คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 2 พ.ร.ก.กู้เงินของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทเพื่อการวางระบบบริหารจัด การน้ำและสร้างอนาคตประเทศ
ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (1) และ (2)
เพราะมี "ความจำเป็น เร่งด่วน"
และมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เห็นชอบพ.ร.ก. โอนหนี้จากกองทุนฟื้นฟูฯ ไปยังแบงก์ชาติ 1.14 ล้านล้านบาท
เห็นว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่มีความจำเป็นดังกล่าวมาจากวิกฤตอุทกภัย
ครม.ตราพ.ร.ก.ดังกล่าวโดยสุจริต
ความเห็นของคณะตุลาการ ทำให้นึกถึงเหตุผลของการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ 2 พ.ร.ก.กู้เงินฯ
เพราะพรรคประชาธิปัตย์ และส.ว.บางกลุ่ม เห็นว่าไม่ได้จำเป็นเร่งด่วน และไม่ได้ส่งผลต่อมั่นคงทางเศรษฐกิจ
แถมยังเรียกร้องให้นายกฯยิ่งลักษณ์ และครม.รับผิดชอบด้วยการ "ลาออก" หากพ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับขัดรัฐธรรมนูญ
ความจริงการตรวจสอบรัฐบาลเป็นหน้าที่โดยชอบธรรมของฝ่ายค้าน
แต่ต้องตรวจสอบโดยคำนึงถึงประโยชน์ของชาติ มากกว่าแค่ "เล่นเกมการเมือง"
มุ่งหวังใช้เป็นหมัดน็อกล้มรัฐบาล!?
เมื่อย้อนไปดูจะพบว่าครม. อนุมัติ 2 พ.ร.ก.นี้ตั้งแต่ 10 ม.ค. 55
พอวันที่ 30 ม.ค. พรรคประชาธิปัตย์ยื่นคัดค้าน ต่อประธานสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐ ธรรมนูญตีความ
กระทั่ง 22 ก.พ. ตุลาการชี้ขาดว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ
ขั้นตอนทั้งหมดกินเวลากว่า 40 วัน
เป็น 40 วันที่ส่งผลให้กระบวน การแก้ปัญหา เยียวยา และวางระบบป้องกันน้ำท่วมในอนาคตล่าช้าออกไป
กระทบต่อแผนแก้น้ำท่วมระยะสั้นที่รัฐบาลต้องเร่งมือให้ทันฤดูน้ำหลาก
จึงต้องถามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าต้องรับผิดชอบอะไรด้วยหรือไม่
เพราะศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าทั้ง 2 พ.ร.ก.มีความจำเป็นเร่งด่วน และทำโดยสุจริต
คงไม่ถึงกับต้องลาออกจากผู้นำฝ่ายค้าน หรือนายกฯเงา
แค่ยอมขอโทษประชาชนก็เพียงพอแล้ว