ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



นรกหรือสวรรค์ สำคัญที่ผัสสะ

เมื่อใดที่ใจคนเร่าร้อน นรกก็เกิดขึ้นในใจไม่มีเป็นอื่นเช่นนั่นเอง ถ้าจิตโกรธ จิตอาฆาตรแค้น ขุ่นคือง 1 ครั้ง หรือ อารมณ์ฉุนเฉียว ความริษยา การประทุษร้าย 1 ครั้ง แสดงว่าจิตใจของใครดวงได้อยู่ใกล้ชิดนรกแล้ว นรก หรือ สวรรค์ เกิดขึ้นที่ตา ที่หู จมูก ลิ้น กาย และที่ใจ เช่นนั้นเอง เมตตาๆ เย็นกาย - เย็นใจ ปลอดภัยจากวิถีแห่งอบายแน่นอน

จำเริญพรท่านผู้แสวงสัจจะทุกท่าน เมื่อวันอังคารที่ 26 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา สัปดาห์นี้ เป็นโอกาสดีที่ได้เดินทางไปทำสามีจิกรรม สามีจิกรรม ถวายสักการะพระมหาเถระ “พระครูสุนทรธรรมสาธิต” วัดชาวพุทธ San Bernardino แคลิฟอร์เนีย @ มหาเถเร ปะมาเทนะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต ฯ

ก่อนหน้านั้นกิจสำคัญอย่างหนึ่งของพระสงฆ์คืออารอธิษฐานเข้าอยู่จำพรรษา ตามที่มีพระบรมพุทธานุญาต “อิมัส๎มิง อาวาเส อิมัง เตมาสัง วัสสัง อุเปมิ”

"เข้าพรรษา" แปลว่า "จำเพาะในฤดูฝน" หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน คือ เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปีเรียกว่า "ปุริมพรรษา"

ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือนแปดหลัง และออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า "ปัจฉิมพรรษา"

เว้นแต่มีกิจธุระคือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า "สัตตาหะ" หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด


สามีจิกรรม

ความน้อบน้อมต่อพระมหาเถระ

@ มหาเถเร ปะมาเทนะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง, สัพพัง อะปะราธัง ขะมะตุ โน ภันเต ฯ

@ กรรมใดที่ข้าพเจ้าได้เคยประมาทพลาดพลั้งล่วงเกินต่อพระมหาเถระเจ้า ครู อุปัชฌาย์ อาจารย์ ทั้งต่อหน้า แลลับหลังก็ดี ด้วยเจตนา แลไม่เจตนาก็ดี หรือด้วยกายกรรม ด้วยวจีกรรม และด้วยมโนกรรมก็ดี

@ ขอให้ท่านทั้งหลายผู้เป็นพระมหาเถระก็ดี พระเถระก็ดี จงงดโทษอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเทอญ

- เพื่อความไม่เป็นมลทินบาป

- เพื่อความงามแห่งศีลวินัย เบื้องต้น - ท่ามกลาง - และที่สุด

- เพื่อการประพฤติพรหมจรรย์ของข้าพเจ้าทั้งในปัจจุบัน - อนาคต ให้องอาจในที่ทั้งปวง ด้วยเทอญ.


ยกใจให้เหนือสภาวะที่สัมผัส

@ ทะเลาะกันในครอบครัว ต่อให้ชนะ "ความผูกพันก็หมดไป" หลักฆราวาสธรรม 4 ใช้ปลูกสัมพันธไมตรีในครอบครัวไว้ได้เป็นอย่างดี เพราะได้แสดงความจริงใจให้กัน การฝึกตนยอมรับในกันและกัน การรู้จักทดทนต่อบุคคลที่เป็นที่รัก และการรู้จักเสียสละสลัดอารมณ์ที่จะมาเป็นอุปสรรคทิ้งไป

@ ทะเลาะกับคนรัก ต่อให้ชนะ "ความรักก็จืดจางไป" อาตมาพิจารณาว่า

- แก่นแท้ของความรัก คือ ความเข้าใจ ถ้าเข้าใจกันก็อยู่กันได้ยืดยาว,

- คุณค่าของความรัก คือ ความมั่นคงภักดี ถ้าซื่อสัตย์จริงใจ เคารพให้เกียรติ ยกย่องกันและกัน ก็อยู่กันยั่งยืน,

- สาระสำคัญของความรัก คือ ความเอาใส่ใจให้เวลา อาตมาสังเกตดูว่าคู่รักเป็นส่วนมากที่ไม่มี เวลาให้กัน เท่าที่เห็นมักเกิดปัญหาระแหงแคลงใจ

@ ทะเลาะกับเพื่อน ต่อให้ชนะ "มิตรภาพก็สูญหายไป" มีเพื่อนมากมาย บางท่านแยกไม่ได้ว่าแบบไหนคือมิตรแท้ ข้อสังเกตคือ เพื่อนคนไหนเป็นที่พึ่งทางความคิดได้ ช่วยคุ้มครองปกป้องภัยอันตรายได้ ช่วยเหลือเกื้อกูลให้ความอบอุ่นวางใจได้ ป้องกันความลับไว้ได้ ห้ามไม่ให้ก้าวล่วงความผิด และเมื่อชีวิตมีสุข - ทุกข์ ก้าวไปด้วยกันไม่ทอดทิ้ง โบราณกล่าวไว้น่าคิดว่า "ยามจน ยามเจ็บ ยามจาก"

ยามทุกข์จน คนเขาหน่าย ใครเข้าช่วย
ยามเจ็บป่วย ช่วยประคอง ร้องปลอบขวัญ
ยามไม่มี ที่พึ่งใด ใจผูกพัน
ยามจากกัน พลันประวิง ไม่ทิ้งเรา ฯ

ชีวิตจริงแม้จะรักอิสระเพียงใด การเป็นอยู่ในโลกกว้างใบนี้ จำเป็นต้องมีเพื่อนแท้ การปฏิบัติธรรม คือการทำหน้าที่ของตน ๆ ให้สมบูรณ์ที่สุด การทำหน้าที่ต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อสังคม การยกใจให้เหนือสภาวะที่สัมผัส เป็นธุระของตัวเราเองเท่านั้น รูปขอจำเริญพร