ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



วิถีชนคนไทย สู้ชีวิตในอเมริกา

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาค ผู้เป็นสัพพัญญู ผู้เป็นบรมครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ขอความเจริญในธรรมจงปรากฏแด่สาธุชน คนไทย พี่น้องผองเพื่อนที่พร้อมอยู่สู้ชีวิตไปในอเมริกา ทุกคนทุกท่าน อเมริกาเมืองแห่งเสรีภาพ การสู้ชีวิตอยู่กับวิถีชนเมืองที่มีภาษา มีศาสนา มีวัฒนธรรม ที่แตกต่างจากวิถีไทย อเมริกาเป็นประเทศที่ให้เสรีต่อการที่จะปฏิบัติตามหรือปฏิเสธไม่นับถือศาสนาใดๆ ก็ได้ (Freedom of Religious) หากแต่วิถีชนคนไทยเราได้พยายามสร้างเกียรติภูมิให้แก่ชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรมประเพณีอันดี ด้วยความเป็นอัตตลักษณ์ ถ้าย้อนรอยเล่าไปถึงประวัติศาสตร์จากสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์คงต้องเล่ากันยืดยาวไปถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้นรัตนโกสินทร์โน้นแล พระพุทธศาสนาที่เข้าสู่ประเทศไทยในยุคต้น ก็เดินทางมากับสำเภาคาราวานของพ่อค้าวานิช กล่าวกันมาอย่างนั้น พูดได้เต็มปากเลยว่า "มากับวิถีชน มากับจิตวิญญาณผู้มีอารยธรรม"

ส่วนที่เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอเมริกา เชื่อกันว่าคณะสงฆ์ไทยที่มากิจนิมนต์ เพื่อฉลองศรัทธาของญาติโยมพุทธศาสนิกชนในประเทศสหรัฐอเมริกาชุดแรก เกิดขึ้นในช่วงปี คริสต์ศักราช 1969 หรืออาจก่อนน่าเล็กน้อย

แต่ถ้าพูดถึงการนิมนต์ให้มารับบาตรที่ชุมชนไทยใน Hollywood นคร Los Angeles ทุกวันเสาร์อย่างต่อเนื่องเกิดขึ้นปี คริสต์ศักราช 2003 และการที่ต้องหยุดกิจกรรมบิณฑบาตลงร่วม 2 ปี ตามมาตรการของการป้องกันการแพร่กระจายของพยาธิภัย โควิด 19 จวบจนมาถึงปี คริสต์ศักราช 2021 (ก่อนช่วงฤดูกาลเข้าพรรษา ปี พ.ศ.2564 เล็กน้อย)

วิถีชนคนไทยสู้ชีวิตในยุคแรกๆ ก็ว่ายากแล้ว แต่การที่จะยืนหยัดสู้กับสถานการณ์ที่รุมเร้าด้วย ความปลอดภัยของชีวิตต่อการระบาดของโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากโควิด 19 การต้องปิดเมือง ปิดกิจการ การค้า การธุรกิจติดขัดไปหมด กระทบคนทุกชาติ ทุกภาษา ทุกศาสนา ทุกอาชีพ ทุกคนได้แต่เฝ้าภาวนา หวังว่าสักวันภัยร้ายโควิด 19 นี้จะผ่านไปไกลจากวิถีชีวิตของทุกคน ภัยโควิด 19 กระทบเข้าไปถึงวัดและพระภิกษุสงฆ์ทุกรูปทุกอาราม ประชาชนได้รับวัคซีน มาตรการทางสังคมบ้านเมือง ฟื้นฟูวิถีชีวิต วิถีชนด้วยความเข้าใจในปัญหาความทุกข์ยากลำบากกับภาวะการณ์ที่เกิดขึ้น

พี่น้องคนไทยเราที่ต้องต่อสู้อยู่ในสังคมอเมริกา การสู้ชีวิตเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หน้าที่การงาน ธุรกิจการค้า รายได้ที่เคยได้รับ เติมทีก็ปากกัดเท้าถีบกันเต็มที่อยู่แล้ว บางช่วงก็อยู่ดีมีความสุข บางช่วงก็ชักหน้าไม่ถึงหลัง ก็ต้องอดต้องทน การต่อสู้ทำให้เราเข้าใจวลีที่ว่า "อดทน ทนอด ทนอยู่ อยู่ทน"

ยามที่เราอัตคัดขัดสน มีน้อย ขาดแคลน ทำให้เรารู้ว่าตัวเรามีค่ามากมาย เพราะทุกคนต้องมีรายจ่ายไปกับค่าเช่าร้าน ค่าเช่าบ้านที่อยู่อาศัย ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าประกันชีวิต ค่าประกันรถยนต์ ค่าประกันบ้าน ค่าประกันสังคม ค่าส่งรถ ค่าส่งบ้าน ค่าส่งบัตรเครดิด จิปาถะ ฯลฯ

เมื่อชาวบ้านยังลำบากอยู่ คิดหรือว่าพระสงฆ์ท่านจะอยู่สบาย บางวัดต้องมีค่าใช้จ่าย (Monthly Payment) ชำระรายเดือนๆ ละหลายพันเหรียญ "สงบเงียบก็กังวลใจ จะจัดกิจกรรมหรือเอ่ยปากบอกบุญขอออกไปก็เห็นใจชาวบ้าน"

ตลอดพรรษาปี 2564 ที่ผ่านมาได้รับความกรุณาจากร้าน THE PHUKHAW by YAYA ร้านขายเสื้อผ้าสูท ชุดไทย และของพื้นเมืองล้านนา อื่นๆ ดำริที่จะช่วยให้ชุมชนไทย ตลาดไทย พ่อค้าแม่ค้าคนไทย ลุกขึ้นสู้กับสถานการณ์ที่กำลังคลี่คลาย และทางราชการเจ้าหน้าที่เมืองลอสแองเจลิสเขาก็เข้าใจในวิถีชน วิถีไทย เรื่องความเป็นอยู่ เรื่องศาสนา เรื่องวัฒนธรรม เรื่องจิตใจจำเป็นต้องก้าวไปด้วยกัน วิถีชนก็เคลื่อนไหวไปได้อย่างราบรื่นบ้าง มีอุปสรรค์บ้าง

กาลเวลาร่วมปี พระสงฆ์ได้รับนิมนต์ให้มารับอาหารบิณฑบาตทุกวันเสาร์ พอได้มีกำข้าวเก็บไว้ฉันได้ตลอด 7 วัน ได้บิณฑบาตอย่างต่อเนื่อง บางวันฝนตกร้านเดอะภูเขา คุณใหญ่ได้นิมนต์พระเข้าไปหลบฝนภายในร้าน ให้พระสงฆ์และผู้ไปถวายอาหารบิณฑบาต ได้ใช้ห้องน้ำห้องสุขาอย่างกับเป็นที่สาธารณะ ตลาดวันเสาร์ก็กำลังไปได้ดี พระสงฆ์จาก 3 วัด มารับบิณฑบาต

1) วัดชาวพุทธ 1 รูป,

2) พระธาตุทุ่งเศรษฐี 5 รูป,

3) วัดไทยศรีโสดา 4 รูป รวมเสาร์ละ 10 รูป

กว่าจะเป็นชุมชนไทย กว่าวิถีชนคนไทยจะเข้มแข็งได้ ธรรมดาอุปสรรค์ก็ย่อมมีบ้าง เรื่องปัญหาการจอดรถก็พอมีบ้าง สิ่งที่ได้เห็นคือ เห็นคุณใหญ่คอยเอาใจใส่ห่วงใย เสียสละและทุ่มเทใจมากๆ เพราะถ้าทุกอย่างลงตัว ก็สามารถช่วยส่งเสริมโอกาสให้คนไทยด้วยกัน ให้มีพื้นที่ทำมาหากิน มีรายได้จุนเจือครอบครัว มีค่าเล่าเรียนให้ลูก มีเงินส่งกลับไปเมืองไทยไปให้พ่อให้แม่ที่ต้องเลี้ยงดูท่าน และทราบว่าการเกาะกลุ่มรวมตัวของพ่อค่าแม่ค้าไทย ได้เปิดขายในช่วงกลางคืนวันจันทร์ อังคาร และวันพุธ ระหว่างพลบค่ำไปถึง 3 - 4 ทุ่ม (Street night market) คนไทยและคนอเมริกัน อื่นๆ กำลังให้ความสนใจกันเพิ่มมากขึ้น พากันมาเดินเพิ่มมากขึ้น อุปสรรคก็เริ่มมีขึ้น ใหญ่ขึ้น การขัดแข้งขาก็ย่อมมีขึ้นเป็นธรรมดา ทำให้ตลาดกลางคืนปิดตัว แถมยังกระทบตลาดเช้าวันเสาร์มา 2 วีคแล้วด้วย

ญาติโยมเถียงกันกระทบถึงวิถีบิณฑบาตของพระสงฆ์ นี่แหละน่าอย่างที่คำปราชญ์ท่านว่า "เด็ดดอกไม้กระทบถึงดวงดาว" ถึงตอนนี้นึกถึงคำสอนพระพุทธองค์ว่า ภัยภายนอกไม่เท่าไหร สำคัญภัยภายในด้วยกันเอง แต่ก็โชคดี วันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 คุณใหญ่แจ้งไปว่า เปิดให้พระสงฆ์ไปรับอาหารบิณฑบาตได้ หากแต่พ่อค้าแม่ค้าคงน้อยลง อีกอย่างคนเดินตลาดก็อาจน้อยลงเช่นกัน อย่างไรนั้นพระสงฆ์วัดพระธาตุทุ่งเศรษฐี ขอเป็นผู้แทนกล่าวคำอนุโทนาขอขอบคุณ ขอบใจ ศรัทธาทุกท่านทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณใหญ่ อัคราภัค (Aksarapak Bondu ร้าน The Phukaw) ที่ได้เอื้อเฟื้อ ดูแลตลาดไทย เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธามาทำบุญ เป็นผู้ให้การสนับสนุนส่งเสริมสังฆกิจ ตลอดถึงกิจการงานพระพุทธศาสนา พระภิกษุได้รักษาวิถีสงฆ์ วิถีชน วิถีไทย วิถีพุทธ ด้วยสุจริตใจตลอดมา สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ สร้างวีรสตรี สร้างวีรชน ด้วยความเป็นสายเลือดไทย เมื่อปัญหาเกิดขึ้นทำให้นึกถึงผู้ประพันธ์เพลงนี้ ที่มีเนื้อร้องว่า

"รักกันไว้เถิด เราเกิดร่วมแดนไทย
จะเกิดภาคไหนๆ ก็ไทยด้วยกัน
เชื้อสายประเพณี ไม่มีกัดกั้น
เกิดใต้ธงไทยนั้น ปวงชนทุกคนคือไทย"

และต้องขออภัยไว้นะที่นี้ด้วยว่า ไม่เกี่ยวกับการเมืองนะ เพราะคอลัมน์นี้คือ "ธรรมะสมสมัย" นำเสนอไว้เป็นธรรมะ เครื่องระลึกเตือนสติ เตือนใจ เตือนการก้าวล่วงศีลธรรมอันดีทางสังคม

สรุปภาพรวมชีวิตต้องสู้ สู้ให้กำลังใจกันและกัน สู้ยิ้มสร้างความสัมพันธ์ให้งดงามแบบอย่างไทย สู้ร่วมสร้างความสังคมไทยให้เป็นปึกแผ่นในสหรัฐอเมริกา สู้พัฒนาจากจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นมายาวนานสู่อนาคตลูกหลาน ชีวิตต้องสู้ถึงจะชนะ ธรรมชาติของการอยู่ร่วมกัน มีกระทบกระทั่งกันได้ แต่อย่าให้กระเทือนถึงวิถีแห่งพระพุทธศาสนา เพราะหากไม่มองรอบอาจต้องทำให้บอบซ้ำ...เน้อ รูปขอจำเริญพร