ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



การสร้างบารมี ของพระโพธิสัตว์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นดุจดั่งโพธิสัตว์ พระองค์สร้างบารมีของพระองค์อย่างเต็มที่ ทำให้สำเร็จมรรคผลหลุดจากสังสารวัฏ และมุ่งเข้าสู่ทางนิพพานได้ในอนาคตกาลไม่นานอย่างแน่แท้ พระองค์ทรงทำงานเพื่อส่วนรวม เป็นแนวทางของวิสัยพระโพธิสัตว์ แนวทางแห่งพระโพธิสัตว์ คือ ยอมตนลำบากเพื่อความสุขของประชาชน พระองค์ท่านท่านมีเมตตาเปี่ยมล้น เป็นที่รักของมหาชน พระองค์ท่านบำเพ็ญตนเป็นดั่งพระโพธิสัตว์ ทรงใช้เวลาทุกนาทีให้เป็นประโยชน์ต่อพสกนิกรของพระองค์ ขอน้อมเกล้าฯ รำลึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

เราชาวไทยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวพุทธเราควรสร้างบารมี เป็นการสั่งสมบุญ ตามที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญมา บารมี 10 ประการ นี้จะเป็นเครื่องบ่งบอกสถานะของใจ สภาวะของใจ บารมี 10 มี ดังนี้

(1) ทานบารมี จิตใจเราพร้อมแล้วหรือยังที่จะให้ทาน เพราะการให้ทานนี่เป็นการทำลายโลภะ ความโลภ คำว่าทานบารมีเต็ม ก็คือ จิตใจเรามีกำลังใจเปี่ยมล้นในการให้ทาน มีความรู้สึกอยากให้อยู่เป็นนิจ โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น และธำรงค์พระพุทธศาสนา เป็นการให้เพื่อลดความตะหนี่ในใจเราเอง สำหรับวิธีปฏิบัติคือ หากใครใส่บาตรได้ทุกวันก็ถือว่าดีมาก แต่หากไม่สะดวกแนะนำให้ใส่บาตร คือ นำเงินใส่กระป๋องทุกวัน แล้วค่อยรวบรวมไปทำบุญ สำหรับบางท่านที่ไม่มีเงิน อาจใช้ผลิตผลต่าง ๆ อย่างอื่นแทนเช่น ข้าวเปลือก ข้าวสาร ถวายเป็นกัลปนาผล ผลประโยชน์ถวายให้วัด

(2) ศีลบารมี เป็นระเบียบแบบแผนที่งดงาม เราพึงพิจรณาศีลให้บริสุทธิ์ผุดผ่องทุกวัน พิจารณาศีลของเราว่าครบถ้วนไหม การรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ต้องเจริญพรหมวิหาร 4 และกุศลกรรมบท 10 ควบคู่ไปด้วย อย่างน้อยควรใส่ใจในเบญจศีล - เบญจธรรม เป็นนิจ ที่ผ่านมาตลอดฤดูกาลเข้าพรรษาจึงขออนุโมทนาทุก ๆ ท่าน ที่ได้ไปถือศีลกับวัดทุ่งเศรษฐี ทุกวันอาทิตย์ สาธุ

(3) เนกขัมมบารมี หมายถึง การออกจากกาม 2 อย่าง ได้แก่ กิเลสกาม และวัตถุกาม การออกจากกามมี 2 อย่าง คือ ด้วยการบรรพชา 1 ด้วยข้อปฏิบัติ 1 การออกบวชของผู้ที่เห็นคุณของเนกขัมมะ การเว้นกิจของคฤหัสถ์ ถือเพศบรรพชิต เป็นผู้ไม่ครองเรือน ไม่แสวงหาทรัพย์ ไม่รับเงินและทอง เป็นต้น

ชื่อว่า ออกจากวัตถุกาม ด้วยการบรรพชา ข้อปฏิบัติคือ อุโบสถศีล สมถภาวนาวิปัสสนาภาวนา สติปัฏฐาน เป็นต้น

ชื่อว่า ออกจากกิเลสกาม ด้วยข้อปฏิบัติบางนัย หมายรวมถึงกุศลธรรมทุกประเภท เป็นการออกจากกาม (เนกขัมมะ) ฉะนั้นเนกขัมมะ โดยนัยที่ 2 ในชีวิตประจำวันของคฤหัสถ์ ขณะใด ที่เป็นไปกับกุศลทั้งหลายคือ การให้ทาน การรักษาศีล การฟังธรรม การสนทนาธรรม การเจริญสมถะ การเจริญสติปัฏฐาน เป็นต้น

ชื่อว่าเนกขัมมะ อีกอย่างหนึ่ง การค่อย ๆ ออกจากการสะสมวัตถุกาม ด้วยการรู้จักพอ ในสิ่งที่ตนมีอยู่ ไม่แสวงหา หรือสะสมมากจนเกินไป รู้จักยินดีในของที่ตนมีอยู่ ด้วยสันโดษ ขณะนั้น ก็เริ่มค่อย ๆ ที่จะออกเริ่มสะสมเนกขัมมะ ให้ค่อย ๆ มีกำลังขึ้น

(4) ปัญญาบารมี นี่เราเห็นหรือยังว่าการเกิดเป็นทุกข์ เกิดมาแล้วนี่ภาระต่าง ๆ เต็มไปหมดที่พูดไปแล้วนี่มีแต่ความทุกข์ทั้งนั้นหาความสุขไม่ได้ ถ้าเราจะสุขได้จริง ๆ ก็ต้องวางการเกิด คือ วางขันธ์ 5 นี่เป็น ปัญญาบารมี การสดับพระธรรมเทศนา การศึกษาธรรม เป็นการเปิดช่องทางให้เกิดปัญญา ๆ แปลว่า ความรู้ทั่ว คือรู้ทั่วถึงเหตุถึงผล รู้อย่างชัดเจน, รู้เรื่องบาปบุญคุณโทษ, รู้สิ่งที่ควรทำควรเว้น เป็นต้น เป็นธรรมที่คอยกำกับศรัทธา เพื่อให้เชื่อประกอบด้วยเหตุผล ไม่ให้หลงเชื่ออย่างงมงาย ปัญญา ทำให้เกิดได้ 3 วิธี คือ

1. โดยการสดับตรับฟัง การศึกษาเล่าเรียน เรียก สุตมยปัญญา

2. โดยการคิดค้น การตรึกตรอง เรียก จินตามยปัญญา

3. โดยการอบรมจิต การเจริญภาวนา เรียก ภาวนามยปัญญา

ปัญญา ที่เป็นระดับ อธิปัญญา คือปัญญาอย่างสูง จัดเป็นสิกขาข้อหนึ่งใน สิกขา 3 หรือ ไตรสิกขา คือ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา

(5) วิริยบารมี ได้แก่ความเพียร เรามีความเพียรครบถ้วนแล้วหรือยัง คือ ใช้กำลังใจเป็นสำคัญ ไปหักห้ามความชั่วไม่ให้เข้ามายุ่งกับใจ ปธาน คือ ความเพียร 4 อย่าง

1. สังวรปธาน เพียรระวังมิให้ปาปเกิดขึ้นในสันดาน

2. ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว

3. ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน

4. อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม

(6) ขันติบารมี แปลว่า ความอดทน การกระทำความดีที่ฝืนอารมณ์เดิมต้องอดทนเพราะใจมันคอยจะต่ำ มันคบกิเลส ตัณหา อุปาทาน คือ มีความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่เราก็พิจารณาเห็นว่าความรักเป็นโทษ ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นโทษ เราจะฝืนกำลังใจที่มันคบกันมานาน เราก็ต้องใช้ความอดทน ไม่อย่างนั้นเราก็จะทรงตัวอยู่ไม่ได้

(7) สัจจบารมี ความจริงใจ ที่เราตั้งใจจะห้ำหั่นกิเลสทั้ง 3 ประการให้มันสิ้นไป เราจะไม่ละความพยายามทรงสัจจะเข้าไว้จะไม่ยอมทิ้งสัจจะ คือ ความจริงใจ แต่ว่าการรักษาสัจจะต้องให้มันพอดีพอควร อย่าทำเกินพอดี ตั้งใจที่จะทำสิ่งใด ๆ ก็อย่าทอดทิ้งธุระ ก้าวไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจ อย่างน้อยให้ทำอย่างเต็มกำลัง สัจจะ นอกจากจะดูใจตน ซื่อสัตย์ต่อตนเองแล้วยังต้อง กระทำต่อชาติบ้านเมือง และตลอดถึงกระทำต่อเพื่อนมนุษย์ด้วย

(8) อธิษฐานบารมี อธิษฐานต้องตั้งใจไว้เลยว่า การปฏิบัติแบบนี้ เราต้องการพระนิพพาน ไม่ใช่สักแต่เพียงว่าทำเป็นแค่อุปนิสัย ถ้าอารมณ์คิดว่าเป็นแค่อุปนิสัยมันขี้เกียจง่าย ตั้งใจไว้เฉพาะว่าชาตินี้ทั้งชาติ อย่างเลวที่สุดเราจะเป็นพระโสดาบันให้ได้

(9) เมตตาบารมี เมตตาบารมี นี้เป็นตัว ตัดโทสะ ความพยาบาท ที่เป็นกิเลสตัวสำคัญสำหรับ ปัญญาบารมี นั้นตัดโมหะอวิชชาได้ อภัยกันได้ก็ให้อภัยกัน อโหสิกรรมกันได้ก็อโหสิกันนะ เพราะการอโหสิกรรม เป็นกรรมที่ได้ให้ผลเสร็จสิ้นแล้ว กรรมที่ไม่ส่งผลแก่ผู้กระทำกรรมอีกต่อไป ตามหลักพระพุทธศาสนา บุคคลที่ทำกรรมดีหรือกรรมชั่วโดยมีเจตนา ในการทำกรรมนั้นจะต้องได้รับผลกรรม ตามสมควรแก่การกระทำของตน การบำเพ็ญเมตตาบารมี จึงทำให้เป็นที่รักของบุคคลรอบข้างอย่างซาบซึ้ง

(10) อุเบกขาบารมี อารมณ์วางเฉย ปล่อยวาง ถือเป็นการปลดปล่อยอารมณ์ ทำให้ใจสงบ มีความปลงใจ สบายใจ เป็นสุขแท้ เมื่อกฎของกรรมที่เราทำไว้เป็นอกุศล ในชาติก่อนที่เราทำมันมาให้ผล เราก็มีอารมณ์สบาย อะไรมันจะเกิด อะไรมันจะแก่ เราก็สบายที่เรียกว่า อุเบกขา เรารู้ว่าจะแก่ ถ้ามันจะป่วยเราก็รู้ แต่ว่าใจเราก็สบาย เพราะรู้ว่ามันจะป่วย หายก็หาย หรือจะตายก็ช่างมัน ของรักของชอบใจที่จะต้องพลัดพรากจากกัน เรารู้ว่านี่เป็นธรรมดา ก็ทำหน้าที่รักษากันไปให้เต็มความสามารถ

หากไม่ไหวจริง ๆ อารมณ์และใจเราก็เฉย สบาย เพราะรู้ว่าเป็นธรรมดา มันจะจากไปเราก็ห้ามมันไม่ได้ คนที่รักกันกับเราเขาประกาศเป็นศัตรูก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเขากับเรายังมีกิเลสกัน ต่างคนต่างมีกิเลส เขาจะไปมันเป็นเรื่องของเขาเราไม่ตาม ถ้าเขาจะมาเราก็ไม่ปฏิเสธพร้อมยอมรับ ใจสบายเป็น อุเบกขาบารมี ร่างกายมันจะตายจะพังก็ช่าง จัดเป็น อุเบกขาบารมี

เอาหละ การสร้างบารมี ของพระโพธิสัตว์ ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน ขอให้ไม่ขาดความอดทนที่จะสั่งสมบุญบารมี ผลรับสักวันหนึ่งก็จะเต็มเปี่ยม ขอให้ท่านตั้งกัลยาณจิต กำหนดงดโทษให้อภัยต่อศรัตรูหมู่ภัยพาล อย่าได้คิดพยาบาทอาฆาตรแค้นขุ่นเคืองซึ่งกันและกันเลย ด้วยจิตที่เจริญเมตตาให้อภัยกันนั้น ขอให้เกิดสัพพมงคลทุกเมื่อ เราเริ่มต้นใหม่ได้ทุกวัน ๆ และตลอดไป สาธุ