เหมือนกับอาการฟาดงวงฟาดงาอันมาจากพรรคประชาธิปัตย์บังเกิดพลันที่ได้ข่าวการลาออกจากสมาชิกส.ส.ของ นายเกษม นิมมลรัตน์ แห่งเชียงใหม่
จะสะท้อนลักษณะ "วิตกจริต"
วิตกจริตไม่เพียงแต่มองเห็นว่าเท่ากับเป็นการเปิดช่องให้ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อหวนคืนสู่สนามทางการเมือง
หากแต่ยังวิตกถึงขนาดที่ว่า นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อยู่ในสถานะ "ตัวสำรอง"
สถานะ "ตัวสำรอง" ของ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ นี้เองที่นำไปสู่กระแสข่าวลือว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อาจพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
รวมถึงข่าวลือ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ พ้นจากตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
อย่าโทษอาการฟาดงวงฟาดงาของพรรคประชาธิปัตย์ต่อกรณีการลาออกของ นายเกษม นิมมลรัตน์ และการก้าวเข้ามาแทนที่โดย นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เลย
เพราะ "โรค" นี้ระบาดมานานแล้ว
ถามว่าก่อนการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เคยมีใครคาดคิดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ไม่มีและยากยิ่งนักที่จะมี
อย่าว่าแต่ในกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เลย แม้กระทั่ง นายสมัคร สุนทรเวช แม้กระทั่ง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
การเป็นส.ว.กทม.อาจเป็นตำแหน่งสุดท้ายของ นายสมัคร สุนทรเวช
การเป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชาชน การเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม อาจเป็นตำแหน่งการเมือง ตำแหน่งข้าราชการประจำสุดท้ายของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มิใช่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างแน่นอน
สถานการณ์นั่นแหละทำให้เกิดเรื่องแปลกเช่นนี้ขึ้น
เพราะนักการเมืองอย่าง นายสมัคร สุนทรเวช ที่ช่ำชองและคร่ำหวอดก็ยังถูกสอยเพียงเพราะไปทำกับข้าวออกทีวี
โอกาสจึงเป็นของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
เพราะข้าราชการประจำอย่าง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องมีอันเป็นไปเพราะคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชนและถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี
หลายคนจึงหยิบชื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมา
นั่นก็คือ ไม่ต้องมีตำแหน่งบริหารภายในพรรคเพื่อไทย แต่อยู่ในสถานะอันเป็นหมายเลข 1 ในระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี
เป็นนายกฯ โดยไม่เป็นหัวหน้าพรรค
หากพรรคประชาธิปัตย์และพันธมิตรหงุดหงิดกับกรณีของ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์
ไม่ลองย้อนกลับไปสำรวจผลสะเทือนจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ลองย้อนกลับไปสำรวจบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
ใครเป็นคนทำ ใครเป็นคนกำหนด