คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม





ลูกแม่โดม
อาจารย์ ไพสันติ์ พรหมน้อย

ลุ่มเจ้าพระยาเห็นสายธารา ไหลล่อง
เพียง...แต่มองหัวใจให้ป่วน
น้ำไหลไปมักไม่ไหลทวน
ชีวิตเราไม่มีหวน ไม่กลับทวนเหมือนกัน

เรา...เกิดมา ผูกใจรักกันดีกว่า
เพราะว่าชีวาแสนสั้น
เรา...อย่าได้ สะเทือนหัวใจต่อกัน
ทิ้งชีวิตอันสุขใจ

อย่าแตกกันเลยรักไว้ชมเชย ชิดมั่น
จง...ผูกพันรักกันด้วยใจ
ขอจงเป็นเหมือนเช่นนกไพร
ที่เหินบินคู่กันไป...หัวใจคู่กัน


เพลง “ลุ่มเจ้าพระยา”
ทำนอง นารถ ถาวรบุตร คำร้อง แก้ว อัจฉริยะกุล

แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแม่น้ำเก่าในยุคไพลสโตซีน เป็นหนึ่งแควหลักของแม่น้ำซุนดาเหนือ ร่วมสมัยกับแม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำพุมดวง-ตาปี ต่อมาในต้นยุคโฮโลซีน น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นจากการละลายของน้ำแข็ง ทำให้ขอบเขตแม่น้ำเจ้าพระยาหายไป เนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเกือบทั้งหมดจมอยู่ใต้อ่าวไทยโบราณ จากนั้นจึงเริ่มการทับถมของดินตะกอนใหม่อีกครั้งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน

แม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแม่น้ำสายหลักสายหนึ่งของประเทศไทย เกิดจากการรวมตัวของแม่น้ำแควทั้ง ๔ สายของภาคเหนือ คือ ปิง วัง ยม น่าน ที่ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นไหลลงไปทางทิศใต้ ผ่านจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ก่อนจะออกสู่อ่าวไทยที่ปากน้ำ ซึ่งอยู่ระหว่างเขตตำบลท้ายบ้าน ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ และตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ

ตึกโดม หรือ แม่โดม (ชื่อที่นิยมเรียกอย่างเคารพของบุคคลภายในมหาวิทยาลัย) แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการออกแบบโดย นายจิตรเสน (หมิว) อภัยวงศ์ ด้วยการเชื่อมต่ออาคารที่เป็นของกองพันทหารราบเดิมเข้าเป็นตึกเดียวกัน โดยจุดเชื่อมตรงกลางระหว่างอาคารที่ ๒ และ ๓ ได้ออกแบบให้มีลักษณะโดดเด่น ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองได้ให้แนวคิด เพื่อให้เป็นสถาปัตยกรรม ที่มีลักษณะที่โดดเด่น ไม่ได้เลียนแบบชาติอื่นแต่อย่างใด

ตัวหลังคาตึกโดมเป็นรูปทรงกรวยยอดแหลม ๒ ชั้น มีความหมายดังนี้ ฐานของกรวยเป็น ๘ เหลี่ยม ยังไม่สามารถระบุความหมายของสถาปนิกผู้ออกแบบได้ ซึ่งคนทั่วไปเข้าใจว่ามี ๖ เหลี่ยม ตามหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร

ยอดแหลม หมายถึง การบรรลุความปรารถนาสูงสุด อาคารสองปีกด้านท่าพระจันทร์และด้านท่าพระอาทิตย์ หมายถึงการศึกษาที่แผ่ขยายวงกว้างในหมู่ราษฎร

แต่อีกนัยหนึ่ง โดม หมายถึง ดินสอเขียนฟ้า นั่นคือ โดมเปรียบประดุจยอดดินสอ ที่แหลมคมดุจปัญญาที่หลักแหลม ชี้ขึ้นไปยังท้องฟ้า คอยเขียนฟ้าให้งามเสมอ ใช้จดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ มากมายลงบนท้องฟ้า แม่โดมเป็นความภาคภูมิใจของชาวธรรมศาสตร์ และเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของชาวธรรมศาสตร์ จึงเรียกตนเองว่า"ลูกแม่โดม"

สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เสนอชื่ออาคารโดมธรรมศาสตร์ ตึกโดม แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ได้รับพระราชทานรางวัล อาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทสถาบันและอาคารสาธารณะ ในงานสถาปนิก ๔๘ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เพลง “ลุ่มน้ำเจ้าพระยา” นี้เป็นเพลงอมตะอีกเพลงหนึ่ง เป็นเพลงเอกในละครและภาพยนตร์เรื่อง “ลุ่มเจ้าพระยา” ผู้ขับร้องบันทึกเสียงเป็นคนแรกคือ สุรสิทธิ์ สัตย์วงศ์ และ ประชุม พุ่มศิริ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ เพลงนี้ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล แต่งขึ้นเพื่อเตือนใจ ครูนารถ ถาวรบุตร และ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ที่ผิดใจกันในเรื่องแต่งเพลงมาร์ช ชื่อ เพลงไทยไม่ทำลายไทย ซึ่ง จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีคำสั่งให้กรมโฆษณาการแต่งขึ้น แต่เพลงที่ครูนารถ แต่งทำนองนั้น ไม่เป็นที่ถูกใจของ พระราชธรรมนิเทศ ครูเอื้อเลยต้องแต่งขึ้นใหม่ เป็นเหตุให้ครูนารถ น้อยใจแล้วลาออกไปตั้ง วงดนตรีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่มี พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นหัวเรือใหญ่

ในหนังสือ เอื้อ สุนทรสนาน ดุริยกวีสี่แผ่นดิน นั้น ศรี อยุธยา เขียนถึงตอนที่ครูเอื้อเล่าเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “เรื่องที่ทำให้พี่นารถ หมางใจผม เข้าใจผิดผม จนหลบไม่ยอมพบหน้าอีก ก็คงเป็นเพราะการแต่งเพลงที่ จอมพล ป. สั่งให้แต่งนั่นเอง.... นี่แหละเป็นเหตุใหญ่ที่พัดพาพี่นารถ ออกไปจากวงชีวิตผมไปอย่างเด็ดขาด สายใยรักที่ผมมีต่อพี่นารถไม่สามารถดึงพี่นารถ กลับมาสู่จักรวาลของเราได้ ผมเสียใจจริงๆ....” ดูเหมือนครูแก้วพยายามเชื่อมมิตรภาพของคน ๒ คน ถ้าเป็นสมัยนี้คงจะเป็น “กาวใจ” พยายามให้คืนดีรักกันเหมือนเดิม ตอนที่ยังไม่ทราบเรื่องนี้ ส.ท่าเกษม นึกว่าเป็นเรื่องของความรักระหว่างหญิงและชาย มีอยู่หลายตอนที่ครูแก้วเน้นแล้วเน้นอีก เช่น “เราเกิดมาผูกใจรักกันดีกว่า เพราะว่าชีวาแสนสั้น !” และ “เราอย่าได้ กระเทือนหัวใจต่อกัน ทิ้งชีวิตอันสุขใจ” สรุปด้วยการเตือนว่า “อย่าแตกกันเลย รักไว้ชมเชยชิดมั่น จงผูกพันรักกันชื่นใจ” ทั้งยังได้เน้นสัจธรรมในท่อนแรกของเพลงว่า “น้ำไหลไป มักไม่ไหลทวน ชีวิตเราไม่มีหวน ไม่กลับทวนเหมือนกัน”

ครูนารถอายุมากกว่าครูเอื้อ ๕ ปี ครูเอื้อนับถือเป็นทั้งพี่และครู เคยคบร่วมงานกันมานาน ต่างก็รักใคร่สนิทสนมกันมากที่สุด เป็นที่น่าเสียดายว่าสาเหตุมาจากเพลงที่ชื่อ “ไทยไม่ทำลายไทย” ได้ทำลายมิตรภาพของนักดนตรีระดับบรมครูคู่นี้อย่างไม่มีวันเอากลับคืนมาได้ จนกระทั่งถึงวันที่ตายจากกัน ! ครูแก้วตั้งใจเขียนเนื้อเพลงนี้หลังจากเหตุการณ์ผ่านไป ๑๐ ปี คงนึกว่าความโกรธความน้อยใจคงจางไปกับกาลเวลา เผื่อจะประสานรอยร้าวในอดีตได้ แต่ก็ไม่สามารถทำให้ความรัก มิตรภาพหวนกลับ !

เพลงนี้ขับร้องกันไว้หลายคน เท่าที่หาพบในยูทูบ มี ๓ ศิลปินแห่งชาติ ชรินทร์ นันทนาคร สุเทพ วงศ์กำแหง ส.ท่าเกษม ได้นำของ จินตนา สุขสถิตย์ มาลงในเวบฯ ให้คุณผู้อ่านได้ฟังและร้องตามไปด้วย นอกจากนี้ยังมีของ สันติ ลุนเผ่ หยาด นภาลัย กุ้ง กิตติคุณ ฯลฯ

เหตุที่เขียนถึงเพลง “ลุ่มเจ้าพระยา” เพราะคุณไพสันติ์ และภรรยา คุณต้อย พิมพรรณ จะเดินทางกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนไปใช้ชีวิตหลังเกษียณในวันอาทิตย์ที่ ๑๑ มกราคมนี้ หลังจากอยู่ที่แอล.เอ. มานานโข ประมาณ ๓๕ ปี คุณไพสันติ์ ชอบร้องเพลง “ลุ่มเจ้าพระยา” เป็น ๑ ในเพลงโปรด อาจจะเพราะเป็น “ลูกแม่โดม” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งตั้งอยู่บนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา คุณไพสันติ์ใช้ชีวิตอยู่หลายปี นอกจากเป็นนักศึกษาที่คณะวารสารศาสตร์ แล้ว ยังเป็นอาจารย์พิเศษอีกด้วยสอนที่คณะวารสารศาสตร์ ปี ๒๕๒๒ จึงมีความผูกพัน มีความหลังกับแม่น้ำเจ้าพระยาพอสมควร (ไม่ทราบคนเขียนคิดเอาเองหรือเปล่า ?)

เพื่อเป็นที่ระลึกถึงมิตรภาพอันยาวนาน ตั้งแต่คุณไพสันติ์ยังเป็นบรรณาธิการให้ น.ส.พ.มหาชน (ปิดตัวไปแล้ว) ส.ท่าเกษม ส่งข้อเขียนไปยัง สนง. แล้วได้ลงในคอลัมน์บรรณาธิการ ต่างฝ่ายต่างไม่รู้จักกัน จนกระทั่งไปพบกันที่บ้านพักของกงสุลใหญ่มี ปิยะวัชร นิยมฤกษ์ ดำรงตำแหน่งอยู่ขณะนั้น (พ.ศ.๒๕๔๓-๒๕๔๕) ตำแหน่งสุดท้ายคือ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ราชอาณาจักร เดนมาร์ก

ส.ท่าเกษม เข้าไปแนะนำตัวเองพร้อมทั้งกล่าวขอบคุณ ตอนนั้นใช้นามปากกา “น. บุญญาศรัย” ความหมายเดียวกับนามสกุลดั้งเดิม จากนั้นจะเห็นกันตามงานต่างๆ จนเมื่อ ส.ท่าเกษม มามีคอลัมน์ของตัวเอง และต่างก็เป็นสมาชิกของชมรมสุเทพแฟนคลับ ยู.เอส.เอ. จึงมีการสังสรรค์ประจำปี ทั้ง ๒ สามีภรรยา คุณไพสันติ์ และคุณต้อย ให้กำลังใจ และสนับสนุนงานเขียนของ ส.ท่าเกษมมาตลอด ดังจะเห็นได้จากข้อเขียนจากสมุดมิตรภาพต่อไปนี้ “ดีใจครับที่ได้รู้จักคุณสุ ทั้งในโลกของหนังสือพิมพ์และในส่วนตัว มีความประทับใจในความละเอียดและพิถีพิถันของคุณสุ....” ส่วนคุณต้อยเขียนต่อมีใจความว่า “....เช่นกันค่ะ นับถือและชื่นชมในความละเอียดความทรงจำอันทรงคุณค่าให้ประโยชน์ต่อสังคมทั้งส่วนตัว ส่วนรวม” ตัวอักษรเพียงไม่กี่ประโยค แต่ผู้รับก็ปลื้มปิติ และจดจำเก็บไว้ในหัวใจนานเท่านาน... ขอขอบคุณสิ่งดีๆ ที่ได้รับจากคุณไพสันติ์และคุณต้อยมาตลอดนานกว่า ๑๐ ปี ขอถือโอกาสนำภาพต่างๆ จากงานสังสรรค์ประจำปี และในวาระที่สำคัญมาลงเป็นอนุสรณ์แห่งมิตรภาพ เพื่อเตือนความทรงจำ ถึงแม้ปัจจุบันเราสามารถจะติดต่อกันได้ทุกมุมโลก แต่คงไม่ได้รับประทานอาหารค่ำ คลุกเคล้าเสียงเพลงที่เมืองแอล.เอ.ด้วยกันอีก จึงรู้สึกใจหายเป็นธรรมดา ขอให้พระคุ้มครองคุณไพสันติ์ และคุณต้อย มีสุขภาพอนามัยที่แข็งแรง ประสบแต่ความสุข ปราศจากภัยอันตราย อย่าลืมกลับมาเยี่ยมพวกเราบ้าง !


หมายเหตุ ขอบคุณข้อมูลจาก คีตา พญาไท อ.สมพจน์ สิงห์สุวรรณ มิรายณ์เฟซบุค
คำร้องในเพลงมีทั้งคำว่า "เหิน" กับ "เหิร" เป็นอีกคำที่ดูจะเขียนกันสับสนว่า อันไหนผิดอันไหนถูก เอาจริง ๆ แล้วสองคำนี้มีความหมายเดียวกัน รากของคำนี้มาจากภาษาเขมร หมายถึงบินหรือร่อนอยู่ในที่สูง แต่หากจะเขียนเป็นคำไทยที่ถูกต้องแล้วต้องใช้ คือ "เหิน" เพราะหากเป็น "เหิร" ที่สะกดด้วย "ร" นั้นจะเป็นคำเขมร
ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๑๐ มกราคม ๒๕๕๘