คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม





~ เฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๘๕ พรรษา ...สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ใน รัชกาลที่ ๙ ~

โสมส่องมาจากแดนฟ้าไกล   แก้วตาขวัญใจประชา
คู่บุญกษัตริย์ขัตติยา   มหาราชินีของเรา
ยิ่งกว่าสายฝนเย็นฉ่ำฟ้า   พระกรุณาเหมือนดังลมหนาว
เปลี่ยนชะตาชีวิตที่อับเฉา   ให้เราเป็นเทวาพาคู่ฝัน
ให้รักมีในดวงใจนิรันดร์   ให้ชีวิตนั้นมิใช่อาทิตย์อับแสง
(ซ้ำ) ขอจุดเทียนบวงสรวงพระองค์   ด้วยทรงสอนให้เข้มแข็ง
ให้เรายิ้มสู้สุดสุดแรง   แม้นใครหาญมาแบ่งไทย
สิริเสาวลักษณ์ราวหยาดเพชร   สมเด็จงดงามล้ำโลกเพียงไหน
แผ่เมตตาในพระหฤทัย   ใต้เบื้องบาทบงส์ไทยเป็นสุขสันต์
(ซ้ำ) ให้พระชนม์ยืนยงนานนิรันดร์   อธิษฐานสมเด็จทรงพระเจริญ

เพลง “สมเด็จมหาราชินี”
ผู้ประพันธ์คำร้องและทำนอง... ๒ ศิลปินแห่งชาติ ชาลี อินทรวิจิตร/สมาน กาญจนผลิน

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๕ พรรษา ส.ท่าเกษม จึงได้อัญเชิญพระราชประวัติสั้นๆพอสังเขปจากวิกิพีเดียมาลงในสัปดาห์นี้เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณร่วมถวายความจงรักภักดี และน้อมเกล้าถวายพระพร “ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน”

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ (พระนามเดิม หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร) เป็น สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เป็น สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ฯ เป็นพระธิดาพระองค์ใหญ่ของ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (ภายหลังเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) ประสูติแต่ หม่อมหลวงบัว กิติยากร (สกุลเดิม สนิทวงศ์) เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ณ บ้านของ พลเอก เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) บ้านเลขที่ ๑๘๐๘ ถนนพระรามที่ ๖ ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร อันเป็นบ้านของพระอัยกาฝ่ายพระมารดา มีพระเชษฐา ๒ พระองค์คือ หม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ และ หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ และมีพระกนิษฐาพระองค์หนึ่งคือ หม่อมราชวงศ์บุษบา กิติยากร

ในระหว่างยังทรงพระเยาว์ สถานการณ์บ้านเมืองไม่สู้สงบนัก เนื่องจากเพิ่งพ้นจากช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ไม่นาน ม.จ.นักขัตรมงคล ต้องทรงออกจากราชการทหาร โดยรัฐบาลแต่งตั้งให้ไปรับตำแหน่งเลขานุการเอกประจำสถานทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐ ส่วน ม.ล.บัว ซึ่งมีครรภ์แก่ยังคงอยู่ในประเทศไทย แต่ได้เดินทางไปสมทบหลังจากให้กำเนิด ม.ร.ว.สิริกิติ์ ได้ ๓ เดือน โดยมอบให้อยู่ในความดูแลของ เจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ และ ท้าววนิดาพิจาริณี บิดาและมารดาของ ม.ล.บัว ดังนั้นจึงต้องอยู่ไกลจากบิดามารดาตั้งแต่อายุน้อย บางคราวต้องเดินทางไปต่างจังหวัด เช่น พ.ศ. ๒๔๗๖ ม.จ.อัปษรสมาน กิติยากร พระมารดาของ ม.จ.นักขัตรมงคล ได้ทรงรับนัดดาตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.๗ ไปอยู่ที่จังหวัดสงขลา

เมื่อ ม.ร.ว.สิริกิติ์ มีอายุราว ๒ ปี มีแขกเลี้ยงวัวเข้ามาทำนายทายทัก ว่าเด็กผู้หญิงคนนี้จะมีบุญวาสนาได้เป็นราชินีในอนาคต ดังที่ ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ได้เล่าไว้ ...วันหนึ่งขณะที่พี่เลี้ยงอุ้ม ม.ร.ว.สิริกิติ์ เดินเล่น พอดีขณะนั้นมีแขกเลี้ยงวัว ซึ่งเป็นเพื่อนของแขกยามประจำบ้านมาหากัน พอแขกที่มาเหลือบเห็น ม.ร.ว.สิริกิติ์ ก็จ้องมองพร้อมทั้งกวักมือเรียกพี่เลี้ยงขอให้เห็นใกล้ ๆ หน่อย เมื่อเข้ามาใกล้มองดูสักครู่ก็พูดว่า "ต่อไปจะเป็นมหารานี" พี่เลี้ยงได้ฟังก็ชอบใจเที่ยวเล่าให้คุณยายและใครต่อใครฟัง ถึงไม่เชื่อแต่ก็ปลื้มใจ ต่อมาเมื่อ ม.ร.ว.สิริกิติ์ เจริญวัยขึ้น เลยเป็นเหตุให้คุณพี่ชายทั้งสองคนเอามาล้อเลียนเป็นที่ขบขันว่าเป็น ราชินีแห่งอบิสซีเนีย [เอธิโอเปียในปัจจุบัน] บางครั้งถึงกับทำให้ผู้ถูกล้อต้องนั่งร้องไห้ด้วยความอายและเจ็บใจ แต่พี่ชายทั้งสองก็ยังไม่หยุดล้อ กลับเอาเศษผ้าขาด ๆ มาทำเป็นธงโบกอยู่ไปมา พร้อมทั้งบอกว่าเป็นธงประจำตัวของราชินี...

เพื่อน ๆ ที่เคยเรียนหนังสือมาด้วยกันขนานนามว่า "ราชินีสิริกิติ์" ตามที่ได้ฟังเรื่องราวจาก ม.ร.ว.สิริกิติ์ แม้จะเป็นเรื่องขบขันของ ราชสกุลกิติยากร แต่ไม่มีใครคาดถึงว่าในอีก ๑๕ ปีต่อมาคำทำนายของแขกเลี้ยงวัวผู้นั้นจะเป็นความจริง

พ.ศ.๒๔๙๑ ขณะที่ ม.จ.นักขัตรมงคล รับราชการในฐานะเอกอัครราชทูต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จจากเมืองโลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มายังชานเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ครอบครัวของ ม.จ.นักขัตรมงคล จึงได้มาเฝ้ารับเสด็จ ในครั้งนั้น สมเด็จพระราชชนนี มีรับสั่งให้พระราชโอรสทอดพระเนตร ม.ร.ว.สิริกิติ์ ด้วยว่าสวยน่ารักไหม ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ฯ เขียนเล่าใน “ บันทึก เป็น อยู่ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ” ตอนหนึ่งว่า เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯถึงปารีสแล้ว จึงโทรศัพท์ตอบคำถาม พระราชชนนี ว่า “เห็นแล้วน่ารักมาก”

วันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งโดยมี ม.ล.บัว และ ม.ร.ว.สิริกิติ์ เข้าเฝ้าฯ เยี่ยมพระอาการเป็นประจำ และในช่วงนั้น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (พระนามในเวลานั้น) ได้ทรงรับเป็นธุระจัดการให้ ม.ร.ว.สิริกิติ์ เข้าศึกษาในโรงเรียน Pensionnat Riante Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำแห่งหนึ่งของโลซาน ครั้นเมื่อทรงหายจากอาการประชวรแล้วได้ทรงหมั้น ม.ร.ว.สิริกิติ์ เป็นการภายในเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ และพอวันที่ ๑๒ สิงหาคมพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศข่าวทรงหมั้นให้คนไทยทราบในงานเลี้ยงอันเรียบง่าย ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

วันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ณ วังสระปทุม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยในทะเบียนสมรสและโปรดให้ ม.ร.ว.สิริกิติ์ พร้อมทั้งสักขีพยานลงนามในทะเบียนนั้น จากนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จออกในพระราชพิธีถวายน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และทรงรดน้ำพระพุทธมนต์เทพมนต์แด่ ม.ร.ว.สิริกิติ์ ในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณี ต่อมา รัชกาลที่ ๙ โปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนา ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็น "สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์" พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ พระองค์ทรงพระราชดำริว่า ตามโบราณราชประเพณีเมื่อสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้สถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระอัครมเหสีขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ดังนั้น พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี

เนื่องจาก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขณะที่พระราชสวามีเสด็จออกผนวช ระหว่างวันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ - ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙ พระองค์จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ปีเดียวกันนั้น ถือเป็น สมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่สองของกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อจาก สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ใน ร.๕ (ภายหลังคือ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง)

พระทายาท: ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ร.๑๐) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

เช้าตรู่วันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเวียนพระเศียรและเซขณะทรงออกพระกำลัง ณ โรงพยาบาลศิริราชที่ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประทับอยู่ คณะแพทย์ตรวจพระองค์โดยวิธีสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็กแล้วแถลงว่า ทรงประสบภาวะพระสมองขาดเลือด (ischemic stroke) พระองค์จึงประทับรักษาพระวรกายอยู่ ณ โรงพยาบาลศิริราชและทรงงดเว้นพระราชกิจนับแต่นั้น เมื่อพระอาการดีขึ้นเสด็จออกจากศิริราช ภายหลังประชวรด้วยพระอาการอื่นๆ จึงเสด็จเข้าทรงรักษาพระวรกายอีก และทรงงดเว้นพระราชกิจจนทุกวันนี้


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๐