปเรชั่น ที่มีทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล นั่งในตำแหน่งเอ็มดี ก็ยังคงเดินหน้าผลิตรายการวันสบาย ให้กับทาง ททบ.๕ และสารคดีสั้นอีกมากมาย

ในปี พ.ศ.๒๕๔๖ ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล ได้รับรางวัลพระพิฆเนศทองพระราชทาน ๒ รางวัล จากเพลง "อัศดง" และ "น้ำเซาะทราย" และได้รับเลือกเป็นศิลปินประกายเพชร จากมูลนิธิเพชรภาษา จากสถาบันมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

ทิพวัลย์ ปิ่นภิบาล(โพธิ์ทองนาค) นักร้องแผ่นเสียงทองคำปี ๒๕๒๘ ชื่อเล่น หญิง สมรสกับ พลโทศุภชัย โพธิ์ทองนาค มีบุตรชื่อ เก่ง” ณัฏฐ์ธชัย และ “แก้ม” กุลกรณ์พัชร์ โพธิ์ทองนาค (ปิ่นภิบาล) รับตำแหน่งกรรมการบริหาร สมาคมนักร้องแห่งประเทศไทย ดูแลงานด้าน ประชาสัมพันธ์

(หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ -- อาทิตย์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ )

เมื่อราวๆ ปลายปีที่ผ่านมา ส.ท่าเกษม ได้รับหนังสือ “ตำนานครูเพลง เพลงไทย สากล ลูกกรุง” เล่มปกแข็งหนาปึก ๗๑๖ หน้า พิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ รวบรวมโดย “คีตา พญาไท” หรือ อาจารย์ไพบูลย์ สำราญภูติ ภายในหนังสือที่มีคุณค่ามีประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการศึกษาเรื่องราวของเพลงจากผลงานของบรมครูเพลงหลายต่อหลายท่าน มี “คำนิยม” จากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ในวงการเพลง รวมทั้ง อดีตนายกรัฐมนตรี องคมนตรี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นอกจากท่านจะสนใจเรื่องเพลงแล้ว ยังเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เช่นเดียวกับ อ.ไพบูลย์ สำราญภูติ นอกจากนั้นยังมีประวัติและผลงานของศิษย์เก่าสวนกุหลาบฯ อีกหลายท่านเช่น

ขุนวิจิตรมาตรา ครูพรานบูรพ์ ครูมงคล อมาตยกุล ครูจงรัก จันทร์คณา บุตรคนสุดท้องของครูพรานบูรพ์ ครูจงรักเป็นครูเพลงรุ่นเพื่อน (ส.ก.๗๑) ของ คีตา พญาไท ซึ่งเป็น รุ่นเดียวกับ องคมนตรี สุรยุทธ์ จุลานนท์

ปกติเวลาเขียนถึงเรื่องเพลง ส.ท่าเกษม จะใช้ข้อมูลจากหนังสือเพลงที่พี่ๆ ศิลปินแห่งชาติกรุณาให้มา แต่บางครั้งยังต้องเข้าไปในเวบไซต์ต่างๆ เช่น คอลัมน์ของ อ้วน อรชร (เสียชีวิต) ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์และของ คีตา พญาไท ใน MANAGER ONLINE เมื่อเมนเทอร์ (MENTOR) ผู้เป็นครูในด้านงานเขียนของ ส.ท่าเกษม หอบหนังสือเพลงหนักอึ้งเล่มนี้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาให้ จึงมีความปิติดีใจอย่างล้นพ้น จะเขียนถึงเพลงไหนก็เปิดดูได้ ทุ่นเวลา ไม่ต้องเที่ยวซอกซอนหาตามเวบฯ ต่างๆ ซึ่งบางทีจะได้ข้อมูลที่ผิดพลาด ตัวสะกดต่างกัน เช่นครั้งนี้ ทิพย์วัลย์ และ ทิพย์วรรณ สะกดทั้ง ๒ อย่าง ส.ท่าเกษมผู้อยู่ห่างไกลปืนเที่ยงก็ต้องใช้โยนหัวโยนก้อยเอา เขียนหนังสือดึกๆ จะโทรฯ ถามใครเขาก็นอนกันหมดแล้ว ! พรุ่งนี้ตื่นขึ้นมา ตายังลืมไม่ค่อยจะขึ้นก็ต้องทำงานกับ WEBMASTER โชคดีมีกาแฟร้อนๆ กลิ่นหอมกรุ่นวางอยู่หน้าเครื่องคอมท์ เลยตาสว่างขึ้น

ปกติแล้วเวลาได้ข้อมูลที่ต้องการจะนำมา RE-WRITE เรียบเรียงกับข้อเขียนของตัวเอง แต่ก็มีบางครั้งที่ต้องขออนุญาตนำมาลงสดๆ เลย เพราะไม่อยากให้เสียอรรถรส สำนวนการเขียนของต้นฉบับ เช่นครั้งนี้เป็นต้น ครูจงรักนอกจากเป็นหนึ่งในขุนพลนักแต่งเพลงแล้ว ท่านยังเขียนหนังสือได้ยอดเยี่ยม มีลูกเล่นลูกชนสำนวนโวหาร การใช้ศัพท์ต่างๆ เช่น “โม่” หมายถึงเขียนเพลง, “พิทยา บุณยรัตพันธ์” ร้องเฉือนอารมณ์ได้สะใจนัก (เธอร้องเพลง กฎแห่งกรรม ที่ครูจงรักแต่ง), “....ข้าพเจ้าจะสาธยาย ความเป็นมา....ขาดตกหล่นไปบ้าง เพราะหลงเลือนด้วยกาลเวลา ก็ต้องขอพระอภัยมณีไว้ด้วย”, “คือว่า จงรักษ์ อย่างนี้มันแปลว่า แขกยาม มีหน้าที่ดูแลรักษา....”

ส.ท่าเกษม ได้นำประวัติและผลงานของทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล มาลงเพื่อเป็นการขอบคุณและให้เครดิตเธอที่ทำให้เพลงนี้ดังทะลุฟ้า ชาวแอล.เอ.รู้จักกันทั้งนั้น ชอบร้องกันด้วย “อ้วน อรชร” ถึงได้แกล้งถามว่า “มีใครบ้างไม่เคยร้องเพลง จงรัก ยกมือขึ้น”

ข้อความ ๒ ตอนที่นำมาลงในตอนต้นคอลัมน์ มาจาก น.ส.พ.ไทยโพสต์ ดูจากวันเดือนปีแล้ว เป็นของ “อ้วน อรชร” ทั้ง ๒ คอลัมน์ถึงแม้จะใช้ชื่อ “หนุ่มกางเกงแพร” เพียงคอลัมน์เดียว มีชื่อจริงว่า ทวีสิน สถิตย์รัตนชีวิน อดีต บรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา และบรรณาธิการ โต๊ะข่าวบันเทิงฯ ของ น.ส.พ.ไทยโพสต์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๑ เม.ย. พ.ศ.๒๕๕๕ ส.ท่าเกษมเป็นแฟนคอลัมน์ของ “อ้วน อรชร” ชอบสไตล์การเขียนมีอารมณ์ขันเข้าใจเปรียบเทียบ เช่นพูดถึงเพลง “จงรัก” ว่า “เพลงนี้ต้องใช้เวลาตั้งท้องนานถึง ๑๑ ปี โดยมี สุเทพฯ ผู้ขับร้องคนแรกทำหน้าที่อุ้มท้อง ส่วนผู้ให้กำเนิดคือ ทิพย์วัลย์ฯ....”

เพลงนี้ขับร้องกันหลายต่อหลายคนเช่น ศรัญย่า ส่งเสริมสวัสดิ์ มาช่า วัฒนพานิช นิตยา บุญสูงเนิน แจ้ ฝน ธนสุนทร ศรีไศล สุชาตวุฒิ พิ้งค์ แพนเตอร์ ฯลฯ

ใครที่เป็น แฟนพันธุ์แท้ ของครูจงรัก น่าจะจำเพลง “จงรัก” เพิ่มอีก ๔ ท่อน เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๘ พ.ค.๒๕๕๑ ในหนังสือคอนเสิร์ต “เพลงดีที่ไม่ดัง” ประชัน “เพลงดังที่ไม่ลืม” แสดง ณ ศาลาเฉลิมกรุง ท่านแต่งเพิ่มให้ชื่อว่า “เพลงจงรัก วันนี้”

อย่าไปคิดถึงอดีตให้ตรมตรอมใจ
เพราะไม่มีใครไปเปลี่ยนให้ดีขึ้นมา
แม้อนาคต ก็เหมือนอากาศ ที่ยากไขว่คว้า
ทุกปรารถนา จะหาพบแน่ แค่ปัจจุบัน
อย่างตัวฉัน มั่นรักต่อเธอ วันนี้เท่านั้น
ไม่อาจใฝ่ฝัน ไปถึงวันพรุ่ง ซึ่งไม่มีวัน
เพราะโลกเวียนผัน วันพรุ่งก็เป็น วันนี้เท่านั้น
รักซื่อของฉัน มั่นตราบโลกมี วันนี้เรื่อยไป


หมายเหตุ ขอขอบคุณ อาจารย์กมลฯ เป็นอย่างยิ่งที่กรุณาส่งรูปต่างๆ มาให้ คนทางแอล.เอ.จะได้ไม่ตกข่าว โดยเฉพาะรูป ครูจงรักฯ กำลังร้องเพลง และปีนี้ “พี่เทพ” พี่ชายของอาจารย์ร้องเพลง “บ้านเรา” เป็นของขวัญฉลองวันเกิด (รอบค่ำ ) ครบ ๗๑ ปี ให้อาจารย์กมล เมื่อคืนวันที่ ๑๗ มกราคม ที่ผ่านมา

ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๒๔ มกราคม ๒๕๕๘