ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ภิกษุ กับความเป็นผู้อ่อนโยน

ท่านผู้แสวงสุขทั้งหลาย " ความเป็นผู้อ่อนโยน ควรเป็นอย่างไร " ความอ่อนโยน เอาให้เข้าใจกันง่ายๆ คือ ความสุภาพด้วยกิริยามารยาท ท่วงท่าที่อ่อนน้อมถ่อมตน ซึ้งคุณสมบัติแบบที่อยู่ไกลใครแล้วทำให้เขารู้สึกวางใจ เย็นใจ อย่างนี้คนที่อื่นๆ ที่ได้สัมผัสพบเห็นแล้วใครๆ เขาก็อยากคบหา

พระภิกษุในพระธรรมวินัยพึงมีความอ่อนโยน เป็นที่เจริญใจของชาวบ้าน เช่นมีสัมมาปฏิบัติ กล่าวคือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าปราศจากอัสมิมานะ และไม่พิจารณาเห็นว่า เราเป็นโน้นนี่นั่น เป็นผู้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ เป็นผู้ทำหน้าที่เพื่อธรรมะ ในนิสสารณียสูตร อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาตกว่าถึงอัสมิมานะว่า หมายถึงความถือตัวว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ คือ

(1) มานะ ถือตัวว่าเลิศกว่าเขา

(2) อติมานะ ถือตัวจัดมากจนน่าเกลียด

(3) มานาติมานะ ความเย่อหยิ่ง

(4) โอมานะ ดูถูกด้อยค่าตัวเอง

(5) อธิมานะ ยกตัวเองสำคัญตัวเอง

(6) อัสมิมานะ ความยึดมั่นว่านี่เป็นตัวตนของเรา

(7) มิจฉามานะ ความถือตนแบบผิดๆ เป็นต้น ฯ

ในที่นี้หมายถึงความสำคัญ ความพอใจ ความเข้าใจ ความถูกใจ ว่าเป็นเรา ของเรา แบบว่าวางไม่ลง ปลงไม่ได้ ประมาณนั้น

หลักสัมพันธ์ทางพุทธศาสนา การอยู่ร่วมกันในสังคมมักจะมีปัญหาเกิดขึ้นเสมอ โดยเฉพาะการกระทบกระทั่งกันด้วยวาจา ใจ และการเบียดเบียนกัน สังคมที่มีการเบียดเบียนกันสังคมนั้นย่อมหาความสุขไม่ได้ การปฏิบัติตนให้อยู่ร่วมกันในสังคมให้ราบรื่นเรียบร้อย มีความสุข และมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน พระพุทธเจ้าได้ให้หลักธรรมในการอยู่ร่วมกันไว้ว่า

1. การมีสังคหวัตถุ 4 คือ มีเครื่องสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน ซึ่งประกอบด้วย

ทาน คือ การให้ปันสิ่งของ ๆ ตนต่อผู้อื่น การผูกใจคนต้องอาศัยการให้เป็นหลักพื้นฐาน การให้เป็นการแสดงออกถึงไมตรีจิตของผู้ให้ที่ผู้รับพอใจ

ปิยวาจา คือ การมีถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน น่าฟัง ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยครองใจคนด้วยไมตรีจิต

อัตถจริยา คือ การประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เป็นคนไม่ดูดาย รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม

สมานัตตตา คือ ความเป็นผู้มีตนสม่ำเสมอ วางตนเหมาะสมไม่ถือตัว นอบน้อมต่อผู้ใหญ่

2. การมีผาสุกวิหารธรรม คือ ธรรมอันเป็นเครื่องอยู่อย่างเป็นสุข คนเราไม่ว่าจะอยู่ร่วมกันในครอบครัว ในองค์การ หรือในสังคมก็ตาม จะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขได้ต้องตั้งมั่นอยู่ในหลักธรรม 6 ประการ ดังนี้

เมตตากายกรรม คือ มีเมตตาต่อกัน ทำอะไรด้วยกายที่ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น

เมตตาวจีกรรม คือ จะพูดอะไรต้องมีเมตตาต่อกัน โดยสำนึกถึงความเสียหายของผู้อื่น ไม่พูดให้เกิดความเข้าใจผิด หรือแตกแยกความสามัคคี

เมตตามโนกรรม คือ คิดอะไรต้องมีจิตเมตตาทั้งต่อหน้าและลับหลัง มีความปรารถนาดี ไม่คิดร้าย คิดทำลาย ไม่คิดแก้แค้น คิดแต่ในทางที่ดีเป็นกุศล

มีการแบ่งปันลาภที่ตนไดมาแล้วโดยชอบธรรม ให้แก่ผู้อื่นที่สมควรให้ โดยไม่หวงไว้ใช้หรือบริโภคแต่เพียงผู้เดียว

มีความประพฤติเสมอกัน คือ จะต้องมีศีลบริสุทธิ์เหมือนกัน ไม่รังเกียจผู้อื่น ต้องเคารพในสิทธิอันเสมอภาคกัน

มีความคิดถูก คิดดีเหมือนกัน คือ มีความคิดเห็นที่ประเสริฐ เป็นความคิดที่เกื้อกูลไปสู่ความสุข ความเจริญ และพ้นทุกข์ ไม่วิวาทกับใคร ๆ เพราะมีความเห็นผิดกัน

มีสามัคคีธรรม คือ ความพร้อมเพรียงของหมู่คณะทำให้เกิดสุขในทางปฏิบัติ สามัคคีธรรมประกอบด้วย

ความสามัคคีทางากาย คือ การทำงานร่วมกันด้วยความเสียสละ

ความสามัคคีทางใจ คือ มีความพร้อมใจกันที่จะทำกิจทุกอย่าง

ความสามัคคีทางความคิด คือ การช่วยกันคิดสร้างสรรค์ความเจริญให้เกิดแก่ส่วนรวม ไม่คิดเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

นอกจากหลักธรรมดังกล่าวข้างต้น มนุษย์ที่อยู่ในสังคมประสบแต่ความทุกข์ ต้องการมีชีวิตที่หลุดพ้นความทุกข์ได้นั้น จึงขอเสนอขั้นตอนของวิธีการแก้ปัญหาทางพุทธศาสนา โดยยึดหลักธรรมการใช้ปัญญาแก้ทุกข์ คือ อริยสัจ 4 ประการ ดังนี้ 1. ทุกข์ 2. สมุทัย 3. นิโรธ 5. มรรค รวมไปถึงปฏิปทาอันจะเป็นพลังเกื้อกูลให้อ่อนโยนด้วย กาย วาจา ใจ อย่างครบถ้วน

แจ้งข่าวร่วมทำบุญกวนข้าวทิพย์ ตั้งใจมาตั้งแต่พฤษภาคม ซึ่งจำต้องปล่อยผ่าน เพราะเนื่องจากเกิดภาวะอากาศร้อนมาก ตลอด 3 ปีที่ย้ายมาอยู่เมืองแลงแคสเตอร์ ปีนี้ร้อนสุด อย่างไรก็ดีพิธีกวนข้าวทิพย์วัดพระธาตุทุ่งเศรษฐีได้ฤกษ์แล้ว กำหนดการวันอาทิตย์ 9 ตุลาคม 2565 ก่อนวันออกพรรษา ถึงตนนั้นอากาศคงได้เย็นตัวลง แล้วเราจะได้พบกันในบุญพิธีกวนข้าวทิพ์ ณ วัดพระธาตุทุ่งเศรษฐี แคลิฟอร์เนีย 6763 E AVENUE H., LANCASTER, CA 93535-7849 รูปขอจำเริญพร