พรรคการเมือง 7 พรรค ที่ประกาศตัวเป็นแนวร่วมฝ่ายประชาธิปไตย นำโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งได้ส.ส.เข้าสภามาเป็นอันดับ 1 และ 3 นั้น มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ การโหวตนายกรัฐมนตรี โดยทำให้เสียงของส.ส.รวมตัวกันให้ได้มากที่สุด เพื่อหยุดอำนาจของส.ว.ในการโหวตนายกฯ
โดยประกาศเจตนารมณ์เอาไว้ตั้งแต่นัดรวมตัวกันลงสัตยาบันหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคมผ่านไปไม่นาน
มาวันนี้ เมื่อวาระโหวตนายกฯเริ่มใกล้เข้ามา กระแสรวมพลังส.ส.เพื่อปิดสวิตช์ส.ว. จึงเริ่มกลับมาอีกครั้ง!
7 พรรคเดิมยังเป็นแกนนำ และพยายามจะดึงอีก 2 พรรคการเมืองสำคัญ ประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทย เข้ามาร่วมด้วย
52 เสียงของประชาธิปัตย์ กับ 51 เสียงของภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 4 และ 5
ถือว่าเป็นตัวแปรที่มีผลต่อการตั้งรัฐบาลของขั้วพลังประชารัฐ
รวมทั้งมีผลต่อการรวมตัวกันเพื่อปิดสวิตช์ส.ว. ตามข้อเสนอของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยด้วย
ความพยายามในการสร้างพลังของสภาผู้แทนฯซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน
ไม่ยอมให้สภาจากการแต่งตั้ง เข้ามาร่วมกำหนดตัว นายกฯ กำลังเป็นกระแสที่มีโอกาสจะแรงมากขึ้นๆเรื่อยๆ
โดยผู้ที่มีบทบาทสำคัญในภารกิจนี้คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่
ด้วยความที่เป็นคนจุดประเด็นปิดสวิตช์ส.ว. รวมทั้งโดยการยอมปรับบทบาทของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีส.ส.อันดับ 1
โดยเพื่อไทยเปิดกว้างให้นายธนาธรเดินหน้าเจรจาได้เต็มที่ เพื่อตัดปัญหาความขัดแย้งที่ฝังรากลึกกับพรรคการเมืองอื่นๆ!
รวมทั้งเพื่อแสดงให้เห็นว่า
เพื่อไทยไม่มีเงื่อนไขใดๆในการเลือกนายกฯฝ่ายประชาธิปไตย
ถึงขั้นยอมด้วยว่า นายกฯที่มาจากการโหวตของส.ส.ส่วนใหญ่ เพื่อตัดอำนาจส.ว.ออกไปนั้น
จะมาจากรายชื่อในบัญชีพรรคไหนก็ไม่เกี่ยง!?
คงต้องคอยดูกันว่า บทบาทของนายธนาธรในภารกิจนี้ จะสำเร็จหรือไม่
โดยน่าสนใจว่า ในฐานะนักการเมืองรุ่นใหม่ ไม่เคยมีปมอดีตกับพรรคไหน แถมสร้างบทบาทขึ้นมาบนเวทีการเมือง ในฐานะนักประชาธิปไตยเต็มตัว มีแนวคิดที่แหลมคม ทรงพลัง เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง
ที่น่าจับตามองอีกอย่างก็คือกระแสสังคม ส่วนใหญ่
ถ้าประชาชนวงกว้างเห็นด้วยกับการปลุกพลังส.ส.หยุดอำนาจส.ว.ในการโหวตนายกฯ
เป็นกระแสใหญ่ขึ้นมาเมื่อไร พรรคการเมือง ทั้งหลายคงต้องคิดหนัก!!