ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



อานิสงส์การบำเพ็ญขันติบารมี

โอกาสนี้ ขอแจ้งญาติโยมคอลัมน์ "ธรรมะสมสมัย" จากที่วัดทุ่งเศรษฐีได้รับความอนุเคราะห์ให้พื้นที่ประกาศธรรมเป็นเวลาหลายปี และนับแต่เดือนตุลาคมศกนี้เป็นต้นไป ฝ่ายผู้บริหารแจ้งไว้ว่า มีคอลัมน์ทางกฎหมาย และสาระความรู้อื่น ๆ เพิ่มเข้ามา เพื่อความหลากหลายยิ่งขึ้น คอลัมน์ใดที่มีพื้นที่ Full Page ก็จะลดลงครึ่งหน้า ท่านทั้งหลาย ในรอบสัปดาห์นี้ ในนามวัดทุ่งเศรษฐี แคลิฟอร์เนีย ขออนุโมทนาขอบคุณขอบใจหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอ และผู้มีส่วนร่วมสนับสนุนทุกภาคส่วน จึงแจ้งมา ณ โอกาสนี้ เอาหละเรื่องราวการสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์ ตลอดพรรษานี้ การศึกษาธรรม การฟังธรรมย่อมจะนำมาซึ่งคุณ 5 ประการ คือ


อานิสงส์การฟังธรรม 5 ประการ

1. อสฺสุตํ สุณาติ ย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง, ได้เรียนรู้สิ่งที่ยังไม่เคยเรียนรู้

2. สุตํ ปริโยทเปติ สิ่งที่เคยได้ฟัง ก็ทำให้แจ่มแจ้ง เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น

3. กงฺขํ วิหนติ แก้ข้อสงสัยได้, บรรเทาความสงสัยเสียได้

4. ทิฏฺฐึ อุชุงฺ กโรติ ทำความเห็นให้ถูกต้องได้

5. จิตฺตมสฺส ปสีทติ จิตของเขาย่อมผ่องใส

ดังนั้น การฟังพระธรรมย่อมสร้างอุปนิสัยแก่ผู้ฟังทั้งมนุษย์และเทวดา นั้นแล ฯ และพรรษานี้ทางวัดทุ่งเศรษฐี ได้น้อมเอาทศชาติชาดก (พระเจ้า 10 ชาติ) อดีตชาติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแสดงทุกวันอาทิตย์ ในโครงการ "ธรรมาสน์ทอง ธรรมาสน์ธรรม" อาทิตย์นี้นำเรื่องพระจันทกุมารโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นพระชาติที่ 7 "ทรงบำเพ็ญขันติบารมี" อย่างยิ่งยวดแล้ว สามารถเปลี่ยน Injustice ให้กลับเป็นความยุติธรรม ผดุงรักษาความเป็นธรรม และผลประโยชน์ให้กับบ้านเมืองและประชาชน อย่างผาสุก


ลาภสักการะ ย่อมฆ่าบุรุษถ่อย

ชาดกเรื่องจันทกุมารเกิดขึ้นที่เมืองพารานสี ณ บุปผวดี กษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าเอกราช มีพระราชบุตร พระนามว่า "จันทกุมาร" ตำแหน่งเป็นอุปราช และพราหมณ์ชื่อ "กัณฑหาล" เป็นปุโรหิต มีหน้าที่ตัดสินคดีความ แต่เป็นคนไม่ยุติธรรม มักรับสินบนจากคู่ความเสมอ ข้างไหนให้สินบนมาก จะตัดสินความเข้าข้างนั้น

วันหนึ่ง มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ เรื่องได้ยินไปถึงพระจันทกุมาร จึงตรัสถาม ว่าเกิดเรื่องอะไร บุคคลนั้นจึงทูลว่า "ปุโรหิต มิได้เป็นผู้ทรงความยุติธรรม หากแต่รับสินบนอยู่เนือง ๆ"

พระจันทกุมารตรัสว่า "เราจะเป็นผู้ให้ความยุติธรรมแก่เจ้า" แล้วพระจันทกุมารก็ทรงพิจารณาความอีกครั้งโดยความยุติธรรม ประชาชนทั้งหลายต่างแซ่ซ้องสดุดี

พระเจ้าเอกราช ทรงทราบจึงมีโองการว่า "ต่อไป หน้าที่ตัดสินคดีความทั้งปวง ยกให้จันทกุมารแต่ผู้เดียว"

กัณฑหาล ถูกถอดจากตำแหน่งจึงเคียดแค้นจันทกุมาร ว่าทำให้ตนขาดผลประโยชน์ และได้รับความอับอายขายหน้า ผูกใจพยาบาทแต่นั้นมา อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าเอกราช ทรงฝันเห็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เห็นความรื่นรมย์ ต่างๆ นานา ในสวรรค์

เมื่อตื่นจากฝัน พระองค์ยังทรงอาลัย และปรารถนาจะได้ไปสู่ดินแดนอันเป็นสุขนั้น จึงตรัสถามบรรดาผู้ที่พระองค์ คิดว่าจะสามารถบอกทางไปสู่เทวโลกได้ กัณฑหาลได้โอกาสจึงกราบทูลว่า "ข้าแต่พระราชา ผู้ที่ประสงค์จะไปสู่สวรรค์ มีอยู่หนทางเดียว คือ ทำบุญให้ทาน และฆ่าบุคคลที่ไม่ควรฆ่า"

พระราชาตรัส ถามว่า "ฆ่าบุคคลที่ไม่ควรฆ่า หมายความว่าอย่างไร"

กัณฑหาลทูลตอบว่า "พระองค์ต้องบูชายัญด้วยพระราชบุตร พระมเหสี ประชาชนหญิงชาย เศรษฐี และช้างแก้ว ม้าแก้ว จำนวนอย่างละสี่ จึงจะไปสู่สวรรค์ได้"

ความที่อยากไปเสวยสุขในสวรรค์ พระเจ้าเอกราช ทรงเห็นสมควรตามผู้มีจิตริษยาพยาบาททูลแนะ พระองค์ทรงระบุชื่อ พระราชบุตรพระมเหสี เศรษฐี ประชาชน และช้างแก้ว ม้าแก้ว ที่จะบูชายัญด้วยพระองค์เอง


กัณฑหาลประสงค์ล้างแค้น

ต้องการฆ่า พระจันทกุมาร เกรงว่าผู้คนจะสงสัย จึงแสร้งให้บูชายัญเป็นจำนวนสี่ พระจันทกุมาร ผู้เป็นโอรสองค์ใหญ่ ทรงอยู่ในจำนวนให้นำมาทำพิธีด้วย

พระจันทกุมารทรงถามว่า ใครเป็นผู้ทูลให้พระราชาประกอบพิธีบูชายัญ ราชบุรุษทูลว่า "กัณฑหาล" แล้วทรงทราบว่า เป็นเพราะความริษยาพยาบาทเป็นสาเหตุ

ต่อมา พระบิดาพระมารดาของพระราชาเอง ทราบก็รีบเสด็จมาห้ามปรามว่า "ลูกเอ๋ยทางไปสวรรค์ที่ต้องเบียดเบียนผู้อื่นนั้น จะเป็นไปได้อย่างไร การให้ทาน การงดเว้นการเบียดเบียนต่างหากเป็นทางสู่สวรรค์" อพฺยาปชฺชํ สุขํ โลเก : ความไม่เบียดเบียนเป็นสุขในโลก ฯ


พระราชาผู้ถูกประชาชนลงทัณฑ์

ญาติโยมท่านทั้งหลายที่จริงความตอนนี้ ชาดกกล่าวถึงบทสนทนาไว้ได้เป็นคติมากทีเดียว แต่ขอตัดถ้อยคำทั้งหมดไป และสรุปตรงที่ว่า พระราชาสั่งให้คนปลดปล่อยคนทั้งหมดจากเครื่องจองจำ ในทันใดนั้นประชาชนที่รุมล้อมอยู่ก็ช่วยกันเอาก้อนหิน ก้อนดินและท่อนไม้ เข้าขว้างปาทุบตีกัณฑหาล พราหมณ์ปุโรหิตจนสิ้นชีวิตอยู่ ณ ที่นั้น

แล้วหันมาจะฆ่าพระราชา แต่พระจันทกุมารตรงเข้ากอดพระบิดาไว้ ผู้คนทั้งหลายก็ไม่กล้าทำร้าย ด้วยเกรงพระจันทกุมารจะพลอยบาดเจ็บ ในที่สุดจึงประกาศว่า "เราจะไว้ชีวิตแก่พระราชาผู้โฉดเขลา แต่จะให้ครองแผ่นดิน มิได้" เราถอดพระยศพระราชาแล้ว

จากนั้นมหาชนก็กระทำพิธีอภิเษกพระจันทกุมารขึ้นเป็นพระราชา ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยความยุติธรรม เมื่อทรงทราบว่าพระบิดาลำบากอยู่นอกเมือง ทรงให้ความช่วยเหลือพอที่พระบิดาจะดำรงชีพอยู่ได้ พระจันทกุมารปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุขตลอดมาจนถึงที่สุดแห่งพระชนม์ชีพ ครั้นสิ้นชีพก็ได้บรรเทิงในสรวงสวรรค์ ด้วยอานิสงส์แห่งขันติบารมี


อานิสงส์ของความอดทน 5 ประการ

1) ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก

2) ย่อมเป็นผู้ไม่โหดร้าย

3) ย่อมเป็นผู้ไม่เดือดร้อน

4) ย่อมเป็นผู้ไม่หลงกระทำกาละ

5) ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

(อขันติสูตรที่ 2 พระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)


ด้วยอำนาจแห่งขันติบารมี ขอให้ญาติโยมทุกคนทุกท่าน จงประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ มีความสุขนิรันดร์ ทุกทิพาราตรีกาล เทอญ รูปขอจำเริญพร