ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ภารกิจอันยิ่งใหญ่ของพระผู้เป็นเนื้อนาบุญ

ท่านสาธุชนผู้หนักแน่นในธรรมทั้งหลาย พระสงฆ์ผู้เป็นเนื้อนาบุญ ผู้มีหน้าที่ชี้แจงแสดงพระธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า การที่พระสงฆ์ได้อบรมพร่ำสอนแจกแจงพระธรรมนั้น เป็นการเปิดตาใน เปิดดวงใจให้แสงแห่งพระธรรมเข้าถึงประชาชน หรือพุทธเวไนยชน เพื่อให้เกิดปัญญาความรู้แจ้งถึงหลักต่าง ๆ ด้วยสัมมาปฏิบัติตามแนวทางแห่งอัฏฐังคิกมรรค (เรียกเต็มว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค แปลว่า "ทางมีองค์ 8 ประการ อันประเสริฐ" (The noble Eightfold Path)

แต่ในหมวดหมู่ที่เป็นภาระกิจสำคัญเบื้องต้นที่เราควรรู้คือขันธ์ห้า (เป็นของหนัก) ขันธ์ 5 เป็นหลักธรรมอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา ซึ่งหลายคนอาจเคยรู้จักและได้ยินกันมาบ้าง และถึงแม้ว่าจะเป็นหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนา แต่กลับมีพุทธศาสนิกชนหลายคนเลยทีเดียวที่ไม่รู้จัก และไม่เข้าใจว่าแท้จริงแล้ว ขันธ์ 5 คืออะไร ประกอบด้วยอะไรบ้าง และมุ่งเน้นสั่งสอนเรื่องอะไร

ขันธ์ 5 (เบญจขันธ์) เป็นหลักธรรมในพุทธศาสนาที่สอดคล้องกับเรื่องของ "ทุกข์" ตามหลักอริยสัจ 4 โดยหมายถึง กองแห่งรูปธรรมและนามธรรมทั้ง 5 ที่ทำให้เกิดเป็นชีวิตตัวตนขึ้นมา หรืออาจพูดให้เข้าใจได้ง่ายว่า ส่วนประกอบ 5 อย่างที่รวมกันแล้วก่อให้เกิดเป็นคนและสัตว์ขึ้นมา


ส่วนประกอบของขันธ์ 5

ขันธ์ 5 ประกอบด้วย รูปธรรม และ นามธรรม ทั้ง 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งสามารถแยกออกเป็น 1 รูป และ 4 นาม ดังต่อไปนี้

1. รูปขันธ์ หมายถึง กองรูป ดิน น้ำ ไฟ ลม ส่วนที่เป็นร่างกาย พฤติกรรม คุณสมบัติต่าง ๆ ของร่างกาย และส่วนประกอบที่เป็นรูปธรรมทั้งหมด

2. เวทนาขันธ์ หมายถึง กองเวทนา ส่วนที่เป็นความรู้สึกทุกข์ สุข ดีใจ พอใจ

3. สัญญาขันธ์ หมายถึง กองสัญญา ส่วนที่เป็นการจำสิ่งที่ได้รับ

4. สังขารขันธ์ หมายถึง กองสังขาร ส่วนที่เป็นการคิดปรุงแต่ง โดยสามารถแยกแยะสิ่งที่รู้สึกหรือจดจำได้

5. วิญญาณขันธ์ หมายถึง กองวิญญาณ หรือ จิต เป็นการรู้แจ้งถึงสิ่งต่าง ๆ ผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ


ขันธ์ 5 โดยรูปขันธ์จะจัดเป็นรูปเพราะเกี่ยวกับส่วนที่มีตัวตน ส่วนเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์จะจัดเป็น 4 นามขันธ์ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม 4 ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นความคิดและความรู้สึก


ชีวิตประจำวันที่เนื่องด้วยขันธ์ 5

หลักคำสอนเรื่อง "ขันธ์ 5" มุ่งเน้นสอนในเรื่องสังขารขันธ์ โดยให้มองเห็นความเป็นจริงของสังขารว่านั้นเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา ไม่มีความเที่ยงแท้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ประกอบขึ้นเหล่านี้ "ภารา หะเว ปัญจักขันธา, ขันธ์ทั้งห้า เป็นของหนักเน้อ" ดังนั้นขันธ์ 5 จึงหมายถึง "นามธรรม และ รูปธรรม" สังขารส่วนที่เป็นรูปคือร่างกาย สังขารส่วนที่เป็นนามคือจิตใจ ส่วนที่ใจปรุงแต่งขึ้นเป็นความคิด และความรู้สึกที่ก่อให้เกิดทุกข์นั่นเอง......

ร่างกายของคนเราประกอบด้วยอวัยวะต่าง ๆ อย่างเป็นระเบียบ ศีรษะมีสมองเป็นกล่องควบคุมทุกส่วนของร่างกายก็ว่าได้ ส่วนหน้าอกมีหัวใจ (เป็นรูป) เป็นตัวสั่งการ ซึ่งแสดงถึงภาวะของจิต (เป็นนาม) อวัยวะทุกส่วนในร่างกาย มีความเป็นระเบียบโดยโครงสร้างทางกายภาวะ ทำให้เกิดความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบไม่ว่าจะเป็นทางกาย หรือ ทางจิต บางทีเราได้ยินกันว่า

......"อุจจาระขึ้นสมอง" ซึ่งทางกายภาพนั้นเป็นไปได้อยากนะ ถ้าเป็นไปได้ก็น่าจะเป็นทางจิต จิตที่แสดงภาวะเสวย "อนิฏฐารมณ์" อารมณ์ที่ไม่ชอบทั้งหลายทีปวงเป็นอารมณ์จนปั่นป่วนกังวลไปหมด... (อาตมาเขียนไปก็ขำไปนะ เพราะสัมผัสที่เกิดขึ้นมันก็ยากอยู่นะที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษร)


อันนี้สิควรเฝ้าระวังและควรทำความเข้าใจ

.....ความทุกข์เกิดที่จิต เพราะเห็นผิด เมื่อผัสสะ

ความทุกข์จะไม่โผล่ ถ้าไม่โง่ เมื่อผัสสะ

.....ความทุกข์เกิดไม่ได้ ถ้าเข้าใจ เรื่องผัสสะ.....

(ผัสสะ ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง สัมผัส การกระทบ การถูกต้องที่ให้เกิดความรู้สึก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)


การพิจารณาสังขารขันธ์เชิงวัตถุ

อย่างการสร้างอุโบสถชั้นเดียวก็มี ที่มีสองชั้นก็มี ซึ่งที่มี 2 ชั้นในปัจจุบันนิยมสร้างกัน ก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันพระพุทธ ศาสนาก้าวมาไกลจากจุดเริ่มต้นนั้นแล้ว โบราณกำหนดเขตบนพื้นดิน ภูเขา ป่าไม้ เป็นเขตเป็นพัทธสีมา ปัจจุบันสร้างเป็นการโชว์สถาปัตย์ ความคิดแบบคนยุคก่อนวินิฉัยว่า ไม่อยากให้ปริสุทธิอุโบสถนั้นมีสิ่งอื่นร่วมอยู่ด้วย เช่น ห้องพัก ห้องน้ำห้องสุขา นี้ถือเป็นเรื่องใหญ่กับ สถาปัตย์และสิ่งปลูกสร้างในครั้งก่อน ทั้งนี้เพื่อให้ความบริสุทธิ์ในสถานที่ที่เนื่องด้วยวินัยกรรม เนื่องด้วยสังฆกรรม กริ่งเกรงในเรื่องที่จะไม่เข้ากับเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้า เป็นต้นฯ


ความเชื่อทางศาสนากับสถาปัตยกรรม

- ปัจจุบันการสร้างอุโบสถ เน้นความมุ่งหมายด้านสถาปัตยกรรม การบ่งบอกถึงความสำคัญทุกชิ้นงานของสถาปนิกที่สัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนา

- ส่วนที่เป็นศิลปะนั้น เป็นการบ่งบอกถึงความอ่อนช้อยละเมียดละไมของความงามต่าง ๆ

- ส่วนที่เป็นวัฒนธรรม เป็นการบ่งบอกถึงความเจริญหรือพัฒนาการของธรรมกับประชาชนทางสังคมในแต่ละยุค

- ส่วนการลงทุน เมื่อเราพิจารณาประโยชน์ใช้สอยแล้วนั้น อุโบสถแบบเดิม ๆ อาจมองว่าไม่คุ้มกับการลงทุน สาเหตุว่ามีการใช้สอยประโยชน์น้อยมาก

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า พระอุโบสถในปัจจุบันจะนิยมสร้างเป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างใช้ประโยชน์เป็น ศาลาที่แสดงธรรม เป็นที่ปฏิบัติธรรม เป็นที่จัดการเรียนการประชุมอบรมต่าง ๆ ได้มากมาย เท่าที่สังเกต อุโบสถของวัดใหญ่ ๆ ในสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างนั้น มีห้องน้ำห้องสุขา มีที่พัก มีพิพิธภัณฑ์อยู่ในอาคารหลังเดียว ซึ่งไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ไทยโบสถ์ฝรั่ง ส่วนมากก็เป็นเช่นนี้ เป็นต้นฯ


ความสิ้นสงสัย

เมื่อวันอังคารที่ 19 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา อาตมาให้โยมพาไปถามความเป็นไปได้ ว่าการสร้างวัดทุ่งเศรษฐี สาขาแรกและวัดแห่งแรกในเมือง Lancaster เพื่อให้สิ้นข้อสงสัย การเข้าถึงหน่วยงานของรัฐฯ การพบเจ้าหน้าที่แผนกต่าง ๆ การศึกษาข้อระเบียบ การสร้างวัดแห่งแรกในเมือง Lancaster เข้าถึงข้อสงสัยต่างๆ จนสิ้นสงสัย ต้องบอกเลยว่า ละเอียดอ่อนทุกขั้นตอน กับนโยบายขยายวัดที่ถูกต้องบนข้อบังคับของกฎหมายว่าด้วยองค์กร Non Profit Organization ก็ดีประสบการณ์ตรงคือมหาวิทยาลัยชีวิตบนความตั้งจิตมั่น บอกได้เลยว่าทุกอย่างมีขั้นตอนของมัน เพียงเราไม่หยุดก้าวเดินไปข้างหน้า สักวันหนึ่งเราต้องถึงที่หมายนั้นอย่างแน่นอน

.....เพราะหนึ่งคำในนั้นที่ประทับใจ เจ้าหน้าที่กล่าวให้กำลังใจเราว่า "ตอนนี้คุณจะขออะไรก็ได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งพระจันทร์ "......


ตอนนี้ญาติโยมท่านใด จะเป็นเจ้าภาพสร้างรั้วถวายวัด ช่องละ $69.00 USD (เขียนเช็คสั่งจ่าย Buddhist Meditation Society of Norwalk) มีจำนวนเพียง 203 ช่องเท่านั้น วันสาร์ที่ 28 ตุลาคม ศกนี้ กำหนดการลงเสาร์เอกทำรั้วกำแพงของวัดทุ่งเศรษฐี สาขา Lancaster จะเริ่มแล้ว อาตมาขอตั้งสัจจา อธิษฐาน "สัจจะ สัจจัง อธิษฐามิ" ขอให้ผู้ร่วมคิดร่วมสร้างศาสนสถานครั้งนี้ จงประสบความรุ่งเรื่องและปลอดภัย สมปรารถนาทุกประการ ทุกท่าน เทอญ รูปขอจำเริญพร