คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม





๔๙ ปี ใน ยู.เอส.เอ.
Jojo was a man who thought he was a loner
But he knew it wouldn't last.
Jojo left his home in Tucson, Arizona
For some California grass.

Get back, get back.
Get back to where you once belonged
Get back, get back.
Get back to where you once belonged.
Get back Jojo. Go home
Get back, get back.
Back to where you once belonged
Get back, get back.
Back to where you once belonged.
Get back Jo.

Sweet Loretta Martin thought she was a woman
But she was another man
All the girls around her say she's got it coming
But she gets it while she can

Get back, get back.
Get back to where you once belonged
Get back, get back.
Get back to where you once belonged.
Get back Loretta. Go home
Get back, get back.
Get back to where you once belonged
Get back, get back.
Get back to where you once belonged.

Songwriters: Lennon, John / McCartney, Paul James

การที่เรามาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ยาวนานเท่าไร ไม่มีใครเขามาอินังขังขอบด้วยหรอก มีแต่เราคนเดียวเท่านั้นที่คิดว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในชีวิต ! พอถึงวันนั้นทีไรจะนึกถึงวันที่จากบ้านเกิดเมืองนอน บิดามารดาพี่ๆน้องๆทุกครั้งไป เช่นเมื่อวันที่ ๗ ของเดือนนี้ เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เป็นปีที่มี ๒๙ วัน ผู้ที่เกิดวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์คงจะฉลองใหญ่เพราะต้องรอกันถึง ๔ ปีจึงจะมีสักครั้ง ส.ท่าเกษม ฝากสุขสันต์วันเกิดมาด้วย ขอให้มี อายุ วรรณะ สุข พละ

เมื่อวันที่ ๗ เป็นวันอาทิตย์ตรงกับ SUPER BOWL พอดี บอกหัวหน้าครอบครัวว่า วันนี้อยู่ที่อเมริกามาจะครบครึ่งศตวรรษแล้วนะ ขาดอีกปีเดียวเท่านั้นเอง ก็ไม่เห็นจะยินดียินร้ายอะไรด้วย อย่างดีก็ “Oh good !” สนใจฟุตบอลบนจอแก้วซะมากกว่า เป็นที่ทราบกันว่าเป็น DAY OFF งดงานทุกประเภท ฝ่ายสมาชิกคนโตของครอบครัวมีบัตร ๒ ใบ เป็น SEASON TICKETS ของ MUSIC CENTER, LOS ANGELES วันนั้นไม่มีใครไปด้วย เลยเป็นโอกาสดีที่ ส.ท่าเกษม จะได้ออกไปฉลอง ๔๙ ปีให้จิตใจคึกคักเล่น ตอนที่ถูกชวนให้ไปดูด้วยก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไรกับละครตลก (COMEDY) ที่ชื่อ “AN ACT OF GOD” แสดงที่ AHMANSON THEATRE เพียงแต่ดีใจได้แต่งตัวออกไปเที่ยว ที่ไหนก็ได้ พอไปถึงโรงละครเห็นรูปต่างๆ ของตัวแสดงนำที่กำลังโชว์อยู่ก็กรี๊ด (ค่อยๆ)ทันทีเลย ต่อว่าคนพาออกมาฉลองวันสำคัญว่าทำไมไม่บอกว่า SEAN HAYES (ฌอน เฮย์ส) เป็นพระเอก ที่จริงเธอบอกแต่จำไม่ได้เอง !MUSIC CENTER นี้เป็นสถานที่สำคัญเชิดหน้าชูตาของนครลอสแอนเจลิส สร้างมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๔ มีหลายอาคารด้วยกันเพราะเป็นที่แสดงของ วงออเคสทร้า ละครบรอดเวย์ โอเปร่า คอนเสิร์ต บัลเล่ท์ ศิลปะทุกชนิดที่เกี่ยวกับการแสดงและในด้านอื่นๆ ส.ท่าเกษม ไปดูการแสดงมาเกือบทุกอาคารก็ว่าได้ เพราะตอนสมาชิกคนเล็กยังเรียนหนังสืออยู่ คลั่งไคล้ละครเพลงบรอดเวย์มาก เลยสมัครทำงาน PART-TIME เสียเลย ได้ดูโชว์ฟรีและสามารถพาแขกเข้าดูฟรีด้วย ตั้งแต่เธอเลิกทำงานที่ MUSIC CENTER ก็เลยไม่ได้ไปดูโชว์หรือละครที่นั่นมาหลายปีแล้ว เพิ่งจะไปคราวนี้ ในบริเวณดังกล่าวมี AHMANSON THEATRE, DOROTHY CHANDLER PAVILION, GRAND PARK, MARK TAPER FORUM, MUSIC CENTER PLAZA และอาคารหลังล่าสุดนี้ชื่อ DISNEY CONCERT HALL สถาปัตยกรรมการออกแบบสะดุดตาเป็นเอกลักษณ์ทีเดียว ดิสนี่ย์ซะอย่าง !

ฌอน เฮย์ส มีมุขขำตั้งแต่เริ่มพูดทักทายประโยคแรกกับผู้เข้าชม “สวัสดีครับแฟนซุพเพอร์โบล ทุกๆ ท่าน” เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าวันนั้นแฟนฟุตบอลนั่งชิดติดจอแก้วไม่มีใครไปไหน นอกจากพวกที่มาดูละครนี่แหละที่ไม่ใช่แฟนฟุตบอล เลยเรียกเสียงฮาลั่นโรง เขาเป็นนักแสดงที่ยอดเยี่ยมมาก สมควรแล้วที่ได้รับรางวัลต่างๆซึ่งแสดงถึงการยอมรับของวงการบันเทิง ฌอนเกิดเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๐ ห่างกับคนเขียนเพียงวันเดียวแต่หลายปีอยู่ มิน่าเลยถูกชะตาเพราะราศีเดียวกันนี่เอง! ที่ชมว่าแสดงได้ยอดเยี่ยมเนื่องจากพูดคนเดียวทั้งเรื่องแสดงเป็น GOD (พระเจ้า) มีเทวดา ๒ องค์เป็นผู้ช่วย แต่ไม่ได้แสดงอะไรมากเพียงแต่ยืนเป็นตัวประกอบ ไม่มีการเบื่อ คนดูหัวเราะตลอดทั้งเรื่อง แปลกใจจำบทได้อย่างไรพูดจ้อยๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ !

หลังจากละครเลิกได้เดินไปถ่ายรูปภายนอกตึก ตรงบ่อน้ำรอบๆ โรงละครที่มีน้ำพุเพิ่มความสวยงาม “กลับมายืนที่เดิม....” ปี ค.ศ. ๑๙๗๙ มาสาบานตนเป็นพลเมืองของประเทศสหรัฐอเมริกาที่นี่และยืนถ่ายรูปตรงนี้ที่เดิม !

ขำที่ว่าขามาคนขับเลี้ยวผิดถนนทั้งๆ ที่มาหลายครั้งและมี GPS ( GLOBAL POSITIONING SYSTEM ) เครื่องบอกทางในรถ แต่ ส.ท่าเกษม กลับต้องเป็นคนบอกทางเพราะชำนาญเส้นทางสายนี้ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน นั่งรถเมล์จากฮอลลีวูดไปตึกอิมมิเกรเชิ่นเป็นประจำ ต่อวีซ่าบ้าง ขอใบอนุญาตทำงานบ้าง เลยรู้จักถนนแกรนด์อย่างดี ตอนขากลับได้ขอให้ขับรถเข้าฮอลลีวูด เพื่อไปเยี่ยมเยียนถิ่นเก่าเมื่อ ๔๙ ปีที่แล้ว สถานที่พักที่นอนเป็นคืนแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา สถานที่แห่งนั้นยังคงอยู่ มีรูปร่างหน้าตาเหมือนเดิมถึงแม้บริเวณรอบข้างจะเปลี่ยนไป

วันลงเครื่องบินที่ LAX มีเงินติดตัวมาเพียง ๕๐ เหรียญที่คุณสำเนา สุขุม ธิดาคนเล็กของคุณพ่อหลวง (หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์) และคุณรัตนา สุขุม กรุณาให้มากินขนม พี่จิ๋วที่น่ารักของพวกเราขึ้นมาส่ง ส.ท่าเกษม ถึงเครื่องบิน PAN AMERICAN และให้ธนบัตรใบละ ๕๐ ดอลล่าร์มา ๑ ใบ เงินที่ได้รับจากผู้ใหญ่เวลาไปกราบลาที่เมืองไทย เลี้ยงพี่ๆ น้องๆ และเพื่อนฝูงไปจนหมด เลยมีแต่ของ พี่จิ๋ว เหลือติดตัวอยู่ พอมาอยู่กับ คุณประพีร์ โชติกะพุกกะณะ ผู้ปกครอง ท่านให้อาทิตย์ละ ๑๐ เหรียญซึ่งก็ไม่ได้ใช้อะไร ท่านดูแลหมดทุกอย่างแบบกงสี ตอนหลังบิดาให้คุณพอล สิทธิอำนวย จากธนาคารกรุงเทพ สาขานครนิวยอร์ก ส่งเงินมาให้ใช้สอย เวลาช่วย อาพีร์ทำงานที่ร้านทำผม “ PRAPEE’S ” ยังได้ทิปจากลูกค้าอีก ก่อนเข้าคอลเลจได้งานที่ BANK OF AMERICA พอเข้าคอลเลจได้งานที่ห้องสมุดและทำมาตลอดจนเรียนจบ กลับมาทำงานที่ธนาคารเดิม เข้าๆ ออกๆ รวม ๑๑ สาขา เป็นเวลานานเกือบ ๓๐ ปี นับว่าโชคดีไม่เคยตกงานกับใครเขาในต่างแดน เพราะถ้าจะพูดไปแล้ว ค่อนข้างจะเป็นคนขี้เกียจและเชื่องช้าเฉื่อยชา เขาเรียกว่า “ขี้เกียจจนได้ดี !” (ฮา)

ก่อนจบคงจะต้องกราบขอบพระคุณ อาพีร์ และลูกสาว ๒ คนของท่าน คุณบุษบา (อี๊ด) คุณเสาวรส (อึ่ง)รวมทั้ง แพทย์หญิง ดร.เพ็ญศรี คุปตะวนิชย์ LAST BUT NOT LEAST “UNCLE SAM” ที่เปิดโอกาสให้ศึกษาและทำงานเท่าเทียมกับเจ้าของประเทศ !


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙