ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



การพิจารณา "ความว่าง"

บัณฑิตท่านต่างก็เข้าใจชัดแล้วว่าเครื่องอบรมบมเพาะจิต คือ ธรรมะ คนเรานั้นจะสูงจะต่ำ จะดำจะขาว ธรรมะจำแนกระดับความสูงต่ำได้อย่างชัดเจน อย่างคำกล่าวที่ว่า "ดีชั่วอยู่ที่ตัวทำ สูงต่ำอยู่ที่ทำตัว" แสดงถึงตนนั่นเทียวเป็นศูนย์กลางของความดีงาม หรือ ต่ำช้า ดังนั้น ในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ของเราเสียก่อน ให้ใจของทุกคนรวมศูนย์เป็นหนึ่งเดียว ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะที่พึงอันอุดม ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟังการอ่าน เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ท่านทั้งหลาย การพิจารณาความว่าง เป็นต้นทุนที่วิเศษมาก การปฏิบัติธรรมะ บุคคลทุกคนย่อมปฏิบัติได้ ไม่ว่าจะเป็นสตรีบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์บรรพชิต ไม่ว่าจะเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ มีต้นทุนมาเหมือนกัน ต้นทุนคือความว่าง การเกิดมาของเราล้วนมีองค์ประกอบหลาย ๆ อย่าง กล่าวอย่างย่อ ๆ ก็ว่ามี กาย กับ ใจ แรกเกิดมาก็ว่าง ๆ ไม่มีอะไร ไม่เป็นอะไร ว่าง ๆ อย่างนั้น การอบรมบ่มเพาะ การศึกษาปลูกฝั่ง การจัดการระเบียบให้กับชีวิตให้ดำเนินไปในทิศทางที่ดีงาม ก็เหมือนจัดดอกไม้ จัดแจกัน จัดห้อง จัดที่อยู่ จัดบ้านทั้งหลังที่ให้ตนเองอยู่ ให้ผู้อื่นอยู่อาศัยอย่างโปร่งใจ

เมื่ออะไร ๆ ที่มันว่าง ๆ เช่นบ้านว่าง นั่นเป็นต้นทุนที่ดี สามารถจัดการกับมันได้อย่างง่ายดาย เก็บก็ง่าย ใช้ก็เป็นระเบียบ และสิ่งต่อมาคือ เมื่อมีอะไร ๆ ใหม่ ๆ ค่อย ๆ เพิ่มเข้ามามันชักจะไม่ค่อยเรียบร้อยเสียแล้ว บ้านเรือน ห้องที่พัก เขตที่อยู่อาศัยนั้น ๆ มันเริ่มค่อย ๆ เต็มขึ้น ๆ จนมากมายไม่เป็นระเบียบ รกรุงรังเต็มไปหมด บ้านที่เคยสะอาดเรียบร้อยน่าอยู่อาศัยนั้น มันเกะกะไปหมดเสียแล้ว และทั้ง ๆ ที่มีเวลา 24 ชั่วโมงเท่าเดิม แต่ก็ไม่มีเวลาที่จะเก็บจะกวาดให้สะอาดโปร่งใจได้เหมือนเดิม เป็นเพราะอะไรกันเล่า "เพราะไม่ว่างบ้าง ไม่มีเวลาบ้างใช้ไหม?"

การพิจารณาความว่าง คือการละลายอัตตาของตน ๆ ให้โล่งโปร่งใจ จากความที่จิตไปยึดติดอยู่กับอดีตและอนาคตต่าง ๆ ในการปฏิบัติธรรมะนั้นก็ปฏิบัติขัดเกลา ให้รู้จักศีล ให้รู้จักสมาธิ ให้รู้จักปัญญา คือให้รู้จักที่จิตตนเอง เมื่อจิตเป็นศีลก็จะรู้จักศีลที่จิต เมื่อจิตเป็นสมาธิก็รู้จักสมาธิที่จิต เมื่อจิตเป็นปัญญาก็รู้จักปัญญาที่จิต และก็จะรู้จักผลของการปฏิบัติ อันเป็นความว่าง อันเป็นความสงบหลุดพ้น หรือเรียกชื่ออย่างอื่นว่าเป็นความไม่ยึดติดถือมั่นกับสิ่งทั้งปวง เป็นต้น


›››ปล่อยวางได้เมื่อไร สบายเมื่อนั้น

ปล่อยวาง รู้ว่าวาง ถ้ารู้วาง ก็รู้เบา ไม่รู้วาง ไม่รู้เบา ผู้โง่เขลา ไม่เข้าใจ อันความหลุดพ้น จากสิ่งที่ยึดมั่นนั้นแล้ว ก็กลับสู่ต้นทุนเดิมได้อย่างง่ายดาย หากใช้ศัพท์แสงหน่อยก็อาจเรียกว่า "วิมุติ" หรือเรียกว่า "นิพพาน" ความว่างบ้างก็เรียกว่า "สุญญตา" เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมะในพุทธศาสนา เมื่อรู้จักผลเหล่านี้แม้เพียงเล็กน้อย คือรู้จักความว่าง รู้จักความสงบ รู้จักความหลุดพ้น แม้เพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้เข้าใจพุทธศาสนาได้ดีขึ้น ได้รู้จักพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งเป็นพระรัตนตรัยนี้ ได้ดีขึ้น ได้ถูกต้องขึ้น

การพิจารณาความว่าง หรือการพิจารณาเรื่อง สุญญตา ความว่างนั้นก็เป็นคำที่พูดกันอยู่ ว่า ว่างการว่างงาน ไม่มีอะไรทำ อยู่ว่าง ๆ ไม่ทำอะไร เหมือนอยู่เฉย ๆ บางที่ก็ทำฟุ้งซ่าน หรือบางทีก็ทำให้กลัดกลุ้ม และสำหรับผู้ที่ต้องการประโยชน์จากการงาน เมื่อว่างงานก็แปลว่าขาดประโยชน์ ก็ทำให้เกิดความขัดข้องต่าง ๆ วิตกกังวนในการดำรงชีวิต เหล่านี้เป็นความว่างที่ใช้ในทางที่จัดว่าไม่ดี

ส่วนอีกอย่างหนึ่งความว่างที่ใช้ในทางดี ก็คือความที่ว่างโดยที่ได้พักผ่อน เมื่อต้องการความพักผ่อน และเมื่อได้โอกาสซึ่งเป็นความว่าง ได้พักผ่อน ก็ทำให้บังเกิดความผาสุข ดังนั้นเรื่องการพิจารณาความว่างจึงขึ้นอยู่ที่บริบถของบุคคลนั้น ๆ ว่าต้องการว่างอย่างไร ว่างแบบไหน


"ยกตัวอย่าง"

คนสองคนมีเงินแบงค์ร้อยอยู่สองร้อยเหรียญ คือมีอยู่คนละ 2 ใบ คนแรกทำหายไปใบหนึ่ง เขามานั่งเสียใจ เสียดายและเป็นทุกข์มากมาย ถึงกับจะเป็นจะตาย ร่ำไรรำพันอยู่ว่าเงินหายไปเปล่า ๆ ตั้งหนึ่งร้อย บ่นจริงบ่นจังเป็นทุกข์ทั้งปีทั้งชาติ ส่วนคนที่สองทำหายไปใบหนึ่ง เหมือนกันแต่เขากับไม่มีความทุกข์อะไรเลย กับมานั่งพิจารณาว่าตนเองได้หลาย ๆ สิ่งในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดีใจไม่ทุกข์ร้อนใด ๆ คิดอยู่ว่าดีนะ ยังเหลืออยู่อีกตั้งหนึ่งร้อย ยังได้พิจารณาความว่างนั่งหัวเราะอยู่ว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้ เป็นต้นฯ

ในทางพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้รู้จัก สุญญตา คือความว่าง มุ่งถึงความว่างกิเลส และว่างทุกข์ซึ่งเกิดจากกิเลส ว่างบาปอกุศลทุจริต ก็เป็นการว่างจากความทุกข์ เพราะเกิดจากบาปอกุศลทุจริต ในการปฏิบัติธรรมะนั้นต้องการผล คือ ความว่างกิเลส ว่างบาปอกุศลทุจริต และว่างความทุกข์ที่เกิดเพราะกิเลส และบาปอกุศลทุจริตต่าง ๆ เพราะฉะนั้นจึงต้องเข้าใจความว่าง ดังที่กล่าวมานี้

การพิจารณาความว่าง ในการปฏิบัติธรรมะ ตลอดถึงการเข้ามาบวชนั้น ก็มุ่งผลให้จิตนี้ว่างกิเลสและความทุกข์ที่เกิดเพราะกิเลส ว่างบาปอกุศลทุจริตทั้งหลาย และว่างความทุกข์ อันเป็นผลของบาปอกุศลทุจริตทั้งหลาย ให้จิตนี้มีความว่างดังกล่าวนี้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็ให้กายวาจาใจนี้เอง ว่างจากบาปอกุศลทุจริตทั้งหลาย

การพิจารณาความว่าง ดังกล่าวนี้ เป็นความสงบ และเป็นความพ้นพันธนาการ จากกองกิเลส คือการอยู่เหนือความโลภ โกรธ หลง สงบเย็นถอนตัวออกจากบาปอกุศลทุจริตต่าง ๆ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ เป็นความหลุดพ้น คือว่าหลุดพ้นจากบาปอกุศลทุจริตต่าง ๆ ตลอดจนถึงหลุดพ้นจากกิเลสต่าง ๆ อย่างผู้มีต้นทุน คือ "มีบุญคุ้มครอง มีบุญปกป้องรักษา ตลอดมา และตลอดไป"

หากแต่จิตใจของบุคคลทั่วไปนั้น ส่วนใหญ่มีความไม่ว่างประจำอยู่ และก็เป็นคำนิยมเลยว่า ไม่ว่างครับ ไม่ว่างคะ ติดธุระนั้นคาธุระนี้ เป็นต้น ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดานั่นแหละ ภาษาพระบอกว่า จิตมีนันทิคือความเพลิน มีราคะคือความติดใจยินดี มีตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก เป็นพันธนาการประจำอยู่ ซึ่งเรียกว่าอาลัย หรือเรียกว่า ความกังวลบ้าง เรียกว่า กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่อยู่ในสิ่ง ๆ นั้น ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย อำนาจกิเลส มีอยู่เป็นประจำ จิตย่อมอยู่ในอาลัย จิตอาลัยดังกล่าวนี้จึงเหมือนอย่างเป็นบ้านของจิต ท่านจึงเปรียบเหมือนอย่างว่าอาลัย คือน้ำเป็นที่อาศัยอยู่ของปลา ฉะนั้น

เพราะฉะนั้นจิตนี้จึงไม่ว่างอยู่โดยปรกติ และเมื่อปล่อยให้จิตนี้ท่องเที่ยวไปในกามคุณ หรือเรียกว่ากามฉันท์โดยไม่รู้สึกเดือดร้อน แม้ว่าจะต้องมีความทุกข์มาสลับกับความสุขเป็นครั้งเป็นคราว ก็อยู่ได้ เพราะอำนาจของความเพลิดเพลิน และความติดอยู่ ลักษณะของจิตสามัญทั่วไปย่อมเป็นไปอยู่ดั่งนี้ และการที่ได้ปฏิบัติจัดทำต่าง ๆ ไปตามวิสัยของกิเลสดังกล่าว จึงทำให้รู้สึกเพลิดเพลินไป ไม่รู้สึกเดือดร้อน

แม้ในบางครั้งบางคราว ไม่ขวนขวายทางกาย ทางวาจา ทางใจ ไปตามอำนาจของกิเลสดังกล่าวนั้น ก็จะรู้สึกเหมือนอย่างว่า เหมือนอย่างการที่มานั่งทำความสงบก็ดี นั่งฟังอบรมหรือฟังเทศน์ก็ดี หรือการเข้ามาบวชก็ดี ซึ่งเป็นการหยุดพักจากการวิ่งเต้นขวนขวายไปต่าง ๆ ตามอำนาจของกิเลส ก็ทำให้รู้สึกเหมือนอย่างว่าว่าง เมื่อต้องมาอยู่กับความว่าง อาจทำให้เกิดความฟุ้งซ่านรำคาญ หรือความดิ้นรนไปเพื่อที่จะได้ปฏิบัติจัดทำ เหมือนอย่างที่จะทำตามปรกติ จึงทำให้เข้าใจว่าความว่างทำให้เดือดร้อน จิตยังวนเวียนครุ่นคิดอยู่ในความว่างนั้น "จนฟุ้ง"

อันที่จริงนั้น เมื่อศึกษาดูให้ดี กำหนดดูให้ดีที่จิตแล้ว จึงจะเข้าใจว่าอันที่จริงจิตนั้นไม่ได้ว่าง จิตยังวุ่น เพราะจิตนี้ยังมีนันทิความเพลิดเพลิน ต้องจำพยางค์นี้นะโยม "รู้ว่ากายวุ่น อยู่กับจิตที่มีความว่าง" มีสติกำหนดความดับ ความสงบ เพื่อระงับราคะความติดใจยินดี ดับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ในอารมณ์คือเรื่องทั้งหลายอยู่เป็นประจำ และเมื่อต้องมาหยุด แม้ในขณะที่มานั่งสมาธินี้ก็ต้องมาหยุดจิต ไม่ให้คิดไปในอารมณ์คือเรื่องทั้งหลายตามใคร่ตามปรารถนา จะได้ไม่รู้สึกอึดอัดฟุ้งซ่านรำคาญใจ ไม่สบายกายไม่สบายจิต ยกจิตสู่การพิจารณาความว่าง ให้ถึงความว่างอย่างสูงส่ง (ฮ่าๆ) ว่างอย่างไร ว่างอย่างสูงส่ง ง่าย ๆ ว่างจากความยึดมันถือมั่น "ว่างแบบไม่รู้สึกอึดอัด"

ฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมะจึงต้องฝึกกำหนดจิตให้รู้ว่า ถ้าจิตยังวุ่น นั้นคือความไม่ว่าง จิตยังมีนันทิความเพลิน ราคะความติดใจยินดี ไปด้วยกันอยู่กับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก จึงทำให้ยินดีเพลิดเพลินยิ่งๆ ขึ้นไปอีกในอารมณ์คือเรื่องนั้นๆ โดยไม่หยุด เพราะฉะนั้นจึงต้องทำความรู้จักว่าอันที่จริงไม่ว่าง ยังไม่เป็นความว่าง

ก่อนจากกันวันนี้ ขออนุโมทนาบุญทุกท่านทุกคน ส่วนอานิสงส์กุศลคุณความดีใด ๆ ทั้งหลายทั้งปวง ขอน้อมเกล้าถวายเป็นพระราชกุศลแด่...พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร" พระราชาผู้ทรงธรรม 5 ธันวาคม นับเป็นความทรงจำของเหล่าพสกนิกรของพระองค์ว่า เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ (คล้ายวันเกิดของพระเจ้าอยู่หัวฯ ราชกาลที่ ๙ วันกษัตริย์โลก พระมหากษัตริย์ที่เป็นยิ่งกว่ากษัตริย์ใด ๆ ในโลก พระเกียรติของพระองค์ โลกได้เชิดชูความเป็นมหาราชอย่างน่าอัศจรรย์) ในวันเสาร์ที่ 3 ธันวาคม ศกนี้ เวลา 9.00 น. ขอเชิญทุกท่านพร้อมใจกันใส่บาตร ที่ตลาดสีลม Thailand Plaza at Hollywood Blvd City of Los Angeles

และวันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม ศกนี้ ขอชวนเชิญเจริญพร สาธุชนพุทธบริษัทผู้มีใจบุญใจกุศล ร่วมทำบุญตักบาตร ณ วัดทุ่งเศรษฐี เมืองเลควูด กำหนดการ เวลา10.30 น. สวดมนต์ทำวัตรเช้า (แปล) เวลา 11.00 น. พระสงฆ์เดินรับบาตร เวลา 11.30 น. ถวายภัตตาหารเพลประเคนภัตต์ พร้อมกันนั้น ศานุศิษย์พุทธชน ร่วมกันรับประทานอาหาร และเวลา 13.00 น. ฟังพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ ปิดท้ายด้วยการเจริญสมาธิภาวนา ถวายเป็นพระราชกุศลแด่...พระเจ้าอยู่หัวฯ ราชกาลที่ ๙ วันกษัตริย์โลก รูปขอจำเริญพร