ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



โรคปวดหัว (อาจ) หายในพริบตา
เพียงแค่ท่าน (กล้า) ถอดรองเท้าทองคำ

"ที่นี่ขัดข้องหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ"
"ที่นี่ขัดข้องหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ"

หากท่านได้อ่านประโยควลีข้างต้นนี้ ท่านทั้งหลายจะนึกถึงใคร นึกถึงครอบครัว - นึกถึง เพื่อน ๆ - นึกถึงการเมืองของประเทศต่าง ๆ แต่เปล่าเลย วลีนี้เป็นคำกล่าวของยสะกุลบุตร ท่านปวดเศียรเวียนเกล้า รำคาญเบื่อหน่าย อย่างสุดที่จะทนไหว กับบรรดาสตรีที่เป็นนางระบำที่ให้โลกียสุข ธรรมะสมสมัย จะพาท่านถอดรองเท้าก้าวไปในเส้นทางที่ใช่นั้น ซึ่งอาจอยู่บนเส้นทางที่พวกเราก้าวเดินอยู่ทุก ๆ วันก็ได้ เราลองไปศึกษาชีวิตตัวอย่างกันเลยว่า เพียงแค่ท่านถอดรองเท้าทองคำ ท่านหายจากโรคปวดหัวจริงหรือ เจริญพร


ชีวิตตัวอย่าง / ประวัติยสะเศรษฐี

พระยสะมีนามเดิมว่า "ยสะ" เกิดในวรรณไวศยะ ได้มาเกิดเป็นบุตรของเศรษฐีผู้มีสมบัติมาก ในกรุง พาราณสี แคว้นกาสี มารดาของท่านยสะเป็นธิดาเศรษฐี ชื่อนางสุชาดา ผู้ถวายข้าวปายาส ผสมน้ำนมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า บิดามารดาตั้งชื่อว่า ยสะ เป็นผู้ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ยสะนั้นมีปราสาท 3 หลัง คือ หลังหนึ่งสำหรับอยู่ในฤดูหนาว หลังหนึ่งสำหรับอยู่ในฤดูร้อน หลังหนึ่งสำหรับในฤดูฝน เมื่อเขาอยู่ในปราสาทฤดูฝน ตลอดทั้ง 4 เดือนในฤดูฝน ก็จะมีนักดนตรีสตรีล้วนบำเรออยู่ มิได้ลงมายังพื้นปราสาทชั้นล่างเลย


สถานะเดิม ชีวิตฆราวาส

ยสะ มีชีวิตฆราวาสที่สมบูรณ์พูนสุขทุกประการ ท่านอยู่ในปราสาท 3 ฤดูมาแต่อายุย่างเข้าวัยหนุ่มเช่นเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ โดยทีเมื่อถึงฤดูหนาวก็อยูในปราสาทประจำฤดูหนาว เมื่อถึงฤดูร้อนก็อยู่ในปราสาทประจำฤดูร้อน เมื่อถึงฤดูฝนก็อยู่ในปราสาทประจำฤดูฝน ยสะ แต่งงานแล้วกับหญิงสาวที่มีตระกูลเสมอกัน แต่ไม่ปรากฏชัดว่า ได้มีบุตรธิดาด้วยกันหรือไม่ สำหรับตัวท่านเองนั้น สันนิษฐานได้ว่าคงจะเป็นบุตรชายคนเดียวของตระกูล ทั้งนี้สังเกตได้จากการที่ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีนั้นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีปราสาทใน 3 ฤดูนั้น เป็นเครื่องบ่งบอกได้อย่างดีว่า บิดาของท่านอยู่ในฐานะระดับมหาเศรษฐี ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องบ่งบอกถึงตัวท่านเองว่ามีความสำคัญต่อตระกูล และเป็นที่โปรดปรานของบิดามารดาเพียงใด นอกจากนั้นท่าน ยังมีเพื่อนวัยเดียวกันอยู่มากมาย


การออกบวชและบรรลุธรรม

ยสะ ได้บวชในพระพุทธศาสนาปีเดียวกันกับพระปัญจวัคคีย์ โดยออกบวชหลังพระปัญจวัคคีย์ไม่นาน ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน นั้นเอง พระไตรปิฏกกล่าวถึงวันออกบวชของท่านไว้ว่า "เมื่อถึงฤดูฝนมาถึง" ยสะได้มาอยู่ปราสาทประจำฤดูนั้น พร้อมด้วยนางระบำจำนวนมาก ท่านมีความสุขอยู่ท่ามกลางเสียงดนตรีขับกล่อม ชีวิตเป็นดังนี้เรื่อยมา จนมาอยู่ค่ำวันหนึ่ง ขณะที่นางระบำกำลังร่ายรำและบรรเลงดนตรีอยู่นั้น ท่านเคลิ้มหลับไปก่อนแล้วมาตื่นขึ้นตอนใกล้รุ่ง ขณะนั้นบรรดานางระบำกำลังนอนหลับไหลไม่ได้สติ แสงสว่างจากประทีปที่ตามไว้ตลอดคืนทำให้ท่านมองเห็นภาพนางระบำนอนหลับได้ชัดเจน บางนางมีพิณตกอยู่ที่รักแร้ บางนางมีตะโพนวางอยู่ที่คอ บางนางมีเปิงมางตกอยู่ที่อก (เปิงมาง ชื่อกลองชนิดหนึ่ง มีหนังขึง 2 หน้า ตรงกลางป่องเล็กน้อย ยาวประมาณ 54 เซนติเมตร ใช้บรรเลงร่วมกับตะโพนในวงปี่พาทย์ก็ได้ ใช้ตีนำกลองชนะในกระบวนเสด็จพยุหยาตรา หรือตีประโคมประจำพระบรมศพเป็นต้น คนตีเปิงมางนำกลองชนะ เรียกว่า จ่ากลอง คู่กับคนเป่าปี่ซึ่งเรียกว่า จ่าปี่) บางนางสยายผม บางนางนอนน้ำลายไหล บางนางนอนละเมอ ท่านเห็นภาพเหล่านี้แล้วมีความรู้สึกเหมือนเห็นซากศพอยู่ในป่าช้า จึงเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายขึ้นมาทันที และได้อุทานขึ้นว่า :-

"ที่นี่วุ่ยวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ" ท่านเปล่งอุทานกับตัวเองพลางสวมรองเท้าเดินลงจากปราสาท ตรงไปยังประตูใหญ่แล้วเลยออกไปทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน

เวลานั้น พระพุทธเจ้าเสด็จจงกรมอยู่ ณ ที่กลางแจ้ง พระทอดพระเนตรเห็นยสะกำลังเดินมาแต่ไกล ทรงทราบดีว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น จึงเสด็จลงจากที่จงกรมมาประทับนั่งบนอาสนะ ยสะเดินเข้ามาใกล้พระพุทธองค์ทุกขณะพลางเปล่งอุทาน "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ"

"ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง" เชิญเถิด ยสะ เชิญมาทางนี้ เราจักแสดงธรรมให้เธอฟัง "พระพุทธเจ้าตรัสตอบ ยสะเกิดสดุดใจ ท่านหยุดชะงักรีบถอดรองเท้า แล้วเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทันที

เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว พระพุทธเจ้าทรงยกอนุปุพพิกถาขึ้นแสดง ให้ท่านฟัง อนุปุพพิกถาคือการแสดงธรรมไปตามลำดับ ธรรมที่แสดงให้ยสะฟังไปตามลำดับนั้น คือ ทาน ศีล สวรรค์ โทษของกาม และอานิสงส์ในการออกจากกาม โดยพระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่าการให้ทานและการรักษาศีลเป็นความดีที่ฆราวาสทำได้ ซึ่งเมื่อทำแล้วก็ให้ผลเป็นการเกิดในสวรรค์หลังจากตาย และสวรรค์นั้นเป็นแดนที่พรั่งพร้อมด้วยเบญจกามคุณที่ดีเลิศนั้นก็ยังเป็นของต่ำช้าให้โทษ สู้การออกบวชไม่ได้

ยสะ ฟังธรรมพลางพิจารณาตามไปพลาง จิตที่วุ่นวายเริ่มสงบปราศจากนิวรณ์ผ่องใสเบิกบานเหมาะสมที่จะฟังธรรมขั้นสูงต่อไป จึงทรงแสดงอริยสัจ 4 ให้ฟัง หลังจากฟังพระธรรมเทศนาจบลง ท่านได้บรรลุพระโสดาปัตติผลทันที โดยเกิดความรู้แจ้งว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา

ฝ่ายทางบ้านของยสะ ครั้นรุ่งเช้า เมื่อไม่เห็นยสะเศรษฐี ได้ส่งคนออกติดตามไปที่ต่างๆ ส่วนเศรษฐีเองก็ได้ออกติดตามด้วย โดยเดินมาทางป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้พบรองเท้าของบุตรชายวางอยู่ก็จำได้ (เพราะเป็นรองเท้าทองคำ) จึงตามเข้าไปยังที่ที่เขาเชื่อว่าบุตรชายจะอยู่ที่นั่น

พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นเศรษฐีเดินมาทางพระองค์ จึงทรงรอต้อนรับอยู่ ครั้นเขาเข้ามาใกล้ พระจึงทรงบันดาลด้วยฤทธิ์ให้บิดากับบุตรชายไม่เห็นกัน และเมื่อเศรษฐีทูลถามว่าเห็นบุตรชายของตนบ้างไหม พระองค์ตรัสตอบว่า เชิญนั่งลงเถิดคหบดี บางทีท่านนั่งอยู่ที่นี่จะได้เห็นบุตรชายของท่านก็ได้ เศรษฐีรู้สึกโล่งใจเมื่อได้คำปลอบโยนจากพระพุทธเจ้า จึงถวายบังคม และนั่งลงด้วยอาการสงบ พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนุปุพพิกถาให้ฟัง จากนั้นทรงแสดงอริยสัจ 4 ต่อ และเมื่อจบพระธรรมเทศนา เศรษฐีก็ได้ดวงตาเห็นธรรม สำเร็จเป็นพระโสดาบันเช่นเดียวกับยสะบุตรชาย ฝ่ายยสะขณะที่พระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรมให้บิดาฟังอยู่นั้น ท่านเองก็ได้พิจารณาตามกระแสพระธรรมเทศนาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อจบพระธรรมเทศนา จิตของท่านก็คลายความถือมั่น หลุดพ้นไปจากอาสวะทั้งหลาย ท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ณ ที่นั้นเอง

ญาติโยมทั้งหลาย คำว่า "อนุปุพพิกถา" แปลว่า ถ้อยคำที่กล่าวโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น เป็นลำดับ ๆ ขึ้นไป มี 5 เรื่องราว ได้แก่

1. ทานกถา ถ้อยคำที่พรรณานาทาน

2. สีลกถา ถ้อยคำที่พรรณนาศีล

3. สัคคกถา ถ้อยคำที่พรรณนาสวรรค์

4. กามาทีนวกถา ถ้อยคำที่พรรณนาอาทีนพคือโทษของกาม

5. เนมขัมมานิสังสกถา ถ้อยคำที่พรรณนาอานิสงส์ของเนกขัมมะ คือ การออกจากกาม.

ลำดับขั้นตอนที่ได้กล่าวในอนุปุพพิกถา ซึ่งท่านทั้งหลายได้กระทำอยู่เป็นนิจนั้น ล้วนเป็นแนวทาง พาไปถึงฝั่ง (นิพพาน) ได้ ประเด็นที่ต้องเครียคือหัวข้อเรื่อง:- "โรคปวดหัว (อาจ) หายในพริบตา เพียงแค่ท่าน (กล้า) ถอดรองเท้าทองคำ" อาตมาประสงค์ตั้งใจให้ทราบประเด็น เห็นความเคารพ ความศรัทธา ความนอบน้อม ต่อเบื้องพระพักตร์พระพุทธเจ้า และความละตัวตนไม่ยึดมั่นถือมั่น ความปล่อยว่างให้ว่างเบา สิ่งเหล่านี้ คือความปลดเปลื้องจากพันธนาการแห่งทุกข์ ทำชีวิตให้สงบเย็นเบาสบาย (ไม่เชื่อก็ลองนะ) ขออานิสงส์ทั้งมวลจงรวมมาเป็นตบะ เดชะ พลวะ ปัจจัย ให้ท่านทั้งหลาย รุ่งเรืองในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก้าวสู่อริยะมรรค อริยะผลในอนาคตเบื้องหน้าอันใกล้นี้ เทอญ ขอจำเริญพร