ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



พระสงฆ์ยุค 4G กับท่าที (ง่าย ง่าย)

ขอคารวะเพื่อนสหธรรมิก เพื่อนผู้กอปรด้วยธรรม ผู้มีธรรม ผู้ประพฤติธรรม ผู้เจริญอยู่ในธรรม อันหมายถึงพระสงฆ์ และจำเริญพรแด่ ญาติโยมสาธุชน คนดี ผู้ประพฤติชอบในธรรมทุกคนทุกท่าน อันหมายถึงท่านผู้เปรี่ยมด้วยคุณธรรม ผู้เทิดไว้ซึ่งเกียรติแห่งพระพุทธศาสนา ผู้รักษาวัดวา ผู้มีศรัทธาค้ำจุน ผู้ช่วยอุดหนุนเกื้อกูล ผู้เพิ่มพูนทำนุบำรุงพระศาสนา ด้วยดีตลอดมา โดยฐานะของทุกท่านผู้เป็นชาวพุทธ ท่านผู้ถือพระรัตนตรัยไว้เป็นสรณะ ท่านผู้เสียสละกำลังแรงกาย แรงใจ กำลังสมอง กำลังสติปัญญา ท่านผู้ยอมสละทรัพย์สินสมบัติของตน :-

1) เพื่อกำจัดมัจฉริยะความตระหนี่

2) เพื่อสร้างกุศลความดีให้ปรากฏ

3) เพื่อประโยชน์ไว้สืบสร้างพระพุทธศาสนา

ท่านทั้งหลายที่พอมีเวลาลองช่วยกันพิจารณานิยามหลักคิด "มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามแนวนโยบายไทยแลนด์ ยุค 4.0 พอจะมีเวลากันไหมละ ซึ่งหลวงพ่อก็ไม่รู้อะไรกับเรื่องนี้หรอก อาจจะมีความเข้าใจไปเองว่า ไทยแลนด์ 4.0 นี้จะไปตรงกับคำ 4G ตามความหมายที่เข้าใจเอง

แล้วคำว่า 4G คืออะไร ? 4G คือ คำย่อของระบบการสื่อสารไร้สายรุ่นที่ 4 (Fourth-Generation Wireless) เอาย่อ ๆ 4G ก็พัฒนาตัวมาจาก 3G นั่นแหละ และหลวงพ่อก็ไม่ไปยุ่งอะไรกับ 4G เขาหรอก เป็นเรื่องทางเทคนิคเขา ส่วนเรื่องที่หลวงพ่อจะนำมากล่าวถึงคือ :-


"เรื่องหญ้าปากคอก"

ความหมายคือ เป็นเรื่องสะดวก เรื่องง่าย ๆ เรื่องใกล้ตัว เรื่องไม่ยุ่งยาก หรือเรื่องราวที่เราคุ้นอยู่ใกล้ตัวจนมองข้ามความสำคัญไป โดยไม่พิจารณาให้ดี นี่เป็นเรื่องหญ้าปากคอกจริง ๆ เรื่องพระสงฆ์กับการรับเงินทอง กำลังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันโจ๋งคึ่มอยู่ ณ เวลานี้ ว่าจะก้าวไปถึงจุดหมายการปฏิรูปคณะสงฆ์ สะสางล้างบาง ตามที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ได้จริง หรือ ? (เปล่า)

แล้วกับท่าทีที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ตอนนี้ พระสงฆ์จะเอาตัวรอดอย่างไร เพราะถ้าเอาวินัยยกขึ้นมาเป็น บรรทัดฐานในการตัดสินถูก - ผิด ควร - ไม่ควร เหมาะสม - ไม่เหมาะสม ก็กะอักกะอ่วนอยู่ใจแล้ว

ด้วยมีพระวินัยข้อหนึ่งบัญญัติข้อว่า "โย ปนะ ภิกขุ ชาตะรูปะรชตัง อุคคัณเหยยะ วา อุคคัณ หาเปยยะ วา อุปนิกขิตตัง วา สาทิเยยยะ นิสสัคคิยัง ปาจิตติยัง" : -

ความหมายคือ "ก็ภิกษุรูปใด รับเองก็ดี ให้คนอื่นรับแทนตนก็ดี ซึ่งทองและเงิน ยินดีทองและเงินที่เขาเก็บรักษาไว้เพื่อตนก็ดี ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัตินิสสัคคียปาจิตตีย์"

หลวงพ่อไม่เข้าไปแตะพระวินัยให้ไปขัดใจพระหรอกนะ แต่ก็ใช่ว่าจะพูดธรรมะให้ไปขัดใจโยมเสียเลยทีเดียว ที่กล่าวถึงก็เพื่อช่วยกันหาทางออกร่วมกัน อย่างเรื่องสันติวิธีเท่านั้น

"พระภิกษุกับพระวินัยข้อที่ว่ายินดีในเงินและทองนี้ก็อยู่ด้วยกันมาได้ถึง 2,600 ปี"

"พระภิกษุกับสตรีก็เช่นกันก็อยู่ด้วยกันมาได้ถึง 2,600 ปี"

"พระภิกษุคามวาสี - อรัญญวาสี คือที่อยู่เมืองหลวงหรืออยู่ป่าก็อยู่ร่วมกันมาได้ เช่น เรียนร่วมกันได้ ประชุมร่วมกันได้ ฉันเพลร่วมกันได้ เผยแผ่คำสอนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้ ที่ไม่ได้คือเรื่องสังฆกรรม มันก็แปลกดี พระพุทธเจ้าองค์เดียวกันแท้ ๆ" และหรือบางรูปเป็นลูกผู้พี่ผู้น้องในตระกูล ตั้งแต่เกิดมาวิ่งเล่นอยู่สนามโรงเรียนเดียวกัน ทำไม ? สังฆกรรมร่วมกันไม่ได้ (ใครตอบได้ช่วยตอบด้วย)

เรื่องทุกเรื่อง ทุกอย่าง ขึ้นอยู่ที่ท่าทีของความตั้งจิตสำคัญไว้ (สามัญสำนึก) กับท่าทีที่เหมาะสม "กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา" ซึ่งตรงกับพุทธภาษิตว่า "เจตนาหัง กัมมัง วะทามิ" แปลว่า "เจตนานั่นแหละเป็นกรรม" อันมาจากพุทธพจน์ว่า "เจตนาหัง ภิกขะเว กัมมัง วะทามิ, เจตยิตวา กัมมัง กะโรมิ กาเยนะ วาจายะ มะนะสา"

แปลว่า : ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า เจตนานั่นแหละเป็นกรรม เมื่อมีเจตนาแล้ว บุคคลย่อมกระทำกรรมโดยทางกาย วาจา ใจ

บัณฑิตท่านทั้งหลาย พิษงู ก็อยู่ในปาก อยู่ในลิ้นในเขี้ยวของงู มันก็อยู่ของมันได้ นำไปเป็นพิษเพื่อทำลายก็ได้ นำพิษนั้นไปเพื่อเป็นประโยชทางเภสัชก็ได้ พระสงฆ์ในยุคไทยแลนด์ 4.0 ท่านก็ต้องอยู่ของท่านได้ อย่าพยายามเหมารวม อย่าตีรวนกวนกระแส โยงพระสงฆ์ไทยว่าเป็นผู้มักมากไม่สละ ชอบสะสมไปทั้งหมด เพราะที่ตีประเด็นไปที่จุดเดียวคือ :-

"ห้ามภิกษุรับเงินทอง ฯลฯ" ก็เหมือนกับว่าพระภิกษุทุกรูปของประเทศไทยประพฤติตนไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่ใช่เพื่อประโยชน์เรื่องต้องการปฏิรูป แล้วมุ่งหวังถือธงชนะอย่างเดียว การจาบจ้วงโครงสร้างคณะสงฆ์ไทยเรื่องการรับเงินรับทอง ว่าเป็นขบวนการทุจริตฟอกเงิน ครอบครองสมบัติพัสฐานมากมายมหาศาล การกล่าวอย่างนี้เหมือนตั้งธงในใจไว้ว่า "ต้องเป็นอย่างนี้ อย่างนี้"

บางท่านถึงกับออกมาพูดวิจารณ์เรื่องพระต้องอยู่ป่า ประพฤติเป็นผู้มักน้อยสันโดษ "ไม่ใช่มาอยู่ในเมือง อยู่กุฏิหรูใช้รถหรู เปิดโทรทัศน์เปิดวิดีโอดูหนังโป้กัน คำพูดแบบนี้เป็นคำข่มขวัญขูดเกลา สร้างสรรค์หรือทำลาย บัณฑิตท่านทั้งหลายโต ๆ กันแล้วก็ใช้วิจารณญาณดูเอาเอง เพราะถ้าเป็นคำพูดของคนเรียนจบชั้น ป. 4 ก็คงไม่มีอิทธิพลนัก หากแต่นักวิชาการเป็นผู้กล่าว มันเลยมีอำนาจกินความสะเทือนจิตใจของชาวพุทธส่วนที่ไม่ประสีประสาเป็นอันมาก


เป็นชาวพุทธกันจริงไหม ?

ตอนเด็ก ๆ หลวงพ่อชอบทายปัญหาอะไรเอ่ย !!! เช่นทายว่าอะไรเอ่ย ? คนซื้อไม่ได้ใช้ ส่วนคนใช้ไม่ได้ซื้อ? คำตอบคือ "โลงศพ"

ปัจจุบันต้องตั้งคำถามใหม่ว่า :- อะไรเอย ? คนออกไม่ได้ใช้ ส่วนคนใช้ไม่ได้ออก ? คำตอบคือ "กฎหมายปฏิรูปสงฆ์" แบบนี่เห็นชัดตามที่โบราณที่กล่าวไว้ว่า "เจ้าอาวาสอยู่บ้าน สมภารอยู่วัด"

ความรู้สึกของชาวบ้านสะท้อนมาว่า ตื่นเช้ามาได้เห็นภาพพระสงฆ์นั้นช่าง " ม.ซ." เหลือเกิน ม.ซ. แปลว่ามองแล้วซึ้ง การได้มองเห็นชายผ้าเหลืองของพระลูกพระหลาน เดินมารับอาหารบิณฑบาตริมถนนหน้าบ้าน ช่างเป็นภาพที่มีความสุขมาก มีข้าวก็ไส่ในบาตร มีน้ำ มีแกง มีเงิน 10 - 20 บาท ก็ใส่ลงในบาตร พระท่านก็สู้เก็บสะสม รวบรวมไว้เป็นค่ารถไปเล่าเรียน ความรู้สึกพระท่านก็ดี - สามเณรก็ดี ถามท่านว่าท่านยินดีไหม ? ไม่ต้องขอคำตอบเราก็พอรู้ได้ "ว่ายินดี"

เส้นทางไหนมีคนใส่บาตรเยอะก็มีพระไปรับอาหารเยอะ เพราะถือได้ว่าที่นั่นมี "กัลยาณมิตร - มิตรแท้ผู้ไม่ประทุษร้ายผู้ไม่ทำร้าย และส่วนมากพระก็มีชีวิตรอดได้ก็เพราะสตรีเป็นผู้ใส่บาตรเลี้ยงดู

แต่พื้นที่ใดที่ไปแล้วไม่มีความปลอดภัย อย่าว่าแต่พระไม่อยากเดินผ่านเลยโยม ขอประทานอภัยท่านผู้เป็นบัณฑิตทั้งหลาย แม้แต่สุนัขก็ยังไม่อยากเดินผ่านเลย นี้ชี้ให้เห็นว่า : "กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา"

เอาหละ !! ถ้าให้หลวงพ่อเลือกที่ต้องอยู่ ก็จะอยู่กับชาวบ้านนี่แหละ ถึงจบ ป. 4 พวกเขาใส่บาตรให้ฉันทุกวัน ส่วนคนที่ตาเหลือก ๆ ออก T.V. ทุกช่องป่าวร้องปฏิรูปสงฆ์อยู่นั้น ฐานะดีเงินเดือนดี แต่ไม่รู้ใส่บาตรเลี้ยงดูพระสงฆ์ประจำหรือเปล่า ต้องสรุปแล้ว หมดพื้นที่แล้ว ยังเหลืออีกเยอะเลย ฉบับต่อไปสัปดาห์หน้า

โปรดติดตาม THE MONKS LIFE OF THAILAND ชีวิตพระภิกษุในประเทศไทยควรจะเป็นอย่างไร ? ควรจะอยู่อย่างไร ? ควรจะมีท่าทีอย่างไร ? ติดตามฉบับหน้า รูปขอจำเริญพร