ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



พลังเหนือความคาดหมาย

ท่านผู้มีบุญทั้งหลาย สัปดาห์นี้ต้องการเล่าเรื่องพลังเหนือความคาดหมาย ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน ถึงจะพูดกันได้ให้มีประสิทธิผล ซึ่งเป็นเหตุผลที่สามารถพิสูจน์ได้ และมีอยู่จริง เช่น : พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานจากลม พลังงานจากน้ำ พลังงานจากดินหรือถ่านหิน ฯลฯ เป็นต้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง โดยการนำพลังแสงเปลี่ยนไปเป็นพลังไฟฟ้า และพลังงานเหล่านี้มีอยู่ตามธรรมชาติ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ

และที่สำคัญคือ "ปัญญาของมนุษย์นั่นเองที่สามารถเข้าไปดึงเอาพลังที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาเพื่อใช้ประโยชน์" ถ้าอธิบายว่าพลังเหล่านี้ว่า เป็นอยู่จริง มีอยู่จริง ใช้งานได้จริง มิได้เป็นพลังที่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด ขอเพียงเรารู้กลไกของมัน


พลังกาย พลังความคิด พลังปัญญา

พลังกาย หรือ กำลังกาย คนที่นำหนักตัว 65 - 100 กิโลกรัม เขาอาจลากของหนัก ได้นับเป็นตัน หรืออาจแบกของหนักได้มากกว่าน้ำหนักตัว ถึง 100 - 400 กิโลกรัม สถิติโลกยกน้ำหนัก 500 กิโลกรัมสำเร็จ ท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่าเราสามารถดึงเอาพลังกายมาใช้ได้

พลังความคิด หรือ กำลังความคิด "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์" นักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้บอกประโยคหนึ่งว่า "Imagination is more important than knowledge" "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" เป็นวลีอันอมตะที่ไอน์สไตน์ทิ้งเอาไว้ให้แก่โลก ความรู้ทำให้เราฉลาดขึ้น แต่มันจะเป็นสิ่งที่อยู่คงเดิมอย่างนั้น หากเราไม่นำความรู้นั้นไปใส่จินตนาการเพิ่มเติม เปรียบเทียบง่าย ๆ ความรู้ก็เหมือนกับปัจจุบัน ขณะที่จินตนาการเปรียบได้กับอนาคต

พลังปัญญา หรือ กำลังปัญญา การพัฒนาศักยภาพชีวิตของบุคคลคนหนึ่งให้เป็นทรัพยากรบุคคลล้ำค่า ทรงเกียรติด้วยความรู้และสามารถ เสร็จแล้วแปลงทรัพยากรบุคคลให้เป็นทุน การพัฒนาทุนต่อยอดให้เป็นกำไร การแปลงกำไรให้เป็นสินทรัพย์ กำลังปัญญา คือ การเปลี่ยนวิธีคิด เกิดการค้นพบศักยภาพในตนเอง พระพุทธเจ้าได้บรรลุสัพพัญญุตญาณก็ด้วยพลังแห่งสติปัญญา พระองค์มุ่งมั่นสู่จุดหมายได้เป็นผลสำเร็จด้วยการลงมือทำ “ไม่มีประกาศนียบัตรแม้เพียงใบเดียว หากแต่พระองค์ได้เป็นผู้ลงมือกระทำด้วยตนเองอย่างแท้จริง”


พลัง กำลัง 5 ประการ

1) ศรัทธาพละ พลังความเชื่อ เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า, เชื่อในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่เชื่อ เชื่อว่ามนุษย์คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดี ก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุด บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญไว้เป็นแบบอย่าง ศรัทธาจึงเป็นกำลังการควบคุมความสงสัย ควบคุมวิตก ควบคุมวิจารณ์ เป็นพลังเกิดขึ้นมั่นคงในตัวทั้งสิ้น

2) วิริยะพละ พลังความเพียร เป็นพลังฝ่ายกุศลหรือที่เรียกกันว่าฝ่ายบวกฝ่ายดี เป็นหนึ่งในองค์ธรรมนำไปสู่ความสำเร็จยิ่งใหญ่ในอิทธิบาทธรรม 4 ประการ คือ ฉันทะ (วิริยะ) จิตตะ และวิมังสา เป็นกำลังควบคุมความเกียจคร้าน พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงบำเพ็ญถึงที่สุดแล้ว สำเร็จทุกสิ่งสมปรารถนาด้วยตนเอง "วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ" แปลว่า :-

คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร “Effort is the cause of freedom from suffering” ความเพียรพยายามเป็นสาเหตุของอิสรภาพให้ล่วงพ้นจากความทุกข์ ดังนั้นท่านใดที่มีความหวัง หรือตั้งความหวังไว้ว่าต้องการมีรถ มีบ้าน ฯลฯ ต้องเอาประโยชน์โดยดึงเอาพลังความเพียรมาใช้ให้ได้มาก ๆ แล้วจะมีความสำเร็จทุกอย่าง

3) สติพละ พลังแห่งความระลึกได้ "สติมา สัมปชัญญะ ความรู้ตัวทั่วพร้อมก็เกิดขึ้นในทันใด" เป็นธรรมที่มาเป็นคู่แพ็คเก็ต ซึ่งเป็นกำลังที่เกิดขึ้นเพื่อควบคุมความประมาท ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ควบคุมงมงายไร้สาระ พลังสติความคุมไม่ให้เป็นเจ้าอารมณ์ เช่น จิตไม่ประกอบด้วยโลโภ ไม่โมโหโกรธา ไม่อาฆาตมาดร้าย ไม่จองเวร ผู้มีสติย่อมไม่ก่อเวร ดังนั้นสติจึงเป็นบาทฐานสำคัญของธรรมทั้งปวง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

"สติ โลกสฺมิ ชาคโร สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก"

"สติมโต สทา ภทฺทํ คนผู้มีสติ มีความเจริญทุกเมื่อ"

"สติมา สุขเมธติ คนมีสติ ย่อมได้รับความสุข"

"สติมโต สุเว เสยฺโย คนมีสติ เป็นผู้ประเสริฐทุกวัน"

4) สมาธิพละ พลังแห่งความตั้งใจมั่น การศึกษาเล่าเรียน การทำงานให้สำเร็จ ถ้าขาดสมาธิก็ทำให้ขาดหนักแน่น จิตไม่ประกอบความเพียรได้ โบราณว่า "ทำงานด้วยความเพียร เรียนด้วยสมาธิ" ถ้าพลังสมาธิไม่เกิด ปฏิภาณความรู้ความชำนาญอื่น ๆ ก็ไม่มีกำลัง สำหรับยุคนี้ ท่านทั้งหลายคงคุ้นกับคำนี้เป็นอย่างดี "พลังจิตตานุภาพ" พลังสมาธิเป็นกำลังควบคุมพฤติกรรมความเคลื่อนไหวของกายและจิต ไม่ให้เกิดอาการวอกแวก ฟุ้งซ่าน ควบคุบความง่วงเหงาหาวนอน เป็นที่ตั้งความมั่นคงทางจิตดี ๆ นี่เอง

5) ปัญญาพละ ความรอบรู้ - รู้แจ้ง - รู้จริง - รู้ชัด - รู้สลัด - รู้ปล่อยวาง - รู้ว่าง - รู้เย็น - รู้เห็นสิ่งถูก - สิ่งผิด กำลังการควบคุมความเชื่อ ควบคุมความเพียร ควบคุมสติ ควบคุมสมาธิ ควบคุมการทำเกินพอดี เอาให้ชัดคือเข้าใจว่า นี้เป็นปัญญาทางโลกียะ นี้เป็นปัญญาทางโลกุตตระ เช่น -

- วิมุตติ คือ ความหลุดพ้น เป็นวัตถุประสงค์มุ่งหมายของการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ดังพุทธภาษิตว่า

พรหมจรรย์นี้มิได้มีลาภสักการะสรรเสริญเป็นอานิสงส์ มิได้มีกามสุขในสวรรค์เป็นอานิสงส์ มิได้มีการเข้าถึงความเป็นอันเดียวกับพรหมในพรหมโลกเป็นอานิสงส์ แต่ว่ามีวิมุตติเป็นอานิสงส์ ดังนี้

- ตทังควิมุตติ คือ การพ้นไปจากอำนาจของ "ตัวกู-ของกู" ด้วยอำนาจของสิ่งที่บังเอิญประจวบ

เหมาะ

- วิกขัมภนวิมุตติ คือความดับแห่ง "ตัวกู" ซึ่งเป็นไปด้วยอำนาจของการประพฤติหรือการกระทำทางจิต หมายถึง ขณะนั้นมีการกระทำจิตให้ติดอยู่กับอารมณ์ของสมาธิอย่างใดอย่างหนึ่งตามแบบของการทำสมาธิ

- สมุจเฉทวิมุตติ คือความดับ "ตัวกู" ด้วยการกระทำทางปัญญา คือการทำลายอวิชชาลงอย่างสิ้นเชิง

เปรียบเทียบได้ว่า อย่างแรกนั้นอาศัยอำนาจของการประจวบเหมาะ อย่างที่ 2 หรืออย่างกลางนั้นอาศัยอำนาจของจิตที่ปฏิบัติถูกวิธี ส่วนอย่างที่ 3 หรืออย่างสูงนั้นอาศัยอำนาจของปัญญา

ท่านทั้งหลาย พละ คือ กำลัง 5 อย่าง เมื่อมาทำงานร่วมกัน "พลังเหนือความคาดหมาย" จะเกิดขึ้น อำนาจทางจิตก็ดี บุญบารมีก็ดี ความปรารถนาใด ๆ ก็ดี ย่อมเป็นพลังส่งเสริมกันและกันให้เกิดความสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์

กุศลจิตคิดบวก คิดดี คิดเป็น คิดก้าวหน้า ความสำเร็จยิ่งใหญ่ บุญเกื้อหนุน บารมีเพิ่มพูน อนุโมทนา สาธุ ฯ รูปขอจำเริญพร