ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ศรัทธา ในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่ ศรัทธา

ขอเจริญพรท่าน บ.ก. น.ส.พ. ไทยแอลเอ พร้อมทั้งทีมงานทุกท่าน ขออนุโมทนาขอบคุณขอบใจทุกท่านที่สร้างโอกาสให้พื้นที่สนับสนุนงานวัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด แคลิฟอร์เนีย ด้านเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านสื่อสารมวลชน โบราณบัณฑิตท่านกล่าวว่าการให้การสนับสนุนส่งเสริมงานพระเจ้าพระสงฆ์ ให้เผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ถือว่าได้เป็นผู้ กระทำบำเพ็ญ ประโยชน์ในทางพระพุทธศาสนาอย่างกว้างขวาง นับว่าท่านได้เป็นผู้มีอริยทรัพย์ เป็นเอนกอนันต์ เพราะหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอ เป็นหนังสือพิมพ์ใหญ่เข้าถึงประชาชน และกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ท่าน บ.ก.ได้อนุญาตอนุมัติเพิ่มบทความธรรมะ ให้สนับสนุนส่งเสริมงานศาสนา อาตามาในนามผู้ประกาศธรรม รู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่จะได้รับใช้พระพุทธศาสนา เป็นเนื้อนาบุญ ให้กับศรัทธทั่วทุกทิศานุทิศ เป็นกัลยาณมิตรให้กับพี่น้องประชาชนคนไทย และทุกๆ คน

ธรรมะสมสมัย ให้ธรรมเป็นเหตุนำจิตวิญญาณมุ่งมั่นสร้างสรรค์พัฒนาสังคมให้สมสมัย ย้ำถึงความหมายของศรัทธาว่า เชื่อในสิ่งที่ตนเองทำ ทำใน สิ่งที่ตนเองเชื่อ บนฐานอันชอบโดยกฎหมายและโดยธรรม เช่นหากเรามุ่งมั่นที่จะกระทำประโยชน์ดีงามใดๆ สิ่งหนึ่งที่เราต้องกระทำไว้ในใจเสมอ คือ ความหนักแน่นในธรรม อุปมาเปรียบเช่น เราเอาหินมาพกไว้ในกระเป๋า ความหนักหน่วงของหินก้อนนั้นจะคอยให้สติเรา ก้าวสู่ความสำเร็จยิ่งใหญ่เสมอ หากถามว่าหิน 1 กิโลกรัม กับ นุ่น 1 กิโลกรัม สิ่งใดหนักว่ากัน คำตอบคือเท่ากัน แต่นุ่นมีสิทธิ์ที่จะปลิวกระจาย ไปกับแรงลม อุปมัยเช่น คนไม่หนักแน่นในธรรม อาจโอนเอนไปกับลมปากที่เป่าหูอยู่ทุกค่ำเช้าอย่างไม่ต้องสังสัย

ศรัทธา ความเชื่อที่กล่าวกันสมสมัยตลอดมาว่า ชาวพุทธเรามีหลักยึดโยงเป็นแกนใจ คือ ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล บุคคลเมื่อประกอบเจตนากระทำกรรมดี กรรมดีย่อมสัมฤทธิ์เป็นผล ตามพุทธศาสนสุภาษิตว่า ทำดี ได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว ความเชื่อในสิ่งที่ถูกต้องดีงามเป็นธรรมนั้น ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันที่จะกระทำในสิ่งที่ดีงามเสมอ

ศรัทธา ความเชื่อตามเหตุผลสำคัญทางพระพุทธศาสนา ถือว่าสิ่งสากลที่ทุกคนทุกท่านยอมรับโดยดุษฎี คือ ความเชื่อเรื่อง กรรม

1. กัมมสัทธา (เชื่อกรรม, เชื่อกฎแห่งกรรม, เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่าเมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความชั่วความดีมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่าและเชื่อว่าผลที่ต้องการจะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น)

2. วิปากสัทธา (เชื่อวิบาก, เชื่อผลของกรรม, เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วต้องมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว)

3. กัมมัสสกตาสัทธา (เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน, เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบากเป็นไปตามกรรมของตน)

4. ตถาคตโพธิสัทธา (เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า, มั่นใจในองค์พระตถาคต ว่าทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง 9 ประการ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดี ก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุด บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญไว้เป็นแบบอย่าง)

ศรัทธา 4 อย่างนี้ มีมาในบาลีเฉพาะข้อที่ 4 อย่างเดียว (เช่น องฺ.สตฺตก. 23/4/3; A.III.3 เป็นต้น) ว่าโดยใจความ ศรัทธา 3 ข้อต้น ย่อมรวมลงในข้อที่ 4 ได้ทั้งหมด

การเล่าเรื่องศรัทธาให้เป็นเหตุนำธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวันให้สมสมัยว่า เพราะอาตมาเชื่อว่า มนุษย์มีความสามารถในการพัฒนาศักยภาพตนของตนให้ยิ่งใหญ่ได้ หากท่านทั้งหลายเชื่อเรื่องกรรม คือ การกระทำ กรรมลิขิตชีวิตตามผลอันได้กระทำแล้ว ชาวพุทธที่ตื่นรู้ สู่ความสว่าง สะอาด สงบ ก้าวไกลออกจากความถูกอวิชชาครอบงำ ใช้ชีวิตอยู่ด้วยการกระทำ กรรมลิขิต ไม่ปล่อยชีวิตให้อยู่กับความเลื่อนลอยคอยโชค ท่านใดที่เข้าใจถึงเรื่องศรัทธา แตกฉานความหมายเชิงลึก อาตมาคิดว่าท่านนั้นจะสามารถอธิบายต่อยอดและนำไปบริหารจัดการ เกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้ ทั้งด้านจิตภาพ กายภาพ และปัญญานุภาพ (ปัญญาวิมุต) เป็นที่สุด


ขอจำเริญพร
หลวงพ่อเจ้าอาวาส วัดทุ่งเศรษฐี
ธรรมะสมสมัย 1 ตุลาคม 2558