เลือกขั้วถูก-ผิด ปชป.ต้องคิดหนัก – มี 2 ภารกิจสำคัญ ที่พรรคประชาธิปัตย์ ยุคนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวหน้า จะต้องเร่งดำเนินการ เรื่องแรกคือใกล้เข้ามาแล้วกับการตัดสินใจทิศทางการเมืองเรื่องโหวตนายกฯและตั้งรัฐบาล กับอีกเรื่องที่อันที่จริงเกี่ยวพันกับเรื่องแรก คือ การพลิกฟื้นพรรคให้กลับมาเป็นที่นิยมของประชาชนให้ได้
เป็นเรื่องใหญ่ที่สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก
ถ้าตัดสินใจจะเข้าร่วมรัฐบาลกับขั้วไหน หรือไม่เอาเลยสักขั้ว ขอเป็นฝ่ายค้านอิสระ
นั่นจะต้องคิดคำนวณผลที่ตามมาให้ดี
เพราะตัดสินใจแล้วประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหลาย จะมีศรัทธากลับคืนมาหรือไม่
ถ้ากำหนดทิศทางได้ถูกจากเรื่องนี้ จะมีผลให้เสียงนิยมชมชอบกระเตื้องขึ้นมาได้!
เชื่อว่าแกนนำพรรค ทั้งหัวหน้าใหม่ ทั้ง 2 ผู้อาวุโสที่ยืนข้างๆ ทั้งนายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติบรรทัดฐาน ไปจนถึงกรรมการบริหารชุดใหม่
คงต้องถกเถียงหาข้อสรุปที่รอบคอบที่สุด เพราะหมายถึงอนาคตข้างหน้าอย่างแน่นอน
ตอนที่ผลเลือกหัวหน้าพรรคเสร็จสิ้นลง โดยนายจุรินทร์สามารถเอาชนะนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้
มีเสียงจากคนในแวดวงผู้จัดการรัฐบาล รำพึงรำพันว่า ถ้าพีระพันธุ์ชนะ การตั้งรัฐบาลก็คงสำเร็จเสร็จสิ้นทันที!
ขั้วพลังประชารัฐ จะมีทั้งภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์เข้าร่วมแน่นอน
แต่พอเป็นนายจุรินทร์ ก็ต้องระทึกกันทั้ง 2 ขั้ว โดยขั้วพลังประชารัฐคงลุ้นอย่างหนักใจ ส่วนขั้วเพื่อไทยได้ลุ้นอย่างมีหวังขึ้น
เคยมีการวิเคราะห์ถึงเหตุล้มเหลวของประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งหนนี้ โดยโยนความผิดไปที่กลยุทธ์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เพราะคำประกาศไม่หนุนพล.อ.ประยุทธ์ ไม่เอาการสืบทอดอำนาจ
อ้างกันว่า นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ประชาชนไม่เอาด้วย จนได้ส.ส.แค่ 52 ที่
แต่ความจริง คนในประชาธิปัตย์ที่คลุกคลีกับ ศึกเลือกตั้งในสนามต่างๆรู้ดีว่า ไม่น่าจะเป็นเหตุผลหลัก!
ปัญหาใหญ่อยู่ที่โดนบางพรรคใช้ทุกอำนาจทุกกลไก ในสนามเลือกตั้ง เป็นเหตุผลสำคัญกว่า
เพราะถ้าส่วนใหญ่ในประชาธิปัตย์เห็นว่า การไม่เอาประยุทธ์ เป็นการตัดสินใจผิด
ก็ต้องแห่กันเลือกนายพีระพันธุ์ให้เป็นหัวหน้า เพราะน่าจะไปร่วมกับขั้วพลังประชารัฐค่อนข้างแน่
แต่เสียงส่วนใหญ่กลับเลือกนายจุรินทร์ ที่ออกทางสายกลาง ไม่ผลีผลามเข้าไปอยู่กับขั้วใดขั้วหนึ่ง
ถึงที่สุดแล้ว ต้องตัดสินใจโดยยึดอนาคตพรรคตัวเอง มากกว่าเพื่อสนองเกมของกลุ่มอำนาจที่ตัวเองก็แค่ส่วนประกอบ!