ข่าวจากวัด



ข่าวจากวัด 23 มกราคม 2564

นับเป็นข่าวดีของพี่น้องชาวไทยและเทศ ที่ช่วงนี้ทางการภาครัฐและภาคเอกชนได้เริ่มต้นบริการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 กันแล้ว สามารถติดตามข้อมูลรายละเอียดและสถานที่บริการและขั้นตอนต่างๆ ได้ทางไลน์ และแหล่งข้อมูลเอกสารภาษาอังกฤษของภาครัฐ ซึ่งช่วงนี้ทยอยออกมาให้ความรู้ความเข้าใจมากขึ้นตามลำดับ และกรุณาใช้วิจารณญาณข้อมูลบางส่วนที่อาจสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นได้ สำหรับวัดไทยฯ เองก็ยังเปิดบริการให้ญาติโยมได้มาทำบุญสุนทานกันตาม ปกติ เป็นการสร้างขวัญกำลังใจและความมั่นใจในการดำรงชีวิตอย่างเป็นสุขท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ขออนุโมทนาบุญญาติโยมทุกท่านมา ณ โอกาสนี้

ประชาสัมพันธ์สัปดาห์นี้ ขอเสนอพุทธพจน์สำหรับเป็นข้อคิดแก่ญาติโยมทั้งหลาย จากหนังสือ “พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน” ฉบับวาระ 100 ปี ชาตกาล อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ พุทธศักราช 2560 หน้า 156 ว่าด้วย สะอาดด้วยน้ำ หรือด้วยความประพฤติ ดังต่อไปนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ตำบลคยาสีสะ ใกล้แม่น้ำคยา สมัยนั้น ชฎิล (นักบวชเกล้าผมเป็นเซิง) มากหลาย ดำผุดบ้าง ดำหัวบ้าง เอามือวักน้ำรดตนเองบ้าง ในแม่น้ำคยา บูชาไฟบ้าง ในสมัยที่มีหิมะตกระหว่างราตรีฤดูหนาว อันเย็นเยียบ ด้วยคิดว่า ความบริสุทธิ์จะมีได้ด้วยวิธีการนี้ พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นชฎิลเหล่านั้นทำอาการอย่างนั้น จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

“ความบริสุทธิ์เพราะน้ำในแม่น้ำที่คนเป็นอันมากอาบนั้น ย่อมไม่มี ผู้ใดมีสัจจะ มีธรรม ผู้นั้นเป็นผู้สะอาด เป็นพราหมณ์” (ที่มา : ขุททกนิกาย อุทาน 25/46/71)

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทของนางวิสาขา มิคารมารดา ในบุพพาราม ใกล้กรุงสาวัตถี สมัยนั้น นางวิสาขา มิคารมารดา มีธุระบางอย่างเกี่ยวข้องในพระเจ้าปเสนทิโศล พระราชามิได้ทรางพิจารณาเรื่องนั้นตามความต้องการ (อรรถกถากล่าวว่า นางวิสาขาไปเฝ้า แต่ไม่พบ หลายครั้ง) นางวิสาขาจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแต่ยังวัน ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง พระผู้มีพระภาคจึงตรัสถามว่า “ดูก่อนวิสาขา เธอไปไหนมาแต่ยังวันทีเดียว” นางวิสาขาจึงกราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ ในเวลานั้นว่า

“การอยู่ในอำนาจของคนอื่น ทุกอย่าง เป็นทุกข์ การเป็นอิสระ ทุกอย่าง เป็นสุข คนทั้งหลายย่อมเดือด ร้อนในเรื่องทุกข์สุขทั่วไป เพราะว่ากิเลสเครื่องมัดสัตว์ เป็นของก้าวล่วงได้ยาก” (ที่มา : ขุททกนิกาย อุทาน 25/63/87)