ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ธรรมะสมสมัยวันนี้ขอเสนอเรื่องพระอัญญาโกณฑัญญะ

พระอัญญาโกณฑัญญะ เดิมชื่อ โกณฑัญญะ เกิดในตะกูลพราหมณ์แห่งบ้านโทณวัตถุ กรุงกบิลพัสดุ์ เป็นหนึ่งในจำนวนพราหมณ์ 8 คน ที่พระเจ้าสุทโธทะนะทรงคัดเลือกให้ทำนาย พระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะหลังจากประสูติได้ 5 วันพราหมณ์ 7 คนทำนายเป็นสองลักษณะว่า ถ้าเจ้าชายจะอยู่ครองเพศฆราวาสจะได้เป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ ถ้าออกบวชจะได้เป็นพระศาสดาเอกของโลก โกณฑัญญะคนเดียวที่ยืนยันว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะเสด็จออกผนวชและได้เป็นพระ ศาสดาแน่นอน

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช โกณฑัญญะจึงชวนบุตรพราหมณ์ 4 คนคือ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะและอัสสชิ ออกบวชไปตามปรนิบัติพระองค์ขณะพระองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ( ปัจจุบันสถานที่นี้เรียกว่า ดงคศิริ ) ด้วยหวังว่าเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วจักได้รับคำสั่งสอนจากพระองค์ แต่เมื่อเห็นว่าพระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา คืออดอาหาร หันมาเสวยพระกระยาหารเหมือนเดิม โกณฑัญญะและสหายทั้งสี่เข้าใจว่า พระองค์ทรงคลายความเพียรเวียนมาเป็นคนมักมากเสียอล้ว ไม่มีโอกาสตรัสรู้ตามที่ตั้งใจแน่ จึงพากันหนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพารณสี

เมื่อพระสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงดำริหาผู้ที่จะรับฟังธรรมทรงเห็นว่าปํญจวัคคีย์มีพื้นฐานความรู้ที่พอจะ เข้าใจได้ จึงเสด็จดำเนินด้วยพระบาทจากพุทธคยาสถานที่ตรัสรู้ไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หลังที่ทรงสามารถทำให้ปัญจวัคคีย์เชื่อว่าพระองค์ได้ตรัสรู้แน่แล้วและ ยินยอมฟังธรรม พระองค์จึงแสดง “ธรรมจักกัปปวัตนสูตร” ให้ฟัง

ในที่สุดแห่งพระธรรมเทศนานั้นโกณฑัญญะได้ “ธรรมจักษุ” (ดวงตาเห็นธรรม ) คือ เกิดความเข้าใจเห็นแจ้งตามสภาพเป็นจริงว่า “ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีการดับสลายเป็นธรรมดา” และบรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน

พระพุทธองค์ได้ทรงเปล่งอุทานว่า อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺฌญ อญฺญษส วต โภ โกณฺฑญฺฌญแปลว่าโกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ อาศัยอุทานว่า อญฺญาสิ ที่แปลว่า ได้รู้แล้วนั่น คำว่า อญฺญา จังได้กลายมาเป็นคำนำหน้าชื่อว่า “อัญญาโกณฑัญญะ” แต่บัดนั้นมา

ครั้งท่านโกณฑัญญะได้ธรรมจักษุแล้วก็ได้ทูลขออุปสมบทพระพุทธเจ้าก็ทรง ประทานอนุญาตให้อุปสมบทด้วยวิธี”เอหิภิกขุอุปสัมปทา” พระอัญญาโกณฑัญญะได้เป็นพระสงฆ์รูปแรกและเป็นปฐมสาวก

หลังจากพระอัญญาโกณฑัญญะอุปสมบทแล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนา เบ็ดเตล็ดโปรดท่านทั้งสี่ที่เหลือตามสมควร แก่อัธยาศัยให้เห็นธรรม และทรงประทาน เอหิภิกขุอุปสมบท โดยลำดับคั้นพระปัญจักวัคคีย์ได้อุปสมบทครบทุกรูปแล้ว พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรโปรดท่านทั้งห้าซึ่งได้บรรลุอรหัตผลใน คราวเดียวกัน

ต่อมา เมื่อพระบรมศาสดาทรงส่งพระสาวกออกประกาศพระศาสนา พระปัญจักวัคคีย์ก็จาริกไปบำเพ็ญศาสนกิจในถิ่นต่างๆอันเป็นกำลังสำคัญของพระ พุทธศาสนาโดยเฉพาะพระอัญญาโกณฑัญญะนั้นได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาในฐานะ เป็นเอตหัคคะในบรรดาภิกษุผู้มีรัตตัญญู คือ เมื่อพระอัญญาโกณฑัญญะเข้าสู่วัยชรามากแล้ว ท่านได้ทูลลาพระบรมศาสดาไปจำพรรษาอยู่ ณ สระฉัททันต์ในป่าหิมพานต์เป็นเวลา 12 ปี ท่านปรินิพานก่อนพุทธปรินิพาน ส่วนพระเถระอื่นอีก 4 รูปในคณะปัญจักวัคคีย์ไม่พบหลักฐานว่าได้ปรินิพานเมืองใดและ ณ สถานที่ใด แต่สันนิษฐานว่าคงปรินิพานก่อนพุทธปรินิพานทั้งหมด

คุณธรรมที่ควรถือเป็นแบบอย่าง

1. เป็นผู้มีประสบการณ์มาก พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่ได้รับยกย่องพระพุทธองค์ว่าเป็น “รัตตัญญู” หมายถึง ผู้ผ่านโลกมามาก มีประสบการณ์มาก ท่านมีความรอบรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นที่ปรึกษาที่ดีของน้อยด้อยวัยวุฒิและคุณวุฒิดังจะเห็นว่าเป็นผู้นำสหาย ทั้งสี่ คือ วัปปะ ภัททิยา มหานามะ และอัสสชิ ในกรณีต่างๆอยู่เสมอ คุณธรรมข้อนี้ควรจะยึดถือเอาเป็นแบบอย่างได้ คือ พยายามศึกษาหาความรู้ หาประสบการณ์ที่ดีแก่ชีวิตเสมอ มิใช่ปล่อยกาลเวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ จนกลายเป็นคนประเภท “แก่เพระกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน” ซึ่งหาประโยชน์อันใดแก่สังคมไม่ได้

2.เป็นคนสันโดษ คือ พอใจในสภาพที่เป้นอยู่ไม่ขวนขวายลาภสักการะ หรือชื่อเสียง ชอบชีวิตสงบอยู่ในป่า ไม่ด้วยหมู่คณะ ดังจะเห็นได้จากการที่ท่านกราบทูลลาพระพุทธเจ้าไปจำพรรษาอยู่ ณ สระฉัททันต์ ในป่าหิมพานต์ และอยู่ที่นั่นนานถึง 12 ปี นานๆจึงจะเข้ามาในเมืองสักครั้ง

3. ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีในด้านความประพฤติ จากข้อ 3 นั่นเองแสดงว่าพระอัญญาโกณฑัญญะได้วาง “รูปแบบชีวิต” ที่ดีงามให้อนุชนประพฤติตาม นั่นคือความเป็นคนเคร่งครัดในระเบียบวินัย การมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ความจริงแล้วท่านไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธุดงค์ เช่น การอยู่ป่าเป็นประจำหรือเคร่งครัดในสิขาบทก็ได้เพราะท่านหมดกิเลสแล้ว พฤติกรรมของท่านเป็นไปในกรอบโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่ที่ท่านต้องเน้นความเคร่งครัดเป็นพิเศษอย่างนี้เพื่อประโยชน์แก่อนุชน รุ่นหลัง คือ ต้องการวางตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีงามนั่นเอง

4. เป็นผู้เห็นการณ์ไกล ตามประวัติพระอัญญาโกณฑัญญะได้ชักนำหลานชายชื่อปุณณมันตานีบุตรเข้ามาบวช เพราะเห็นว่าปุณณมันตานีบุตรมีวาทศิลป์เป็นเลิศ เรียนรู้สิ่งต่างๆได้รวดเร็ว ถ้านำมาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาจักเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธ ศาสนาอย่างยิ่ง ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดไว้ หลังจากบวชแล้วพระปุณณมันตานีบุตรเป็นผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย เป็นนักแสดงธรรมชั้นเยี่ยม จนได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็น”เอตทัคคะ” (เลิศกว่าผู้อื่น) ในทางเป็นพระธรรมกถึก (ผู้แสดงธรรม)

ประวัติพระอัญญาโกณฑัญญะ
๑. สถานะเดิม

ชื่อ โกณฑัญญะ ส่วนที่มีคำว่า อัญญานำหน้านั้นเกิดจากพระศาสดาทรงเปล่งอุทานตอนท่านได้ดวงตาเห็นธรรมว่า อญญาสิ วต โภ โกณฑญฺโญ แปลว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ คำว่า อัญญา จึงเป็นคำนำหน้าชื่อของท่านตั้งแต่นั้นมา เกิดที่บ้านพราหมณ์ชื่อโทณวัตถุ อยู่ใกล้กรุงกบิลพัสด์ วรรณะพราหมณ์ การศึกษาจบไตรเพท และรู้ตำราทำนายลักษณะ

๒. มูลเหตุแห่งการบวชในพระพุทธศาสนา

ท่าน เป็น ๑ ในจำนวนพราหมณ์ ๘ คน ที่คัดจากพราหมณ์ ๑๐๘ คน เพื่อทำนายพระลักษณะของพระราชกุมาร ซึ่งท่านได้ทำนายว่า พระราชกุมารจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันต่างไปจากพราหมณ์อื่นอีก ๗ คนที่ทำนายว่า พระราชกุมารมีคติเป็น ๒ คือ ถ้าอยู่ครองฆราวาสจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ถ้าออกบวชจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเชื่อตำราทำนายลักษณะของตน เมื่อทราบข่าวว่าเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบรรพชา จึงได้ออกบวชตาม

๓. การบรรลุธรรม

ท่าน ได้บรรลุโสดาปัตติผล เพราะฟังปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และบรรลุพระอรหัตผล เพราะฟังอนัตตลักขณสูตรที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันเช่นกัน เมื่อท่านได้บรรลุโสดา-ปัตติผลแล้ว ได้ทูลขอบวชกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระวาจาว่า จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด วิธีบวชแบบนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา ท่านเป็นพระสงฆ์สาวกรูปแรกในพระพุทธศาสนา

๔. งานประกาศพระศาสนา

พระอัญญาโกณฑัญญะ มีผลงานสำคัญคือ ให้นายปุณณะ บุตรของนางมันตานีน้องสาวของท่านบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งต่อมาได้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยประกาศศาสนา โดยมีกุลบุตรบวชในสำนักของท่านเป็นจำนวนมาก

๕. เอตทัคคะ

พระอัญ ญา โกณฑัญญะ ได้รับยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้รัตตัญญู แปลว่า ผู้รู้ราตรี หมายความว่ารู้ธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนก่อนใครทั้งหมด

๖. บุญญาธิการ

(การสร้างบารมี ) ใน กาลแห่งพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ท่านได้ปรารถนา ตำแหน่งรัตตัญญู คือรู้ธรรมก่อนใคร แล้วได้ทำบุญมาตลอดจนถึงกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี ได้เกิดเป็นกุฎุมพี ชื่อมหากาล ได้ถวายทานอันเลิศ ๗ ครั้ง จึงได้รับเอตทัคคะนี้

๗. ปรินิพพาน

ใน บั้นปลายชีวิต ท่านได้ทูลลาพระศาสดาไปจำพรรษาในป่าหิมพานต์ ที่ฝั่งสระฉัททันต์ ๑๒ พรรษา เมื่อใกล้จะปรินิพพานได้มาทูลลาพระศาสดา แล้วกลับไปปรินิพพาน ณ สถานที่นั้น

นิพพานมี ๒ อย่างคือ สอุปาทิเสสนิพพาน แปลว่าดับกิเลสมีเบญจขันธ์เหลือ หมายถึงพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ อนุปาทิเสสนิพพาน ดับกิเลสด้วยเบญจขันธ์ดับด้วย หมายถึงพระอรหันต์ที่สิ้นชีวิต ดังนั้น อนุปาทิเสสนิพพานจึงน่าจะใช้คำว่า ปรินิพพาน จึงได้ใช้อย่างนี้

และขอสรุปจบท้ายคนละเรื่องเลยละกัน เนื่องจากพึ่งเสร็จงานบุญทอดกฐินสามมัคคีของวัดทุ่งเศรษฐี ขอแจ้งยอดกฐินปี 2558 ว่าเป็นที่น่าภาคภูมิใจสุดๆ จากสถิติ 7 ปี ที่ที่ผ่านมา ปีนี้ยอดบุญทอดกฐินสุทธิ $ 51,333.00 (ห้าหมื่นหนึ่งพันสามร้อยสามสิบสาม USD ) จึงขออนุโมทนามายังศรัทธาทุกท่านทุกคนมา ณ โอกาสนี้ ขอเจริญพร