ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



อยู่เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ชน

รอยธรรม นำทาง สร้างคนดี
โลกนี้ มีธรรม ช่วยนำหนุน
คนดี มีธรรม คอยค้ำจุน
อบอุ่น บุญช่วย รวยศีลทาน ฯ

ท่านพุทธบริษัทสาธุชน ผู้มีความยินดีสนใจในธรรมทั้งหลาย ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นย่อมมีเหตุผลเสมอไป ถ้าเรื่องใดที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ หรือคำตอบที่ได้ยังไม่เป็นที่พอใจ ปล่อยมันไปบ้าง เกรงใจคนรอบข้าง เดี๋ยวจะพาไม่เข้าใจกัน ยอมในสิ่งที่ควรยอม พักในสิ่งที่ควรพัก เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดา จงเลือกเอาประโยชน์ที่คนหมู่มากเข้าใจได้ในเหตุผลเดียวกัน "ปจฺฉิมาชนตานุกมฺปมานสา" อยู่เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ชน ผู้เกิดในภายหลัง คาถานี้ไม่ทราบมาจากพระสูตรใดหรอกโยมเอ้ย อาตมาสวดอยู่ทุกเช้าค่ำ เป็นคาถาที่ให้เกิดแรงบันดาลใจดี ทำให้มีจิตใจห้าวหาญดี ใครสวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็นประจำจะทราบดีว่า บทนี้เป็นคำบูชาพระรัตนตรัย

อยู่เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ชนผู้เกิดในภายหลัง แสดงว่าเราต้องสร้างสรรค์ประโยชน์แก่โลก แก่สังคม ส่วนการประพฤติตนแบบไหน เพียงใด ที่จะสามารถเชื่อมโยงโน้มน้าวจูงใจให้อนุชนเคารพคล้อยตามนั้นให้ศึกษานำมาประพฤติ และสิ่งที่เห็นควรจารึกส่งเสริมไว้นั้น คือ ศีลธรรม "เพราะสังคมต้องอยู่ร่วมกัน เราจึงต้องช่วยสร้างสรรค์ศีลธรรม"

หลายคนเข้าใจว่าการทำบุญทำทานนั้นคือ ต้องทำบุญกับพระภิกษุ-สามเณรเท่านั้น ในสถานการณ์ที่สังคมบ้านเมืองอัตคัดขัดสน พึงระลึกไว้ในใจให้มั่นว่า มารดา - บิดา คือพระอรหันต์ในบ้าน ดูแลพระในบ้านให้ดีที่สุด เพราะอย่างไรก็เป็นบุญ การสร้างสุขภายในครอบครัวเป็นโอกาสที่เป็นมหากุศล สำหรับผู้ที่มารดาบิดายังมีชีวิตอยู่ ยิ่งเป็นโอกาสที่ลูกหลานได้เสร้างบุญใหญ่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทิศเบื้องหน้าได้แก่ มารดาบิดา เพราะเป็นผู้มีอุปการะแก่เรามาก่อน

ปุรัตถิมทิศ = ทิศเบื้องหน้า บุตรธิดาพึงบำรุงมารดาบิดา ผู้เป็นทิศเบื้องหน้า ดังนี้

1) ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ

2) ช่วยทำการงานของท่าน

3) ดำรงวงศ์สกุล

4) ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท

5) เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

บิดามารดาเป็นพรหมของบุตร คือ ผู้ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม 4 ประการ มีเมตตา มีกรุณา มีมุทิตา มีอุเบกขา บิดามารดาท่านย่อมอนุเคราะห์บุตรธิดา ดังนี้

1) ห้ามปรามจากความชั่ว

2) ให้ตั้งอยู่ในความดี

3) ให้ศึกษาศิลปวิทยา

4) หาคู่ครองที่สมควรให้

5) มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันสมควร

และพึงสังเกตว่าเจตนาของเราก่อนทำบุญกับพ่อแม่ในขณะทำบุญหรือปฏิบัติต่อท่านนั้น ลองพิจารณาหลักสัมปทา 4 ประการ อาการที่เกิดขึ้นที่ใจของตนๆ แม้ไม่เข้าใจว่าธรรมข้อนี้ หมวดนี้มาอย่างไร ตรัสไว้ที่ไหน ก็ขอให้เล็งผลที่อาการ มีความถึงพร้อมไหม, ความพรั่งพร้อมมีอย่างไร มีความเคารพนอบน้อมสมบูรณ์ด้วยองค์ประกอบต่างๆ ที่ควรกระทำต่อมารดาบิดานั้น ยอดเยี่ยมแค่ไหน เพราะบุญอยู่ที่ตั้งใจ จึงจะมีผลมาก เช่น

1. วัตถุสัมปทา ถึงพร้อมด้วยวัตถุ คือบุคคลผู้เป็นที่ตั้งรองรับทาน เช่น ทักขิไณยบุคคลเป็นพระอรหันต์ หรือพระอนาคามี ผู้เข้านิโรธสมาบัติได้ ถึงแม้พ่อแม่จะไม่ใช่เป็นพระอรหันต์จริงๆ ก็เปรียบเป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่

2. ปัจจัยสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัจจัย คือ สิ่งที่จะให้เป็นของบริสุทธิ์ ได้มาโดยชอบ

3. เจตนาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยเจตนา คือ มีเจตนาในการให้สมบูรณ์ครบ 3 กาล ทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้ จิตโสมนัส ประกอบด้วยปัญญา เจตนาดีทั้ง 3 กาล มีดังนี้

- ปุพพเจตนา เจตนาที่จะบริจาคเกิดขึ้นในครั้งแรก มีความบริสุทธิ์ เกิดจากศรัทธา และเห็นคุณค่าในการบริจาคอย่างแท้จริง (ก่อนทำบุญ)

- มุญจนเจตนา ในขณะที่กำลังบริจาคทานอยู่ ยังคงรักษาความรู้สึกนั้นไว้ ได้ไม่เกิดความเสียดาย หรือมีจิตใจเศร้าหมอง (ขณะทำที่บุญ)

- อปราปรเจตนา หลังจากบริจาคทานเสร็จไปแล้ว ไม่เกิดความเสียดาย ทั้งเมื่อระลึกถึงการบริจาคของตน กลับมีความชื่นชมโสมนัส มีจิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส (หลังจากทำบุญแล้วแม้นานก็ตาม)

เจตนาที่ดีทั้ง 3 กาล ต้องรักษาเจตนาอันเป็นกุศลไว้ นอกจากนี้ยังต้องประกอบไปด้วย ปัญญา ในการให้มิใช่ให้ด้วยความเขลาหรือหลงไหล

เหตุผลการทำความดีที่เราท่านทุกคนทำได้เป็นประจำคือ หมั่นสร้างทาน ศีล ภาวนา คือการรักษาอารยธรรมของอารยชน ก่อนจบธรรมะสมสมัยฉบับนี้ มีบทกลอนธรรมะขอเสนอ 9 ข้อ ดังนี้

กลอน สี่อย่า / ห้าให้

หนึ่ง .. อย่าสั่งสม ความทุกข์ เป็นเจ้าเรือน
สอง .. อย่าบิดเบือน ความจริง จากคำสอน*
สาม .. อย่าเหยียบย่ำ คำสั่ง* พระชินวร*
สี่ .. อย่าตัดรอน เลิกคบหา กัลยาณชน ฯ

ห้า .. ให้สั่งสม ความสุข เป็นเจ้าเรือน
หก .. ให้ย้ำเตือน สัจธรรม นำฝึกฝน
เจ็ด .. ให้เคารพ ศรัทธา หน้าที่ตน
แปด .. ให้คบคน มีปัญญา รักษาธรรม
เก้า .. ให้พร้อมนำ ประโยชน์รู้ สู่สังคม ฯ


รูปขอจำเริญพร