ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



อยู่อย่างที่เป็น เห็นอย่างผู้รู้

สาธุชนท่านผู้สนใจใฝ่รู้ใฝ่ธรรม การกระทำคุณงามความดี มีในหัวใจอันประเสริฐของทุกคน วันนี้รายการธรรมะสมสมัยอยู่เคียงข้าง ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านเช่นเคย การปลูกสร้างศีลธรรม ปลูกสร้างคุณงามความดี เป็นหน้าที่ของเราทุกคน ส่วนใครท่านใดที่จะมีเหตุผลเป็นอย่างอื่นนั้น ย่อมเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรม หากแต่สิทธิ์นั้น ๆ ต้องไม่ไปละเมิดเสรีภาพผู้อื่นให้เกิดความเสียหายทั้งทางด้านชื่อเสียง เกียรติยศ และความเคารพนับถือ เรื่องความเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น เป็นเรื่องศีลธรรมของสังคมมนุษย์เราดี ๆ นั่นเอง

ร่วมด้วยช่วยคิดแก้ ปัญหา

ลงเรือร่วมพายพา ข้ามได้

ร่วมมือร่วมแรงใจ ร่วมกิจ กอปรเฮย

ร่วมคิดร่วมทำไว้ เสร็จแล้วแสนงาม ฯ


อารมณ์อย่างชาวบ้าน

สำนวนพระสูตรว่า "อยู่คนเดียว เหมือนพรหม, อยู่สองคน เหมือนเทวดา, อยู่สามคน เหมือนชาวบ้าน" การรักษาอารมณ์นั้นให้รักษาตามอาการ การพิจารณาตามอาการ หมายถึงการอยู่กับอารมณ์ปัจจุบันขณะนั้น ๆ นี่เป็นการเจริญวิปัสสนาอยู่เป็นเนืองนิจนั่นเอง ดังนั้นสติจึงเปรียบเสมือนยาบำรุงรักษารากเหง้าของจิตให้คิดดี พูดดี ทำดี ได้เป็นอย่างดี สติคือยาวิเศษที่มีอยู่ในทุกคน การอยู่อย่างชาวบ้าน การอยู่อย่างเทวดา หรือการอยู่อย่างพรหม ก็อยู่อย่างที่เป็นนั่นแหละ แต่ทว่าให้เห็นอย่างผู้รู้ โดยเฉพาะเรื่องสติปัฏฐาน 4 ถ้าเข้าใจได้แล้ว ทุกท่านสามารถอยู่ให้เต็มก็ได้ อยู่ให้ว่างก็ได้


ปุถุชน สู่ อริยชน

ในความหมายของพระพุทธเจ้าแสดงให้ทราบว่า : "ถ้าจิตของผู้ใดยังอยู่ภายใต้ความครอบงำ ของกิเลส (กรรมเศร้าหมอง) คือความโกรธ ความโลภ ความหลง ย่อมเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะ ผู้นั้นชื่อว่า อยู่อย่างปุถุชน"

"ส่วนท่านผู้ใดมีจิตอยู่เหนืออำนาจความครอบงำของกิเลส คือความไม่โกรธ ความไม่โลภ ความไม่หลง ย่อมหลุดพ้นจากการเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะ ผู้นั้นชื่อว่า อยู่อย่างอริยชน"

จะเห็นได้ว่า ปุถุชนก็ดี อริยชนก็ดี อยู่ในบุคคลคนเดียวหากแต่ต่างภาวะกันเท่านั้น การปฏิบัติสู่ความเป็นอริยะ สู่ความหลุดพ้นมีในตัวของเรา ในใจของเราเท่านั้น คือพระพุทธศาสนาที่เรานับถือ ที่เราปฏิบัติอยู่นั่นแหละ ในที่นี้อยากจะบอกกับท่านทั้งหลายว่า "เรามีเพชรเม็ดงามอยู่ในมือ แล้วเรายังไม่เห็นคุณค่าอะไร หรือเรายังต้องไปแสวงหาอะไรกันที่ไหนอีก แล้วเราจะข้ามผ่านความเป็นความเป็นปุถุชนกันอย่างไร"

อย่างผู้นำพรรคการเมือง ที่นำพระพุทธเจ้ามาเป็นต้นแบบ (Model) ในการหาเสียง ถือว่าหวังผลประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ ? ปากก็บอกออกไปว่า การเมืองยุคนี้ต้องปฏิรูปโดยประชาชน ข้อความในหลักสูตรนักธรรม ชั้นตรี มีคำว่า

"มิตรปฏิรูป = คนเทียมมิตร" ความหมายไม่ดี คือ บุคคลที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเรา หรือ มิตรที่นำพาเราไปสู่ความหายนะ เช่น จำพวกคนปอกลอกบ้าง จำพวกคนดีแต่พูดบ้าง จำพวกคนหัวประจบบ้าง จำพวกคนชักชวนในทางฉิบหายบ้าง คน 4 จำพวกนี้ ไม่ใช่มิตรแท้ เป็นแต่คนเทียมมิตร ไม่ควรคบ ทว่าผู้นำพรรคการเมืองนั้นได้มีการประดิษฐ์คำนี้นำมาใช้ว่า :-

"ประชาชนปฏิรูป = คนเทียมประชาชน" คำนี้หลวงพ่อไม่กล้าให้ความหมาย เพราะบุคคลที่ประดิษฐ์คำนี้ขึ้นมาใช้ เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งบอกว่าไม่หวังผลประโยชน์ทางการเมือง นี้ประชาชนต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ เพราะอาจแอบแฝงซุกซ่อนอะไรอยู่ด้านหลังนั้น ก็มิอาจพึงทราบได้ ตัวอย่างเช่น เป็นคำที่มีในพระพุทธศาสนาไหม ? เป็นต้น ฯ อันนี้กล่าวไว้กว้าง ๆ ไม่ประสงค์ต่อการก้าวล่วงใด ๆ ต่อใคร


อยู่ให้เต็ม อยู่ให้ว่าง อย่างไร

โชคดีที่สุด ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา การเกิดขึ้นของทายาทในตระกูล ครบพร้อม อาการ 32 สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ บุตรธิดานั้น ๆ เป็นความหวังของพ่อแม่ แรกเกิดมาพ่อแม่กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู อย่างถนุถนอม ไม่มีเสื้อผ้าใส่ พ่อแม่ก็ขวนขวายมาให้ พอโตได้วัยศึกษาเล่าเรียนก็ส่งให้ได้เล่าเรียนเขียนอ่าน พอถึงวัยทำงานพ่อแม่ก็หวังลูกแบ่งเบาบรรเทากิจหน้าที่ ถึงวัยมีครอบครัวก็ห่วงใยให้เลือกหาเอาคนดี สุดท้ายถึงรู้ว่าพ่อแม่ทำหน้าที่โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน

ยามแก่เฒ่า หวังเจ้า เฝ้ารับใช้
ยามป่วยไข้ หวังเจ้า เฝ้ารักษา
เมื่อถึงยาม ล่วงลับ ดับชีวา
หวังลูกยา ปิดตา คราสิ้นใจ

อยู่ให้เต็ม คือ หวังความเจริญรุ่งเรืองให้กับตนในทุก ๆ ด้าน รู้หน้าที่ รู้บทบาทที่ต้องรับผิดชอบ ต่อตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และต่อโลก โบราณว่า "รู้อะไร รู้ได้ ทั่วรู้ แต่ไม่สู้ รู้ดี รู้ชั่ว รู้ตัวกรรม" ดังนั้นอยู่ให้เต็มก็คือ "อยู่อย่างที่เป็น เห็นอย่างผู้รู้"

อยู่ให้ว่าง คือ ปิดปากไม่พูดจา ดีกว่านินทาชาวบ้าน ถ้าวันไหนว่าง ๆ เราก็ไปไหนต่อไหนได้ ไม่มีวิตกกังวลใด ๆ ชีวิตสบาย ๆ สุขสงบ เย็นใจ ชีวิตก็เบา ๆ ไม่มีเรื่องปวดหัว เสมือนดังว่ามีห้องรับแขกโล่ง ๆ ที่บ้าน ใครไปใครมาก็ต้อนรับสบาย ๆ อารมณ์ก็ดี จิตใจก็ดีสบาย ๆ ไม่รู้สึกอึดอัด ไม่ขัดข้องอะไร ชีวิตใส ๆ ใบหน้ายิ้มแย้มแก้มนวล เหมือนคนไม่มีหนี้สิ้น ไม่ทุกข์ความไม่ร้อน ไม่อิจฉา ไม่ลำบาก "อยู่เอง ว่างเอง อยู่ที่ไหน ว่างที่นั่น"

ยกตัวอย่างเรื่องไม่ว่าง ไปไหนก็ไปไม่ได้ ไม่ว่าง แขกจะไปหา ไทยจะมาสู่ ไม่ได้ไม่ว่าง จะมีบุญมีทาน จะมีงานสังคมไปไหนไม่ได้ ไม่ว่าง "คนไหนถ้าใจไม่เปิดรับฟังปัญหา ใจไม่เปิดรับฟังเหตุผล ใจไม่เปิดรับธรรมะไม่ลดละอัตตา ใจนั้นเห็นว่าจะมีแต่ความมืดมนเป็นปุถุชนอย่างยิ่งยวดอยู่เช่นนั้น" “จงอย่าอัตตานักเลย จงเป็นคนพิเศษ ที่เข้าใจสิ่งธรรมดา ก็จะไม่วุ่นในสิ่งที่ว่าง”

หรือถ้าปากไม่ว่าเป็นไง คือ เกิดเรื่องพาดพิงคนนี้ กล่าวคำล่วงเกินคนนั้น ปัญหาเลยเกิดขึ้น ทุกวันไม่มีมีที่สิ้นสุด เป็นอยู่อย่างปุถุชน ก็ต้องวนเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะจักรแห่งสังสารวัฏฏ์ ไปวัดทำบุญทุกวัน ไม่มีอินทรีย์สังวรตน ไม่รู้สงบสำรวมในศีลตน ไม่รู้จักประมาณการบริโภคของตน ขาดสติไม่พิจารณาตน ถ้าสังคมขาดจริยธรรม ก็อย่าสำคัญตนเป็น "อริยะ"

คนพาลผู้บาปแท้ ทุจริต

ไปสู่หาบัณฑิต ค่ำเช้า

ฟังธรรมอยู่เนืองนิตย์ บ่ซาบ ใจนา

คือจวักตักข้าว ห่อนรู้รสแกง ฯ

เอาหละ วันนี้เขียนเพลินไปหน่อย ขอทุกท่านอยู่กับปัจจุบันนั่นแหละ "มีสติเจริญอยู่เป็นนิจ" อยู่อย่างที่เป็น เห็นอย่างผู้รู้ จะอยู่ให้วุ่น หรือจะอยู่ให้ว่างก็ตามใจ "อยู่เอง วุ่นเอง อยู่ที่ไหน วุ่นที่นั่น" วัฏฏะสงสารนี้ เป็นเช่นนี้เอง รูปขอจำเริญพร