ขณะที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความหงุดหงิดกับข่าวน้ำฝนรั่วจนฝ้าเพดานในห้องเรียนพังถล่ม โดยเห็นว่ากรณีสื่อเสนอว่านักศึกษาหวิดดับนั้น เป็นเรื่องเกินจริง เพราะขณะที่เกิดเหตุ ไม่มีนักศึกษาเรียนอยู่ในห้อง
จึงเห็นควรอย่างยิ่งที่จะต้อง”ควบคุมสื่อ”
แต่ขณะเดียวกัน อาจารย์ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ได้ให้ข้อมูลยืนยันว่า ก่อนจะพังถล่มลงมานั้น มีนักศึกษาเข้าไปนั่งรอเรียนอยู่ก่อนแล้ว และเมื่อตัดสินใจอพยพย้ายออกมา บรรดาๆ นักศึกษายังกล่าวกันว่าโชคดีอย่างมากที่ไม่อยู่ขณะพัง หรือไม่เดินผ่านตอนที่มันพังถล่มลงมา
จึงเห็นว่า ไม่ใช่ข่าวที่เกินจริง
ทั้งยังนำมาสู่ข้อสงสัยระหว่างความห่วงใยในสวัสดิภาพนักศึกษากับการได้ทีเรียกร้องให้คุมสื่อของอธิการบดี!?!
กระนั้นก็ตาม แม้จะเป็นที่ตลกขบขันว่า ระดับศาสตราจารย์ด๊อกเตอร์ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีธรรมศาสตร์
กลับหยิบยกเอาเรื่องโครงหลังคาฝ้าเพดาน มาเป็นเหตุเรียกร้องให้ควบคุมสื่อ
อันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพของทั่วทั้งสังคม
กระทบเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ส่วนใหญ่
เอาเรื่องโครงหลังคาฝ้าเพดาน มาจัดการกับเรื่องโครงสร้างสังคมด้านสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย!
สะท้อนถึงหลักคิด ด้านระบบ หลักการ อย่างน่าสงสัย
แต่ก็อย่าได้มองว่าแค่อารมณ์ความหงุดหงิดเท่านั้น เพราะอีกสถานะของอธิการบดีคือสมาชิกสนช.
เมื่อร่างพ.ร.บ.ควบคุมสื่อผลักดันขึ้นมาจากสปท. ก็จะต้องเข้าสู่สนช.เพื่อให้มีผลออกมาบังคับใช้ในอนาคต
จึงต้องจับตามองกันต่อไปอย่างจริงจัง
ในท่ามกลางสายตาของทั่วทั้งสังคม ที่เคยเชื่อมั่นในเกียรติภูมิของมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นสถาบันการศึกษาของประชาชนวงกว้าง โดยปรีดี พนมยงค์
จากหัวหอกในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย บัดนี้เกิดอะไรขึ้น เมื่อผู้บริหารสนับสนุนการควบคุมสื่อ
และในขณะเดียวกัน ฟากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีภาพพจน์อนุรักษนิยม
กลับมีเรื่องน่ายินดีสำหรับวงการปัญญาชนที่มีความคิดก้าวหน้า
เมื่อสภานิสิตจุฬาฯ ลงมติอย่างท่วมท้น เลือกนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นประธานสภานิสิตฯ
เนติวิทย์ คนรุ่นใหม่ที่ชัดเจนในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพทั้งทางการศึกษา ด้านกฎระเบียบเก่าๆ ของมหาวิทยาลัย และวิพากษ์ระบบเกณฑ์ทหาร
กลับมีที่ยืนที่แสดงบทบาทได้ชัดเจนในจุฬาฯ
น่าสงสัยว่าถ้าเนติวิทย์เลือกไปเรียนที่ธรรมศาสตร์ในยุคนี้ จะเกิดอะไรขึ้น!?