ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ความเห็นผิดเกิดอย่างไร?

ฉบับที่แล้วเขียนสำนวนบาลีไปหลายคำ เช่นเรื่องผาติกรรม ชำระหนี้สงฆ์ โยมมาสนทนาด้วยเรื่องรายละเอียดเชิงความหมาย และโอกาสที่จะต้องใช้คำนี้เวลาใดถึงจะเรียกว่าสมอ้าง ชื่นใจอยู่ที่มีผู้สนใจถามไถ่ เพราะนั้นเป็นสิ่งดี คือได้ร่วมกันคิดร่วมกันหาคำตอบ (สนุกดี) และก็พบปัญหาเข้าจนได้ กล่าวคือ ภาษาบาลีที่ว่านั้นดันใช้เป็นอักขะพยัญชนะไทย ๆ ที่คุ้นตา แต่ว่าจุดล่างจุดบนมันทำให้งง โยมบอกว่าอ่านก็ยาก และเข้าใจก็ยากด้วย มันก็จริงอยู่นะ ก็เป็นอันว่าที่แล้วมานั้นก็ให้แล้วไป เอาใหม่เริ่มต้นใหม่ อดทน ๆ ความอดทนพระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ว่า เป็นตบะอย่างยิ่ง

ยกตัวอย่าง วิธีการอ่านบาลีคำว่า "นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ" นี้เขียนเป็นไทย แต่ออกเสียงเป็นบาลี และถ้าเขียนเป็นบาลีก็จะได้รูปดังนี้ "นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ก็ลองสังเกตและค่อย ๆ ศึกษานำไปเปรียบเทียบกันดู อย่างน้อยก็จะเข้าใจวิธีอ่านที่ถูกต้องขึ้น เจริญพร


ทิฏฐิ ความเห็น

สนิมเกิดจากเหล็ก กิเลสเกิดจากจิต ความเห็นผิดเกิดอย่างไร? ความเห็นเป็นคำกลาง ๆ ไม่ได้บอกว่าอะไร สิ่งใด ผิด หรือ ถูก อย่างไร ก็เหมือนกับคำว่า "ธรรมะ หรือ ธรรม" จนกว่าจะมีลักษณะบงบอก เช่นกุศลธรรม หรือ อกุศลธรรม เป็นต้น ฯ ดังนั้นคำว่า "มิจฉา ความ วิปริตร และ สัมมา ความ ถูกต้อง เช่น คำว่า มิจฉาชีพ อาชีพที่ไม่ถูกต้อง ไม่ดีไม่งาม ไม่ชอบด้วยธรรม กับคำว่า สัมมาชีพ อาชีพที่ถูกต้อง ดีงาม ชอบด้วยธรรม

มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดไปจากความเป็นจริง เมื่อแยกบทแล้ว ได้ 2 บท คือ

มิจฉา แปลว่า วิปริต ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น

เมื่อรวมกันแล้ว เป็น "มิจฉาทิฏฐิ" แปลว่าความเห็นที่วิปริต หมายถึง ความเห็นที่ผิดแผกไปจากความเป็นจริง คือ "ธรรมชาติใด ย่อมมีความเห็นที่วิปริตผิดไปจากความเป็นจริง ธรรมชาตินั้น ชื่อว่า มิจฉาทิฏฐิ" เรื่องมิจฉาทิฏฐินี้ พระพุทธองค์แสดงไว้อย่างกว้างขวาง มีสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดที่ยึดมั่นในขันธ์ 5 ว่า เป็นเรา

สำหรับมิจฉาทิฏฐิในมโนทุจริตนี้ มุ่งหมายเอา "นิยตมิจฉาทิฏฐิ" 3 ประการ อันเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหยาบ ที่ให้สำเร็จเป็นอกุศลกรรมบทได้ ส่วนมิจฉาทิฏฐิอย่างอื่นนั้น เป็นเพียงทิฏฐิสามัญเท่านั้น นิยตมิจฉาทิฏฐิ 3 ประการ คือ

1. นัตถิกทิฏฐิ มีความเห็นว่า ทำอะไรก็ตาม ผลที่พึงได้รับนั้น ย่อมไม่มีความเห็นผิดชนิดนี้ จัดเป็นอุจเฉททิฏฐิด้วย คือ เห็นว่า สัตว์ทั้งหลายตายแล้วก็สูญไป ไม่มีการเกิดอีก ในสามัญผลสูตร แสดงความเห็นผิด ชนิดที่เป็น นัตถิกทิฏฐินี้ว่า ได้มาจากความเห็นผิด 10 อย่าง คือ

1. เห็นว่า การให้ทานไม่ได้รับผลแต่อย่างใด

2. เห็นว่า การบูชาต่างๆ ไม่ได้รับผล

3. เห็นว่า การต้อนรับเชื้อเชิญไม่ได้รับผล

4. เห็นว่า การทำดี ทำชั่วไม่ได้รับผลแต่อย่างใด

5. เห็นว่า ผู้มาเกิดในภพนี้ไม่มี

6. เห็นว่า ผู้ไปเกิดในภพหน้าไม่มี

7. เห็นว่า คุณมารดาไม่มี

8. เห็นว่า คุณบิดาไม่มี

9. เห็นว่า สัตว์ที่ผุดเกิดเติบโตในทันที คือ สัตว์นรก เปรต เทวดา พรหม ไม่มี

10. เห็นว่า สมณะพราหมณ์ ที่รู้แจ้งโลกนี้ และโลกหน้าด้วยตนเอง และสามารถแนะนำชี้แจงสมณะพราหมณ์ ที่ถึงพร้อมความสามัคคี ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ นั้นไม่มี

ผู้มีนัตถิกะทิฏฐินี้ มีความเห็น "ปฏิเสธผล" ซึ่งเท่ากับปฏิเสธอำนาจกุศล อกุศลเจตนาที่เป็นเหตุให้เกิดผลต่างๆ ด้วย ฉบับที่แล้วเขียนเรื่องสัมมาทิฏฐิเสนอไว้ 10 ประการ และนี้ก็นเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามจากความหมายของสัมมาทิฏฐิ จ๊ะ เจริญพร

2. อเหตุกทิฏฐิ คือผู้ที่มีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายที่กำลังได้รับความลำบาก หรือความสบายก็ตาม ไม่ได้อาศัยเหตุใด ๆ ให้เกิดขึ้นเลย เป็นไปเองทั้งนั้น

ผู้มีอเหตุกทิฏฐินี้ มีความเห็น "ปฏิเสธเหตุ" ไม่เชื่อว่ากรรมดี หรือกรรมชั่วที่สัตว์ทั้งหลายได้กระทำกันอยู่ทุกวันนี้ จะเป็นเหตุให้เกิดผลได้ ผู้ที่ปฏืเสธเหตุ เท่ากับเป็นการปฏิเสธเหตุ และผล ดังสามัญผลสูตร อรรถกถาว่า "ผู้ที่เห็นว่า ความสุขทุกข์ ของสัตว์ทั้งหลายนั้น ไม่เกี่ยวเนื่องมาจากเหตุ ก็เท่ากับว่า เป็นการปฏิเสธเหตุ และผล ไปพร้อมกันด้วย"

3. อกิริยทิฏฐิ มีความเห็นว่า การกระทำต่าง ๆ ของสัตว์ทั้งหลายนั้น ไม่สำเร็จเป็นบาป บุญ แต่ประการใด ความเห็นผิดชนิดอกิริยทิฏฐินี้ เป็นความเห็นที่ปฏิเสธกรรม อันเป็นตัวเหตุ ฉะนั้นจึงเท่ากับว่า ปฏิเสธผลของกรรมด้วย ดังในสามัญผลสูตร อรรถกถาแสดงว่า "เมื่อปฏิเสธการการทำ บาป บุญที่เป็นตัวเหตุแล้ว ก็เท่ากับปฏิเสธผลของการทำบาป บุญนั้นด้วย"

นิยตมิจฉาทิฏฐิ นี้ เป็นความเห็นผิดชนิดที่สามารถส่งผล ให้เกิดใน "นิรยภูมิ" อย่างแน่นอน แม้พระพุทธองค์ก็โปรดไม่สำเร็จ

จะเห็นว่า หากบุคคลใดเป็นผู้มีมิจฉาทิฏฐิ ผลลัพธ์จะเป็นอีกทางคือ จมอยู่กับความทุกข์แห่งสังสารวัฏไม่รู้จบ โดยเฉพาะมิจฉาทิฏฐิร้ายแรงที่ควรหลีกเลี่ยง 3 อย่าง ที่เรียกว่า นิยตมิจฉาทิฏฐิ นิยตมิจฉาทิฏฐิ 3 คือ ความเห็นผิดที่ดิ่งแก้ไขไม่ได้ ได้แก่

1. อกิริยทิฏฐิ เห็นว่า ไม่เป็นอันทำ ปฏิเสธการกระทำดี ทำชั่ว และปฏิเสธผลว่าไม่มี

2. อเหตุกทิฏฐิ เห็นว่า ทุกสิ่งไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย เป็นไปเอง

3. นัตถิกทิฏฐิ เห็นว่า ไม่มีบุญ ไม่มีบาป ปฏิเสธทั้งเหตุและผล

ทั้ง 3 ต่างกันเพียงชื่อ โดยอรรถเหมือนกัน

กล่าวโดยสรุป "นิยตมิจฉาทิฏฐิ" คือ ผู้ที่มีเห็นผิดรุนแรง คือเชื่อปักใจว่า ตายแล้วสูญ คนพวกนี้ย่อมไม่เชื่อว่า บาปบุญมีจริง เขาย่อมไม่เชื่อว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นั่นคือ ไม่เชื่อคำสอนของพระพุทธองค์ในเรื่อง กฏแห่งกรรม นั่นเอง พระพุทธเจ้าไม่ปฏิเสธเรื่องโลกนี้มี โลกหน้ามี พวกที่ตายแล้วเกิดก็มีอยู่ พวกที่ตามแล้วสูญก็มีอยู่ ความเห็นทั้งหลายในโลกนี้มีมากหลาย หากแต่พระพุทธองค์สรุปเรื่องความเห็นไว้ 62 ประการ "ทิฏฐิ 62 ในพรหมชาลสูตร" มีเวลาค่อย ๆ ศึกษากันไปจนกว่าเราจะบรรลุอรหันตผล เป็นอเสขะบุคคล คือ ในทางธรรมหมายถึงบุคคลผู้พ้นจากการศึกษาแล้ว เป็นผู้ทำชีวิตตนสมบรณ์แล้วนั่นเอง

ตามเพจธรรมะสมสมัยของเราก็สมอ้างอยู่ เรามีพื้นที่เขียนธรรม แสดงธรรม เราเองก็ต้องใส่ใจใฝ่ศึกษาธรรมกันตามที่มีเวลาและโอกาส ขอบคุณท่านผู้ติดตามอ่านบทความธรรมะสมสมัยมาก ๆ และที่มีปัญหากลับมาถามนั้นถูกต้องเลย อยากรู้อะไรถามได้ ตอบได้ ด้วยจิตอาสา นำพาหัวใจให้มีสถานีบริการ ด้วยความเมตตาและปรารถนาดีแด่ทุกคน

ส่วนพื้นที่ต่อไปก็จะได้กล่าวอนุโมทนากับคุณ Mr. Wayne, คุณ Ann, คุณ Renee, คุณ Janis ทุกคนในครอบครัว Sadoyama ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพสร้างธรรมาสน์กับทางวัดทุ่งเศรษฐี ถวายมา $100 คุณแม่วัน กิรณา บัวฮุมบุรา $100 คุณเปี๊ยก - คุณเข็ม $50 อาตมาก็ขอใช้พื้นที่นี้ประกาศบอกบุญบอกศรัทธา มายังทุกคนทุกท่าน ที่มีจิตศรัทธาจะร่วมกันเป็นเจ้าภาพสร้างธรรมาสน์ถวายไว้เป็นศาสนสมบัติของวัด เพื่อถวายพระสงฆ์ไว้ใช้แสดงธรรมเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม ที่ชาวพุทธเรานั้นเวลลาฟังพระธรรมเทศนา ก็ตั้งโสตสดับยกพระธรรมคำสอนขององค์พระชินวรสัมมาสัมพุทธเจ้า ขึ้นไว้ให้สูงเด่นเห็นค่า ยกย่องไม่เหยียบย่ำ

และที่ต้องบอกข่าวเล่าบุญมา ณ ที่นี้ก็ด้วยว่า เป็นธรรมาสน์ที่สั่งทำพิเศษ ราคารวมค่าขนส่งทางเรือเข้ามาในสหรัฐเอมริกา ร่วมสองพันกว่าเหรียญ ความงามของธรรมาสน์ที่นำเข้านี้ จะเป็นชิ้นแรก ๆ ที่มีในเอมริกาด้วยซ้ำ อาตมาคิดว่ายังไม่มีวัดใดที่นำเข้ามา ก็คงไม่ต้องถามว่าจำเป็นต้องมีไหม? เพราะถ้าหากมองว่าทุกที่ทุกแห่งคือลานบุญลานธรรม มีพระผู้แสดงธรรมได้อย่างเปรืองปราชญ์ฉลาดธรรม มีภูมิรู้ มีภูมิธรรม มีภูมิปัญญา ตลอดสายสิ้นเชิงก็คงตอบว่า "ไม่จำเป็น"

เพราะความตั้งใจที่จะสร้างศาสนสถานให้สมบูรณ์ ด้วยความอยากเห็นวัดเป็นวัด ถ้าตั้งใจที่จะทำให้เกิดมีขึ้นนั้น บุญก็ไม่มี บารมีก็ไม่เกิด ความคิด คือ ความตั้งใจ เมื่อเราตั้งใจทำเรื่องใด เราย่อมต้องคิดทำเรื่องนั้น บุญจึงเป็นเรื่องของความดีความงาม บุญเป็นเรื่องคุณค่าทางใจ เป็นเรื่องความสุข ความเบิกบานใจ ปลื้มใจ

"เพราะความตั้งใจอย่างนี้ อยากทำเรื่องนี้ จึงคิดอย่างนี้ ทำเรื่องนี้, เพราะคิดว่าจะต้องมีวัดเป็นเอกลักษณ์หลักชัย, จึงสร้างวัดให้เป็นเอกลักษณ์หลักชัย, เพราะมีฝัน จึงสร้างฝัน"

ดังนั้น ท่านผู้มีใจใสใจศรัทธา จะรวมตัวพร้อมใจกันสร้างธรรมาสน์ให้เป็นสัญลักษณ์ ในทางธรรมให้กับวัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด อาตมาก็มีความยินดีอย่างยิ่ง เพื่อให้เกิดกระบวนการศึกษาและปฏิบัติศาสนกิจ ตามแนวทางของผู้ใฝ่รู้ หลักคิดง่าย ๆ หากการทำงานเขียนและออกแบบของเรา จำเป็นต้องใช้โต๊ะใช้เก้าอี้ เราก็ต้องหาซื้อโต๊ะหาซื้อเก้าอี้เพื่อมาใช้เขียนแบบ หรือหากเราจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ เราก็หาคอมฯ มาเพื่อทำงานให้ตรงกับความจำเป็นนั้น ๆ เป็นต้นฯ สนใจร่วมบริจาค ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ หลวงพ่อไสว ชมไกร เจ้าอาวาสวัดทุ่งเทรษฐี โทรศัพท์ (562) 382-3767 e-mail Addresses : chomkrai@ymail.com and Line ID : bmsn2008 หากท่านเขียนเช็ค Donation payable to : Buddhist Meditation Society of Norwalk นี้เป็นชื่อของ วัดทุ่งเศรษฐี Corporation Number : C3041612 EIN Number : 26-2791124 ร่วมสร้างบุญบารมี สร้างความดีเป็นมรดกแก่ตนแก่ครอบครัว ด้วยความยินดี สาธุ สาธุ สาธุ

ขอความร่มเย็นเป็นสุข ความเจริญรุ่งเรืองด้วยโภคทรัพย์ และอริยะทรัพย์ จงเพิ่มพูนบุญราศีแก่ท่านผู้มีบุญทุกท่าน รูปขอจำเริญพร