ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



การเงียบเสียงเธอลงได้ นิพพานคงอยู่ไม่ไกล

ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ท่านทั้งหลาย วันนี้หลวงพ่อขอลองอรรถาธิบายหนทางไปนิพพาน เพื่อเป็นแนวทางแห่งการศึกษาธรรมของพระสัมมาฯ ซึ่งพระนิพพานนั้นถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เรียกทางศาสนาว่า ปรมัตถะประโชยน์ ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธก็ต้องทำความเข้าใจกันไว้บ้าง ส่วนท่านใดจะเข้าถึงสภาวะนิพพานธรรมนั้นอีกประการหนึ่ง เหตุที่อยากยกเรื่องพระนิพพานมาศึกษานั้น

เพราะมีโยมผู้หญิงมีอายุพอสมควรท่านหนึ่ง มีความรู้มาก มาจากตระกูลสูงศักดิ์ มีบทบาททางสังคมลอสแองเจอลิสนี่แหล่ะ ในโอกาสที่ได้ร่วมศึกษาปฏิบัติธรรมด้วยกัน โยมท่านนั้นเจตนาพูดคุยสนทนานั้นดีมาก โยมกล่าวขึ้นมาว่า โยมปฏิบัติธรรมมาหลายปีแล้วค่ะท่าน โยมมีความสุขสงบดีมาก โยมชอบปฏิบัติธรรม โยมจะทำพระนิพพานให้แจ้ง อาตมาฟังแล้วก็ชื่นใจอยู่นะ

แต่ที่ไม่ธรรมดานั้น คือ โยมได้โอกาสสอนพระอาจารย์ต่อไปว่า "ถ้าพระทำอาหารฉันเองไปนิพพานไม่ได้นะค่ะ และพระไปซื้อกับข้าวฉันเองไม่ได้ และขับรถเองก็ไม่ได้ อย่างนี้ยังไปนิพพานไม่ได้ นอนเตียงก็ไม่ได้ โทรศัพก็ใช้ไม่ได้ ทีวีวิทยุต่าง ๆ ก็ไม่ได้ เวลาเดินท่านก็ต้องเดินช้า ๆ ให้มีสติกำหนดอยู่ตลอดเวลา ไปคิดเรื่องอื่นก็ไม่ได้ ไปแบกไม้แบกเสาอยู่ก็ไม่ได้ ท่านต้องทำพระนิพพานให้แจ้งใช่ไหมค่ะ เออ..เนี๊ยะ โยมพูดถูกไหมค่ะ"

(มึนหัวเลย) ก็จริงของโยมนะ (บางส่วน) อาตมานี้อยากจี๊ดนะแต่มีเชิงอยู่ จิตวิญญาณยังเป็นพระอยู่ (แต่ถ้าวันนั้นผีเข้าสิงนะ (ฮึ) น่าจะเละไปสักข้างหนึ่ง) นึกในใจอยู่ว่าอัตตโนมัติเกินไปไหมโยม? ก็เข้าใจว่าโยมสนใจปฏิบัติธรรมนั่นแหละ ปัญหาคือโยมกับพระ มีความเข้าใจเรื่องพระนิพพานไม่ตรงกัน ถามว่ามีวิธีแก้ (สถานะการณ์) อย่างไร ? วิธีแก้มีดังนี้ :-


(1) การทำจิตให้สงบ

จิตสงบ คือ การวางใจให้พอดี ตั้งใจเกินไปมากมันก็เลยไป ปล่อยเกินไปมันก็ไม่ถึงเพราะขาดความพอดี ธรรมดาจิตเป็นของอยู่ไม่นิ่ง เป็นของมีกิริยาไหวตัวอยู่เรื่อย ฉะนั้นจิตใจของเราจึงไม่มีกำลัง

การทำจิตใจของเราให้มีกำลัง กับการทำกายของเราให้มีกำลังมันต่างกัน การทำกายให้มีกำลังคือ การออกกำลังกายบริหาร มีการกระโดด การวิ่ง นี่คือการทำกายให้มีกำลัง การทำจิตให้มีกำลัง ก็คือทำจิตให้สงบ ไม่ใช่ทำจิตให้คิดนั่นคิดนี่ไปต่าง ๆ ให้มันอยู่ในของเขตของมัน เพราะว่าจิตของเรานั้น ไม่เคยได้สงบ ไม่เคยมีกำลัง มันจึงไม่มีกำลังทางด้านสมาธิภายใน อาตมาจึงว่า "การเงียบเสียงเธอลงได้ นิพพานคงอยู่ไม่ไกล"


(2) การทำสมาธิ

สมาธิ ก็ตั้งใจเจริญสติกำหนดอยู่กับลมหายใจเราเอง ถ้าหากว่าเราหายใจสั้นเกินไป หรือยาวเกินไป ก็ไม่พอดี ไม่ได้สัดได้ส่วนกัน ไม่เกิดความสงบ เหมือนกันกับการทำงานของเครื่องจักร จักรกล ต้องประสานรับการเคลื่อนไหวเมื่อเครื่องเดิน น้ำมันต้องจ่ายเชื้อเพลิงให้เกิดพลังงาน เฟืองจักรทุกตัวต้องพร้อมไม่มีขัดจังหวะกัน การทำสมาธิร่างกาย จิตใจ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

โยมท่านนี้เหมือนเป็นเทวทูตธรรมเลย มาให้ได้เห็นและได้ฟังครั้งเดียวก็หายไป เออ..นะ !..ถ้าเรามามัวแต่กังวลอยู่กับเสียงของโยม ในความเห็นเรื่องนิพพานของโยม คงไม่มีเส้นทางที่จะได้แน่ ๆ การทำสมาธิ คือ การสร้างบารมีธรรม หมั่นสั่งสมอบรมจิต และจิตไม่สะดุ้งต่อเสียงของนางก็น่าจะดีขี้น อย่าเด้อ ๆ พระลูกทุ่ง ๆ นะ คำไหนคำนั้นนะ ตอนนี้เสียงนั้นเงียบด้วยสมาธิที่ระงับยับยั้งไว้แล้ว "เงียบเสียงเธอลงแล้ว นิพพานคงเกิดขึ้นในใจเรานี่แหละ"


(3) การกำหนดลมหายใจ

หายใจเฉย ๆ ทุกวัน โบราณว่า "โตเพราะกินข้าว เฒ่าเพราะเกิดนาน" การหายใจต้องตั้งสติกำหนดรู้ไว้ จะพอดีขนาดไหน จะยาว จะสั้น จะค่อย จะแรง จะดีใจพอใจ จะทุกข์กังวล ก็ไม่ต้องไปยึดโยงมันไว้ แต่ให้มีสติกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก อย่างที่พาสมาทานว่า

"ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิตนี้ แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อปฏิบัติไว้ซึ่งพระธรรมกรรมฐาน ขอขณิกะสมาธิ อุปจาระสมาธิ อัปปัณณาสมาธิ พร้อมทั้งวิปัสสนาญาณ จงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้า เพื่อกระทำความทุกข์ให้สิ้นไป ข้าพเจ้าจะตั้งสติกำหนดไว้ที่ลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้ารู้ ลมหายใจออกรู้ สามหนแลเจ็ดหน ร้อยหนแลพันหน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เทอญ"

แม้บางท่านจะบอกว่าเหมือนเป็นอุดมคติ เพราะจริง ๆ บุคคลทั่วไปนับไม่ได้ ก็ให้เป็นเรื่องอารมณ์กรรมฐานไป นั่นชื่อว่าการเจริญสติ หาความพอดี (มัชฌิมาปฏิปทา) ลมหายใจของเราก็ให้เป็นเรื่องธรรมดา เราไม่ได้ขัดไม่ได้ข้องหน่วงเหนี่ยวอะไรแล้ว ปล่อยให้ลมหายใจเป็นเรื่องของมัน


(4) จิตรู้ทันลมหายใจที่ลงตัว

ที่นี้ถ้าหากว่าจิตสบายแล้ว จิตพอดีแล้ว ก็ยกลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ หายใจเข้าต้นลมอยู่ ปลายจมูก กลางลมอยู่หทัย คือหัวใจ ปลายลมอยู่สะดือ อันนี้เป็นแหล่งการเดินลมเมื่อหายใจออก ต้นลมจะอยู่สะดือ กลางลมจะอยู่หทัย ปลายลมจะอยู่จมูก นี่มันสลับกันอย่างนี้ กำหนดรู้เมื่อลมผ่านจมูก ผ่านหทัย ผ่านสะดือ พอสูดแล้วก็จะเวียนกลับมาอีกเป็นสามจุดนี้ ให้ความรู้ของเราอยู่ในความเวียนเข้าออกทั้งสามจุดนี้ พยายามติดตามลมหายใจเช่นนี้เรื่อยไป

จิตรู้ทัน (สัมปชัญญะ) ลมหายใจที่ลงตัว เพื่อรักษาความรู้นั้นและทำสติสัมปชัญญะของเราให้กล้าขึ้นเมื่อหาดว่าเรากำหนดจิตของเราให้รู้จัดต้นลม กลางลม ปลายลมดีแล้วพอสมควร เราก็วาง เราจะหายใจเข้าออกเฉย ๆ เอาความรู้สึกของเราไว้ปลายจมูก หรือริมฝีปากบนที่ลมผ่านออกผ่านเข้า เอาแต่ความรู้สึกเท่านั้นไว้ที่นั่น ไม่ต้องตามลมออกไป ไม่ต้องตามลมเข้ามา เอาความรู้สึกหรือผู้รู้นั่นแหละไว้เฉพาะหน้าเราที่ปลายจมูก ให้รู้จักลมผ่านออก ผ่านเข้า ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย


(5) ทุกอิริยาบถเป็นนิพพาน

การเจริญภาวนานั่นแหละเป็นนิพพนาน ภาวนาคือมีสติตื่นรู้ มีสัมปชัญญะความทั่วพร้อม ทุกอิริยาบถ มีสติกำหนดอยู่ ตามรู้ ตามเห็น เพียงเท่านั้นแหละ ให้มีความรู้สึกติดต่อกัน ลมออกก็ให้รู้ ลมเข้าก็ให้รู้ ให้รู้อยู่แต่ที่นั่นแหละ รู้แล้วมันจะเป็นอะไรก็ไม่ต้องคิด เอาเพียงเท่านั้นเสียก่อน ในเวลานี้หน้าที่การงานของเรามีแค่นั้น ไม่ได้มีมาก กำหนดลมเข้าออกอยู่อย่างนั้นแหละ ต่อไปจิตก็สงบ ลมก็จะละเอียดเข้าไป น้อยเข้าไป กายก็จะเบาเข้าไป จิตก็จะสงบไป ความเบากายเบาใจนั้น ก็จะเกิดขึ้นมา จะเป็นกายควรแก่การงาน และจะเป็นจิตควรแก่การงานต่อไป นี่คือการทำสมาธิ ไม่ต้องทำอะไรมาก ให้กำหนดเท่านั้น ต่อไปนี้ให้ตั้งใจทำ กำหนดไป

จิตเราละเอียดเข้าไป "ก็เป็นการเงียบเสียงเธอลงได้ นิพพานคงอยู่ไม่ไกล" การทำสมาธินั้นจะไปไหนก็ช่างมัน เป็นธรรมชาติของมัน ให้เรารู้ทันเอาไว้ มันก็มีทั้งอารมณ์ มีทั้งความสงบคลุกเคล้ากันไป เช่น มันมีวิตก มีวิจาร มีปีติ มีสุข มีเอกัคคตา มีอุเบกขา แต่ข้อสำคัญนั้นต้องให้ผ่านองค์ฌาณเหล่านี้ไปให้ได้ทั้งหมด ให้พิจารณาให้กว้างออกไปอีก ให้เห็นว่ามีทั้งสมาธิ และมีทั้งความรู้รวมอยู่ในนั้น


ท้ายสุดฉบับนี้ จบลงง่าย ๆ ด้วยคำว่า :-

..."นั่นอะไร นั่นอะไร ก็ทำเถิด... ...ทำให้เกิด งามธรรม ล้ำงามโลก...

...และทำแล้ว หัวใจ ไม่เศร้าโศก... ...เพราะงามโลก งามธรรม คืองามใจฯ...

ภาษิตว่า : อยากเป็นคนงาม อย่าวู่วามโกรธง่าย" รูปขอจำเริญ