ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ศีลธรรม สังคมอุดมคติ ของชาวพุทธ !

เรื่องใกล้ตัวของชาวพุทธที่ควรทราบ อาตมาได้นำเสนอศีล 5 ข้อแรกมาสองสัปดาห์ ชาวพุทธต่างทราบว่า ศีลห้า เป็นศีลของมนุษย์ ผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์จะต้องมีศีลห้าบริบูรณ์ ศีลห้าจึงเป็นศีลของผู้มีใจสูง มีคำถามถามว่า "มีใครรักษาศีลห้าได้ครบถ้วนตลอดชีวิตบ้าง?" โปรดยกมือขึ้น จะเห็นได้ว่าไม่มีคนยกมือ นี่ก็แสดงว่าลำพังแต่ศีลเพียงห้าข้อก็รักษากันไว้ไม่ได้เสียแล้ว! พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า "ให้รักษาใจตัวเดียว" ดังในสมัยพุทธกาล ภิกษุรูปหนึ่งในจำนวน 500 รูปผู้บวชใหม่ เมื่อบวชแล้วได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อขอลาสิกขา โดยกล่าวว่า ศีลของภิกษุมากเหลือเกิน ปฏิบัติไม่ไหว จึงขอลาสิกขา พระพุทธองค์จึงให้ภิกษุรูปนั้นรักษาศีลเพียงข้อเดียว คือให้รักษาใจ พระภิกษุรูปนั้นจึงรับถือศีลข้อเดียวจนได้สำเร็จอริยบุคคล

ตัวอย่างหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ตอบคำถามที่ว่า "ทราบว่าท่านรักษาศีลเพียงข้อเดียว มิได้รักษาทั้ง 227 ข้อ เหมือนพระทั้งหลายที่รักษากันใช่ไหม?" หลวงปู่ฯ ตอบว่า "ใช่ อาตมารักษาเพียงอันเดียว คือใจ อาตมารักษาใจ ไม่ให้คิดพูดทำในทางผิด อันเป็นการล่วงเกินข้อห้ามที่ทรงบัญญัติไว้จะเป็น 227 ข้อ หรือมากกว่านั้นก็ตาม บรรดาที่เป็นข้อทรงบัญญัติห้าม อาตมาก็ใจเย็นว่าตนมิได้ทำผิดต่อพุทธบัญญัติ ส่วนท่านผู้ใดจะว่าอาตมารักษาศีล 227 หรือไม่นั้น สุดแต่ผู้นั้นจะคิด จะพูดเอาตามความคิดของตน เฉพาะอาตมาได้รักษาใจอันเป็นประธานของกาย วาจา อย่างเข้มงวดกวดขันมาตลอด นับแต่เริ่มอุปสมบทมา ฯลฯ"

คำกล่าวกลิ่นแห่งศีลนั้น หอมทวนลม

  หอมกลิ่นดอกไม้ที่ นับถือ

หอมแต่ตามลมลือ  กลับย้อน

หอมแห่งกลิ่นกล่าวคือ  ศีลสัตย์ นี้นา

หอมสุดหอมสะท้อน   ทั่วใกล้ไกลถึง

(โคลงโลกนิติ)

ทำอย่างไรจึงจะรักษาศีล 5 ตลอดชีวิตได้ ?

การรักษาศีล คือ การมีเจตนางดเว้นจากการทำความชั่ว ดังคำพุทธพจน์รับรองว่า "เจตนาหัง ภิกขะเว สีลัง วะทามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเรากล่าวว่าเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นนั่นแหละคือ ศีล" การงดเว้นมีอยู่ 3 ประการ คือ

1. สมาทานวิรัติ คือ การงดเว้นด้วยการสมาทาน เช่น สมาทานศีลกับพระ

2. สัมปัตตวิรัติ คือ การงดเว้นเมื่อมีเหตุบังเกิดขึ้นเฉพาะหน้าแม้ไม่สมาทาน แต่เมื่อมีเหตุการณ์อันใดอันหนึ่งที่จะผิดศีลและตั้งใจงดเว้นขึ้นในขณะนั้น ถือว่าเป็นศีลเพราะตั้งใจงดเว้นเอาเอง

3. สมุจเฉทวิรัติ คือ การงดเว้นโดยเด็ดขาด นั่นคือศีลของพระอริยะบุคคลซึ่งเป็นโลกุตตระศีล เป็นศีลขั้นสูง เช่น พระโสดาบันรักษาสิกขาบท 5 หรือศีล 5 นี้ได้ตลอดชีวิต เป็นศีลที่รักษาได้โดยอัตโนมัติคืองดเว้นโดยเด็ดขาด โดยไม่ต้องสมาทานและไม่ต้องตั้งเจตนา ศีลนี้ หากใครรักษาดีแล้ว ย่อมอำนวยประโยชน์แก่ผู้นั้นมากมายเป็นประโยชน์ในชาตินี้ คือ มีความเย็นใจไม่เดือดร้อนเพราะเป็นผู้มีศีล ประโยชน์ในชาติหน้าพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงสรุปผลของศีลไว้ 3 ประการว่า

"สีเลนะสุคะติง ยันติ บุคคลจะไปสู่สุคติได้ก็เพราะศีล

สีเลนะโภคะ สัมปะทา บุคคลจะมีโภคะได้ก็เพราะศีล

สีเลนะ นิพพุติง ยันติ บุคคลจะบรรลุพระนิพพานได้ก็เพราะศีล"


อานิสงส์ของการรักษาศีล 5

1. ทำให้อายุยืน ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน

2. ทรัพย์สมบัติที่อยู่ในความปกครอง มีความปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายมาราวีบีฑา

3. สามี ภริยา ลูก หลาน อยู่ด้วยกันเป็นผาสุก ไม่มีผู้คอยล่วงล้ำกล้ำกราย อยู่ด้วยความเป็นสุข

4. พูดอะไร มีผู้เคารพเชื่อถือ คำพูดมีเสน่ห์เป็นที่จับใจไพเราะ ด้วยสัตย์ด้วยศีล

5. เป็นผู้มีสติปัญญาดีและเฉลียวฉลาด ไม่หลงกิริยา

ผู้มีศีล เป็นผู้ปลูกและส่งเสริมสุขบนหัวใจคนและสัตว์ทั่วโลกให้ มีแต่ความอบอุ่นไม่เป็นระแวงสงสัย ผู้ไม่มีศีลเป็นผู้ทำลายหัวใจคนและสัตว์ ให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า

ผู้มีศีล ย่อมเป็นผู้องอาจกล้าหาญ ผู้มีศีล ย่อมมีความสุข ผู้จักมั่งคั่งบริบูรณ์ สมบูรณ์ ไม่อด ไม่อยาก ไม่จน ก็เพราะรักษาศีลได้สมบูรณ์ จิตดวงเดียว เป็นศีลเป็นสมาธิ เป็นปัญญา ผู้มีศีลแท้ เป็นผู้หมดเวรหมดภัย

ศีล คือทางมาแห่งรูปสมบัติ ศีล หมายถึง ปกติ ความตั้งใจที่จะงดเว้นจากความชั่ว ความทุจริต และสิ่งไม่ดีทุกประการ ดังที่พระสารีบุตรกล่าวไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคว่า ศีล คือ เจตนา ความตั้งใจ ที่จะงดเว้นจากกายทุจริต 3 (ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม) และวจีทุจริต 4 (ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ) ศีลเป็นบ่อเกิดแห่งความสงบ ความดีงาม เนื่องจากศีลเป็นคุณธรรมที่ช่วยรักษากาย วาจา ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย การรักษาศีลให้บริสุทธิ์จะทำให้ใจสงบ ปลอดกังวล ช่วยให้บรรลุธรรมได้โดยง่าย ศีลจึงเป็นคุณธรรมที่จะนำไปสู่กุศลธรรมเบื้องสูง คือ สมาธิ และปัญญา

ศีล มี 3 ประเภท คือ ศีล 5 (จูฬศีล) ศีล 8 (มัชฌิมศีล) และปาริสุทธิศีล (มหาศีล) ศีล 5 เป็นพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติ มนุษย์ แปลว่าสัตว์ที่มีจิตใจสูงส่ง สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล มนุษย์มีเหตุผล รู้จักยับยั้งชั่งใจ แต่สัตว์ไม่มีสิ่งเหล่านี้ เมื่อใดที่มนุษย์มีศีล 5 ครบ ความเป็นมนุษย์ก็สมบูรณ์ กาย, วาจา, ใจก็เป็นปกติ เมื่อใดศีล 5 ขาด ความเป็นมนุษย์ก็ลดลง

ศีล 5 จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ที่ใช้แบ่งแยกความเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์ได้ หน้าที่ของศีลจึงมีไว้เพื่อกำจัด "โทสะ" ในจิตใจมนุษย์ .....เมื่อเรารักษาศีล ศีลก็จะรักษาเรา.....


ศีล 5 นั้น มีประโยชน์โดยรวม 2 ด้านคือ

1) เพื่อความสงบสุขของสังคม คือเพื่อป้องกันการล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่น อันจะส่งผลให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ความหวาดระแวง และความวุ่นวายในสังคม

2) เพื่อพัฒนาจิตใจของผู้ที่ถือศีลนั้นเอง เพราะศีล 5 นั้น ถูกบัญญัติขึ้นมาเพื่อควบคุม ไม่ให้มีการแสดงออกทางกาย หรือทางวาจา ไปในทางที่ตอบสนองอำนาจของกิเลส

การทำผิดศีลแต่ละครั้ง ก็คือการยอมให้กิเลสสามารถครอบงำจิตใจได้อย่างเต็มที่ จนถึงขั้นส่งผลให้มีการแสดงออกทางกายหรือทางวาจานั่นเอง ดังนั้น การทำผิดศีลแต่ละครั้ง จึงทำให้จิตหยาบกระด้างขึ้น ตามลักษณะของกิเลสที่ครอบงำจิตอยู่นั้น ถ้ายิ่งทำผิดศีลมากครั้ง และบ่อยครั้งมากขึ้นเท่าไหร่ จิตก็จะยิ่งหยาบกระด้างขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อจิตหยาบกระด้างขึ้น ก็ทำให้สามารถทำผิดได้รุนแรงมากขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งก็จะส่งผลให้จิตหยาบกระด้างหนักขึ้นไปอีก เป็นวังวนพอกพูนไม่รู้จบสิ้น

ไม่เฉพาะการทำผิดศีลข้อแรก คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเท่านั้นที่อยู่ในวังวนแบบนี้ การทำผิดศีลข้ออื่นๆ ก็หนีไม่พ้นวังวนนี้เช่นกัน ซึ่งส่งผลให้คนที่ผิดศีลนั้น มีจิตใจที่หยาบกระด้างขึ้นเรื่อยๆ ไม่รู้จักจบจักสิ้น ทำให้เขาต้องห่างไกลจากความสุขอันประณีต ละเอียดอ่อนออกไปทุกที ต้องอยู่กับสภาพจิตที่เร่าร้อน หยาบกระด้างขึ้นทุกขณะ ครั้นพอได้มีโอกาสมารักษาศีล กิเลสทั้งหลายเหล่านั้นจึงครอบงำจิตใจได้น้อยลง เพราะถูกบังคับ ควบคุมไว้ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้แผลงฤทธิ์รุนแรงจนถึงขั้นแสดงตัวออกมาทางกาย หรือทางวาจา กิเลสจึงมีกำลังอ่อนลงเรื่อยๆ ส่งผลให้จิตประณีต ละเอียดอ่อนขึ้นไปเรื่อยๆ ศีลธรรมสามารถหล่อหลอมจิตใจผู้คนให้ศรัทธาต่อการปฏิบัติให้เป็นหนึ่งเดียว (ยุคศีลธรรมรุ่งเรือง)

ท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ทุกวันนี้หากเราชาวพุทธมองย้อนกลับไปหาคนมีศีลมีธรรมที่เมืองไทย มันน่าหดหู่ใจยิ่ง เมืองไทยมีสิ่งที่ผิดศีลธรรมเต็มไปหมด ทุกสิ่งทุกอย่างยกศีลธรรมมาพูดด้วยใจสัตย์ซื่อ แทบจะพูดได้เต็มปากว่า "ในโลกนี้จะหาความจริงใจแท้จากคน ให้งมเข็มจากท้องมหาสมุทรยังจะง่ายกว่า" โลกทุกวันนี้ต้องพูดกันด้วยกฎหมายลายลักษณ์อักษร การเคารพกฎหมาย คือการเคารพข้อตกลงร่วมกันภายใต้กฎหมายเดียวกันบุคคลต้องได้รับความคุ้มครองบนมาตรฐานเดียวกัน (ยุคกฎหมายรุ่งเรือง)

และท่านเชื่อไหมว่า สังคมพุทธคือสังคมประชาธิปไตยต้นแบบที่เก่าแก่ที่สุด การปฏิรูปสังคมด้วยศีลธรรม มีมาในครั้งพุทธกาล (หมายถึงครั้งที่พระพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพ) และพระพุทธเจ้าได้ทรงวางโครงสร้างหลักคิด หลักบริหาร หลักปฏิบัติไว้อย่าง......อาตมาขอใช้คำว่า "อย่างเลิศ" ........... แล้วสังคมยุคนี้เราจะพึ่งใคร พึ่งพระก็ยังยึดมั่นในศักดินา พึ่งตุลาการก็ยุติธรรมพวกพ้องผลักดันให้เกิดนิติบัญญัติ หวังพึ่งพารัฐบาลก็มากด้วยคอร์รัปชั่น หรือศีลธรรมของพระพุทธองค์ จะเป็นได้เพียงสังคมในอุดมคติ ของชาวพุทธ ! "เมื่อโลกขาดศีลธรรม สันติภาพจะเกิดขึ้นอย่างไร? ขอเจริญพร