ธรรมะสมสมัย

หลวงพ่อไสว ชมไกร



ทางสายกลางตามใจฉัน

ประเด็นธรรมะวันนี้ มาจากความคิดของบางท่านที่มาถามขอความจริงหลายเรื่อง อาตมาก็บอกไปว่าถ้าขอความเห็นนั้นพอได้ แต่ความจริงคงตอบให้ไม่ได้ เพราะสิ่งที่อาตมารู้นั้นคือ "อาตมาไม่รู้อะไรเลย" ส่วนใครท่านใดจะมีความคิดความเห็นประการใดนั้น ก็แล้วแต่เขาจะเห็นกัน และอย่าข่มความคิดของคนอื่น โดยการสุดโต่งทางความคิดของตัวเอง ฝึกวางใจเป็นกลางๆ (มชฺฌิมา ปฏิปทา) เป็นสิ่งที่ควรใส่ใจกันโยมว่าจริงไหม?

ขอให้ทุกคนทุกท่านพยายามศึกษาทางสายกลางให้แตกฉานอย่างถ่องแท้ อย่างทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อย่างลึกซึ้งนั้น จะสามารถนำมาปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวันอย่างที่รู้นั้นไหม? พระพุทธเจ้าพระองค์ทำอย่างไรก็ทรงสอนอย่างนั้น และพระองค์ท่านสอนอย่างไร ก็ทรงกระทำอย่างนั้น อีกการกระทำทุกสิ่งอย่างที่พระองค์บำเพ็ญนั้นล้วนกอปรด้วยพระเมตตา และ อนุเคราะห์แก่โลก ถามว่าเราจะเจริญรอยตามคำสอนที่พระองค์ทรงวางไว้นั้นไหม? แล้วค่อยไปแตกประเด็นกันทั้งทางโลกและทางธรรม เพราะทุกวันนี้มีการอ้างกันมากมายเหลือเกินเกี่ยวกับว่าทางสายกลาง "ทางสายกลางตามใจฉันเสียมากกว่าไหม?"

ทุกครั้งที่สวดมนต์บทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มีเรื่องอริยสัจจ์ มีเรื่องอริยมรรคมีองค์ 8 หรือทางสายกลางอยู่ แต่อาตมาก็ไม่เข้าใจทั้งหมดนะ เพราะคนที่อ้างว่าเป็นพระอริยะเป็นพระอรหันต์กัน นั้น พากันอธิบายกันไปข้างๆ คูๆ ถูๆ ไถๆ บางรูปก็แถออกไปอย่างเสียภูมิอรหันต์เลย นี่อาตมาไม่รู้ ไม่เข้าใจสักเท่าใดหรอก ถ้ารู้มากรู้ทั้งหมดคงเป็นพระอรหันต์ไปแล้วละ เพราะฉะนั้นอย่าเชื่ออาตมา แต่ให้เชื่อธรรม เชื่อเรื่องผลของการปฏิบัติของตนๆ ที่เป็นประโยชน์จริง และถูกต้องดีงาม ถูกธรรม ตามเหตุปัจจัย "แล้วทุกคนก็จะพบทางสายกลางตามใจฉัน" เป็นเช่นนั้นสบายใจ อย่างอริยสัจจ์ข้อที่ แจงถึงหนทางที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์ (ทุกฺข-นิโรธคามินีปฎิปทา-อริยสจฺจ) หนทางสายนี้เรียกว่า "ทางสายกลาง (มชฺฌิมา ปฏิปทา) เพราะงดเว้นจากข้อปฏิบัติที่เอียงสุด 2 ประการ

อย่างแรก ได้แก่ การแสวงหาความสุขด้วยกามสุข อันเป็นของต่ำทราม เป็นของธรรมดา ไม่เป็นประโยชน์ และเป็นทางปฏิบัติของสามัญชน

อย่างที่สอง คือการแสวงหาความสุขด้วยการทรมานตนเองให้เดือดร้อน ด้วยการบำเพ็ญทุกกรกิริยาในรูปแบบต่างๆ อันเป็นการทรมานร่างกาย เป็นสิ่งไม่มีค่า และเป็นสิ่งไม่มีประโยขน์ พระพุทธองค์ได้ทรงทดลองปฏิบัติข้อปฏิบัติที่เอียงสุดทั้งสองประการนี้มาแล้ว ทรงพบว่าเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ จึงได้ทรงค้นพบทางสายกลางนี้ด้วยประสบการณ์ของพระองค์เอง ซึ่งเป็นทางที่ให้ทัศนะและปัญญาอันนำไปสู่ความสงบ ญาณ การตรัสรู้ และนิรวาณะ (พระนิพพาน) ทางสายกลางนี้โดยทั่วไปหมายถึง ทางมีองค์แปดประการอันประเสริฐ เพราะประกอบด้วยองค์ 8 ประการคือ

1. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ ได้แก่ ความรู้อริยสัจจ์ 4 หรือ เห็นไตรลักษณ์ หรือ รู้อกุศลและอกุศลมูลกับกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท)

2. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ ได้แก่ เนกขัมมสังกัป อพยาบาทสังกัป) ศึกษาธรรมที่มาด้วยดูเรื่อง กุศลวิตก 3

3. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ ได้แก่ วจีสุจริต 4)

4. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ ได้แก่ กายสุจริต 3)

5. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ)

6. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ ได้แก่ ปธาน หรือ สัมมัปปธาน 4)

7. สัมมาสติ (ระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน 4)

8. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ฌาน 4)

มรรคมีองค์ 8 นี้ ได้ชื่อว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง เพราะเป็นข้อปฏิบัติอันพอดีที่จะนำไปสู่จุดหมายแห่งความหลุดพ้นเป็นอิสระ ดับทุกข์ ปลอดปัญหา ไม่ติดข้องในที่สุดทั้งสอง คือ กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค

ในทางปฏิบัตินั้น คำสอนทั้งหมดของพระพุทธองค์ที่ทรงอุทิศ พระองค์สั่งสอนในช่วงเวลา 45 ปีนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับทางสายกลางนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง พระองค์ทรงอธิบายทางสายนี้ โดยวิธิการ และใช้คำพูดที่แตกต่างกันไปตามความแตกต่างของบุคคลโดยให้สอดคล้องกับระดับการพัฒนา และศักยภาพในการเข้าใจ และตามได้ทันของบุคคลเหล่านั้น แต่สาระสำคัญของพระสูตรหลายพันสูตรที่กระจายอยู่ในคัมภัร์ต่างๆ ของพุทธศาสนา ล้วนแต่มีเรื่องเกี่ยวกับมรรคซึ่งประกอบด้วยองค์แปดอันประเสริฐนี้ทั้งนั้น

องค์ 8 ประการเหล่านี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริม และทำให้หลักการ 3 อย่างของการฝึกอบรม และการควบคุมตนเองของชาวพุทธมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คือ ศีล ชื่อว่ามีเพื่อคุมความประพฤติทางกาย - วาจา สมาธิ มีเพื่อควบคุมพฤติกรรมทางจิตใจ ปัญญา ชื่อว่ามีเพื่อคุมความ อวิชชา (มีมิจฉาทิฏฐิ Wrong view เป็นต้น) รอบรู้ในกองสังขารตน และสังขารโลกนั่นกระมัง

ดังนั้น คงจะช่วยให้ได้เข้าใจองค์ 8 ประการของทางสายกลางได้ดี และได้ใจความต่อเนื่องยิ่งขึ้น หากเราจัดแบ่งกลุ่มอธิบายองค์ 8 ประการตามหัวข้อ 3 นั้น ความประพฤติทางจริยศาสตร์ (ศีล) ถูกสร้างขึ้นมากจากความคิดอันกว้างไกล ที่ต้องการให้มีความเมตตา และกรุณาโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชังต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์แห่ชาวโลก

"นี้ทางสายกลางตามใจฉัน เป็นมรรควิธีที่อาตมาและบุคคลจะต้องนำไปประพฤติ และพัฒนาเป็นการควบคุมตนเอง ทั้งกาย วาจา และใจ เป็นการพัฒนาตนเอง และเป็นการชำระจิตตนเองให้บริสุทธิ์"


คุณสมบัติของคนสมบูรณ์แบบ

ในทางพระพุทธศาสนา การที่บุคคลจะเป็นคนสมบูรณ์ได้นั้นจะต้องมีการพัฒนาคุณสมบัติ 2 ด้านให้เท่าเทียมกัน คือ ด้านกรุณา และด้านปัญญา

กรุณาในที่นี้ หมายถึง ความรักความเอื้อเฟื้อแผ่ความเอื้ออารี ความอดทน และคุณสมบัติอันประเสริฐทางด้านอารมณ์ หรือคุณสมบัติทางด้านจิตใจอย่างอื่นๆ

ส่วนปัญญา หมายถึง ทางด้านพุทธปัญญา หรือคุณสมบัติทางด้านจิต หากบุคคลใดพัฒนาเฉพาะด้านอารมณ์ ไม่ยอมพัฒนาทางด้านพุทธปัญญา บุคคลนั้นอาจจะกลายเป็นคนโง่ แต่มีจิตใจดี ส่วนผู้ใดพัฒนาเฉพาะด้านพุทธปัญญาแต่ไม่ยอมพัฒนาทางด้านอารมณ์ ผู้นั้นอาจจะกลายเป็นคนฉลาดแต่จิตใจกระด้าง ไม่มีน้ำใจกับผู้อื่น เพราะฉะนั้น การที่จะให้เป็นคนสมบูรณ์แบบได้นั้น จะต้องพัฒนาทั้งสองด้านให้เท่าเทียมกัน นั่นคือจุดมุ่งหมายของวิถีชีวิตแบบพุทธ คือวิถีชีวิตที่มีปัญญา และมีความกรุณาเชื่อมโยงไม่แยกออกจากัน


ในส่วนที่เกียวกับอริยสัจจ์ 4 ข้อนี้ เรามีหน้าที่พึงปฏิบัติอยู่ 4 ประการด้วยกันคือ

อริยสัจจ์ข้อที่ 1 คือ ทุกข์ ได้แก่ สภาวะของชีวิต ความทุกข์ของชีวิต ความเศร้าโศก และความรื่นเริงของชีวิต ความไม่สมบูรณ์ และความไม่สมหวังของชีวิต ความไม่เที่ยง และ ความไม่มีแก่นสารของชีวิตในข้อนี้ เรามีหน้าที่ที่จะต้องทำความเข้าใจข้อเท็จจริงอย่างกระจ่าง และอย่างสมบูรณ์ อริยสัจจ์ข้อที่ 2 คือ บ่อเกิดของทุกข์ ซึ่งก็คือ ตัณหา พร้อมดวยกิเลส อาสวะ และสาสวะเหล่าอื่น ซึ่งเพียงแต่ทำความเข้าใจ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัณหานี้เท่านั้นยังไม่พอ เรามีหน้าที่ที่จะต้องละทิ้ง ขจัดทำลาย และกำจัดตัณหา

อริยสัจจ์ข้อที่ 3 คือ ความดับทุกข์ กล่าวคือ นิพพาน บรมสัจจ์ หรืออุดมมสัจจ์ ในข้อนี้เรามีหน้าที่ที่จะต้องทำให้รู้แจ้งเห็นจริง

อริยสัจจ์ข้อที่ 4 คือ มรรคอันจะนำไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริงในพระนิพพาน เพียงแม้แต่มีความรู้ในเรื่องของมรรคเท่านั้น แม้จะเป็นการรู้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็ยังไม่เป็นการเพียงพอในข้อนี้ หน้าที่ของเราคือ ดำเนินตามและปฏิบัติตามมรรคนั้น

เอาอย่างที่โยมสบายใจนั้นก็ดี การปฏิบัติต้องไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ให้เป็นอิสระต่อกัน ทุกคนทำดี ดีแน่นอน ถนนทุกสายมุ่งตรงมาที่เมืองหลวง เช่น ท่านที่จะเข้าไปนครลอสแองเจอลีส ไปได้ทุกเส้นหลัก โดยเริ่มต้นจากจุดที่ท่านมา หากท่านไม่เปลี่ยนใจไปที่อื่นยังไงก็ต้องไปถึงนครลอสแองเจอลีสจนได้ แม่น้ำทุกสายก็เช่นกันย่อมไหลรวมไปที่มหาสมุทร โยมที่ไปตลาดนอกจากจะได้เดินตลาดแล้ว ยังจะได้ซื้อของบางอย่างตามใจตน การปฏิบัติธรรมที่หลากความคิดความเห็น ขออย่างหนึ่งคือให้เป็นไปเพื่อดับทุกข์ พ้นทุกข์ ได้สุข เสวยสุข โดยจะว่านะโม หรือไม่นะโม หรือไหว้พระพุทธรูปหรือไหว้พระธรรม พระสงฆ์จะมีศีล 150 หรือ 277 นั้นอย่าเสียเวลาและมารยาทมาเถียงกันเลย (เอาที่สบายใจ ทางสายกลางตามใจฉัน) โดยที่สุดให้อยู่เหนือสุขเหนือทุกข์ สู่เป้าหมายอันเป็นนิรันดร์ คือ "พระนิพพาน" เทอญ