แนวทางที่พรรคประชาธิปัตย์เตรียมใช้ต่อสู้
ภายหลังนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนาย สุเทพ เทือกสุบรรณ
ข้อหาร่วมกันก่อให้ ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล
จากเหตุการณ์สั่งสลายการชุมนุมนปช.เดือนเม.ย.-พ.ค.2553 กระทั่งมีคนตายร่วมร้อย เจ็บสองพัน
อย่างหนึ่งคือการอ้างว่าต้นทางสอบสวนคดีไม่ใช่อำนาจหน้าที่ดีเอสไอ แต่เป็นของป.ป.ช.
เนื่องจากนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพปฏิบัติหน้าที่นายกฯ และรองนายกฯ ซึ่งถือเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐ
และเตรียมหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นฟ้องร้องอัยการสูงสุด
ในเรื่องเดียวกันนี้ นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษและโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดแถลงไว้ชัดเจนว่า
คดีนี้เป็นการใช้หรือก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าหรือพยายามฆ่า จึงไม่ใช่ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ที่ป.ป.ช.จะเข้ามาไต่สวน
ด้านป.ป.ช.เองก็เข้าใจตรงกับดีเอสไอมาตั้งแต่แรกว่า คดี 99 ศพนี้ต้องแยกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก คดีอาญาข้อหาฆาตกรรม เป็นหน้าที่ดีเอสไอรวบรวมพยานหลักฐาน ตั้งเรื่องฟ้องร้องไปตามกระบวนการยุติธรรม
ส่วนที่สอง เป็นความผิดต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือไม่ เป็นเรื่องของป.ป.ช.รับไว้ตรวจสอบ
ความจริงคือป.ป.ช.รับเรื่องไว้ไต่สวนนานแล้ว มีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานคณะอนุกรรมการไต่สวน
นายวิชาได้ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการไต่สวนเป็นระยะๆ
เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา นายวิชาให้สัมภาษณ์ระบุ อนุกรรมการไต่สวนเตรียมแจ้งข้อกล่าวหา ผู้เกี่ยวข้องในศอฉ.
ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
ใน กรณีการตายของนายพัน คำกอง และด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือน้องอีซา ซึ่งศาลไต่สวนชี้ชัดว่าเป็นการตายโดยฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้ คำสั่งศอฉ.
ฉะนั้น การที่ฝ่ายถูกกล่าวหาพยายามหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาต่อสู้
จึงไม่น่าได้ผลตามที่คาดคิด