เปิดเบิ่ง

วิรัช โรจนปัญญา
เปิดเบิ่ง วันที่ 8 ธันวาคม 2555

สภาพสังคมไทยในปัจจุบันเกิดความรุนแรงให้เห็นในหน้าหนังสือพิมพ์แทบทุกวัน จนบางคนเกิดความชินชาต่อความรุนแรงและคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องของตนเอง ทั้งนี้ข้อมูลจากเอกสารของยูเอ็น เรื่อง “ปี พ.ศ.2554-2555 ความคืบหน้าของผู้หญิงในโลกในการแสวงหาความยุติธรรม” ระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับ 7 ที่มีการกระทำความรุนแรงทางเพศมากที่สุด โดยเจตคติทางสังคมไทยมองปัญหานี้ว่าเป็นเรื่องส่วนตัว พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคดีที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ผัวเมียตีกัน ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่เกิดความไม่มั่นใจ และรู้สึกไม่ปลอดภัยในการที่จะไปแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ ส่งผลให้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรีทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน และกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ เด็กและสตรีจำนวนมากต้องทนทุกข์ทรมานจากการถูกทำร้ายร่างกาย ทางจิตใจและทางเพศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การใช้ “ความรุนแรง” เป็นพฤติกรรมหรือการกระทำที่ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และคนส่วนใหญ่มักนึกถึงภาพความรุนแรงต่อเด็กและสตรีว่า คือ เหตุการณ์การทำร้ายร่างกาย หรือการข่มขืน แต่ความจริงแล้วปัญหาความรุนแรงไม่ได้มีเฉพาะการทำร้ายร่างกายเท่านั้น ยังพบว่ามีการใช้ความรุนแรงอีกหลายรูปแบบ ได้แก่ ความรุนแรงทางด้านร่างกาย เช่น การทุบตีทำร้ายร่างกาย ตบ เตะ ต่อย การใช้อาวุธ เป็นต้น ความรุนแรงทางด้านจิตใจ เช่น การใช้คำพูด กิริยา หรือการกระทำที่เป็นการดูถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม ด่าว่า ให้อับอาย การกลั่นแกล้ง ทรมานให้เจ็บช้ำน้ำใจ การบังคับ ข่มขู่ กักขัง ควบคุม ไม่ให้แสดงความคิดเห็น การหึงหวง การเลือกปฏิบัติ การเอารัดเอาเปรียบ การตักตวงผลประโยชน์ การถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับการเอาใจใส่เลี้ยงดู เป็นต้น ความรุนแรงทางเพศ เช่น การถูกละเมิดทางเพศ การพูดเรื่องลามกอนาจาร การแอบดู การจับต้องของสงวน การบังคับให้เปลื้องผ้า รวมไปถึงการกักขังหน่วงเหนี่ยวอิสรภาพ บังคับให้มีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

สาเหตุของการใช้ความรุนแรง มักเกิดมาจากลักษณะส่วนตัวของผู้กระทำความรุนแรงที่ได้รับการหล่อหลอมมาจากครอบครัว เช่น นิสัยที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก, เลียนแบบพ่อ แม่ที่ชอบใช้ความรุนแรง หรือได้แบบอย่างจากหนังสือ โทรทัศน์, ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนในเรื่องผิดชอบชั่วดี ครอบครัวขาดความอบอุ่น หรืออาจเจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่าง ทำให้ควบคุมตนเองไม่ได้ เช่น โรคจิต โรคประสาท ฯลฯ ซึ่ง “ปัญหาความรุนแรง” ส่วนใหญ่จะยึดโยงกับ “ปัญหาครอบครัว” เพราะครอบครัวเป็นสถาบันหลักของสังคม ขณะที่ปัญหาครอบครัวก็เกี่ยวพันกับ “ปัญหาทางจิต” ด้วย

ในสหรัฐอเมริกาให้สิทธิแก่ผู้ที่ถูกข่มเหงรังแก ได้มีสิทธิร้องเรียนเอาผิดแก่ผู้ประสงค์ร้ายไม่ว่าจะเป็นสามี พี่น้อง หรือคนภายนอก ทุกคนมีสิทธิติดคุกเท่าๆ กันหมด