เปิดเบิ่ง เสาร์ที่ 17 มีนาคม 2555
ทำไมพรรคประ ชาธิปัตย์ถึงออกมาขัดขวางแนวคิดปรองดองของพรรคเพื่อไทย
เหตุผลง่ายๆ คือ ก้าวไม่พ้น "ทักษิณ" เสียที
สรุปไว้ล่วงหน้าแล้วว่ามีจุดมุ่งหมายแค่นิรโทษกรรมเพื่อให้ "ทักษิณ" ได้กลับเมืองไทย
ก็เป็นสิทธิที่พรรคประชาธิปัตย์จะคิดอย่างนั้น
แม้ว่านายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะออกมาปรามผ่านสื่อว่า "ยังไม่กลับหรอกค่ะ" แล้วก็ตาม
พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังยืนกราน คัดค้านหัวชนฝาอยู่ต่อไป
แต่ที่ไม่เข้าใจอย่างยิ่งก็คือการที่พรรคประชาธิปัตย์คัดค้านคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร
เพราะเป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดความปรองดองได้ชัดเจนที่สุด
อีกทั้งกมธ.ปรองดองที่ว่านี้ ก็ไม่ได้หมกเม็ดร่างกฎหมายปรองดองกันเอง
แต่ให้ "คนกลาง" และ "ภาคประชาชน" เข้ามาทำการวิจัยและศึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่ความสมานฉันท์
โดยยึด 4 ความเห็นคือ 1.ความเห็นของภาคประชาชน 2.ผลการวิจัยสถาบันพระปกเกล้า 3.ความเห็นของกรรมาธิการ และ 4.แนวทางการแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ฉะนั้น พรรคประชาธิปัตย์จะเหมารวมว่ากมธ.ปรองดองทำเพื่อ "ทักษิณ" ไม่ได้
อีกทั้งกระบวนการต่างๆ ยังต้องผ่านสภาอีกหลายขั้นตอน
มีการกลั่นกรองอีกหลายชั้น
ที่สำคัญเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย
จึงไม่เข้าใจว่าทำไมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ถึงต่อต้านผลวิจัยของ "คนกลาง" อย่างสถาบันพระปกเกล้า
และขัดขวางความเห็นของภาคประชาชน
พฤติกรรมของพรรคประชาธิปัตย์สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อข้อหาขัดขวางการปรองดอง
แกนนำของพรรคต้องไตร่ตรองและทบทวนเรื่องนี้อย่างรอบคอบ
ไม่เช่นนั้นอาจโดนวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่าไม่อยากให้บ้านเมืองกลับสู่สภาวะปกติ
เพราะในอดีตมีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่ามีบางพรรค การเมืองฉวยโอกาสวิกฤตความขัดแย้งในสังคม
แล้วใช้ "วิธีพิเศษ" เข้ามากุมอำนาจบ้านเมือง