คุยกันวันเสาร์
ส.ท่าเกษม



เพียงลมระริกไหว ดอกไม้ก็ร้องเพลง
ช. ขอเดชะ องค์พระประมุข ภูมิพล
มิ่งขวัญปวงชน ประชาชาติไทย
มหาราช ขัตติยะ ภูวไนย
ดุจร่มโพธิ์ ร่มไทร ของปวงประชา
ญ. ขอเดชะ องค์สมเด็จพระราชินี
คู่บุญบารมี จักรีเกริกฟ้า
องค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาราชา
ข้าพระพุทธเจ้าขอสดุดี
(ดนตรี)
ช. อ้า องค์พระสยม บรมราชันย์ ขวัญหล้า
ญ. เปล่งบุญญา สมสง่าบารมี
ช. ผองข้าพระพุทธเจ้า
ญ. น้อมเกล้าขออัญชุลี
พ. สดุดี มหาราชา สดุดี มหาราชินี


เพลง... สดุดีมหาราชา
คำร้อง... ชาลี อินทรวิจิตร
ทำนอง... สมาน กาญจนะผลิน
(สมาน เรียบเรียงเสียงประสาน)



ชาลี อินทรวิจิตร มีผลงานประพันธ์คำร้องเพลงที่มีชื่อเสียง ได้แก่ เพลงสดุดีมหาราชา, แสนแสบ, ท่าฉลอม, สาวนครชัยศรี, ทุ่งรวงทอง, มนต์รักดอกคำใต้, แม่กลอง ฯลฯ

เดิมชื่อ สง่า อินทรวิจิตร จบการศึกษาจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ และโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟรุ่นแรก มีผลงานการแสดง และกำกับภาพยนตร์หลายสิบเรื่อง

สมรสกับนักแสดงหญิง ศรินทิพย์ ศิริวรรณ แต่ ศรินทิพย์ ศิริวรรณ หายตัวไประหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง อีจู้กู้ปู่ป้า ของ กำธร ทัพคัลไลย เมื่อ วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบันยังไม่พบตัว ภายหลังเหตุการณ์นั้น ชาลี อินทรวิจิตร ได้แต่งเพลงเพื่อระลึกถึง โดยใช้ทำนองเพลง Aubrey ของเดวิด เกตส์แห่งวง Bread ใช้ชื่อเพลงว่า เมื่อเธอจากฉันไป ขับร้องโดย พรพิมล ธรรมสาร ต่อมานำมาขับร้องใหม่โดย อรวี สัจจานนท์

เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติและเผย แพร่ผลงานประพันธ์เพลงจากปลายปากกาของ ชาลี อินทรวิจิตร มูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง ร่วมกับ มูลนิธิสวัสดิการนักแสดงอาวุโส และลูกศิษย์ ชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติและนักร้องคุณภาพร่วมถ่ายทอดงานเพลงอมตะในคอนเสิร์ต “เพียงลมระริกไหว ดอกไม้ก็ร้องเพลง” ฉลองวาระครบรอบ 89 ปี ชาลี อินทรวิจิตร นำโดยสุดยอดอมตะแห่งเสียงจาก 6 ศิลปินแห่งชาติ ชาลี อินทรวิจิตร, สวลี ผกาพันธุ์, สุเทพ วงศ์กำแหง, รวงทอง ทองลั่นธม, เศรษฐา ศิระฉายา, จินตนา สุขสถิตย์ และนักร้องชื่อดังแห่งยุค ดิ อิมพอสสิเบิ้ล, ศิลปิน 3 วิ...วิรัช อยู่ถาวร - วินัย พันธุรักษ์ - วิชัย ปุญญะยันต์, รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส, โฉมฉาย อรุณฉาน, ชัชวาลย์ คงอุดม, ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล, อุเทน พรหมมินทร์, อิสริยา คูประเสริฐ, พรเทพ เทพรัตน์, อุมาพร บัวพึ่ง, บูรพา - ดร.ญาดา อารัมภีร, ฯลฯ

สัมผัสสุนทรียรสของงานเพลงที่สร้าง ชื่อเสียงเป็นอมตะแห่งชีวิต หยาดเพชร, ตะวันยอแสง, ครวญ, มารักกันใหม่, เธออยู่ไหน, จูบฉันแล้วจงตายเสีย, มนต์รักดอกคำใต้, หว้าเหว่, เหมือนไม่เคย, โพระดก, ฟ้ารักดิน, ยามรัก, แสนแสบ, สุริยะจันทร์, รักเธอเสมอ, แสนแสบที่แสบแสน, ม่านน้ำตา, คนหลายใจ, ฉันรอจูบจากเธอ, สักขีแม่ปิง, เรือนแพ, แม่กลอง, ปล่อยฉันไป, น้ำเซาะทราย, ชงโคบานในฤดูหนาว ฯลฯ และอีกมากมาย บรรเลงโดย วงเฉลิมราชย์ ควบคุมวงโดย อ.วิรัช อยู่ถาวร พิธีกร นิเวศน์ กันไทยราษฎร์ - นันทวัน เมฆใหญ่ สุวรรณปิยะศิริ

ครูชาลี อินทรวิจิตร เกิดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2466 ที่จังหวัดสมุทรสาคร เป็นผู้ที่มีประสบการณ์และมีความสามารถสูงเด่น ทั้งเรื่องการร้องเพลง กำกับภาพยนตร์ และการประพันธ์เพลง โดยเฉพาะ การประพันธ์เพลง มีผลงานเพลงที่สร้างชื่อเสียงเป็นอมตะจำนวนเกือบ 1,000 เพลง นอกจากนี้ยังมีผลงานกำกับภาพยนตร์ที่มีคุณภาพจำนวนมาก ได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย ทั้งรางวัลตุ๊กตาทอง สุพรรณหงส์ทองคำ รางวัลเมขลา รางวัลแผ่นเสียงทองคำ เป็นผู้ที่สร้างสรรค์งานด้วยศรัทธาในวิชาชีพโดยมิได้คำนึงถึงเรื่องธุรกิจ ให้ความช่วยเหลือบุคคล และสังคมตลอดมา จึงได้รับการยกย่อง เชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์คำร้อง-ผู้กำกับภาพยนตร์) ปี 2536 คอนเสิร์ต “เพียงลมระริกไหว ดอกไม้ก็ร้องเพลง” 89 ปี ชาลี อินทรวิจิตร ศิลปินแห่งชาติ จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 25 สิงหาคม 2555 และวันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม 2555 รอบ 14.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย บัตรราคา 2,500- 2,000 - 1,500 - 1,000 - 800 - 500 บาท


"86 ปี คุณชาลี อินทรวิจิตร"

ดิฉันเรียกคุณชาลีว่า "คุณหง่า" ตามชื่อเดิมคือ สง่า อินทรวิจิตร เพราะเราผูกพันกันมาตั้งแต่สมัยละครเวทีเฉลิมนคร-เฉลิมไทยที่แสดงด้วยกันบ่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องจุฬาตรีคูณ เราร้องเพลง "ใต้ร่มมลุลี" ด้วยกัน

ดิฉันยังจำความรู้สึกดีๆ ของบรรยากาศหลังเวที (พวกเราเรียกว่า หลังโรง) เวลาที่จบรายการแสดงรอบบ่าย เพื่อจะแสดงรอบค่ำ 19.30 น. ใครมีอาหารอะไรก็เอาออกมาจัดร่วมวงรับประทานอาหารเย็นกัน คุ้นเคยกันดุจคนครอบครัวเดียวกัน เป็นบรรยากาศที่มีความสุขทุกครั้งที่นึกถึง

สำหรับคุณหง่านอกจากเวทีละครแล้ว ยังมีต่อมาถึงละครเวที ซึ่งคุณอดิศักดิ์ เศวตนันทน์ และดิฉันตั้งคณะชื่นชุมนุมศิลปิน นำละครเวทีที่เคยเป็นที่นิยมมาจัดแสดงทางทีวีมากมายหลายเรื่อง คุณหง่าก็เป็นคนหนึ่งที่มาร่วมงาน จนถึงรวบรวมนักร้องกลุ่มเราตั้งเป็นวงดนตรี รับงานทั้งกรุงเทพฯ-ต่างจังหวัด โดยมีน้าหมาน (คุณสมาน กาญจนะผลิน) ควบคุมวง บรรยากาศสนุกที่ไปแสดงต่างจังหวัดมีมากมายหลายเรื่อง ถ้าเขียนก็คงต้องเป็นเล่ม

คุณหง่าบอกว่าเวลาดนตรีจบเพลงสุดท้ายแล้วเลิกนี่มันรู้สึกขาดๆ ไปนะคุณหง่ากับน้าหมายก็เลยแต่งเพลง "ลาก่อน-สำหรับวันนี้" เป็นเพลงลา เป็นเพลงสุดท้ายจบรายการโชว์ของคณะชื่นชุมนุมศิลปินตลอดทุกงานเหมือนฟินาเล่ ที่นักร้องออกมาหน้าเวทีทุกคน และยังมีวงการภาพยนตร์ระยะแรกๆ เมื่อคุณ ส.อาสนจินดา รวบรวมพี่น้องนักแสดงมาทำงาน เพราะละครเวทีปิดกิจการเพื่อฉายภาพยนตร์ หมดยุคละครเวทีไปช่วงหนึ่ง ฯลฯ

ถ้าจะนับเวลาที่คุ้นเคยกับคุณหง่าก็เนิ่นนานหลายสิบปีต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่คุณหง่าวันนี้ก็ยังเป็นคุณหง่าที่น่ารักกับเชอร์รี่ (คุณหง่าเรียกดิฉันว่า เชอร์รี่ คือชื่อจริงค่ะ) ตลอดมา

คุณหง่าวันนี้ในวัย 86 ปี ยังมีสุขภาพดีมาก แข็งแรงสดใส หน้ามีเลือดฝาด ยิ้มแย้ม ยังชอบร้องเพลงและร้องดีด้วย เสียงยังตรงไม่แกว่งไม่เพี้ยน

ซึ่งดิฉันขอภาวนาถ้าวันข้างหน้าเมื่อดิฉันอายุ 86 ปี ขอให้ได้มีบุญเหมือนคุณหง่า

แต่ที่ยังไงๆ ก็ขอให้เหมือนคุณหง่าไม่ได้ คือ การแต่งเพลง คุณหง่าเขียนคำร้องได้ไพเราะ ถ้อยคำสละสลวยลึกซึ้ง คุณหง่าแต่งเพลงได้หลายอารมณ์ หลายลีลา "เพลงสดุดีมหาราชา" ที่ดังกระหึ่มในใจคนไทยทั้งมวลนั่นก็หนึ่ง และที่แต่งให้สวลีร้องก็มากมายหลายสิบเพลง ทั้งเพลงคู่ "เธออยู่ไหน" หรือเพลงเดี่ยว "จำเลยรัก" (ทำนอง คุณสมาน กาญจนะผลิน) แฟนๆ ชอบกันมากเพราะจะได้ยินทุกครั้ง ที่มีใครนำมาสร้างใหม่เป็นภาพยนตร์ เป็นละคร

เพราะคุณหง่า "ชาลี อินทรวิจิตร มีคนเดียวเท่านั้น ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร"


สวลี ผกาพันธุ์

(ศิลปินแห่งชาติ)


"แน่นอน 13 ปี ครบ 100"

"บ้าหรือเปล่า"

เพื่อนคนหนึ่งตะโกนลั่นมาตามสาย เมื่อผมโทร.ไปหารือเขาเรื่องข้อเขียนที่จะมอบให้กับหนังสือที่ระลึกงานคอนเสิร์ตของชาลี "กะอีแค่ชื่นชมครูชาลี อีก 13 ปีก็จะครบ 100 นี่นะ ใช้เวลา 3 วันยังไม่รู้จะเขียนอะไร"

แล้วเพื่อนมันก็โยนโทรศัพท์เสียงดังโครม...จบกัน !

ผมไม่รู้จะขึ้นต้นเขียนถึงคุณชาลี ว่ายังไงจริงๆ ครับ ก่อนอื่นขอให้ท่านลองอ่านที่ครูชาลี เขียนถึงชรินทร์ ในวาระต่างๆ แล้วท่านอาจจะทราบได้เอง

จากหนังสือ "การเดินทางที่ยิ่งใหญ่ของชีวิต ชรินทร์ อินคอนเสิร์ต คืนฟ้าสวย" ดนตรี-กวี-กาลเวลา จะผูกพันรุกล้ำห้ำหั่นกันตลอดไป บนบรรทัด 5 เส้นกับโน้ต 7 ตัว...เป็นหลักไม้เลื้อย

เป็นดอกไม้เพลงที่บานอยู่ในใจของ ชรินทร์ นันทนาคร อย่างทรนง และอหังการ์ ชรินทร์ นันทนาคร ไม่เคยหลุดจากวังวนของบทเพลง ไม่ว่าช่วงเวลาไหน

ชาลีตั้งใจเขียนข้อความเหล่านี้ เพื่อจะบอกว่าใครบางคน ที่เกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติ ได้รับรู้ว่า ผมหายหน้าไปสร้างภาพยนตร์กว่า 20 ปี แต่ผมก็มีบทเพลงทั้งในภาพยนตร์-เทป และแผ่นซีดี ออกจำหน่ายเสมอมาไม่ขาดช่วง เขาเขียนเพราะเขารักความยุติธรรม โดยสุจริต

ต้นปี 2540 ชาลี สารภาพว่า จำเป็นต้องเขียน ชีวิตดังเพลง ของชรินทร์ นันทนาคร ให้แฟนๆ เพลงได้อ่านใน "สยามรัฐ" รายวัน ติดต่อกัน 3 วัน เพื่อให้ผู้คนได้รับรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด และจบลงด้วยถ้อยคำล้ำค่า

"A Tear drop on the Cheek of Time หยาดน้ำตาบนแก้มของกาลเวลา จะปรากฎแก่คนทั่วประเทศ ถ้าค่าแห่งเกียรติยศของเขาถูกลืมเลือน"

หนังสือพิมพ์ออก 2-3 วัน กับค่ำคืนที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ ชาลีมาพบผมที่บ้าน โดยจอด Taxi รอหน้าบ้าน แล้วเขาวิ่งฝ่าฝนเข้ามา พร้อมยื่นกระดาษให้ผม พร้อมบอก "เอ้า...อ่านแล้วเซ็นชื่อมา กูจะรีบเอาไปให้ครูเนรมิต"

ผมเซ็นโดยไม่ต้องอ่าน เพราะมั่นใจกับคำว่า มิตรแก้วสหายคำ สำหรับคนชื่อชาลี เขารับกระดาษทั้งหมดสอดกลับเข้าไปในอก ซึ่งมีแจ๊คเก็ตคลุมทับอยู่ และวิ่งออกไปขึ้น Taxi มิไยที่เสียงร้องบอกให้เอาร่มไปของหลายๆ คนในบ้าน

ใกล้เที่ยงคืน ตัดสินใจโทร.ไปหาครูเนรมิต ครูรับสายและหัวเราะตามแบบฉบับของครู พร้อมบอกว่า

ชาลีเอาประวัติและงานของชรินทร์ มาให้แล้ว กะทัดรัดและได้ใจความดี พรุ่งนี้จะเอาเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ "ศิลปินแห่งชาติ"

อีก 2 เดือนต่อมา มีการประกาศรายชื่อ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2541 และ 1 ในจำนวนนั้น มีชื่อ ชรินทร์ นันทนาคร เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง

ถ้าท่านได้อ่านตั้งแต่ต้นจนมาถึงบรรทัดนี้ ท่านคงจะเมตตาเห็นใจ ที่ผมบอกว่า ไม่รู้จะขึ้นต้นและเขียนถึงชาลีอย่างไร

ก็บอกเพียงว่า ในหัวใจ 4 ห้อง ผมมี แม่-เมีย-ลูก

และห้องที่ 4 มี ชาลี อินทรวิจิตร ครับ


ชรินทร์ นันทนาคร

(ศิลปินแห่งชาติ)


ร.ต.สุเทพ วงศ์คำแหง เขียนแสดงความยินดีในหนังสือ "ที่นี่มีเพลง...ที่นี่มีรัก" ในวาระครบรอบวันเกิด 86 ปีของครูชาลีฯ ที่พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานคอนเสิร์ตที่มีชื่อเดียวกับหนังสือ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2552 ดังที่ 2 ศิลปินแห่งชาติ สวลี และ ชรินทร์ ได้เขียนฝากไว้ เช่นเดียวกัน สุเทพฯ เขียนหัวข้อไว้ว่า "ขุนพลนักเพลง" เริ่มด้วยข้อความที่ครูชาลีบ่นว่า "ไอ้เด็กนักแต่งเพลงของบริษัทมันบอกกูกว่า ถ้ากูจะแต่งเพลงต่อไปแล้วละก็ ไม่ต้องสนใจเรื่องคำสัมผัสหรอก เพราะที่บริษัทนี้เขาไม่สนใจเรื่องอย่างนี้ แล้วก็...ถ้ากูอยากแต่งเพลงอย่างที่แล้วๆ มาอีก ก็ไม่ต้องเอามาขายที่นี่ เพลงเชยๆ อย่างนี้ บริษัทเขาไม่เอาว่ะ" สุเทพฯ เพื่อนรักจึงปลอบใจเพื่อนรักผู้อาวุโสด้วยความเห็นใจว่า "มึงก็อย่าไปขายก็สิ้นเรื่อง...."

ท่านเขียนต่อว่า....กลับถึงบ้าน ผมก็มานั่งนึกถึงถ้อยคำที่ชาลีกล่าวถึง พฤติกรรมของคนในบริษัทที่ว่านี้ แล้วก็นึกสงสารเพื่อนต่างวัย ที่เป็นคนชอบคิดและชอบเขียน เวลาเขาแต่งเพลง เขาจะมุมานะบรรจงใส่ถ้อยคำลงในเพลงแต่ละเพลงที่เขาแต่งอย่างพิถีพิถัน เพียรที่จะบรรจุถ้อยคำไพเราะและมีความหมาย เพื่อให้ผู้ฟังเพลงฟังแล้วจะได้ชื่นใจ และมีความสุข

อย่างเพลง เรือนแพ ที่พระเจ้าวรวงค์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ทรงสร้างภาพยนตร์เรื่อง "เรือนแพ" ท่านโปรดให้ ชาลีฯ แต่งร่วมกับ สง่า อารัมภีร (ประพันธ์ทำนอง).........

ที่ไปที่มาของเพลงนี้น่าสนใจทีเดียว หาอ่านได้จากหนังสือทั้ง 2 เล่มของครูชาลีฯ "บันเทิง-บางที" และ "ที่นี่มีเพลง...ที่นี่มีรัก" ส.ท่าเกษมขอสรุปว่า เมื่อครูชาลีฯ แต่งเสร็จด้วยความน้อยใจ พระองค์ชายใหญ่โปรดมากโดยเฉพาะประโยคที่ว่า "หิวหรืออิ่มก็ยิ้มพอกัน" ท่านถึงกับรับสั่งว่า "นี่แหละวรรคทองของชาลีเขา"

ครูชาลีฯ ไม่ใช่นักแต่งเพลงธรรมดาๆ ถ้าเป็นสมัยก่อนท่านก็คือกวีเอกที่คงจะได้รับพระราชทานยศเป็นเจ้าขุนมูลนายอย่างแน่นอนทางศาสนาท่านก็แต่งไว้หลายเพลง เช่นเพลง "พระรัตนตรัย" ขึ้นต้นว่า

"องค์ใด พระสัมพุทธะวิสุทธิ์ ผุดผ่องใส

ตรัสมูล กิเลสไกล หลีกละในสิ่งรื่นรมย์...."

เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ "ลูกทาส" ได้รับรางวัลพระราชทานตุ๊กตาทองเป็นตัวแรก

ทางด้านรักชาติรักแผ่นดินที่ดังที่สุดเห็นจะเป็น "บ้านเรา" เพียงท่อนแรกก็สามารถทำให้เรารักบ้านเกิดเมืองนอน รักชาติ จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

บ้านเรา แสนสุขใจ แม้จะอยู่ที่ไหน ไม่สุขใจเหมือนบ้านเรา

คำว่าไทย ซึ้งใจมิใช่ทาสเขา ด้วยพระบารมีล้นเกล้า

คุ้มเราร่มเย็น สุขสันต์.......

วรรคทองในเพลงนี้คือ บุญนำพา กลับมาถึงถิ่น
ทรุดกายลงจูบดิน ไม่ถวิลอายใคร


ใครทราบไหมว่าเพลงอะไรที่ครูชาลีฯ แต่งทั้งทำนองและคำร้อง ส่วนใหญ่แล้วท่านจะมีคู่หูที่แต่งทำนองให้ ล้วนแล้วแต่เป็นขุนพลครูเพลงกันทั้งนั้น เช่น ครูสง่า ครูสมาน ครูประสิทธิ์ ซึ่งทั้ง 3 ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติและเสียชีวิตไปแล้ว อย่างไรก็ตามมีอยู่ 2 เพลงที่ครูชาลีฯ แสดงฝีมือเอง "เหมือนไม่เคย" และ "ไม่เคยรักใครเท่าเธอ"

สำหรับเพลง "สดุดีมหาราชา" ครูชาลีใช้เวลา 5 ชั่วโมงเขียนคำร้องที่บ้านครูสมาน กาญจนะผลิน สำหรับใส่ในภาพยนตร์เรื่อง "ลมหนาว" ซึ่งชรินทร์ฯ เป็นผู้สร้างและกำกับเอง ได้ความคิดจากการที่ครูชาลีถามชรินทร์ว่า "ถ้าเราพบในหลวง เราจะพูดกับท่านคำแรกว่าอะไร" ชรินทร์ตอบว่า ต้องพูดว่า "ขอเดชะ ซี" และนั่นคือคำขึ้นต้นของเพลง

ศิษย์ต้องมีครู ครูชาลีก็เช่นกันท่านต้องมีครู ท่านชื่นชมยกย่องพระปรีชาสามารถของพระมหาธีรราชเจ้า (ล้นเกล้าฯ ร.6) โดยเฉพาะบทพระราชนิพนธ์ ฟังดนตรีเถิดชื่นใจ และสุริยัน-จันทรา นอกจากนี้ท่านถือว่า ครูไพบูลย์ บุตรขัน และครูแก้ว อัจฉริยะกุล เป็นครูท่านเช่นกัน

ครูชาลีกล่าวไว้ว่า กวีมี 2 อย่างด้วยกันคือ หนึ่ง กวีทางเสียง ไร้ตัวอักษรได้ยินแต่เสียง สอง กวีอักษร ไร้เสียงเห็นแต่ตัวอักษร เมื่อกวีทางเสียงและกวีทางอักษรมาสัมผัสกัน จะกลายเป็นบทเพลงที่ยิ่งใหญ่ ส.ท่าเกษมขอสรุปเพียงสั้นๆ ท่านคุยให้แฟนๆ เพลงของวิทยุศึกษาในรายการ "มุมความสุข" ฟังเมื่อคืนวันอังคารที่ 14 สิงหาคม อย่างไพเราะเพราะพริ้งด้วยภาษาสวรรค์ของท่าน ไม่สามารถจดจำมาได้คำต่อคำ ต้องขออภัยมาด้วย

ยังมีเวลาอีก 1 อาทิตย์เต็มๆ ที่แฟนเพลงลูกกรุงรักอมตะจะจองบัตรได้ สำหรับผู้ที่อยู่นอกประเทศ ถ้าเผื่อเป็นระยะเวลาเดียวกับที่กลับไป "บ้านเรา" ก็สามารถไปหาความสำราญ ให้กำลังใจครูชาลีผู้มีอายุยืนนาน (อีก 1 ปีท่านก็จะครบ 90 ปี) ส.ท่าเกษม ขอส่งกำลังใจให้ประสบผลสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ !


ข้อมูล หนังสือ การเดินทางที่ยิ่งใหญ่ของชีวิต บนถนนร้องเพลงของชรินทร์ นันทนาคร, บันเทิง-บางที และที่นี่มีเพลง... ที่นี่มีรัก ของครูชาลีฯ, หนังสือ 55 ปี ราชินีโลกมายา ของสวลี ผกาพันธุ์, วิกิพีเดีย, BANGKOK EVENTS CALENDAR,THAITICKETMAJOR (TTM)

ลาก่อนสำหรับวันนี้
ส.ท่าเกษม
18 สิงหาคม 2555