ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ชั่ว

ท่านพุทธบริษัท สาธุชนผู้สนใจใฝ่ศึกษาทั้งหลาย เมื่อเห็นหัวเรื่องว่า "ชั่ว" ก็อย่าพึ่งยั่วกิเลสตนให้บันดลโทษะ เพราะอาจทำให้ไม่ได้สิ่งควรรู้ควรคิด ปล่อยจิตตนของตนให้ปนไปในอคติ อาจทำให้เห็นผิด คิดผิด ก้าวข้ามเหตุผลที่ควรรู้ "ชั่ว" คำเดียว ให้ความหมายเป็นได้ทั้งคุณ (บวก) และโทษ (ลบ) เพราะอาจเป็นเพียงคำว่า (ชั่ว) ครู่ (ชั่ว) ขณะ (ชั่ว) ครั้ง (ชั่ว) คราว ก็เป็นได้


ในชั่ว - มีดี....ฝ่ายให้คุณ

ชั่ว ให้ความหมายเชิงสารัตถะประโยชน์มากมายมหาศาลทุกด้าน "ในชั่ว - มีดี ในขี้ - มีคุณ" เพียงการยกกายขึ้นมาพิจารณาว่า ร่างกายทั้งหมดนั้นก็มีส่วนที่น่ารังเกียจปรากฏอยู่ ดังนั้นทุกแขนงการศึกษาสามารถหาประโยชน์จากคำว่า (ชั่ว) ได้ไม่มีสิ้นสุด เช่นคำเหล่านี้เป็นต้น : -

1) ตลอด (ชั่ว) อายุคนสามารถแสวงหาความรู้ได้ไม่สิ้นสุด จนกว่าจะบรรลุอรหันต์ (พระอรหันต์เป็น อเสขะบุคคล)

2) อัตตชีวะประวัติ ท่านองค์คุลีมารเถระ โจร (ชั่ว) ฆ่าคนมาแล้วนับพัน นี้ถือว่า (ชั่ว) ในดี เบื้องต้นมีสมาธิฝ่ายดี พากเพียรเรียนรู้สำเร็จทุกอย่าง ท่ามกลางของชีวิตไม่ดี เกิดมิจฉาสมาธิ คือความตั้งใจผิด อยากบรรลุธรรมวิเศษเช่นจดจ่อในกามราคะ จดจ่อในโทสะ และพยาบาท สุดท้ายเกิดสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องถูกธรรมได้บรรลุอรหันต์

3) ศีลธรรมของมนุษย์ คือความสงบสุขของสังคม นับเป็นมรดกที่รักษาสืบต่อกันมา เป็นสิ่งที่ดีควรค่าต่อสังคม จึงควรส่งเสริมฝากไว้ให้เป็นมรดก (ชั่ว) ลูก (ชั่ว) หลาน สืบไป (ชั่ว) ฟ้าดินสลาย

4) คนที่ถูกสังคม (โซเชียล) ตราหน้าว่า (ชั่ว) ช้าสามานย์ ต่ำตม หากแต่จิตสำนึกของเขาใฝ่ดี และเขาได้พยายามทุกวิถีทางที่จะผลักดันให้ประเทศที่เขาถือกำเนิดมา เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบเผด็จการ มาเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

5) ใน (ชั่ว) โมงที่เราปฏิบัติสมาธิภาวนาอยู่นั้น ให้เราตั้งใจพิจารณาดูลมหายใจของเราให้ละเอียด เราจะเห็นการเกิด - ดับ อย่างลึกซึ้ง จนเข้าใจได้ว่า "อนัตตา คือ แก่นแท้ของชีวิตและสรรพสิ่ง"


ในดี - มีชั่ว.....ฝ่ายให้โทษ

ชั่ว ในความหมายที่เป็นข้อเสียหายร้ายแรง ไม่ควรคิดที่จะกระทำ ไม่ควรที่จะเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะจะมีแต่ทุกข์และโทษ แต่อย่างไรก็ตาม "ในดี - มีชั่ว ในตัว - มีขี้" บางครั้งเราก็คิดมาก คิดไปทุก เรื่อง บางทีเอาประโยชน์ไม่ได้สักเรื่องเดียว เอาหละ...เราจะมายกตัวอย่างสัก 2 - 3 ข้อ เช่น : -

1) เพียง (ชั่ว) ข้ามคืน ทั้งพายุลม ทั้งพายุฝน โหมซัดกระหน่ำอย่างบ้าครั้ง ทำให้เกิดอุทกภัยอย่างฉับพลัน ผู้คน บ้านเรื่อน สัตว์เลี้ยง และพืชพันธุ์ได้รับความเสียหายเพียง (ชั่ว) กระพริบตา จะเห็นได้ว่า ความเป็นอยู่ของชาวบ้านนั้น อยู่กันดี ๆ ธรรมชาติฝ่ายให้โทษก็มา เปลี่ยนแปลงเพียงเวลาไม่กี่ (ชั่ว) โมง

2) (ชั่ว) ชาติ หรือ ชาติ (ชั่ว) ผรุสวาจาอันวิญญูชนไม่ควรกล่าว เพราะกล่าวออกมาด้วยโทสะแล้วนั้น กิริยาที่พูดในแต่ละคำ ในแต่ละครั้งนับเป็นแต่ละกรรม เป็นคำที่ละเมิดเกี่ยวกับคดีหมิ่น ดูหมิ่น ดูถูกเหยียดชาติชั้นสีผิว ถ้าดูว่าการกล่าวนั้นทำให้ผู้อื่นเสียหาย อัปอายขายหน้า เสียชื่อเสียงเผ่าพงศ์ ถือเป็นความผิด สามารถดำเนินการเอาผิดได้ตามกฎหมาย

3) คำใด ๆ ก็ตามที่เป็น คำด่า คำข่ม คำขู่ คำกด คำประชด คำสาปแช่ง คำหยาบคาย ล้วนเป็นคำผรุสวาททั้งสิ้น อีกทั้งเชื่อว่าท่านทั้งหลายเข้าใจ ผู้มีอำนาจในข้าราชการกินเงินภาษีอากรของแผ่นดิน มีหน้าตาทางสังคม แต่กลับซ่อนแฝ่งไว้ซึ่งความทุจริต เช่น ซื้อขายตำแหน่ง เงินส่วย เงินสินบน เงินทอน โลกปัจจุบันต่างประนามผู้ที่กระทำเรื่องเหล่านี้ว่า (ชั่ว) ช้า เลวทราม ต่ำตม ผิดจริยธรรม ไม่มีจรรยาบรรณ ผิดกฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน ในตำแหน่งที่น่าเคารพต่างมีการ โกหกคำโต

แต่เอาหละ...ถ้าคำว่า (ชั่ว) อยู่ในคำเหล่านี้ ต้องเข้าใจว่าเป็นไปฝ่ายให้โทษ เป็นไปเพื่อความเสื่อม วิญญูชนตระหนักดีการกล่าวคำที่ไม่ควรนั้น ก็พึงเว้นเสียจึงดี


"ความชั่ว"

อย่าพึ่งด่วนไปตัดสินใครว่าเขา (ชั่ว) เพราะกลัวว่าจะไปตอกย้ำคำว่า "ความ (ชั่ว) ร้าย" ที่เป็นภาวะตรงข้ามกับความดี หมายถึงการผิดศีลธรรม ผิดจารีตประเพณี ที่นิยามไว้หลายอย่าง ตามแต่เหตุจูงใจให้กระทำ ส่วนบางศาสนาถือว่าความ (ชั่ว) ร้ายเป็นพลังเหนือธรรมชาติ พลังเหนือธรรมชาติที่เกินกว่าปัญญาของมนุษย์จะเข้าไปควบคุมพลังเหล่านั้นไว้ได้

ความดี - ความ (ชั่ว) จำแนกการเรียกต่างกัน บางทีเรียกว่าบุญ - บาป ศาสนาอับราฮัมมองว่าความดี - ความ (ชั่ว) เป็นคู่ปฏิปักษ์กัน และในวาระสุดท้ายความดีจะชนะทั้งปวง ส่วนความ (ชั่ว) นั้นจะพ่ายแพ้ต่อความดี

หลักศาสนาพุทธมองว่า ความดี - ความ (ชั่ว) เป็นสภาพปรุงแต่งในใจอันเป็นผลมาจากอวิชชา ตราบใดที่โลกยังอยู่ภายใต้อวิชชาครอบงำ สภาพปรุงแต่งในใจก็ยังเป็นวัฏจักร (ปัจจัย) ให้เกิด ชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ ฯลฯ ผู้ก้าวสู่โลกุตตรภูมิ จึงเป็นผู้สิ้นบุญสิ้นบาป อยู่เหนือดีเหนือ (ชั่ว) เป็นผู้มีอำนาจจิตอยู่เหนือโลก คือเหนือโลกียภูมิ


ภูมิ หรือภพภูมิ

ท่านพระสารีบุตรได้อธิบายเรื่องโลกียยะ กับโลกุตตระไว้ (ในปฏิสัมภิทามรรค พระไตรปิฎกเล่ม 31/171/122) ว่าภูมิ 4 คือ

1) กามาวจรภูมิ ภูมิที่ข้องเกี่ยวอยู่กับกาม หรืออารมณ์ที่น่าใคร่

2) รูปาวจรภูมิ ภูมิที่ยังข้องเกี่ยวอยู่กับรูปธรรม

3) อรูปาวจรภูมิ ภูมิที่ยังข้องเกี่ยวอยู่กับอรูปธรรม

4) อปริยาปันนภูมิ ภูมิที่ไม่เกาะเกี่ยว หรือเป็นโลกุตตระ ข้ามพ้นโลก

นับแต่ กามาวจร - รูปาวจร - อรูปาวจร 3 ภูมิแรกยังเป็นโลกียยะ ส่วน 1 ภูมิหลังเป็นโลกุตตระ โดยเฉพาะโลกุตตระ หรืออปริยาปันนะนั้น ท่านอธิบายว่า ได้แก่ อริยมรรค อริยผล และอสังขตธาตุ (นิพพาน) ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 รวมเป็นโลกุตตรธรรม 9 ประการนั่นเอง

ฝากไว้ให้พินิจว่า ไม่ว่าโลกียภูมิ หรือ โลกุตตรภูมิ ก็อยู่ในโลกเดียวกัน ความจริงโดยสมมุติ หรือ ความจริงโดยปรมัตถ์ ก็เกิดขึ้นอยู่ในโลกเดียวกัน ความดี คนดี หรือ ความ (ชั่ว) คน (ชั่ว) ก็อาจเกิดขึ้นได้ในคนเดียวกัน ในโลกเดียวกัน

การพูดจริงหรือพูดเท็จ พูดดี หรือ พูด (ชั่ว) จริง ๆ แล้วก็รู้แก่ใจโดยทั้งสิ้น ถ้อยคำอ่อนหวานปานน้ำผึ้ง ชื่อว่า มธุภาณี, ถ้อยคำส่งกลิ่นหอมดั่งดอกไม้ ชื่อว่า ปุปผภาณี, ถ้อยคำส่งกลิ่นเหม็นเหมือนคูถ ชื่อว่า คูถภาณี คำพูดที่สังคมรังเกียจเหมือนส้วมแตก การพูดภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หรือภาษาใด ทั้งหมดก็ออกมาจากปากเดียวกัน ตั้งใจพูดดี ทำดี ทุกอย่างก็พร้อมดีด้วยกัน รูปขอจำเริญพร