น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งสำหรับกรณีที่นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น ถูกหมายจับตามความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550
โดยระบุว่านายวีระทำโพลในเฟซบุ๊ก ด้วยการตั้งคำถาม 8 ข้อ ที่อ้างว่าเป็นการทำโพลเพื่อวัดว่าประชาชนเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและนายกฯหรือไม่
ก่อนจะสรุปผลโพลจากจำนวนผู้เข้ามาตอบในเฟซบุ๊กดังกล่าว ทำนองว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นรัฐบาล และนายกฯ
จากนั้นนำผลโพลไปโพสต์ในเพจเฟซบุ๊กของนายวีระอีกบัญชีหนึ่ง
เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่า เฟซบุ๊กทั้ง 2 บัญชีเป็นของนายวีระ โดยนายวีระถือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และเลขาธิการคปต.
จึงอาจทำให้ผู้เห็นเหตุการณ์และเห็นข้อความเหล่านี้หลงเชื่อ จนสร้างความสับสนและเกิดความเสียหายต่อรัฐบาลและนายกฯได้
ประกอบกับเป็นการจัดทำความเห็นกับคนเพียงกลุ่มเดียว ผลจึงอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง
สรุปได้ว่าเป็นความผิดจากการทำโพล!??
ทั้งที่เมื่อเข้าไปดูโพสต์ในเฟซบุ๊กดังกล่าว เป็นแค่การตั้งคำถามว่าเห็นกับข้อไหนมากที่สุด
จากนั้นก็เอาเนื้อเพลงคืนความสุขมาแยกเป็น 7 ข้อ ส่วนข้อ 8 ตั้งว่า “ผิดทุกข้อ”
เมื่อผลออกมาว่าคนส่วนใหญ่ตอบข้อ 8 ก็ถือเป็นความเห็นที่เข้ามาตอบในโพสต์นั้น
ไม่ใช่การทำโพลตามหลักวิชาการ แต่เป็นเพียงการแสดงความเห็นธรรมดาเท่านั้น
แต่ก็กลายเป็นความผิด!??
ทำให้ต้องสงสัยว่าหากผลการสอบถามความคิดเห็นเป็นไปในทิศทางที่สนับสนุนรัฐบาลและนายกฯ
จะถูกออกหมายจับหรือไม่
ยิ่งไปกว่านั้น กรณีที่นายวีระตั้งคำถาม ว่าทำไมกรณีนี้ไม่มีการออกหมายเรียกก่อน
ก็น่าสนใจว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับหลักของกฎหมายหรือไม่!??
อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นคดีความแล้วก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย หากคดีขึ้นสู่ศาล ก็ดีไปอีกแบบ
ที่จะได้นำข้อโต้แย้งกันทำโพลของแต่ละสำนักต่างๆ มาแจกแจง ให้รู้ว่าสำนักไหนเชื่อถือได้ไม่ได้
จะได้เป็นบรรทัดฐานการแสดงความเห็นในสังคม