ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



สามีจิกรรม อารยที่ทรงพลังสามัคคี

ท่านพุทธบริษัทสาธุชนผู้สนใจในธรรมทั้งหลาย "พิธีทำสามีจิกรรม" เป็นธรรมเนียมของสงฆ์อย่างหนึ่งที่พระภิกษุ - สามเณร พึงทำความคารวะต่อกันเพื่อความสมานสามัคคี อยู่ร่วมกันโดยสงบสุข การทำความคารวะต่อกันนี้ เรียกว่า สามีจิกรรม หมายถึง การแสดงความเคารพ การขอขมาโทษกัน การให้อภัยกันบนพื้นฐานแห่งความเท่าเทียม เป็นการสืบสานอารยประเพณีของพระอริยเจ้า ที่ควรประพฤติยึดตาม มักจะทำในโอกาสต่าง ๆ คือ

- ในวันเข้าพรรษา

- ในวันก่อนและหลังเข้าพรรษา 7 วัน

- ในโอกาสที่จะไปอยู่วัดอื่นหรือที่อื่น

สามีจิกรรม มีอยู่ 2 แบบ คือ

1) การทำสามีจิกรรมแบบขอขมาโทษ

2) การทำสามีจิกรรมแบบถวายสักการะ

การทำสามีจิกรรม เป็นการแสดงออกถึงความเคารพกันระหว่างพระผู้ใหญ่กับพระผู้น้อย เป็น เครื่องแสดงถึงความสามัคคีของหมู่คณะ และเป็นหน้าที่ที่พระภิกษุสามเณรต้องทำตามพระวินัย "คณะ สงฆ์วัดทุ่งเศรษฐี แคลิฟอร์เนีย" อาศัยหลักว่า ได้ร่วมลงอุโบสถสังฆกรรมกับทางวัดพุทธปัญญา เมืองโพโมน่า นับแต่ได้สร้างอุโบสถผูกพัทธสีมาแล้วเสร็จเป็นต้นมา หรืออีกนัยยะหนึ่งว่า นับตั้งแต่ได้ก้าวมาเผยแผ่พุทธธรรมในดินแดนแผ่นดินลุงแซมสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2002 ตลอดมา

พรรษาที่ผ่านมา หรือพรรษานี้ก็ดี คณะสงฆ์นำโดย พระครูธรรมธรไสว เจ้าอาวาสวัดทุ่งเศรษฐี ได้ถวายสามีจิกรรมต่อพระมหาเถระโดยมีท่านอาจารย์ ดร. พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ เจ้าอาวาสวัดพุทธปัญญา เป็นประธานผู้รับการสามีจิกรรม พร้อมกับได้ถวายสักการะพระมหาเถระ หลวงพ่อเกาหลี(เชาว์ภันเต หรือท่านอมโรภิกขุ) ในวันอุโบสถประชุมสงฆ์ฟังพระภิกษุปาฏิโมกข์ ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และปักษ์นี้ท่านอาจารย์ ดร. พระมหาจรรยา เป็นองค์สวดพระภิกษุปาฏิโมกข์ ในวันอาสาฬหบูชา เพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 8 (วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา)

วัสสานะ ไตรมาสแห่งพุทธบัญญัติ

ท่านสาธุชนทั้งหลาย การเข้าพรรษา หมายถึง การอยู่ประจำที่ของพระสงฆ์ตลอด 3 เดือนในฤดูฝน โครงสร้างหลักของการคณะสงฆ์ไทยนิกายเถรวาท ที่ได้ส่งพระธรรมทูตไปเผยแผ่ในต่างประเทศทั่วโลก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา และทางแถบประเทศทางยุโรป ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่ามิใช่ฤดูฝน (วสฺสาน (วัสสานะ) = ฤดูฝน) แต่ก็ได้อนุวัตรตามเขตจำนำพรรษาของลุ่มประเทศทางเอเซีย เช่น ประเทศไทย ซึ่งเป็นธรรมเนียมทางพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ระยะกาลเข้าพรรษาของพระภิกษุ มี 2 ครั้ง คือ


พิธีเข้าพรรษา 2 อย่าง

1) ปุริมพรรษา เข้าจำพรรษาแรก นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11

2) ปัจฉิมพรรษา เข้าจำพรรษาหลัง นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 9 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

โดยมากพระสงฆ์ส่วนใหญ่นิยมเข้าปุริมพรรษา พอถึงวันเข้าพรรษา พระภิกษุสามเณรที่จำพรรษาในวัดนั้น ๆ ทั้งหมดลงประชุมกันในอุโบสถ นั่งให้เป็นระเบียบเรียบร้อยตามลำดับอาวุโสพรรษา เมื่อพร้อมเพียงกันแล้วพึงทำกิจไปตามลำดับ คือ

การประกาศวัสสูปนายิกา คือ การชี้แจงให้พระภิกษุและสามเณรทั้งมวลได้ทราบถึงระเบียบปฏิบัติในการจำพรรษา มีสาระสำคัญที่ควรประกาศให้ทราบ คือ

- บอกให้ทราบเรื่องการจำพรรษา

- แสดงเรื่องที่มาในบาลีวัสสูปนายิกขันธกะโดยใจความ

- บอกเขตของวัดที่ภิกษุจะต้องรักษาพรรษา หรือ รักษาอรุณให้ชัดเจน

- บอกเรื่องการถือเสนาสนะให้ชัดเจนว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร

- บอกกติกาในการจำพรรษานอกจากนี้ (ถ้ามี)

การอธิษฐานเข้าพรรษา อธิษฐานจำนำพรรษาคณะสงฆ์เรานิยมกระทำตอนเย็น หลังจากได้ทำวัตรเย็น เจริญพระพุทธมนต์ตามสมควร เมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว พระภิกษุสามเณรนั่งคุกเข่า หันหน้าเข้าหาพระประธาน กราบลงพร้อมกัน 3 ครั้ง จากนั้นเจ้าอาวาสหรือพระเถระผู้เป็นประธานกล่าวนำว่า นะโม ฯ พร้อมกัน 3 จบ แล้วจึงกล่าวคำอธิษฐานเข้าพรรษา หลังจากกล่าวจบแล้ว ให้กราบลง 3 หน เสร็จแล้วไหว้พระบรมสารีริกธาตุ และกราบพระอรหัง สัมมา ฯ เป็นอันเสร็จพิธี


พิธีทำวัตรสวดมนต์

การทำวัตร หมายถึง การทำกิจวัตรของพระภิกษุ สามเณร และอุบาสกอุบาสิกา ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำกิจที่จะต้องทำเป็นประจำ จนเกิดเป็นวัตรปฏิบัติ เรียกสั้นๆ ว่า "ทำวัตร" ในแต่ละวันมีการทำวัตร 2 เวลา คือ ทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็น ส่วนกำหนดเวลาใดนั้นเป็นเรื่องของข้อกำหนดของแต่ละวัด พิธีการทำวัตรสวดมนต์ นั้นแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

1) พิธีทำวัตรสวดมนต์สำหรับพระภิกษุสามเณร

2) พิธีทำวัตรสวดมนต์สำหรับอุบาสกอุบาสิกา

3) พิธีสวดมนต์ไหว้พระสำหรับนักเรียน

การสวดมนต์ หมายถึง การสาธยายบท พระพุทธมนต์ต่างๆ ที่เป็นส่วนของพระสูตรก็มีที่เป็นส่วนของพระปริตรก็มี ส่วนที่เป็นคาถาหรือพระสูตรอันนิยมก็มี โดยกำหนดให้นำมาสวดประกอบในการสวดมนต์เป็นประจำนอกเหนือจากบทสวดทำวัตรเช้า - เย็น

คณะสงฆ์วัดทุ่งเศรษฐี ได้นำบทสวดมนต์พิเศษอย่างน้อย 2 สูตร ยกมาเป็นบทสวดสาธยายทุกวัน ทั้งเช้าและเย็น 2 สูตรนั้นคือ

1) มหาสะมะยะสูตร

2) ธัมมจักกัปปวัตนสูตร

จุดมุ่งหมายของการทำวัตรสวดมนต์นี้ บัณฑิตถือว่าเป็นอุบายสงบใจ การสวดมนต์เป็นอาหารของใจ การสวดมนต์เมื่อทำเป็นประจำ วันละ 2 เวลา เช้า - เย็น ประมาณครั้งละหนึ่งชั่วโมงเป็นอย่างน้อย เป็นการสั่งสมอบรมจิตใจ การเพิ่มเติมบุญบารมีต้องทำให้เนื่องเหมือนสายน้ำที่ไหลไม่ขาดสาย จะนำมาซึ่งความชุ่มเย็นอย่างทรงพลัง เพราะความสำเร็จทั้งหมดเริ่มต้นจากที่ใจของเรานั่นเทียว

ท่านใดสนใจต้องการเดินทางไปร่วมสวดมนต์ และถืออุโบสถประพฤติธรรมตลอดพรรษานี้ ขอเชิญสอบถามรายละเอียดได้ที่โทรศัพท์ 562 249 3789 รูปขอจำเริญพร