ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



อีโก้ (Ego / Degree) วลีแบบบ้าน ๆ

ท่านผู้สนใจในธรรมทุกท่าน ถึงคราเวลาเปลี่ยนอากาศก็เริ่มนับวันเย็นลง ความจริงธรรมชาติก็คาดเดาได้ยาก แต่เราก็พอจะหยั่งรู้ได้ตามสถานการณ์ที่เป็นจริงได้ตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น ฤดูกาลหมุ่นเวียนเปลี่ยนไปตามเรื่อง เป็นธรรมดา ๆ เพราะธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างมีทั้งสิ่งทีดี และสิ่งไม่ดี ในความเปลี่ยนแปลงก็ไม่ควรประมาท เพราะบางทีก็นำมาซึ่งความไข้เจ็บเป็นหวัดเป็นไอ จึงต้องหาสิ่งป้องกันความเย็น ใส่ถุงมือถุงเท้าใส่หมวกใส่เสื้อผ้าให้ความอบอุ่นร่างกาย

เมืองนี้สาเหตุที่อากาศเย็นลง บางครั้งก็นำฟ้านำฝนโปรยปรายลงมาด้วย ทำให้มีหิมะเกาะแก่งอยู่ตามภูเขา ตามต้นไม้และโขดหิน บางคนก็สนุกสนานไปตามเรื่อง เพราะมีโอกาสออกไปตอนรับลมหนาว ไปต้อนรับหิมะที่ขาวใส มองไปสุดตาที่แลเห็น

ดังนั้นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ผ่านเรื่องราวฤดูกาลมามากมาย ท่านก็เห็นเป็นธรรมดา ๆ จึงมีเรื่องราวประสบการณ์ต่าง ๆ ที่สามารถมาเล่าให้ลูกหลานได้ฟังกัน ทำให้เกิดความต้องการอยากเห็นอยากไปเล่นสนุกสนาน เป็นการพักผ่อนกันไปตามเรื่อง บางคนก็พากันไปทั้งครอบครัว หลวงพ่ออ่านเจอเรื่องนี้จากเฟสบุ๊คจากไลน์นี่แหละ เขาเขียนไว้ดีได้ทีเลยจะนำมาเล่าสู่กันฟัง ให้เป็นประโยชน์ในทางธรรมะ เขาเขียนไว้ว่า :-


คิดเป็นชีวิตเปลี่ยน

สิงโตตัวหนึ่ง เห็นหมาบ้าเดินใกล้เข้ามามันจึงรีบเดินเลี่ยงไปทางอื่น ลูกสิงโตเห็นจึงพูดกับพ่อว่า "เจอเสือตัวใหญ่ ๆ พ่อยังกล้าสู้กับมัน แต่เจอหมาบ้าตัวเดียวพ่อกลับเดินหลบ ช่างขายหน้าเสียจริง ๆ" พ่อได้ยินดังนั้นจึงบอกกับลูกว่า "ลูกพ่อ การเอาชนะหมาตัวหนึ่งนั้นเป็นเรื่องมีเกียรตินักหรือ" ลูกสิงโตส่ายหัว "หากโดนหมาบ้ากัด จะมิยิ่งซวยกว่าหรือ" ลูกสิงโตพยักหน้า "จำไว้นะลูก มิใช่ว่า ใครทั้งหมดล้วนคู่ควรที่เราจะต่อกรด้วย"

ผู้คนในสังคมทุกวันนี้ล้วนตกอยู่ในสภาวะที่เครียด กลัดกลุ้ม ไม่ว่าจะเรื่องปากท้อง ครอบครัวทุก คนต่างมีความโลภ โกรธ หลง เปรียบเหมือนมีขยะอยู่เต็มหัวใจ ไม่ว่าพบใครที่ไหนมักจะหาโอกาส ที่จะเทขยะเหล่านี้ออกไปให้พ้นจากตัวเอง

ฉะนั้นอย่าได้ไปใส่ใจเลย จงยิ้มให้กับเค้าแล้วเดินจากไป ตั้งหน้าตั้งตาทำงานของเราให้ลุล่วง อย่าไปรับเอาขยะเหล่านั้นมาใส่หัว มันคู่ควรแล้วหรือสำหรับผู้มีปัญญา เราจะไม่ไปทะเลาะเพื่อเอาชนะคนแบบนั้นแน่นอน #

เรื่องนี้มีให้อ่านในหนังสือพิมพ์ออนไลน์หลายฉบับ แต่หลวงพ่ออ่านแล้วให้นึกถึงธรรมชาติในใจของคน ธรรมดาก็จะมีจิตฝ่ายเป็นอกุศล มีจิตที่เป็นกลาง ๆ และจิตฝ่ายที่เป็นกุศล เพราะฉะนั้นจิตจึงเป็นสิ่งที่เป็นกลาง ๆ ไม่เป็นบาปและไม่เป็นบุญ ขึ้นอยู่กับตนเองว่าจะให้น้ำหนักไปในทิศทางใด ถึงตอนนี้ให้นึกถึงการอธิบายจิตวิเคราะห์ของ "ฟรอยด์" เป็นนักปรัชญาร่วมสมัยชาวออสเตรีย อันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นทีหลังยังไม่นานเท่าไหร่ แต่ผู้ที่เข้าใจเรื่องนี้ดีที่สุดไม่มีใครเกิดพระพุทธเจ้าของเรา ดังข้อความบทสวดมนต์ "โอวาทปาฏิโมกข์คาถา" ตอนหนึ่งว่า :-

อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต, การไม่พูดร้าย, การไม่ทำร้าย,

ปาติโมกเข จะ สังวะโร, การสำรวมในปาติโมกข์,

มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง, ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค,

ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง, การนอน การนั่ง ในที่อันสงัด,

อะธิจิตเต จะ อาโยโค, ความหมั่นประกอบในการทำจิตให้ยิ่ง,


ใจคนเปลี่ยน ธรรมไม่เปลี่ยน

สายน้ำย่อมเปลี่ยนใจปลา กาลเวลาย่อมเปลี่ยนใจคน "อีโก้ (Ego / Degree) วลีแบบบ้าน ๆ" อ่านแล้วพากันหลงไหลการจำแนกระดับจิตของ "ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) จิตแพทย์ชาวออสเตรีย เชื้อสายยิว" แท้จริงแล้วคุณค่าความละเอียดลึกซึ้งด้านจิตวิเคราะห์ของเขานั้น ถือว่าโดดเด่นมาก ทำให้นักศึกษารุ่นหลัง ๆ อ้างถึงกันมาก

อย่างคำว่า "นายคนนี้ Ego จัดจริง ๆ" นี่ถือว่ากล่าวได้ดีนะ เพราะอีโก้น่าจะเป็นคำกลาง ๆ ระหว่างคำว่า Id กับคำว่า Superego อย่างคำว่า ทิฏฐิ ก็นับว่าเป็นคำกลาง ๆ ระหว่างคำว่า มิจฉาทิฏฐิ กับคำว่า สัมมาทิฏฐิ อย่างคำว่า "คุณลุงท่านนี้ มีทิฏฐิมานะน่าดูเลยนะ" จริง ๆ ทิฏฐิ กับ มานะ เป็นคนละคำ ควรจะยังไม่มีข้อสรุปลงได้ เนื่องจากการกระทำยังไม่สำเร็จ เพราะยังไม่ทราบว่าจะเป็นไปทางลบหรือทางบวก หากแต่เป็นคำนิยมกล่าวไปในทางเสียหายแล้ว

ถ้าเป็นหลวงพ่อก็เข้าใจ "อีโก้ (Ego / Degree) วลีแบบบ้าน ๆ" ว่า คนที่มีอี้โก้มาก ๆ นั้น เป็นคนที่ชอบมีหลักการและเหตุผล แต่ว่าคิดตามได้ไล่ให้จน ในเรื่องต่าง ๆ ก็ไม่มีอะไร ถือว่าเขาเป็นคนที่ชอบมีเงื่อนไขก็แล้วกัน ซึ่งถือว่าเป็นไปในฝั่งฝ่ายที่ดี เพราะอีโก้เป็นฝ่ายค้นหาเหตุผลความจริง

"แต่สุดท้ายคนที่มีอีโก้สูง ๆ มักจะเป็นคนกลัวเมีย เพราะเมียเท่านั้นที่กล่าวเหตุผลมาถูกทุกอย่าง อย่าคิดเป็นใหญ่กว่าเมียเด็ดขาด เดี๋ยวจะเกิดปัญหาเลยเทียว"


วิชาหญ้าปากคอก

การศึกษาปรัชญาสมัยใหม่ ได้ดึงใจดึงความคิด ดึงเอาจิตวิญญาณของลูกหลานเราออกไปภายนอก จนหารู้ไม่ว่า แท้จริงหญ้าปากคอกทั้งเขียวทั้งงาม อุดมด้วยความสมบูรณ์เป็นหนักหนา สิ่งที่ดีมีคุณค่าที่สุดอาจอยู่ใกล้ตัวเราที่สุด เราคลั่งไคล้วิชาการที่พัฒนา จนไม่เห็นคุณค่าสิ่งที่ตนเองมี เปรียบเช่น ตัวอยู่กับคนที่ใกล้ หากแต่จิตใจล่องลอยไปอยู่กับใครที่ไหน ๆ นั่น หากไม่เข้าใจเรื่องชาวบ้านวิชาการอาจกลืนวิถีชนที่ดี ๆ ไปหมด อย่าให้เรื่องรันทดเกิดขึ้นเกลือกกลั้ว กล่าวถั่วจะสุก งาก็ไหม้

และด้วยทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ฟรอยด์ ที่อธิบายได้ใกล้เคียงพระพุทธศาสนาหลายแห่ง เช่น เรื่อง ตัณหา 3 ถ้าใครท่านใดสนใจลองไปทำความเข้าใจเพิ่มนะ หลวงพ่อพาพระสงฆ์พาญาติโยมสวดอยู่เป็นนิจ สวดไปก็ตั้งปัญหาถามตัวเองในใจว่า เราได้อะไรจากบทสวดนี้บ้าง เข้าตำราหญ้าปากคอกไหม ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ

กามะตัณหา (อยากได้)

ภะวะตัณหา (อยากมี อยากเป็น)

วิภะวะตัณหา (อยากในความไม่มี ไม่เป็น)

เมื่อมีผู้ถามกลับมาว่าสวดมนต์ดีอย่างไร คือบางครั้งผู้ไม่รู้ก็อวดโชว์ เกิดอีโก้ (Ego / Degree) วลีแบบบ้าน ๆ ทีนี้ก็ไปไกล กว่าจะหลอมรวมความเข้าใจ อาจได้ออกเผยแพร่บนโลก G4 ยุคเทคโนโลยีเลิศล้ำ มองเห็นความคิดและการกระทำไปพร้อมกันทั่วทิศา บนโลกาภิวัตน์ จงขจัดมลทินในจิตใจให้ใสสะอาด เพราะโลกนี้ยังไม่ขาดพระอรหันต์ ของให้ร่วมกันจรรโลงพุทธธรรมให้ล้ำหน้าวิชาการ รูปขอจำเริญพร