คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



มรดกตกทอด

สัปดาห์นี้ไม่ต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะเขียนอะไรคุยกับคุณผู้อ่านดี วันเวลาบ่งบอกให้เสร็จเพราะวันอาทิตย์นี้ตรงกับวันพ่อของชาวอเมริกันคือวันที่ 16 มิถุนายน ขอเวลานอกเขียนถึงบิดาของ ส.ท่าเกษม ถึงแม้ท่านจะถึงอสัญกรรมไปแล้วเป็นเวลา 46 ปีเต็มๆ ซึ่งก็เท่ากับเวลาที่ตัวเองพำนักพักพิงอยู่ที่นี่ ทำงานทำการ...เลี้ยงครอบครัว จากตัวคนเดียว บินเดี่ยว มาศึกษาต่อที่เมืองแอล.เอ. ปัจจุบันสมาชิกครอบครัวขยายเป็น 1 โหลพอดี ไม่ขาดไม่เกิน !

เวลาผ่านไป 46 ปี ยังมีคนในวงการ น.ส.พ. นิตยสารในเมืองไทย และแอล.เอ. เขียนถึงท่านทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น สำหรับมือสมัครเล่นจะเขียนผิดๆ ถูกๆ บางรายใส่ไข่ทาสีจนเปรอะเปื้อนไปหมด จะเรียกว่าขาดจรรยาบรรณในการเขียนหนังสือก็ว่าได้ เพราะไม่คำนึงถึงความเสียหายของผู้อื่น โดยเฉพาะในเมืองแอล.เอ. สังคมไทยวงแคบๆ เห็นกันไม่กี่คน นึกหมั่นไส้ขึ้นมาก็เขียนว่าแบบแต่งเรื่องขึ้น บางรายจะเขียนชื่อพวกเรา และเรียงลำดับสับสนไปหมด แสดงว่าไม่รู้จริง มีคอลัมนิสต์อยู่รายหนึ่งหลังจากเขียนให้ร้ายบิดาของ ส.ท่าเกษม ไปแล้ว เขียนแบบเขาเล่าว่าซึ่งต่างกับประวัติศาสตร์ เมื่อทราบความจริงได้เขียนขอโทษในคอลัมน์ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดีขอคารวะในความยุติธรรมและการเป็นนักเขียนตัวอย่าง คนเราพลาดกันได้นี่นา "สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง" บางรายขอโทษแบบพาลๆ ทำตัวค่อนข้างเหมือนนิทานอีสปเรื่องหมาจิ้งจอกกับลูกแกะ ว่า ข้าแน่!

ผู้ใหญ่ทางเมืองไทยและที่อเมริกา บางท่านอยู่ในวงการขีดๆ เขียนๆ บางท่านเป็นอาจารย์ตามมหาวิทยาลัย นักเขียน นักประพันธ์ที่ชอบศึกษาประวัติศาสตร์...เรื่องเก่าๆ คงจะสงสารที่ถูกรังแกอยู่บ่อยๆ จากนักเขียนด้วยกันที่เป็นเพศชาย มักจะให้กำลังใจและสนับสนุนให้เขียนถึงบิดาเพราะทายาทสายตรง รู้จริงของแท้ไม่ได้ฟังเขาเล่าว่า ที่จริงก็อยากจะเขียนให้เป็นเรื่องเป็นราว แต่สังคมไทยระยะหลังๆ นี้มีการแบ่งสี ไม่รู้ใครเป็นใคร แบบรู้หน้าแต่ไม่รู้ใจ หนังสือพิมพ์ก็เหมือนร้านอาหาร เพียงแต่เรียกผิดกัน ของเราเรียก "อาหารสมอง" มีคอลัมน์หลากหลายเลือกอ่านได้ตามใจชอบตามรสนิยม คอลัมน์ไหนไม่ถูกรสนิยมควรผ่านไป ให้ผู้ที่สนใจลิ้มรส เท่านี้ก็หมดเรื่อง ! ตัว ส.ท่าเกษมเอง เลือกอ่านแต่คอลัมน์ที่รู้จักคนเขียนเป็นส่วนตัว แต่ถ้าไม่สนใจในเรื่องนั้นก็ผ่านไป และในเวลาเดียวกัน คอลัมน์ที่ไม่รู้จักคนเขียนแต่ถ้าเป็นเรื่องที่น่าสนใจจะอ่านทันทีทันใด

แถลงความในใจที่อัดอั้นไว้นาน จิตใจเลยโปร่งใส ขอเริ่มเขียนคุยเรื่องของบิดา เมื่อเยาว์วัยได้ศึกษา ณ โรงเรียนบพิตรพิมุข ถวายตัวในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่ออายุ 13 ปีเศษ และสมเด็จพระบรมโอรสได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ส่งไปศึกษาที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (โรงเรียนนี้ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน และเมื่อสถาปนาจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยได้ยกไปรวมเข้าเป็นคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยนั้น)

สรุปแล้วท่านเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนบพิตรพิมุข และมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ หลังจากสิ้นรัชกาลที่ 6 ได้รับพระราชทานอนุญาตจากรัชกาลที่ 7 ให้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 7 ปี

ขออัญเชิญลายพระราชหัตถเลขาของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 มาลงเมื่อบิดาของ ส.ท่าเกษมยังมีบรรดาศักดิ์เป็นนายจ่ายง

"วันนี้เป็นวันที่อายุของเจ้าครบ 21 ปี บริบูรณ์ อันเป็นที่ควรยินดีในส่วนตัว เพราะนับว่าเป็นผู้ใหญ่บริบูรณ์ตามกฎหมาย แต่นอกจากนี้ยังมีข้อที่ควรยินดีได้อีกหลายประการกล่าวแต่โดยย่อดังต่อไปนี้

ตั้งแต่เจ้ามาอยู่กับข้า รับใช้ใกล้ชิดมาตั้งแต่เจ้ายังเป็นเด็กแทบจะไม่รู้ภาษาคน ตลอดมาจนถึงกาลวันนี้ อันเป็นวันซึ่งเจ้าได้ก้าวพ้นจากเขตอายุ ซึ่งนับว่าเป็นเด็กเริ่มย่างขึ้นบันไดขั้นแรกแห่งอายุผู้เป็นผู้ใหญ่ ข้าได้สังเกตมาตลอดแล้วเห็นว่าเจ้าเป็นผู้ที่สมควรที่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงพระเมตตายกย่องชุบเลี้ยงจริงๆ มีน้ำใจจงรักภักดี ซื่อตรงสุจริตมั่นคง มีความอุตสาหะ พากเพียรในทางที่ชอบ ไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบากกายของตนเลย ข้าสุขก็สุขด้วย ข้าทุกข์ก็ทุกข์ด้วย ทั้งหาความสอพลอไม่มีเลย ไม่เคยเห็นแสดงความริษยาในผู้หนึ่งผู้ใด ใครดีก็มักจะชมให้ข้าฟัง แต่ผู้ที่ผิดต้องได้รับโทษ หรือพลาดพลั้งอย่างใดๆ ก็ไม่เคยซ้ำเติม ทั้งมีจิตเมตตาโอบอารีต่อผู้น้อย แต่ส่วนผู้ใหญ่เจ้าก็ได้ประพฤติเป็นสัมมาคารวะต่อผู้ควรเคารพ ประพฤติตนมาโดยสม่ำเสมอเป็นที่สมควรแก่บุคคลทุกชั้น สมควรที่จะเรียกเจ้าว่าเป็นผู้ปฏิบัติมัทวสมาจารผู้ ๑ คุณสมบัติที่กล่าวมาแล้วทุกอย่างนี้ ย่อมทำให้เจ้าเป็นผู้ที่ชนทุกชั้นนิยมชมเชยว่าเป็นคนดี......." (วันที่ ๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๓๐ พ.ศ. ๒๔๕๔)

บิดาเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ กล่าวเฉพาะรัชกาลปัจจุบัน ท่านได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อโอกาสอำนวยอยู่เนืองๆ และเต็มใจที่จะฉลองพระเดชพระคุณอยู่เสมอ ประกอบด้วยความจงรักภักดีและความสามารถ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านดำรงตำแหน่งสมุหพระราชวัง และประธานกรรมการ พระราชวัง เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๖ ท่านพยายามฉลองพระเดชพระคุณด้วยวิริยะ หากไม่ถึงล้มหมอนนอนเสื่อ ท่านต้องไปฉลองพระเดชพระคุณตามหน้าที่ และเป็นเช่นนี้ตลอดชีวิต

ท่านเคยรับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน แต่งตั้งแทนพระองค์ไปในพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และโปรดเกล้าฯ ให้ไปแทนพระองค์ในงานแข่งม้าชิงถ้วยพระราชทาน (ถ้วยดาบี้) ที่สนามม้าราชตฤณมัยฯ หลายครั้ง

ในขณะที่ท่านป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ณ ตึกพยาบาลกรุงเทพฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเสด็จพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุ หน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐

มรดกตกทอด ที่ตั้งเป็นหัวข้อคอลัมน์ของสัปดาห์นี้ไม่ใช่ทรัพย์สินเงินทอง ตึกรามบ้านช่อง ที่ดินราคาแพง แต่กลับเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าของนอกกาย ส.ท่าเกษมได้รับบารมีจากท่านคุ้มครองมาตลอด ประหนึ่งว่าตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้ คนที่มุ่งร้ายก็มีอันเป็นไป มีผู้ใหญ่เมตตาให้กำลังใจสนับสนุนอยู่เสมอ แม้แต่ในเรื่องขีดๆ เขียนๆ ซึ่งเป็นงานอดิเรก

สิ่งหนึ่งที่ประทับใจคือได้รู้จักศิษย์เก่า ร.ร. บพิตรฯ ที่แอล.เอ. ทุกคนน่ารักและมอบไมตรีจิตมิตรภาพให้ ส.ท่าเกษม อย่างจริงใจ เริ่มจาก "ป้าแอ๊ะ" วิไล ตันธนวัฒน์ เป็นชาว เขียว-ขาว รายแรกที่รู้จักที่นี่ คุณอรทัย (ติ๋ม) เดชะณรงค์ คุณไตรยา (ก้อย) โคเฮน แห่งสถานกงสุลฯ คุณมันทนา (แหวว) อัคนิฑัต คุณพัชรีวรรณ ชัยสมบูรณ์ คุณปิยะพัชร์ ศิลปี-ไวทย์ ฯลฯ นานๆ พบกันทีแต่ก็ยังยิ้มแย้มแจ่มใสคุยกันได้ บางรายพูดกันทางโทรศัพท์ไม่เคยพบเป็นส่วนตัว สำหรับคุณก้อย เธอเป็นเพื่อนกับน้องๆ ที่ ร.ร. บพิตรฯ ทราบว่าเดี๋ยวนี้เป็นมหาวิทยาลัยไปแล้ว ลืมถามไปว่าทราบไหมว่าบิดาของ ส.ท่าเกษม เป็นชาวเขียว-ขาว ถึงแม้ตัวเองไม่ได้เป็นแต่ไปรับพี่ๆ น้องๆ ทุกวันและไปงานบพิตรฯ ทุกปี ! เกือบลืมไป คุณเอนก พลอยแสงงาม เจ้าของ น.ส.พ.ไทยแอล.เอ. เป็นชาวเขียว-ขาว เช่นกัน ส่วนการศึกษาของลูกๆ ท่านให้เข้าโรงเรียนเจ้านายเช่น วชิราวุธฯ และราชินี ส่วนโรงเรียนฝรั่งจะมี มาแตร์เดอี เซ็นโยเซฟฯ เซ็นฟรังฯ บางคนจบแปดไปเข้าจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ บางคนจบหกแล้วไปต่อบพิตรฯ เป็นเรื่องที่แปลกคือ หลังจากบิดาถึงแก่อสัญกรรม พี่ๆ น้องๆ ที่จบจากบพิตรฯ เข้าทำงานที่ธนาคารกุรงเทพกันทั้งนั้น

พูดถึงเรื่องบารมีคุ้มครอง คุณบุญชู โรจนเสถียร ดูแลพวกเราอย่างดี แม้นแต่ ส.ท่าเกษมอยู่ที่นี่ยังได้ทุนจากธนาคารกรุงเทพจนเรียนจบ ตอนนั้นคุณพอล สิทธิอำนวย เป็นผู้จัดการสาขานิวยอร์ค ได้รับมอบหมายให้ดูแล ส่งเช็คมาให้ ตอนมาปีแรกคุณประพีร์ โชติกะพุกกะณะ เป็นผู้ปกครองออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด สามีท่าน คุณพรเป็นบุตรชายของพระยาโชดึก และเป็นเพื่อนเล่นไพ่ของบิดา

มรดกชิ้นสำคัญ ที่ได้รับและเจริญรุ่งเรืองมาจนบัดนี้เห็นจะเป็นชื่อที่ท่านตั้งให้ ท่านศึกษาดูตัวอักษรที่ไม่เป็นกาลกิณี...ดูลักษณะ พวกเราจะได้รับชื่อเมื่อมีอายุครบ 1 เดือน ชื่อที่สั้นที่สุดมี 3 พยางค์ เช่น จิตอนงค์ ไกรกรีกูร ระฆุวงศ์ ความจำนงค์ ยาวที่สุดมี 7 พยางค์ ทักษิณีเขตจรดล


หมายเหตุ :
เรืองอุไร กุศลาสัย (21 มิถุนายน พ.ศ. 2463 - ) เป็นนักเขียน นักแปล ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศอินเดีย มีชื่อเสียงจากหนังสือและบทความเกี่ยวกับประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นผลงานร่วมกับกรุณา กุศลาสัย ซึ่งเป็นสามี ได้รับการเชิดชูเกียรติ รางวัลนราธิป ประจำปี พ.ศ. 2544

เรืองอุไร กุศลาสัย เดิมชื่อ เรืองอุไร หิญชีระนันทน์ เกิดที่ตำบลศิริราช อำเภอบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี เป็นบุตรีของอำมาตย์ตรี พระสอนถูกระบอบ (เรือง หิญชีระนันทน์) จบการศึกษาจากโรงเรียนสตรีวัดระฆัง โรงเรียนเบญจมราชาลัย และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรับราชการครูที่โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยม (สถาบันราชภัฏจันทรเกษม) และโรงเรียนบพิตรภิมุข จนกระทั่งเกษียณอายุ

เรืองอุไร สมรสกับ กรุณา กุศลาสัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2492 จนถึงปัจจุบัน

ลาก่อนสำหรับเสาร์นี้
ส.ท่าเกษม
15 มิถุนายน 2556