คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



มนัส ปิติสานต์ ศิลปินแห่งชาติ
สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล) พุทธศักราช 2555
ความรักเอย เจ้าลอยลมมาหรือไร
มาดลจิต มาดลใจ เสน่หา
รักนี้จริง จากใจหรือเปล่า
หรือเย้าเรา ให้เฝ้าร่ำหา

หรือแกล้งเพียง แต่แลตา
ยั่วอุรา ให้หลงลำพอง
สงสาร ใจฉันบ้าง
วานอย่าสร้าง รอยช้ำซ้ำเป็นรอยสอง

รักแรกช้ำ น้ำตานอง ถ้าเป็นสองฉันคงต้องขาดใจตาย



เพลง "เสน่หา"
คำร้อง/ทำนอง มนัส ปิติสานต์
บันทึกเสียงโดยสุเทพ วงศ์กำแหง เมื่อ พ.ศ.2509

เพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับ "ครูมนัส ปิติสานต์" และ "สุเทพ วงศ์กำแหง" ก็คือ "เพลงเสน่หา" อันเป็นเพลงที่ครูมนัส ปิติสานต์ ถนัดเป็นพิเศษ และดูเหมือนว่าจะเป็นเพลงที่แต่งหลังสุดในยุคหลัง

เพลงนี้ครูมนัส ปิติสานต์ เล่าว่า แต่งในปี พ.ศ.2507 เมื่อครั้งที่ไปทำงานเป็นครูสอนดนตรีที่สถานีโทรทัศน์ กรมประชาสัมพันธ์ที่ขอนแก่น สมัยที่รักษ์ศักดิ์ วัฒนพานิช เป็นอธิบดี และมีบ้านพักอยู่ที่ริมบึงแก่นนคร

คืนนั้นพระจันทร์ลอยเด่นเต็มดวงสวยมาก เป็นช่วงเดือนธันวาคม อากาศกำลังหนาว จึงเกิดอารมณ์อยากเขียนเพลงในท่วงทำนองของคนที่ผิดหวังในเรื่องของความรัก แต่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ เมื่อนำมาบันทึกแผ่นเสียงออกเผยแพร่ จึงใช้คำในวรรคสุดท้ายของเพลงบรรทัดแรก คือคำว่า "เสน่หา" มาเป็นชื่อ และได้รับความนิยมไม่แพ้เพลงอื่นๆ ที่แต่งมาก่อนหน้านี้

ครูมนัส ปิติสานต์ เขียนเล่าเอาไว้ในที่มาแห่งอารมณ์เพลงในหนังสือมหกรรมดนตรี เพลงไทยยุคทองของ 12 ครูเพลง ว่า

"...เพลงนี้ลอยลมมาจริงๆ เหมือนอย่างเนื้อเพลงที่ว่า...ความรักเอยเจ้าลอยลมมาหรือไร...เป็นความรู้สึกนั้นจริงๆ ความรักลอยลมมากระทบใจ แล้วไหลออกมาเป็นบทเพลงนี้ เพียงไม่กี่บรรทัด แต่คำจำกัดความของความรักนั้นมันคือความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ...ผมขอยืนยัน"

ศิลปินแห่งชาติ สุเทพ วงศ์กำแหงเล่าไว้ว่า เมื่อครูมนัสนำเพลง "เสน่หา" มาให้ร้อง พอเห็นเนื้อร้องและทำนองก็คิดว่า เหมือนกับเพลงฮิต "รักเอย" เลยปฏิเสธไป แต่ครูมนัสขะยั้นขะยอว่าเพลงนี้ต้องเป็นเพลงดังอีกเพลงหนึ่งอย่างแน่นอน และเมื่ออัดเพลงนี้ออกสู่วงการเพลง ได้กลายเป็นเพลงยอดนิยมจนทุกวันนี้ และมีนักร้องอื่นๆ รวมทั้งนักร้องรุ่นใหม่นำมาร้องกันใหม่ ดูจากใบสมัครของสมาชิกชมรมสุเทพแฟนคลับ ยู.เอส.เอ. ทั้งที่แอล.เอ. และจากรัฐอื่นๆ เพลงโปรดที่แต่ละท่านเขียนไว้ "รักคุณเข้าแล้ว" มาอันดับหนึ่ง "เสน่หา" เป็นอันดับที่สอง จากสมาชิกเกือบ 2 ร้อย ส.ท่าเกษมเชื่อว่า เพลง "เสน่หา" ของครูมนัสคงจะเป็นเพลงโปรด เพลงประทับใจของอีกหลายต่อหลายท่านที่มีเสียงเพลงอยู่ในหัวใจ ยิ่งทราบที่มาที่ไปของเพลงนี้จากคำบอกเล่าของผู้แต่ง ยิ่งมีความไพเราะและซึ้งเข้าไปอีก !

ส่วนเพลงที่แต่งให้ศิลปินแห่งชาติ สวลี ผกาพันธุ์ ขับร้องและได้รับความนิยมไม่แพ้เพลงที่แต่งให้สุเทพ วงศ์กำแหง และธานินทร์ อินทรเทพ ก็คือ เพลง "ฝนรักฝนเศร้า" ซึ่งเป็นจินตนาการของหญิงสาว ซึ่งคิดถึงชายคนรักในยามที่ฝนตกพรำ ต่างไปจากเพลงอื่นๆ ที่เป็นเพลงที่ผู้ชายร้องเพื่อสื่อถึงหญิงสาวที่ตนรัก




เพลง "ฝนรักฝนเศร้า"
คำร้อง/ทำนอง มนัส ปิติสานต์

ฝนตั้งเค้ามา คราใด เป็นภาพเตือนใจ
เตือนให้นึกถึง ความหลังครั้งหนึ่ง
เมื่อคืนฝนพรำ หวานฉ่ำสุดซึ้ง
ยังตราตรึง หวานไม่คลาย

เมื่อยังได้คลอเคียงเธอ หลับตาละเมอ
ท่ามกลางเสียงฟ้า สายฝนพร่างพราย
อ้อมกอดอุ่นๆ ว้าวุ่นทั่วกาย
ต้องหลบหน้าอาย ฝนพรำ

มาบัดนี้ไม่มีเธอ ฉันต้องละเมอ
เฝ้าพร่ำเพ้อ ครวญคร่ำ
เธอจากไป ท่ามกลางฝนพรำ
ฝากความชอกช้ำ ให้ฉันเฝ้าตรม

ฝนตั้งเค้ามา คราใด สะกิดแผลใจ
น้ำตาอาบไหล ร้าวใจเหลือทน
โอ้ฝนเจ้าขา ข้าปวดกมล
เจ็บจนสุดทน แล้วฝนเอย

เมื่อวันที่ 9 มกราคม นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานในการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) แถลงข่าวประกาศรายชื่อ ผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ ให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2555 ใน 3 สาขา จำนวน 16 คน

ศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2555 ที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ จะเข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2556 ซึ่งตรงกับ วันศิลปินแห่งชาติ และในวันดังกล่าวจะมีงานเลี้ยงแสดงความยินดีแก่ศิลปินแห่งชาติ พร้อมกิจกรรมการแสดงและนิทรรศการศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2555 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยด้วย

สาขาทัศนศิลป์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์เข็มรัตน์ กองสุข(ประติมากรรม),นางเนื่อง แฝงสีคำ (ประณีตศิลป์ – ช่างทอง), ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี(สื่อผสม) และ ศาสตราจารย์พิเศษอารี สุทธิพันธุ์ (จิตรกรรม)

สาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ นางนงไฉน ปริญญาธวัช,คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ, คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ และ นายมกุฏ อรฤดี

สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ นางบัวซอน ถนอมบุญ (การแสดงพื้นบ้าน – การขับซอ), นายดอกดิน กัญญามาลย์(ภาพยนตร์),นายสมส่วน พรหมสว่าง(ดนตรีไทยลูกทุ่ง), นายมนัส ปิติสานต์(ดนตรีไทยสากล), พันโทเสนาะ หลวงสุนทร (ดนตรีไทย),พันโทวิชิต โห้ไทย (ดนตรีไทย – โยธวาทิต,นายเคล้าน้อย โรจนเมธากุล (การแสดงพื้นบ้าน – หนังตะลุง) และ นางสาวทัศนีย์ ขุนทอง (ดนตรีไทย – คีตศิลป์)

สำหรับผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ จะได้รับเงินตอบแทน เดือนละ 20,000 บาท และสามารถเบิกเงินสวัสดิการเพื่อการรักษาพยาบาลได้ตามระเบียบราชการ รวมทั้งมีค่าช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัย ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท และหากเสียชีวิตจะมีค่าช่วยเหลืองานบำเพ็ญกุศลศพ 20,000 บาท ค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิต 150,000 บาท เป็นต้น

ส.ท่าเกษมขอถือโอกาสแสดงความยินดี ส่งความคารวะไปยังครูมนัสฯ เพราะติดตามชื่มชมผลงานของท่านมาตลอด เนื่องจากว่าถ้าชอบเพลงไหนจะศึกษาถึงที่มาที่ไป ใครแต่งคำร้องและทำนอง เป็นเฉพาะบางเพลงที่ครูมนัสฯ แต่งทั้งเนื้อร้องและทำนอง ส่วนใหญ่ท่านทำงานร่วมกับครูเพลงท่านอื่น ท่านสีไวโอลินจึงมีความชำนาญและความสามารถในการแต่งทำนอง เสียดายที่ไม่เคยรู้จักหรือพบท่านเป็นส่วนตัว ได้แต่ยกย่องและชื่นชมผลงานของท่านอยู่เงียบๆ ทางนี้ อย่างไรก็ตามถ้าคุณผู้อ่านท่านใดไม่เคยสนใจเพลง "เสน่หา" มาก่อน น่าจะลองฟังดู ดีไม่ดีอาจจะมีเพลงโปรดเพิ่มขึ้นอีกเพลง อย่างที่เรียนมาตอนต้นว่า นักร้องดังๆ นำมาร้องกันหลายคนรวมทั้งนักร้องรุ่นใหม่ ชอบใครก็ฟังคนนั้น แต่ต้องขอบอกว่า ถ้าแน่ๆต้อง สุเทพ-สวลี ถ้าเป็นสำนวนของคนเมืองนี้คงต้องใช้คำว่า "TWO THUMBS UP!" ให้แก่ครูมนัส ทั้งเนื้อร้องและทำนองผสมผสานกลมกลืนกันอย่างเสนาะเพราะพริ้ง ออกทำนองเพลงไทยเดิมน้อยๆ มีการเอื้อนและฮัมอยู่ในลำคอ ที่ดีกว่านั้นคือ เพลง "เสน่หา" นี้ร้องได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง

"พี่รี่" คุณสวลีเป็นนักแสดงนางเอกละครมาก่อน ท่านจึงใส่อารมณ์เน้นแต่ละคำตามที่ผู้ประพันธ์เกิดอารมณ์สุนทรีย์ขึ้นในขณะแต่งเพลงนี้ เรียกว่า "พี่รี่" ร้องได้ไพเราะตีบทแตกไม่แพ้ต้นฉบับ (คุณสุเทพ) ที่พี่รี่ชมอยู่เสมอว่าเป็นเพื่อนและน้องชายที่ดี

วรรคสุดท้ายของเพลงมีว่า "ถ้าเป็นสอง ฉันคงต้องขาดใจตาย" พี่รี่เคยขับร้องให้น้องๆ ฟังในงานเลี้ยงต้อนรับ "สุเทพ-สวลี" ที่เมืองเบอร์แบงค์นานมาแล้ว นานกว่า 25 ปี ร้องไปด้วยคุยไปด้วย เครื่องดนตรีมีคีบอร์ดตัวเดียวเล่นโดย ฮาร์ท นักศึกษา ยู.ซี.แอล.เอ. ในขณะนั้น พอร้องวรรคสุดท้ายจบ พี่รี่ก็พูดเล่นกับพวกเราว่า "ขาดใจ แล้วก็ตายเลย !" พร้อมทั้งหัวเราะด้วยเสียงที่มีเสน่ห์

มนัส ปิติสานต์ เกิด 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2471 เป็นนักดนตรี และนักแต่งเพลง ที่มีชื่อเสียง เกิดที่อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เป็นบุตรของนายมูล และนางจำเริญ ปิติสานต์ บิดารับราชการจึงติดตามบิดามาเรียนหนังสือที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ แล้วย้ายมาเรียนต่อชั้นมัธยม 3 ที่โรงเรียนเนติศึกษา ย่านราชวัตร ซึ่งเป็นโรงเรียนเดียวกันกับครูธนิต ผลประเสริฐ และครูสุรัฐ พุกกะเวส ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่น จนเกิดสงครามญี่ปุ่นบุกประเทศไทย พี่ชายจึงพาไปฝากเรียนที่โรงเรียนกองดุริยางค์ทหารอากาศ เป็นลูกศิษย์ของพระเจนดุริยางค์ รุ่นเดียวกันกับครูแจ๋ว สง่า อารัมภีร ปรีชา เมตไตรย์ ชลหมู่ ชลานุเคราะห์ ฯลฯ

เมื่อเรียนจบสงครามเลิกพอดี อยากจะไปเรียนต่อสายสามัญจึงรู้ว่าได้รับการบรรจุเป็นทหารสำรองแล้วโดยไม่ต้องถูกเกณฑ์ เลยปล่อยเลยตามเลย เข้ารับราชการและเป็นนักดนตรีของกองดุริยางค์ทหารอากาศตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2486 เป็นต้นมาจนเกษียณอายุราชการ

มนัส ปิติสานต์ มีโอกาสได้ร่วมงานกับสง่า อารัมภีร และปรีชา เมตไตรย์ เล่นดนตรี และแต่งเพลงร้อง เพลงละครเวที ให้กับคณะศิวารมณ์ของหม่อมหลวงทรงสอางค์ ฑิฆัมพร ต่อมาทั้งสามท่านได้ร่วมกันก่อตั้งวงดนตรีกระชับมิตร ในปี พ.ศ. 2520

ครูมนัส ปิติสานต์ มีผลงานแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงเช่น เพลง "เสน่หา" (แต่งเมื่อ พ.ศ. 2507 ขับร้องโดยสุเทพ วงศ์กำแหง เมื่อ พ.ศ. 2509) "เหมือนคนละฟากฟ้า" (แต่งเมื่อ พ.ศ. 2503 คำร้องโดย จงรัก จันทร์คณา ขับร้องโดยธานินทร์ อินทรเทพ เมื่อ พ.ศ. 2506) "ระฆังใจ" "คืนนั้น" "ไม่มีเสียงเรียกจากใจ" "เพื่อเธอที่รัก" "เปลวไฟรัก"

ผลงานเพลงของครูมนัส ที่เป็นเพลงประกอบละครโทรทัศน์ ที่มีชื่อเสียง ได้แก่เพลง "พิภพมัจจุราช" (ชับร้องโดย วิเชียร ภู่โชติ) "คืนคำรัก" "หุ่นไล่กา" "เพื่อเธอที่รัก" "ปอบผีฟ้า" "แม่นาคพระโขนง" "สิงหไกรภพ" "สี่ยอดกุมาร" "เสน่หาอาลัย" "ฝนรักฝนเศร้า" "เธอก็รู้" "ดาวพระศุกร์"

ผลงานเพลง "เหมือนคนละฟากฟ้า" ที่ครูมนัสแต่งคำร้อง ขับร้องโดยธานินทร์ อินทรเทพ ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 1 ประเภทนักร้องชายชนะเลิศ เพลงไทยสากล ประเภท ก ประจำปี พ.ศ. 2507 เพลงประกอบละครยอดเยี่ยมพ.ศ. 2526 - "ดาวพระศุกร์

และยังได้เป็นผู้แต่ง เพลง มาร์ชศรีสุวิช ให้กับโรงเรียนศรีสุวิช อีกด้วย

โดยปกตินั้นเป็นคนชอบอ่านหนังสือประเภทกาพย์กลอนอยู่แล้ว จึงมีหัวด้านการประพันธ์อยู่บ้างเป็นทุนเดิม จนได้มาเล่นดนตรีให้กับคณะละครเวที คณะศิวารมณ์ของ หม่อมหลวง ทรงสอางค์ ฑิฆัมพร ร่วมกันกับครูสง่า อารัมภีร เรื่อยมา จนแม้ครูสง่า อารัมภีร จากไปแล้ว ก็ยังร่วมเล่นกับครูปรีชา เมตไตรย์ เพิ่งจะวางมือทุกอย่างเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

เวลาที่ครูสง่า อารัมภีร แต่งเพลงอัดแผ่นเสียงจึงมักได้ร่วมงานกันเสมอๆ รวมทั้งช่วยแก้ไขคำร้องบ้าง ทำนองบ้าง เมื่อเวลาอัดเสียงที่ห้องเสียง จนครูสง่า อารัมภีร ยุให้แต่งเพลงเป็นของตนเองบ้าง จึงมีผลงานปรากฏออกมาและได้รับความนิยมมากไม่แพ้ครูเพลงคนอื่นๆ

ครูสง่า อารัมภีร เป็นคนที่เตือนสติให้สู้กับชีวิต อย่าไปท้อแท้ผิดหวังกับความรักที่ไม่สมหวังและให้หันมาแต่งเพลง เพราะเป็นความบันดาลใจได้ดีกว่าอย่างอื่นว่า


"...ความผิดหวังไม่ใช่ผู้ทำลาย แต่จะเป็นครู ผู้ที่ให้อนาคตแก่เรา..."


ปัจจุบันอาศัยอยู่แถวๆ ถนนศรีนครินทร์ ใกล้ๆ กับศูนย์การค้า ซีคอนแสควร์ และศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์ โดยมีลูกชายคนที่ 3 อยู่เป็นเพื่อน และมีพรรคพวกที่เป็นกลุ่มก๊วน ร่วมเสวนา จิบสุรา ฮะกึ้น อันเป็นของที่โปรดปรานอยู่เป็นประจำทุกอาทิตย์

ครูมนัส ปิติสานต์ บอกว่า

"...ในความเป็นนักแต่งเพลงอาชีพ ผมขอยอมรับว่าเขียนเพลงเพื่อเลี้ยงชีพอย่างเต็มภาคภูมิ เป็นอาชีพสุจริต ใช้มันสมอง ใช้อารมณ์ฝัน จินตนาการ และที่สำคัญคือพรสวรรค์บวกกับพรแสวง

สิ่งสุดท้ายนี้มิใช่จะเกิดขึ้นมากับทุกๆ คน โดยเฉพาะในการเขียนเพลงนั้นสวรรค์มอบมาให้จริงๆ จะถ่ายทอดให้ใครก็ไม่ได้ หากผู้ใด ใครอยากจะเป็นนักแต่งเพลง ต้องมีพรสวรรค์ในการเสกสรร ปั้นคำ หาไม่แล้วก็จะเป็นเพลงที่ไร้เสน่ห์..."


หมายเหตุ ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย ข้อเขียนของคีตา พญาไท สื่อต่างๆ และความทรงจำ

ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
19 มกราคม 2556