ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ความกลัว ต้นทุนค้นหาความจริง

ธรรมะสมสมัย นำเสนอเรื่องราวธรรมะบางแง่มุม คอยเติมเต็มได้กับหัวใจของผู้มีต้นทุนความกลัว ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนมันได้ ถ้าเรามองเป็นเราก็สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ในแต่ละเรื่องราวนั้นได้ ตอนเด็กๆ เรามีคุณพ่อคุณแม่เป็นที่ปกป้องคุ้มภัย เวลาที่เรากลัวสิ่งใดๆ เราจะร้องเรียกให้ท่านช่วย ทั้งที่เป็นเรื่องง่ายๆ เป็นเรื่องที่ไม่น่ากลัวอะไร แต่ท่านก็เป็นกำลังใจให้ ท่านปลอบใจคอยโอ๋คอยอุ้ม เราก็มีกำลังใจขึ้นมาทันทีทันใด "ความกลัวเกิดจากความไม่รู้" คนเรากลัวในสิ่งที่ไม่รู้.....

เมื่อสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน แล้วเราเกิดความกลัวขึ้น บางครั้งทำให้เราทิ้งเหตุผลทั้งหมด มันชั่งน่าเสียดายโอกาสที่ผ่านไปแล้วจริงๆ สังคมไทยถ่ายทอดความกลัวจนแพร่ขยายเป็นวัฒนธรรมมาตั้งแต่เรายังเด็กๆ เลยท่านว่าจริงไหม? เช่น อย่าดื้อนะ ถ้าดื้อระวังตุ๊กแกกินตับนะ, อย่าร้องนะ ถ้าร้องระวังผีกระสือกินไส้นะ, อย่าไปเอาอะไรของใครเขามานะ ถ้าไม่เชื่อแม่ระวังตำรวจมาจับนะ, อย่าออกไปๆ เดี๋ยวเถอะๆ ระวังโจรจับไปเรียกค่าไถ่หรอก เป็นต้นฯ เพราะความกลัวสิ่งเหล่านั้น เราก็อยู่ไม่ห่างท่าน เพราะท่านคือที่พึ่งที่ปลอดภัยที่สุดในวัยที่เราเป็นเด็กๆ และอยู่ใกล้ท่านแล้วรู้สึกอบอุ่น พอเราโตขึ้นการศึกษาสามารถเปลี่ยนความคิดให้ความหวังเราได้มากๆ ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถตัดความกลัวออกไปจากส่วนลึกๆ ที่ผูกจิตฝังใจเรามาตั้งแต่เด็กๆ ออกไปได้ทั้งหมด แต่ก็ถือว่าเรามีเหตุผลให้กับตัวเองมากขึ้น อาตมาก็ยังเชื่อว่าน้อยคนที่จะไม่มีความกลัวในหัวใจ

ก่อนนี้เราเคยกลัวกลางคืน เพราะเราไม่รู้ว่ากลางคืนคืออะไร และจะมีอะไรอยู้ในเวลากลางคืนนั้น แม้กลางวันก็เถอะ เรากลัวความมืด เพราะเราไม่รู้ว่าในความมืดนั้น จะมีอะไรที่ซ่อนแฝงอยู่บ้าง ดังนั้น จึงไม่แปลกใจที่คุณพ่อคุณแม่ ชอบพูดโกหกเราในวัยเด็ก ต่อมาเมื่อเราเป็นผู้ใหญ่แล้วต้องมีเหตุผล ต้องมีความเข้าใจในธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เป็นอยู่จริงในความเป็นพ่อเป็นแม่ และมีอยู่จริงในสังคมไทยของเรา ท่านสงสัยไหมว่าเป็นอุบายอันใดที่พ่อแม่ต้องบอกให้กลัว ท่านเคยลองคิดกันไหมว่าทำไม? หรือเพื่ออะไร? ท่านจะได้พบกับคำตอบเหล่านี้ เพียงท่านเข้าใจหลักธรรมะเหล่านี้เป็นฐานความคิด อาทิเรื่อง "ศรัทธา ความเชื่อในอุดมการณ์ที่ตนเองต้องการพิสูจน์ เพื่อค้นหาความจริง แม้เราจะมีความกลัวสักเท่าใด แต่เราก็จะพยายามผ่านมันไปให้ได้จริงไหม?"

สัทธา ความเชื่อ ในทางธรรม หมายถึงเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล ความมั่นใจ ในความจริง ความดี สิ่งดีงาม "เขียนอย่างสันสกฤตเป็น ศรัทธา" หลักความเชื่อ ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล เป็นความเชื่อที่ ผ่านการกรั่นกรองแล้วจากปัญญา ความเชื่อที่ประกอบ ด้วยเหตุและผล ซึ่งผ่านการกรั่นกรองจากปัญญานี้ ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า "สัทธาญาณสัมปยุตต์" (ญาณ แปลว่า ความรู้ที่เกิดจากปัญญา, สัมปยุตต์ แปลว่า ประกอบด้วย) การถือเอาสิ่งที่ตนรู้ ตนเห็น โดยปราศจากการใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้ถึงเหตุและผลเป็นความเชื่อ ที่ขาดปัญญา พิจารณาถึงเหตุผล ความเชื่อเช่นนี้เรียกว่า "สัทธาญาณวิปปยุตต์" อนึ่ง ถ้าเชื่อตามเขาว่าเรียกว่า "อธิโมกข์ศรัทธา" การเชื่อโดยปราศจากสติปัญญาก็ดี เชื่อตามคนอื่นว่าก็ดี ไม่จัดเป็น ศรัทธาในทางพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้า ทรงสอนเรื่องศรัทธาไว้ในที่ใด สอนไว้ในธรรมบทไหนก็ตามที พระองค์จะทรงสอนเรื่องของปัญญาไว้ในที่นั้นๆ ด้วยเสมอ ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพื่อป้องกัน "ความเชื่อแบบงมงาย" ความเชื่อ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะมนุษย์ถ้าไม่เชื่อสิ่งใดก็จะไม่กระทำสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเชื่อผิด ก็เป็นเหตุให้คิดผิด ทำผิด และถ้าเชื่อในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ก็เป็นเหตุให้คิดดี ทำดี ความเชื่อใน สิ่งที่ผิด เป็นเหตุให้ได้รับความทุกข์ ความเสื่อม ความเดือดร้อน เป็นผลร้าย เป็นความพินาศ ตลอดจนทำให้เสียชีวิตได้ เป็นต้นว่า

1. เชื่อ เรื่องธรรมชาติ เช่น ภูเขา ต้นไม้ สัตว์ต่างๆ ที่เกิดมาผิดปกติ มีความแปลกประหลาดไปจากธรรมดาแล้วทำการสักการะบูชาเพื่อหวังโชคลาภทรัพย์สินเงินทอง เป็นต้น

2. เชื่อ ในผีสางเทวดา หรือวิญญาณ ว่าผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วยังคงมีวิญญาณวนเวียนอยู่ แล้วจึงทำการสักการะบูชาเพื่อหวังขอโชคลาภทรัพย์สินเงินทอง สรรเสริญ มีการสร้างศาล ต่างๆ เพื่อให้ผี สาง วิญญาณ มาสิงสถิตอยู่ เป็นต้น

ความเชื่อในสิ่งเหล่า นี้เป็นความเชื่อที่ปราศจากเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ จะบอกว่าขาดองค์ประกอบทางปัญญาก็คิดเกรงใจ เป็นความเชื่อที่ยึดถือตามใจตนเอง อาจเป็นความเชื่อที่ก่อเกิดความเสียหายตามมาก็ได้ (ถ้าขาดวิจารณญาณ) กาลามสูตรกังขานิยฐาน 10 หลักความเชื่อหนึ่งที่พระพุทธเจ้า ได้ตรัสไว้แก่ชาว "กาลามะ" หมายถึง วิธีปฎิบัติในหลักความเชื่อ ที่ตรัสไว้ในกาลามสูตร

1. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา (มา อนุสฺสเวน)

2. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา (มา ปรมฺปราย)

3. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ (มา อิติกิราย)

4. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำรา หรือคัมภีร์ (มา ปิฏกสมฺปทาเนน)

5. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก (มา ตกฺกเหตุ)

6. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะอนุมาน (มา นยเหตุ)

7. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล (มา อาการปริวิตกฺเกน)

8. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว (มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา)

9. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ (มา ภพฺพรูปตาย)

10. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (มา สมโณ โน ครูติ)

ต่อเมื่อใด รู้เข้าใจด้วยตนว่า ธรรมเหล่านั้น เป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น สูตรนี้ในบาลีเรียกว่า เกสปุตติสูตร ที่ชื่อกาลามสูตร เพราะทรงแสดงแก่ชนเผ่ากาละมะ แห่งวรรณะกษัตริย์ ที่ชื่อเกสปุตติยสูตร เพราะพวกกาละมะนั้นเป็นชาวเกสปุตตะนิคม ในแคว้นโกศล ไม่ให้เชื่องมงายไร้เหตุผลตามหลัก 10 ข้อดังกล่าว

พระพุทธเจ้า ทรงแสดงความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญาไว้ 4 ประการ คือ.-

1. กัมมสัทธา เชื่อกรรม เชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่า เมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความชั่วความดีมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่า และเชื่อว่าผลที่ต้องการ จะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น

2. วิปากสัทธา เชื่อวิบาก เชื่อผลของกรรม เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วย่อมมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว

3. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบาก เป็นไปตามกรรมของตน

4. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในองค์พระตถาคต ว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง 9 ประการ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์หากฝึกตนด้วยดีก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุด บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ทรงบำเพ็ญไว้


ความกลัว ต้นทุนค้นหาความจริง อาตมาเพียรนำเอาเรื่องราวมาแสดงให้เห็นว่า วุฒิภาวะและวัยต่างกันความเชื่อก็ต่างกัน ตอนเด็กเรามีพ่อแม่เป็นที่พึ่ง โตแล้วมีการศึกษาเป็นที่พึ่ง การศึกษาต้องมีธรรมเป็นที่พึ่ง ชาวพุทธมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เป็นที่พึ่งอันยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง แต่..ขอบอกก่อนว่า อย่าพึ่งเชื่อก่อนที่ยังมิทันได้ใช้ปัญญาศึกษาไตร่ตรอง แล้วเราจะพ้นจากความกลัวโดยปริยาย.... และก่อนที่จะจากกันไป ขอประชาสัมพันธ์เรื่องการสนับสนุนโครงการจัดอาหารโรงทานแจกจ่าย (ฟรี) ทุกวันอาทิตย์ ณ วัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด และเตรียมจัดทำอาหารในกิจกรรมวันออกพรรษา วันที่ 16 ตุลาคม และงานบุญทอดกฐินสามัคคี สดุดีบูชาหลวงพ่อเพชรมีชัย ในวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม ศกนี้ ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมถามท่านเหล่านี้ได้เลย คุณพิสิฐ วรรณประเสริฐ, คุณพะเยาว์ ชอบชม, คุณศศิญา เชียงกราว, คุณมาลี ยามาส, คุณณัฐพิศุทธิ์ เผือกสะอาด, คุณศราณี แก้วโภคา, ไม่ต้องไปหาเบอร์โทร เพียงไปโชว์ตัวที่วัดทุ่งเศรษฐี ท่านก็จะพบเจอทุกคนด้วยน้ำใจไมตรี ขอสันติและความรุ่งเรืองในธรรมจงมีแด่ทุกท่าน ขอเจริญพร