คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



ฑีฆายุโก โหตุ มหาราชา - พ่อแห่งแผ่นดิน
(หญิง) อัครศิลปิน กรองศาสตร์ กรองศิลป์ การดนตรี
ร้อยกรอง บทกวี ซึ้งกมล
ตราบฟากฟ้า ครึ้มฝน ต้นไม้ทุกต้น พลอยยินดี
รู้รักสามัคคีเพื่อพ่อแห่งไทย

(ชาย) เหล่าประชา คารวะ สดุดี
แผ่นดินนี้ มีสุข ด้วยองค์ พระทรงชัย
บรรดาชาติชน ชื่นชม สมใจ
ถวายบังคม เทิดไท้ ภูมิพลมหาราชา

(หญิง) ภักดีถวาย ดวงใจ ของไทยทั้งชาติ
มหาราช ปราดเปรื่อง เรื่องของกีฬา
(ชาย) ล้ำเลิศสื่อสาร พลังงานแทนแก้ปัญหา
ฝนหลวง ฟ้าห่วงชาวนา
ชาติไทย นับว่าโชคดี

(ชาย-หญิง) ทรงนำเศรษฐกิจพอเพียง หล่อเลี้ยงชีวา
เป็นปรัชญา เกริกฟ้า ก้องปฐพี
ไทยทั้งผอง ภูมิใจ ไทยเป็นไทยจนวันนี้
เพราะองค์ภูมิพลที่คุ้มครองไทย

"พ่อแห่งแผ่นดิน" คำร้อง : ชาลี อินทรวิจิตร - อาจินต์ ปัญจพรรค์ - สุนทรียา ณ เวียงกาญจน์ - สุรพล โทณะวณิก
ทำนอง : เรืออากาศตรี ศ.พิเศษ ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ - วิรัช อยู่ถาวร - พิมพ์ปฏิภาณ พึ่งธรรมจิตต์ - จิรวุฒิ กาญจนะผลิน
ขับร้อง : กลุ่มนักร้องศิลปินแห่งชาติทั้งหญิง-ชาย



เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราชปี 2555 ส.ท่าเกษม จึงขอน้อมเกล้าฯ แสดงความจงรักภักดีและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการนำข้อความบางส่วนจากหนังสือฉบับต่างๆ ที่ได้รับจากบุคคลรอบตัวทั้งใกล้และไกล ใกล้คือ นคร ลอสแอนเจลลิส ไกลคือ ประเทศไทย เมื่ออ่านแล้วก็ได้แบ่งปันมาให้ ส.ท่าเกษม เพราะเราทุกคนต่างก็รักในหลวง พระมหากษัตริย์องค์ที่ 9 ในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงมีพระราชภารกิจในการพระราชทานความช่วยเหลือแก่พสกนิกรผู้ยากไร้อยู่เป็นประจำ ยิ่งทรงมีพระชนมายุมากขึ้น พระราชภารกิจก็เพิ่มขึ้น แม้จะเสด็จแปรพระราชฐานก็มิได้ทรงพระสำราญ แต่ทรงเสด็จฝ่าเปลวแดดอันร้อนระอุฝ่าสายฝนอันหนาวเย็น ฝ่าความยากลำบากในการเสด็จพระราชดำเนินไม่ว่าจะเป็นหล่มโคลนหรือทางทุรกันดาร แม้ต้องเสด็จลุยน้ำก็ทรงไม่ย่อท้อ ขอให้ได้ทอดพระเนตรเห็นสภาพที่แท้จริงของชีวิต ความเป็นอยู่ของพสกนิกรของพระองค์เท่านั้น

โครงการพระราชดำริต่างๆ ทรงเสด็จแปรพระราชฐานไปตรวจดูความคืบหน้าเสมอ ไม่มีโครงการใดเลยที่จะมีการใช้การทำงานแบบผักชีโรยหน้า ด้วยการเสด็จทรงตรวจงานและเปรียบเทียบผลงานอย่างละเอียดและแม่นยำ บางอย่างข้าราชการละเลยแต่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสถึงเล่นเอาหน้าแตกไปตามๆ กัน

ตั้งแต่จำความได้จะเห็นบิดา "เข้าวัง" เป็นประจำไม่เคยขาด เวลาฑูตจากประเทศต่างๆ เข้าเฝ้าหรืองานพระราชพิธี งานพระราชกุศล ไม่ว่าจะพักผ่อนอยู่จังหวัดไหน บิดาของ ส.ท่าเกษม จะเดินทางทั้งทางบกและทางน้ำมาเข้าเฝ้าเมื่อได้รับหมายฯ จากสำนักพระราชวัง สิ่งเหล่านี้จึงได้ฝังใจและซึมซับเข้าไปในสายเลือด บิดาไม่เคยมานั่งสั่งสอนว่า "ลูกจะต้องจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ !" ท่านปฏิบัติตัวถวายงานอย่างไร เราได้เห็นมาตลอด ปกติบิดา ส.ท่าเกษม เข้านอนย่ำรุ่งและตื่นบ่ายต้นๆ ไม่มีการรับประทานอาหารเช้า แต่วันไหนเข้าวังจะรับประทานไข่ลวก 2 ฟอง และดื่มกาแฟในตอนเช้า ก่อนเข้าวัง แต่งตัวเต็มยศ ใส่หมวก ห้อยกระบี่

เมื่อได้เวลากลับพวกลูกๆ จะคอยรับหน้าเรือนทับแก้ว พอท่านก้าวลงจากรถพวกเราจะรับหมวก รับกระบี่ เมื่อขึ้นเรือนกระจก นั่งที่เก้าอี้ ลูกๆ จะถอดรองเท้าถุงเท้าให้ท่าน นี่คือกิจวัตรที่ทำกันมา จึงฝังใจเรื่องบิดาเข้าวังไปเข้าเฝ้าถวายงาน ระหว่างพวกเราถอดรองเท้าท่านจะเล่าเรื่องในวังให้ฟังด้วยสีหน้าที่มีความสุข บางครั้งจะเล่าต่อในเวลาอาหารหรือเวลาน้ำชา

ครั้งหนึ่งบิดาทูลถามว่า "ไม่ทรงเมื่อยพระหัตถ์บ้างหรือพะยะค่ะ" หลังจากพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงรับสั่งด้วยพระอารมณ์แจ่มใสว่า "มันเคยซะแล้ว" แม้จะทรงมีพระราชภารกิจมากเพียงใดก็ตาม แต่พระอารมณ์ขันทรงมีอยู่เสมอ ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จอย่างใกล้ชิดจะมีเรื่องเล่าสู่กันฟังในพระอารมณ์ขันของในหลวง หาอ่านได้จากหนังสือที่ ส.ท่าเกษม นำรูปมาลงในคอลัมน์ ยกตัวอย่างเช่นคราวเสด็จประพาสทางทะเล แม่ทัพเรือในตอนนั้นมียศเป็นจอมพล ถวายรายงานตลอดเวลาที่เรือพระที่นั่งแล่นไปในท้องทะเล พอเรือพระที่นั่งผ่านเกาะใหญ่จึงทรงมีพระราชดำรัสถามคุณหลวงแม่ทัพเรือว่า "เกาะอะไร ชื่อเกาะนี้ชาวบ้านเขาเรียกกันอย่างไร" แม่ทัพเรือกราบทูลถวายอย่างชัดถ้อยชัดคำ "ขอเดชะ เกาะนี้ชาวบ้านเรียกพระนามว่าเกาะช้างพระเจ้าข้า"

ทรงรับฟังคำกราบทูลของท่านแม่ทัพเรือแล้วก็ทรงแย้มพระสรวล มีพระราชดำรัสตอบท่านแม่ทัพเรือว่า "งั้นเกาะนี้ก็เป็นญาติกับฉันน่ะซี"

เรื่องก็คือว่าแม่ทัพเรือคงจะประหม่าและไม่ค่อยคุ้นเคยกับราชาศัพท์ เลยเอาคำว่า "พระนาม" ไปใส่กับชื่อเกาะช้าง กลายเป็นพระนามว่าเกาะช้าง (อันคำว่าพระนามนั้นใช้นำชื่อของพระบรมวงศานุวงศ์ในราชนิกุล)

ส.ท่าเกษม เคยได้ยินมาหลายครั้งที่พระองค์ทรงอนุญาตให้พูดคำธรรมดาไม่ต้องใช้ราชาศัพท์ โดยเฉพาะเวลาเสด็จพระราชดำเนินไปต่างจังหวัด เรื่องการเสด็จพระราชดำเนินนี้ มีข้าราชบริพารเล่าให้ฟังว่า ทั้งสองพระองค์พระราชดำเนินเร็วมากเวลาทรงออกพระกำลัง ตามเสด็จฯ กันไม่ค่อยจะทัน โดยเฉพาะผู้ตามเสด็จฯ เป็นสตรีบางครั้งถึงกับต้องวิ่ง

สืบเนื่องมาจากพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของเรา ฉลองพระองค์มีดวงตราบนกระเป๋า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา มีผู้อ่านของนิตยสาร "ดิฉัน" ลงชื่อว่า "จากประชาชนผู้ขอถวายชีวิตแด่ในหลวงของเรา" ถามมาอยากทราบความหมายโดยละเอียด และความเป็นมาของมาของมูลนิธิด้วย ถ้าดูรูปจากเวบจะเห็นสีและภาพบนฉลองพระองค์ พระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงกล้องถ่ายรูปคล้องพระศออยู่ คุณบรรณฎา เจ้าของคอลัมน์อธิบายว่า

มูลนิธิชัยพัฒนา แปลว่า ชัยชนะแห่งการพัฒนา พระองค์ทรงตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2531 ให้เป็นองค์กรเอกชนเพื่อความคล่องตัวต่อภารกิจ บางครั้งระบบราชการไม่สามารถตอบสนองต่อความจำเป็นและเพียงพอในการพัฒนา หรือเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ ไม่ต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ มากมาย ไม่ต้องวางฎีกาต้องตั้งงบประมาณ ฯลฯ มูลนิธินี้เป็นแห่งเดียวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับเป็นองค์นายก และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร และสัญลักษณ์ของมูลนิธิทรงออกแบบเองด้วยคอมพิวเตอร์

สัญลักษณ์เป็นรูปของ 4 มงคลบนโล่ใต้พระมหามงกุฎ ประกอบด้วย

1) พระแสงขรรค์ชัยศรี มีความหมายถึงพระราชอำนาจบารมี และกำลังแผ่นดินที่จะฟันฝ่าให้เกิดการดำเนินการต่างๆ อันเป็นผลไปสู่ความมั่นคงแห่งพระราชอาณาจักร
2) ธงกระบี่ธุช เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะในการต่อสู่ เพื่อป้องกันอาณาประชาราษฏร์ และพระราชอาณาจักรให้พ้นภยันตรายทั้งปวงและประสบความสำเร็จในการต่อสู้นั้น
3) ดอกบัว มีความหมายถึง ศักดิ์ศรี ความสงบร่มเย็น ความเจริญงอกงาม และความบริบูรณ์แห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร และบรรดาทรัพยากรทั้งปวง อันจะนำไปสู่ความอยู่ดีกินดีและความสงบสันติสุขของประชาชนโดยทั่วหน้ากัน
4) สังข์ มีความหมายถึง น้ำที่จะสร้างความชุ่มชื้น ชโลมแผ่นดินให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และความร่มเย็นเป็นสุข

วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 (ค.ศ.1927) พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดชฯ ประสูติที่โรงพยาบาลเมานท์ ออเบอร์น (MT.AUBURN) ในเคมบริดจ์ สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ หรือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรมพระบรมราชชนก สิ้นพระชนม์ในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 (ค.ศ.1929) หลังจากเสด็จกลับถึงประเทศไทยในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2471 ทั้ง 5 พระองค์

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ (รัชกาลที่ 7) ทรงพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพระนามแด่พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดชฯ พร้อมทั้งพระราชทานเสมา ปปร ด้วย

ปี พ.ศ. 2476 สมเด็จย่า (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ทรงพาพระโอรสและพระธิดาไปประทับอยู่ที่โลซานน์, สวิตเซอร์แลนด์ ทรงเรียกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ร.9) ว่า "เล็ก" เหตุที่ทรงเลือกประทับที่นี่เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (ร.8) ทรงมีพระอนามัยไม่แข็งแรงมาตลอด สมควรที่จะประทับในประเทศที่มีอากาศสบายๆ

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.7) ทรงสละราชสมบัติ ทำให้ชีวิตธรรมดาๆ ต้องเปลี่ยนไป จากพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดชเป็นเจ้าฟ้า

บทความจากหนังสือ "เรื่องหลัง...จากวังหลวง" ของคุณเฉลิมศักดิ์ รามโกมุท ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ในชีวิตตำรวจหลวงในราชสำนัก ทำให้ได้พบเห็นสิ่งต่างๆ มากมาย กลายเป็นความทรงจำในอดีตของการเข้ารับราชการตามเชื้อสายที่ตกทอดกันมาตั้งแต่เจ้าคุณปู่ ความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดีในองค์พระมหากษัตริย์จึงอยู่ในสายเลือดเช่นกัน ท่านเขียนไว้ว่า การถวายคารวะในองค์พระมหากษัตริย์เจ้านั้น เป็นสายเลือดของคนไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์มิเสื่อมคลาย เพราะพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองปกครองไพร่ฟ้าประชาชี ทรงทำนุบำรุงพระบวรพระพุทธศาสนา ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองให้ดำรงอยู่ในเอกราชสืบมา จนเรียกได้ว่าเมืองไทยคือสวรรค์ของคนไทย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ที่มีพระราชสมัญนามจากพสกนิกรชนน้อมเกล้าฯ ถวายว่า องค์พระปิยะมหาราช เป็นพระราชปิตุลา (ปู่) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรานี้ พระองค์ที่บ่อยครั้งกว่าจะได้เสวยก็เลยเวลาเสวยพระกระยาหารไปเนิ่นนาน ด้วยทรงห่วงความทุกข์ยากของพสกนิกรว่าเขาอยู่กันอย่างแร้นแค้นและไร้ความสุข พระองค์ท่านจะทรงพระเกษมสำราญได้อย่างไร ทุกข์ของประชาชนคือทุกข์ของพระองค์ท่าน ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจอย่างเสมอต้นเสมอปลายดังพระปฐมบรมราชโองการที่ทรงเปล่งเป็นสัจจะวาจาแด่มหาชนชาวสยาม

บ่อยครั้งที่ทรงให้เฮลิคอปเตอร์ที่ประทับลงจอดเพื่อรับทหารผู้บาดเจ็บกลับสู่แนวหลัง ทั้งๆ ที่กำลังมีการสาดกระสุนเข้าหากันอย่างหูดับตับไหม้ ทรงเป็นจอมทัพผู้เกรียงไกร ! และมิย่อท้อต่อภัยอันตรายและความตาย เสด็จเข้าสู่สมรภูมิที่กำลังรบกันเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ทหารหาญ


ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
1 ธันวาคม 2555