ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



มาอย่างที่ฉันมา - ไปอย่างที่ฉันไป

"ชีวิตนี้ไม่มีใครที่ได้สมปรารถนาในทุกเรื่อง สิ่งสำคัญก็คือ ชื่นชมสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ อย่ามัวหมกมุ่นกับสิ่งที่หายไป"

ขอความเจริญสุขสวัสดีจงมีแด่ผู้ใฝ่ธรรมทุกท่าน สัปดาห์นี้ข่าวการเมืองแจ้งว่า ท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำประเทศไทยตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ที่ผ่านมา อย่างที่ได้กล่าวแล้ว ชีวิตนี้ไม่มีใครที่ได้สมปรารถนาไปทุกเรื่องราว มีความผิดหวังบ้าง มีความสมหวังบ้างเป็นธรรมดา โลกนี้ก็เป็นเช่นนี้เอง ขึ้นอยู่ว่าเรายืนอยู่ ณ จุดใด ก็เท่านั้นเอง ฯ

ผู้สามารถผ่านไปสู่ความจริง

ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย สารัตถะหรือใจความสำคัญในสัปดาห์นี้เสนอคำว่า "ตถาคต" ภาษาไทยอ่านว่า ตะ-ถา-คด บาลีอ่านว่า ตะ-ถา-คะ-ตะ : "ความไปอย่างที่ฉันไป" มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าที่เคยเข้าใจ

ตถา = อย่างนั้น, เช่นนั้น + คต = ไปแล้ว

ตถา + คต = ตถาคต แปลตามศัพท์ว่า "ผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น"

ตถา = อย่างนั้น, เช่นนั้น + อา = กลับความ + คต = ไปแล้ว

อา + กลับความ : ไป - มา

คต ไปแล้ว : อาคต = มาแล้ว

ตถา + อา + คต

= ตถาคต แปลตามศัพท์ว่า

1) "ผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น"

2) "ผู้เสด็จมาสู่ลักษณะที่แท้จริง"

ตถาคต ความหมายนี้ หมายถึง พระพุทธเจ้า พจนานุกรมบาลี - อังกฤษ แปล "ตถาคต" ว่า He who has won through to the truth (ผู้ซึ่งได้ชัยชนะจนบรรลุสัจธรรม ผู้สามารถผ่านไปสู่ความจริง)


มีในความเป็น - เป็นในความมี

"ตถาคต" ความหมายนี้ หมายถึง สัตวโลก คือมนุษย์ธรรมดาทั่วไป (a

being)

ตถา + คมฺ = ตถาคมฺ + ต = ตถาคมฺต > ตถาคต แปลตามศัพท์ว่า "ผู้ถึงความเกิด ความแก่ และความตายเหมือนสัตว์โลกในอดีต" (สัตวโลกในอดีตคือที่เกิดมาแล้วก็ตายไปแล้ว ที่เกิดอยู่ในปัจจุบันและที่จะเกิดในอนาคตก็จะต้องตายเช่นเดียวกัน)

ตถาคต : (คำนาม) คำเรียกพระพุทธเจ้า, คำที่พระพุทธเจ้าใช้แทนพระองค์เอง (ป. ตถาคต ว่า พระผู้ไปแล้วอย่างนั้น เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกพระองค์เอง) พจนานุกรมพุทธศาสน์ประมวลศัพท์ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของคำว่า "ตถาคต" ไว้ดังนี้ –

ตถาคต : พระนามอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า เป็นคำที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกหรือตรัสถึงพระองค์เอง แปลได้ความหมาย 8 อย่าง คือ

1) พระผู้เสด็จมาแล้วอย่างนั้น คือ เสด็จมาทรงบำเพ็ญพุทธจริยา เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก เป็นต้น เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ อย่างไรก็อย่างนั้น

2) พระผู้เสด็จไปแล้วอย่างนั้น คือ ทรงทำลายอวิชชาสละปวงกิเลสเสด็จไปเหมือนอย่างพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ อย่างไรก็อย่างนั้น

3) พระผู้เสด็จมาถึงตถลักษณะ คือ ทรงมีพระญาณหยั่งรู้เข้าถึงลักษณะที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลายหรือของธรรมทุกอย่าง

4) พระผู้ตรัสรู้ตถธรรมตามที่มันเป็น คือ ตรัสรู้อริยสัจจ์ 4 หรือปฏิจจสมุปบาทอันเป็นธรรมที่จริงแท้แน่นอน

5) พระผู้ทรงเห็นอย่างนั้น คือ ทรงรู้เท่าทันสรรพอารมณ์ที่ปรากฏแก่หมู่สัตว์ทั้งเทพและมนุษย์ ซึ่งสัตวโลก ตลอดถึงเทพถึงพรหมได้ประสบ และพากันแสวงหา ทรงเข้าใจสภาพที่แท้จริง

6) พระผู้ตรัสอย่างนั้น (หรือมีพระวาจาที่แท้จริง) คือ พระดำรัสทั้งปวงนับแต่ตรัสรู้จนเสด็จดับ ขันธปรินิพพาน ล้วนเป็นสิ่งแท้จริงถูกต้อง ไม่เป็นอย่างอื่น

7) พระผู้ทำอย่างนั้น คือ ตรัสอย่างใด ทำอย่างนั้น ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น

8) พระผู้เป็นเจ้า (อภิภู) คือ ทรงเป็นผู้ใหญ่ยิ่งเหนือกว่าสรรพสัตว์ ตลอดถึงพระพรหมที่สูงสุด เป็นผู้เห็นถ่องแท้ ทรงอำนาจเป็นราชาที่พระราชาทรงบูชาเป็นเทพแห่งเทพ เป็นอินทร์เหนือพระอินทร์ เป็นพรหมเหนือประดาพรหม ไม่มีใครจะอาจวัดหรือจะทัดเทียมพระองค์ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ นั่นเทียว


ตถาคตโพธิศรัทธา

ตถาคต หมายถึงพระพุทธเจ้าก็ได้ / หมายถึงมนุษย์ทั่วไปก็ได้ เพราะฉะนั้น "ตถาคตโพธิสัทธา" จึงหมายถึง

1) เชื่อในพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ก็ได้

2) เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ว่าสามารถที่จะบรรลุธรรมได้ ก็ได้

พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ ยังสามารถตรัสรู้ธรรมได้ด้วยสติปัญญาของพระองค์เอง โดยไม่ต้องมีผู้วิเศษที่ไหนมาช่วยดลบันดาล

เราก็เป็นมนุษย์เหมือนพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นเราย่อมสามารถปฏิบัติตามธรรมที่พระพุทธเจ้า ตรัสสอนแล้วบรรลุถึงความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสทั้งปวงได้ด้วยสติปัญญาของเราเอง โดยไม่ต้องหวังหรือรอให้ผู้วิเศษที่ไหนมาช่วยดลบันดาลได้เช่นเดียวกัน

สาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย พระพุทธศาสนามั่นคงตั้งมั่นอยู่ได้ด้วยศรัทธาอย่างแท้จริง ตถาคตไม่ใช่คนธรรมดา แต่คนธรรมดาสามารถเป็นตถาคตได้ "ตถาคตโพธิสัทธา" เราเชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า, มั่นใจในองค์พระตถาคตว่าทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง 9 ประการ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดี ก็สามารถเข้าถึงภูมิธรรมสูงสุด บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญไว้เป็นแบบอย่าง นั่นเทียว


หลักชัยเส้นทางสู่ความหวัง

ประกาศเล็ก ๆ แจ้งไว้ให้พี่น้องเราทราบว่า ความมุ่งมั่นตั้งใจของทางวัด กำลังมีโครงการก่อตั้งกองทุนหนุนสร้างพระธาตุทุ่งเศรษฐี วัดแห่งไทยแรกในเมืองแลงแคสเตอร์ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ (562) 249 3789 ตอนนี้กำลังดำเนินนโยบายขยายพื้นที่ให้เป็นแหล่งหลัก เป็นฐานรองรับบุญใหญ่ ปักธงชัยตั้งไว้ให้เป็นบุญสถาน เป็นที่รองรับสายบุญศรัทธาธารไว้สืบสานงานพระพุทธศาสนา เจริญศีลสมาธิปัญญาตามมัคควิธี เป็นประดิษฐานไว้ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุ รับสนองโอวาทดำริของพระเดชพระคุณ "พระธรรมวิสุทธาจารย์" เจ้าอาวาสวัดหนองแวง (พระอารามหลวง) เมืองขอนแก่น, ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9, ที่ปรึกษาประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ

จึงประกาศให้ผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านได้ทราบ ตั้งรับความเคลื่อนไหวและพร้อมที่จะก้าวไปสู่เส้นชัยและความหวัง ด้วยกุศลจิตตั้งสร้างพลังคิดบวก "คิดให้มีพลัง คิดดัง ๆ ให้ผู้คน สังคม และเทวดารับรู้ คิดดี พูดดี ทำดี นำเสนอสิ่งดี ๆ สำเร็จดีแน่นอน" รูปขอจำริญพร