เจริญสุขเจริญธรรมท่านทั้งหลาย ชนะจิตชนะใจของเราเองได้นั้นสำคัญมากๆ ทำอะไรตามใจอยาก ตามใจปากตามใจท้อง คอยหาแต่ของอร่อยๆ มากินจุกกินจิกอยู่ไม่ขาดปากอย่างนี้ ไม่นานนักโรคอ้วนมักถามหา ยิ่งอยู่อเมริกาหาเวลาจะเดินเหินหรือออกกำลังให้เป็นกิจลักษณะก็ไม่ค่อยมี ยิ่งฤดูนี้อากาศค่อนข้างไปทางหนาว ร่างกายจำเป็นต้องสั่งสมไขมันไว้ให้ความอบอุ่น
และถ้ามีอายุสูงขึ้นการจะลดน้ำหนักก็เป็นเรื่องใหญ่มาก การรับประทานแป้งและน้ำตาลทำให้สร้างพลังงาน มีความสดชื่นจริง แต่ก็ไม่ควรรับประทานอย่างสนุกสนานคึกคะนอง เพราะเหมือนว่ามันจะมีปีศาจซ่อนอยู่ในแป้งและน้ำตาล อันตรายมากสิ่งเหล่านี้คอยจะบั่นทอนอายุของเราทุกคนให้สั้นลงทุกวัน ส่วนนี้ประโยชน์และเป็นโทษภัยในเรื่องปากเรื่องท้อง ถ้ามีวินัยหัวใจก็เข้มแข็งร่างกายก็แข็งแรง เรียกว่าชนะใจ ชนะได้ก็ไกลโรค
ชนะใด ไหนอื่น หมื่นแสนเท่า
ฦๅสู้เรา ชนะใจ ไม่อ่อนล้า
ชนะเข้ม เต็มวัย ไกลโรคา
ดุจกีฬา ยาวิเศษ เขตปลอดภัย ฯ
ชนะดี มีวินัย ใจเข้มแข็ง
สร้างร่างกาย ให้แข็งแรง แกร่งสดใส
ชนะตน ทุกคนจะ ชนะใจ
นั่นคือชัย ชนะยิ่ง จริงแท้ เอย ฯ
อีกประการหนึ่ง เรื่องเศรษฐกิจช่วงนี้ หลายๆ ท่านมาบ่นให้ฟังว่าหาเงินลำบาก รายได้ไม่พอรายจ่าย การทำบุญก็น้อยลง ก่อนเคยทำครั้งละเป็นหลักร้อย ตอนนี้มีสภาพคล่องหลักสิบ รัดเข็มขัดตามๆ กัน สภาพเศรษฐกิจคล่อง สภาพการเงินการจับจ่ายใช้สอยการซื้อขายแลกเปลี่ยนก็ไม่สะพือสะพัด
ก็นะ !...หลวงพ่อไม่ทราบจะช่วยเป่าช่วยเสกอย่างไรดีเหมือนกัน เวลาฝุ่นผงเข้าตาก็มีความทุกข์เวทนาเป็นธรรมดา มันเป็นเช่นนั้นเอง คาถาดีๆ บางทีถึงคราลำบากสวดไปก็ไม่เป็นอันสวด ถึงต้องบอกว่าให้ใช้สติบริหารเงิน บริหารงาน บริหารคน บริหารเวลา บริหารทรัพยากร เครื่องอุปโภคบริโภคใดๆ ที่เป็นประโยชน์อย่าใช้ทิ้งใช้ขว้างให้สุรุ่ยสุร่าย มีความมาในอรรถกถาปฐมวินัยของภิกษุณีว่าไว้ พอที่จะนำมาเป็นภาษิตได้ว่า
บทว่า นวกัมมิกัง แปลว่า ผู้อำนวยนวกรรม.
บทว่า ปัณฑิตา แปลว่า ผู้ประกอบด้วยความเป็นบัณฑิต.
บทว่า พฺยัตตา แปลว่า ประกอบด้วยความเป็นผู้เฉียบแหลม.
บทว่า เมธาวินี ได้แก่ ผู้ประกอบด้วย ปัญญามีสติเป็นหลักในการเรียนบาลี (และ) ด้วยสติปัญญาเป็นหลักในการเรียนอรรถกถา.
บทว่า ทักขา แปลว่า ผู้หลักแหลม ความว่า ผู้มีปกติทำงานที่ควรทำได้รวดเร็ว ไม่ผิดพลาด.
บทว่า อนลสา แปลว่า ผู้ปราศจากความเกียจคร้าน.
บทว่า ตัตรูปายายะ แปลว่า เป็นทางดำเนินในการงานเหล่านั้น.
บทว่า วีมังสายะ แปลว่า ด้วยปัญญาเลือกเฟ้นการงานที่ควรทำ.
บทว่า สมันนาคตา แปลว่า ประกอบพร้อม.
ความว่า อลังสังวิธาตุง ได้แก่ เป็นผู้สามารถแม้จะจัดการอย่างนี้ว่า การงานนี้จงเป็นอย่างนี้ และการงานนี้จงเป็นอย่างนั้น.
ความว่า กะตากะตังชานิตุง คือ เพื่อรู้งานที่ทำแล้ว และยังมิได้ทำ.
เพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น หลวงพ่อขออธิบายอย่างนี้แล้วกัน การอำนวยการสร้างประโยชน์ใดๆ ควรสุขุมลุ่มลึกดั่งนักปราชญ์บัณฑิตผู้มีปัญญาอันแหลมคม "เมื่อมีโอกาสควรทำในสิ่งอันควร เพราะเมื่อหมดโอกาสแล้วนั้น แม้สิ่งที่ต้องการจะทำก็จะไม่ได้ทำ"
ดังนั้น บทว่า อลังกาตุง คืออะไรๆ ที่สามารถลงมือทำเองได้อย่ารอไปใยให้ชักช้า ทำซะเลยวันนี้ ไม่จำเป็นต้องจ้างก็อย่าไปจ้างให้เปลืองเงินทอง (ทำเองได้ให้ทำเอง)
ส่วนบทว่า อลังสังวิธาตุง คือถ้าเราไม่สารมารถลงมือเองได้ หรือแม้หากทำได้แต่ผลงานฝีมือ ประสบการณ์ ความชำนาญมีมีเลย ทำไปรังแต่จะเสียงานเสียงบ จำต้องหาผู้เชียวชาญด้านนั้นๆ มาช่วย ดังที่ว่า บริหารงาน บริหารคน บริหารเวลา บริหารทรัพยากร ไว้ในเบื้องต้นนั้นเทียว
เอาหละ วันนี้ธรรมะสมสมัยพบกันมาช่วงสุดท้ายแล้ว ขอแจ้งศรัทธาทุกท่านว่า แก๊สทางวัดหมดเหลือปริมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ จำต้องรีบเติม จึงขอเชิญท่านผู้มีจิตศรัทธาต้องการให้การอุปถัมภ์และสนับสนุน กรุณา Donation check payable to "Buddhist Meditation Society" หรือ อีกบัญชีหนึ่งชื่อ Wat Phrathat Thongsethi ส่งไปตามที่อยู่ที่แจ้งไว้พร้อมนี้ 6763 East Avenue H. Lancaster CA 93535 ส่วนท่านที่สะดวก Transfer money with Zelle ก็โอนด้วยเบอร์ (562) 249-3789 รูปขอจำเริญพร