หลังศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 ที่บัญญัติให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมายกร่างธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ล่อแหลมต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ควรรับฟังความเห็นของประชาชนผู้ลงประชามติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญก่อน
คำตัดสินดังกล่าว ทำให้รัฐบาลเพื่อไทยและพรรคร่วม ไม่กล้าเดินหน้าลงมติวาระสาม ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเลยค้างเติ่งอยู่ในสภา และต่อมารัฐบาลเสนอให้มีการลงประชามติ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขียนจดหมายเปิดผนึกเชิญชวนให้ "มาร่วมกันคว่ำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อนักโทษ ก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ นำพาประเทศเดินไปข้างหน้า"
ข้อความในจดหมายถูกตั้งคำถามว่า นายอภิสิทธิ์ต้องการอะไรแน่ ต่อต้านการลงประชามติ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย หรือไม่ต่อต้านแต่เชิญชวนลงประชามติ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ฝ่ายเสนอแก้ไข วิเคราะห์ว่า แท้จริงแล้วผู้นำฝ่ายค้านต้องการสร้างกระแสต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั่นเอง
และถูกโต้กลับอีกว่า ท่าทีดังกล่าวสวนทางกับจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ก่อนหน้านี้ ที่แสดงชัดเจนว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ถ้าไม่เช่นนั้น คงไม่แต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มี ศ.สมบัติ ธำรงธัญวงค์ เป็นประธาน และเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น
ปรากฏว่า ท่าทีของประชาธิปัตย์ แสดงโดยนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคแถลงว่า เป็นการแก้ไขเพื่อเพิ่มสิทธิและเอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมือง เช่น การเพิ่มระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของ ส.ว.เป็น 2 วาระ หรือการยกเลิกการยุบพรรคเพื่อปกป้องกรรมการบริหารพรรค การจำกัดสิทธิของประชาชนกรณีให้ยื่นฟ้องผ่านอัยการสูงสุดก่อนเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากอัยการไม่ขยับ ปากของประชาชนจะถูกปิดลงทันที